การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เชิญชวนนักท่องเที่ยวร่วมสะสมบุญวันเข้าพรรษาในงาน “มหกรรมแห่เทียนพรรษาและตักบาตรบนหลังช้าง จังหวัดสุรินทร์ ประจำปี 2561” ในวันที่ 26 - 27 กรกฎาคม 2561 ณ บริเวณอนุเสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีจางวาง อ.เมือง จ.สุรินทร์ เพื่อเป็นกรสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวไทย รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสุรินทร์
เมื่อสายฝนโปรยปรายลงมาเป็นที่รู้กันว่าช่วงเวลาสำคัญทางพระพุทธศาสนานั้นได้มาถึงแล้ว นั่นคือวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา และชาวพุทธทั้งหลายต่างก็รู้กันดีว่าถึงเวลาที่จะได้มาร่วมสะสมเสบียงบุญ ด้วยการร่วมจัดกิจกรรมทางพุทธศาสนาในเทศกาลงานบุญต่างๆ เพื่อประโยชน์และถวายเป็นพุทธบูชาร่วมบำรุงศาสนาให้คงอยู่สืบไป และในปีนี้จังหวัดสุรินทร์ ถิ่นช้างใหญ่ก็มีเทศกาลงานบุญที่ยิ่งใหญ่ที่น่าสนใจให้ได้สัมผัส โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุรินทร์ เชิญชวนมาสะสมเสบียงบุญในงาน “มหกรรมแห่เทียนพรรษาและตักบาตรบนหลังช้าง 2561” ของจังหวัดสุรินทร์ ถิ่นช้างใหญ่ซึ่งเป็นสัตว์ที่ตัวใหญ่เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย ส่งเสริมให้งานนี้เป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่และมีเพียงหนึ่งเดียวในโลกอีกด้วย
นางสาวบุณยานุช วรรณยิ่ง ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุรินทร์ เปิดเผยว่า “มหกรรมแห่เทียนพรรษาและตักบาตรบนหลังช้าง จังหวัดสุรินทร์ ประจำปี 2561” จัดขึ้นเป็นปีที่ 12 เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีของชาวสุรินทร์ในการบำรุงรักษาศิลปะ วัฒนธรรม ประเพรีอันดีงามให้ดำรงอยู่สืบไป กิจกรรมภายในงานวันที่ 26 กรกฏาคม 2561 เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป ชมขบวนแห่เทียนพรรษาที่ตกแต่งอย่างสวยงามวิจิตรงดงามจาก 12 คุ้งวัดชื่อดัง อาทิ วัดบูรพารามฯ วัดศาลาลอยฯ วัดกลางสุรินทร์ ฯลฯ ขบวนแห่ช้างที่ยิ่งใหญ่นับ 66 เชือก ขบวนช้างประดับสวยงาม ขบวนสถาบันชาติ ขบวนศาสนา และขบวนพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วยขบวนรัชกาลที่ 1 สร้างบ้านแปลงเมือง, ขบวนรัชกาลที่ 2 เฟื่องฟูวรรณกรรม, ขบวนรัชกาลที่ 3 เลิศล้ำเศรษฐกิจ, ขบวนรัชกาลที่ 4 แนวคิดอารยะ, ขบวนรัชกาลที่ 5 วัฒนะสู่สากล, ขบวนรัชกาลที่ 6 มากล้นการศึกษา, ขบวนรัชกาลที่ 7 ประชาธิปไตย, ขบวนรัชกาลที่ 8 นำไทยสามัคคี, รัชกาลที่ 9 บารมีพระมากล้น, ขบวนรัชกาลที่ที่ 10 ปวงประชาเปี่ยมสุข
พลาดไม่ได้! กับไฮไลท์งานบุญใหญ่วันที่ 27 กรกฎาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 07.00 น. ร่วมทำบุญตักบาตรบนหลังช้างหนึ่งเดียวในโลก ณ บริเวณอนุเสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง โดยมีพระเถระชั้นผู้ใหญ่นั่งบนหลังช้างออกรับบิณฑบาตแก่นักท่องเที่ยว ได้ร่วมใส่บาตรโดยพร้อมเพรียงกัน และ ททท.ขอเชิญชวนร่วมถวายเทียนพรรษาโดยพร้อมเพรียงกันเพื่อเป็นสิริมงคลก่อนวันเข้าพรรษา ในเวลา 10.00 น. ณ วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์
