xs
xsm
sm
md
lg

ทหารไทยไปรบข้ามโลก ทั้งหิมะ ทะเลทรายไม่เกี่ยง! ปราบโจรสลัดโซมาเลียจนราบคาบ!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ในชุดสิงห์ทะเลทราย
ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ กองทัพไทยเรารบแต่รอบบ้าน ไม่เคยข้ามทวีปออกไปไหน แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๖ สงครามกับเพื่อนบ้านหมดยุค เพราะตกเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจรอบด้าน ทหารไทยเราคงจะเหงา เลยข้ามโลกไปรบถึงยุโรป อาฟริกา

ทั้งนี้ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ซึ่งมีเยอรมัน ออสเตรีย-ฮังการี ฝ่ายหนึ่ง กับอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย อีกฝ่ายหนึ่ง ได้เริ่มรบกันมาตั้งแต่วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๔๕๗ โดยต่างฝ่ายต่างก็มีผู้ประกาศเข้าร่วมด้วยเรื่อยๆ ส่วนไทยเราได้ประกาศในวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๔๕๗ แล้วว่า จะขอเป็นกลาง และเฝ้าดูสองฝ่ายรบกันมาถึง ๓ ปี โดยคนไทยต่างส่งใจเชียร์เยอมัน เพราะมีความรักใคร่ผูกพันกันมากกว่าทุกชาติในยามนั้น เนื่องจากเยอรมันไม่มีพิษภัยกับประเทศไทย ทั้งยังเป็ยหัวเรี่ยวหัวแรงช่วยพัฒนาบ้านเมืองหลายอย่าง โดยเฉพาะการก่อสร้างทางรถไฟและถ้ำขุนตาล
ในอิรัค
แต่แล้วเมื่อเลย ๒๔.๐๐ น.ของวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๖๐ เพียงไม่กี่นาที พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ลงพระนามในคำประกาศสงครามกับเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการี อย่างที่ไม่มีใครคาด สร้างความตกตะลึงไปทั่ว โดยเฉพาะคนเยอรมัน ๒๐๐ กว่าคนในประเทศไทย ต้องตกเป็น “ศัตรูต่างประเทศ” ทันที

ทรงส่งทหารอากาศกำลังพล ๔๐๐ นาย และทหารบกหน่วยยานพาหนะ ๘๕๐ นายไปร่วมรบที่ฝรั่งเศสจนสงครามสงบในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๑ ธงไตรรงค์ซึ่งใช้เป็นธงชาติไทยใหม่ๆ ก็ได้ไปปลิวสะบัดร่วมกับชาติพันธมิตรในพิธีสวนสนามฉลองชัย ๓ ครั้ง ที่ปารีส ลอนดอน และบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยี่ยม
รบกับความเจ็บป่วยของประชาชน
ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกาหลีถูกแบ่งออกเป็น ๒ ประเทศโดยเส้นขนาน ๓๘ เกาหลีเหนืออยู่ในความดูแลของรัสเซีย ผู้นำประเทศคอมมิวนิสต์ ส่วนเกาหลีใต้อยู่ในความดูแลขององค์การสหประชาชาติ แต่แล้วในเดือนมิถุนายน ๒๔๙๓ เกาหลีเหนือก็ส่งทหารรุกล้ำเส้นขนาน ๓๘ ลงมา จึงเกิดการปะทะกับทหารสหประชาชาติที่ประจำการในเกาหลีใต้ สหประชาชาติจึงขอความร่วมมือจากประเทศสมาชิกในค่ายเสรีประชาธิปไตย ให้ส่งทหารไปช่วย

ไทยในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ขานรับเป็นประเทศแรกว่าจะส่งทหารไปช่วยทั้ง ๓ เหล่าทัพ จำนวน ๑๐,๓๑๕ คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารบก คือกรมผสมที่ ๒๑ และผลัดแรกออกเดินทางไปในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๙๓ ถึงเมืองท่าพูซานในวันที่ ๗ พฤศจิกายน ทหารไทยจึงได้ไปรบในหิมะอีกครั้ง และสร้างชื่อเสียงไว้จนได้สมญาว่า “พยัตฆ์น้อย
ทหารไทยสวนสนามที่ปารีส
ต่อมาได้เกิดสงครามระหว่างเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ ประธานาธิบดดี ตรัน วัน มินห์ แห่งเวียดนามใต้ ได้ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยมาในปี ๒๕๐๗ ให้ช่วยฝึกหัดนักบินของกองทัพอากาศเวียดนามที่ส่งเข้ามา ต่อมาในปี ๒๕๐๙ ก็ขอให้ช่วยส่งเรือไปช่วยปฏิบัติการลำเลียง และเฝ้าตรวจบริเวณชายฝั่ง และยังได้ขอกำลังกองทัพบกไปช่วยยับยั้งการคุกคามของเวียดนามเหนือด้วย รัฐบาลไทยเห็นว่ารัฐบาลเวียดนามใต้เป็นรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากสมัชชาแห่งสหประชาชาติ จึงให้ความร่วมมือ

ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๑๐ ครม.จึงมีมติให้กระทรวงกลาโหมจัดกำลังรบภาคพื้นดินในอัตรา “กรมทหารอาสาสมัคร” ไปปฏิบัติการในเวียดนามใต้ในนามรหัส “จงอางศึก” นับเป็นกองกำลังหน่วยแรกของกองทัพบกไทยที่ไปรบในเวียดนาม

ไม่ว่าจะไปที่ไหน ทหารไทยก็ได้รับการสรรเสริญไปทั่วว่ากล้าหาญ และมีอัธยาศัยเข้ากับชาวบ้านได้อย่างสนิทสนม จึงขายดีมาตลอด ไม่ว่ากลางหิมะหรือในทะเลทรายก็ไปทั้งนั้น
ทหารไทยสวนสนามที่ลอนดอน
ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ ทหารไทยได้ร่วมกับกองกำลังสหประชาชาติ เพื่อรักษาสันติภาพในติมอร์ตะวันออก นอกจากบทบาทในการลาดตระเวนรักษาความสงบเรียบร้อยแล้ว ก็ยังได้นำโครงการตามแนวพระราชดำริไปเผยแพร่ เพื่อให้ชาวติมอร์ตะวันออกสามารถพึ่งพาตนเองได้ เช่นโครงการเกษตรและโครงการด้านสาธารณสุข ฯลฯ ซึ่งบทบาทของทหารไทยได้สร้างความชื่นชมประทับใจชาวติมอร์ตะวันออกเป็นอย่างมาก

ในวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๖ ครม.ได้มีมติให้กองบัญชาการทหารสูงสุด จัด “กองกำลังเฉพาะกิจปฏิบัติการเพื่อมนุษยธรรม ไทย-อีรัก” ปฏิบัติหน้าที่เป็น ๒ ผลัด ผลัดละ ๖ เดือน มีภารกิจเกี่ยวกับงานช่างสนามและงานช่างก่อสร้าง สนับสนุนฟื้นฟูบูรณะอิรัก บริการทางการแพทย์ และปฏิบัติการกิจการพลเรือน

กองทัพไทยยังได้ร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ทางการทหาร ให้กับกองกำลังรักษาสันติภาพในเซียร์ราลีโอน อาฟริกาตะวันตก มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ จนสิ้นสุดภารกิจของกองกำลังนี้ในปลายปี ๒๕๔๘

ในปี ๒๕๔๕ ก็ส่งทหารช่าง ๑ กองร้อย ไปช่วยอาฟกานิสถาน

ในวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๗ ครม.ได้มีมติอนุมัติในหลักการ ให้กระทรวงกลาโหมจัดส่งชุดผู้สังเกตการณ์ทางการทหาร สนับสนุนการปฏิบัติการรักษาสันติภาพในบุรุนดี ประเทศที่ตั้งอยู่กลางทวีปอาฟริกา มีภารกิจในการสังเกตการณ์และลาดตระเวน ประเมินสถานการณ์และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ปฏิบัติหน้าที่เป็นนายทะเบียนรับมอบอาวุธจากฝ่ายต่างๆที่ทำการสู้รบกัน รวมทั้งเจรจาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มต่างๆ ในฐานะผู้แทนของสหประชาชาติ

เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ก็ต้องไปรักษาสันติภาพภายใต้ธงสหประชาชาติ ป้องกันไม่ให้คนซูดาน ในอาฟริกา ฆ่ากันเอง หลังจากฆ่ากันไป ๓ แสนคนแล้ว

ในปี ๒๕๕๓ ทหารไทยก็ไปรับบทพระเอกอีกครั้ง ยกกำลัง ๔๐๐ นาย ไปโดยเรือรบ ๒ ลำพร้อมเฮลิคอปเตอร์ เดินทางไป ๔,๘๙๔ ไมล์ เพื่อร่วมกับกองกำลังสหประชาชาติ ปราบสลัดโซมาเลีย โจรกระจอกในอ่าวเอเดนที่ปราบกันไม่ได้เสียที ต้องใช้กำลังสหประชาชาติ แล้วก็เรียบร้อยทหารไทยอีกตามเคย

ตอนนี้พอหายเหนื่อยจากปฏิบัติการขุนน้ำนางนอนแล้ว ใครมีปัญหาก็บอกมาได้ ไม่เกี่ยงทั้งหิมะ ทะเลทราย บนบก ในน้ำ หรือในถ้ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น