xs
xsm
sm
md
lg

สมเด็จโตอุปมาคำว่า “นิพพาน”! เปรียบเทียบกับเรื่องของผัวเมียที่ฆราวาสซึ้ง!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

สมเด็จพุฒาจารย์ (โต)
ในหนังสือชีวประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ซึ่ง พระยาทิพโกษา (สอน โลหนันท์) ได้ติดตามค้นหาเรื่องที่เกี่ยวกับสมเด็จโต วัดระฆัง ซึ่งท่านมีเรื่องให้เล่าขานไว้มากมาย ได้บันทึกเรื่องที่ชาวพุทธหลายคนก็ยังไม่เข้าใจในคำว่า

“นิพพาน” บ้างก็แปลตามศัพท์ว่าหมายถึง ดับ บ้าง ออกจากเครื่องร้อยรัด บ้าง หรือตายแล้วไม่เกิดใหม่ บ้าง ดับจากกิเลศ บ้าง จึงพากันไปถามสมเด็จพุฒาจารย์ วัดระฆัง ซึ่งสมเด็จโตได้อุปมาอุปมัยกับเรื่องที่ฆราวาสต่างซาบซึ้งกันดีได้อย่างไม่คาดคิด

สมเด็จโตว่าท่านก็ไม่รู้แห่ง แต่จะช่วยชี้แจงอุปมาเปรียบเทียบให้รู้และเข้าใจเอาเอง ตามเหตุและผล เปรียบเทียบได้ว่านิพพานจะรู้ได้อย่างไร ท่านอุปมาด้วยหญิงสองคนพี่น้อง จ้องคิดปรารภปรารมภ์อยู่แต่การมีผัว อุตส่าห์อาบน้ำทาขมิ้นนุ่งซิ่นไหม ผัดหน้าหวีผมแปล้ ประสงค์จะให้ต้องตาผู้ชายจะได้มาสู่ขอ จนสบช่องของคนพี่สาวก่อน มีผู้มาขอและได้ตกลงแต่งงานร่วมห้องหอกันแล้ว นางน้องสาวก็มาเยี่ยม วิงวอนซักถามว่า

“พี่จ๋า การที่พี่หลับนอนกับผัวนั้น มีรสมีชาติครึกครื้นสนุกสนานชื่นบานเป็นประการใด จงบอกให้ฉันรู้บ้าง”

นางพี่สาวก็ไม่รู้จะบรรยายความรื่นรมย์สมสนิทด้วยสามี มาตีแผ่เปิดเผยให้น้องสาวรู้ถึงความรื่นรมย์แห่งโลกสันนิวาสได้ จึงบอกแต่ว่า

“น้องมีผัวบ้างน้องก็จะรู้เอง ไม่ต้องมาถามเอาเรื่องกับพี่หรอก”

อยู่มาไม่นาน นางผู้น้องได้สามีแล้วก็ไปหาพี่สาว พี่สาวก็ถามว่า

“การหลับนอนรมย์รื่นชื่นใจกับผัว น้องมีความรู้สึกเป็นเช่นไร ลองเล่าบอกออกความให้พี่เข้าใจบ้างซีน้อง”

นางน้องสาวฉอเลาะตอบพี่สาวทันทีว่า

“พี่ไม่ต้องเยาะ ไม่ต้องเยาะ” แล้วพี่น้องคู่นั้นก็สำรวลหัวเราะตามฐานที่ต่างรู้รสสังวาสเสมอกัน

ข้ออุปมานี้ ฉันใดก็ดี พระโยคาวจรกุลบุตร มีความมุ่งหมายจะออกจากชาติจากภพ เบื่อหน่ายโลกสันนิวาส เห็นว่าเป็นหม้อต้มหรือเรือนไฟอันไหม้ คิดจะออกจะหนีให้พ้น ก็พยายามทำความแข็งข้อถกเขมรจะเผ่นให้ข้ามหม้อต้มและเรือนไฟอันลุกลาม ก็เตรียมตัวทำศีลให้บริสุทธิ์ปราศจากโทษอันเศร้าหมอง ทำสมาธิตั้งใจตรง จงใจทำสมถะและกัมมัฏฐาณ ทำปัญญาให้เป็นวิปัสสนาญาณอย่างยิ่งยอด ตัดสังโยชน์ให้ขาดด้วยมีดอันคมกล้า กล่าวคือ โคตรภูญาณ อนุโลมญาณ มรรคญาณ ทำช่องให้เวิ้งว้างเห็นแสงสว่างปรากฏ พระโยคาวจรกุลบุตรก็กำหนดวางจิต วางอารมณ์ วางสัญญา วางอุปาทานเครื่องยึดถือ ทำลายเครื่องกั้นทั้ง ๕ ให้ขาด ประกอบองค์ ๕ คือ วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกักคตา ฟอกใจ คราวนี้ใจก็กอปรด้วยวิสุทธิ์ ๗ เมื่อวิสุทธิ์ ๗ ผุดขึ้นแล้ว พระโยคาวจรกุลบุตรก็ละวิตก ละวิจารณ์ ละปีติ ละสุข ละเอกักคตา เหลือแต่อุเบกขาญาณ ดำเนินในอุเบกขาญาณ มี ๖ ประการเป็นพื้น มโนธาตุก็ตั้งอยู่ตามตำแหน่ง ไม่เข้าสิงในเบญจขันธ์ต่อไป เรียกว่าธรรมธาตุ บริสุทธิ์จำเพาะตน เรียกว่าพระนิพพาน ท่านผู้ได้ผู้ถึง ท่านรู้กันว่าเป็นเอกันตบรมสุข ไม่ระคนปนด้วยทุกข์ต่อไป ท่านไม่ต้องซักถามเซ้าซี้เช่นหญิงทั้งสองดังสำแดงมา

ท่านว่าไว้อย่างนี้ แสดงว่านิพพานเป็นบรมสุขเฉพาะตน จะบอกให้ใครฟังก็ไม่ถ่องแท้ ต้องเข้าถึงด้วยตัวเอง แล้วจะรู้ว่านิพพานนั้น เป็นบรมสุขที่ไม่ปนทุกข์ใดๆเลย


กำลังโหลดความคิดเห็น