นอกจากนี้ ททท.สำนักงานสุรินทร์ ยังมีโครงการที่น่าสนใจ “เที่ยวอีสานหน้าฝนกับชุมชนน่ารัก @สุรินทร์-บุรีรัมย์” “สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่” ซึ่งมีมากกว่าการเป็นเมือช้างและผ้าไหม จังหวัดสุรินทร์ยังมากด้วยเสน่ห์ของวัฒนธรรมประเพณี และเสน่ห์แห่งวิถีชุมชน ชาวบ้านในชุมชนน่ารักมีอัธยาศัยไมตรีมอบให้ผู้มาเยือนด้วยรอยยิ้มที่จริงใจ การมาเที่ยวจังหวัดสุรินทร์จึงไม่ได้เพียงแค่การมากิน มานอน มาถ่ายรูป แต่หากเป็นการเก็บเกี่ยวหนึ่งประสบการณ์ลึกซึ่งมากคุณค่ากว่าที่คิด ได้เรียนรู้และเข้าใจกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสุรินทร์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุรินทร์ ขอเชิญชวนท่านมาสัมผัสกับเสน่ห์ของการท่องเที่ยวหมู่บ้านท่องเที่ยววิถีชุมชนวิถีสุรินทร์ แล้วท่านจะหลงรักสุรินทร์มากขึ้น
สำหรับ 8 หมู่บ้าน ที่น่าสนใจของจังหวัดสุรินทร์ที่ขอแนะนำ คือ หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง อ.ท่าตูม ซึ่งมี “ศูนย์คชศึกษา หรือหมู่บ้านช้างบ้านตากลาง” ที่นี่คนกับช้างอยู่ในพื้นที่เดียวกันเหมือนการเลี้ยงช้างไว้เป็นเพื่อน ดังนั้น นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้เห็นสภาพโรงช้างและร่วมชมกิจกรรมต่างๆ หลากหลายเรื่องราวกิจกรรมของช้างแล้ว ยังจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตชาวกูยและเดินทางชมจุดที่แม่น้ำชีและแม่น้ำมูลไหลมารวมกัน นอกจากนั้นยังมี หมู่บ้านทอผ้าไหมโบราณบ้านท่าสว่าง บ้านท่าสว่าง อ.เมือง หรือที่รู้จักกันในนามหมู่บ้านทอผ้าเอเปก เนื่องจากผ้าทอของที่นี่ได้รับการคัดเลือกเพื่อนำไปตัดเสื้อให้แก่ผู้นำ 21 ประเทศและผ้าคลุมไหล่คู่สมรสที่มาร่วมประชุมผู้นำเอเปกเมื่อปลายปี 2546 หมู่บ้านผ้าไหมบ้านสวาย อำเภอเมือง หมู่บ้านทอผ้าที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตผ้าไหมที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของสุรินทร์ จุดเด่นของผ้าไหมอยู่ที่กรรมวิธีการทอที่สลับซับซ้อนมีความยาก หมู่บ้านโพธิ์กอง อ.ปราสาท “สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอสุรินทร์ คือลวดลายที่ไม่เคยเปลี่ยน ในผ้ารุ่นใหม่ๆ ที่ประยุกต์มาอาจมีการเพิ่มสีสันและผสมลาย แต่ของเดิมยังอยู่ฟื้นขึ้นมา”
หมู่บ้านเครื่องเงินเขวาสินรินทร์ อ.เขวาสินรินร์ อำเภอเขวาสินรินทร์ นอกจากจะเป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการทอผ้าไหมพื้นเมืองแล้ว ที่นี่ยังเป็นที่รู้จักโด่งดังในการผลิตลูกประคำเงินหรือที่เรียกว่า “ลูกประเกือม” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของบ้านเครื่องเงินเขวาสินรินทร์ หมู่บ้านอาลึ อ.สำโรงทาบ ชาวกูยเป็นชนพื้นเมืองกลุ่มแรกที่ตั้งหลักแหล่งอาศัยอยู่บริเวณอีสานใต้มายาวนานนับร้อยปี มีภาษาพูดเป็นของตนเอง ชาวกูยที่บ้านอาลึเป็นชุมชนที่ยังคงสืบสานวิถีชีวิตดั้งเดิมแบบชาวกูย ทั้งการแต่งกาย ชีวิตความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมประเพณี หมู่บ้านท่องเที่ยวไหมบ้านพญาราม อ.เมือง “พญาราม” ชุมชนโบราณซึ่งมีชื่อตามบรรดาศักดิ์ของหัวหน้าหมู่บ้าน จุดเด่นของ “บ้านพญาราม” คือการเลี้ยงไหม ซึ่งเป็นไหมพื้นบ้านเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวบ้านในชุมชนนี้ มีการอนุรักษ์งานด้านหม่อนไหม มีผ้าไหมที่สวยงามและมีคุณภาพ หมู่บ้านเมืองลีง อำเภอจอมพระ เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนชุมชนโบราณตั้งแต่มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในปลายกรุงศรีอยุธยาชาวกวยชนเผ่าแห่งช้างได้อพยพจากเมืองอัตปือตอนใต้ของประเทศลาวได้มาร่วมกันสร้างเมืองสุรินทร์ ซึ่งหนุ่งในชุมชนยุคเริ่มแรกของเมืองสุรินทร์ คือชุมนชาวเมืองลีง
ด้าน “จังหวัดบุรีรัมย์” จังหวัดนี้ก็เป็นจังหวัดที่ไม่ได้มีดีแค่ปราสาทพนมรุ้ง สนามฟุตบอล สนามแข่งรถ แต่ว่าที่นี่ยังมีวิถีชีวิตของชุมชนที่อยากให้ลองไปสัมผัสกันสักครั้ง วิถีแบบพื้นถิ่นที่นับวันจะหาดูได้ยาก ใน 5 หมู่บ้าน คือ บ้านสนวนนอก อ.ห้วยราช หมู่บ้านเล็กๆ เดิมพื้นที่บริเวณหมู่บ้านแห่งนี้เป็นผืนป่าทึบที่มีต้นสนวนขึ้นอยู่จึงได้ชื่อว่าบ้านสนวน เป็นชุมชนโบราณที่ยังคงดำรงวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายใช้ภาษาพื้นถิ่นเขมรและสืบสานการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผ้าไหมลายดั้งเดิมที่ตกทอดกันมาแต่โบราณ คือ ผ้าไหมหางกระรอก ซึ่งถือเป็นลายเอกลักษณ์ของผ้าไหมบ้านสนวนนอก มานอนโฮมสเตย์เรียนรู้วิถีชีวิตผลิตไหมของชาวสนวนนอกอย่างละเอียดทุกขั้นตอน ชิมเมนูอร่อยประจำถิ่นดักแด้คั่วสมุนไพร นั่งรถกระสวยอวกาศ หนึ่งเดียวในโลก ชมวิวท้องทุ่งนา สูดอากาศบริสุทธิ์ บ้านเจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ ที่นำดินภูเขาไฟจากเขาพระอังคารมาย้อมจนเกิดเป็นผืนผ้าสีสันธรรมชาติอันสวยงามและมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน เพราะมีสีสันเหมือนกับโทนสีของเขาพนมรุ้ง บ้านเจริญสุข ได้รับรางวัลหมู่บ้าน OVC (OTOP Village Champion) ประเภทหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่สะท้อนเรื่องราวประวัติศาสตร์ของพื้นถิ่นผ่านผืนผ้า “ภูอัคนี” ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาอันน่าภาคภูมิใจ
บ้านโคกเมือง+ปราสาทเมืองต่ำ อ.ประโคนชัย เป็นชุมชนเก่าแก่ที่ปรากฏร่องรอยอารยธรรมขอมอันรุ่งเรืองมาแต่อดีต ชมปราสาทเมืองต่ำ ศาสนสถานศิลปะขอมแบบบาปวนที่มีอายุมากกว่า 1,400 ปี เป็นปราสาทหินอารยธรรมขอมที่มีขนาดใหญ่และมีความสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของภาคอีสาน นอกจากนี้ที่บ้านโคกเมือง ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สะท้อนเรื่องราววิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมผ่านงานศิลปหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์ของชุมชน ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านนาโพธิ์ “ผ้าซิ่นตีนแดง” อำเภอพุทไธสง ชาวบ้านอำเภอนาโพธิ์เป็นชุมชนที่มีความรู้ในการทอผ้าสืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ ผ้าไหมมัดหมี่ของที่นี่ ถือเป็นผลิตภัณฑ์เลื่องชื่อที่ได้รับการกล่าวขาน โดยเฉพาะผ้าไหมมัดหมี่ตีนแดง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ผ้าซิ่นตีนแดง” หรือ “ซิ่นหมี่รวด” ถือเป็นผ้าเอกลักษณ์พื้นถิ่นของชาวนาโพธิ์ (และชาวพุทไธสง ซึ่งแต่เดิมอำเภอนาโพธิ์ขึ้นกับอำเภอพุทไธสง) ไม่มีในท้องถิ่นอื่น หนองตาไก้ อำเภอนางรอง สืบทอดประเพณีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชนชาวอีสานใต้มายาวนาน ปัจจุบันจึงได้พัฒนาเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวไหมบุรีรัมย์ Thai Silk Village of Buriram มีโฮมสเตย์เปิดบ้านรองรับนักท่องเที่ยวกว่า 20 หลัง พร้อมกิจกรรมเที่ยวชมวิถีชีวิตของคนที่นี่ ซึ่งกิจกรรมหลักคือการทอผ้าไหม ตั้งแต่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวไหม การฟอก ย้อม มัดหมี่ การทอ ผู้คนในชุมชนให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นและเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวอย่างมาก ขอเชิญนักท่องเที่ยวมาสัมผัสวีถีบุรีรัมย์ได้ที่หมู่บ้านท่องเที่ยวชุมชนน่ารัก..
สนใจสอบถามข้อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจังหวัดสุรินทร์ ฝ่ายอำนวยการ โทร. 0 4451 2039 www.surin.go.th, องค์กรบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ โทร. 0 4451 1975, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุรินทร์ โทร. 04451 4447
เรื่อง : อรวรรณ เหม่นแหลม