... รายงาน
การปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือ 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย อีกบทบาทหนึ่งคือการนำเสนอเหตุการณ์จากพื้นที่โดยสื่อมวลชน ทั้งไทยและต่างชาติ จนถึงขณะนี้เฉพาะผู้ที่ลงทะเบียนมีมากกว่า 800 คน
แต่ล่าสุด เจ้าหน้าที่ขอความร่วมมือกับสื่อมวลชน ไปจนถึงจิตอาสาที่ไม่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือ 13 ชีวิต ขนย้ายสิ่งของและยานพาหนะออกจากพื้นที่ไปยังที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โป่งผา ถนนพหลโยธิน ซึ่งอยู่ห่างจากถ้ำหลวง 5 กิโลเมตร ในช่วงเช้าของวันนี้
ขณะที่เมื่อคืนที่ผ่านมาได้มีการกั้นสแลนสีเขียวโดยรอบปากทางถ้ำหลวง เพื่อไม่ให้เห็นการปฏิบัติงานงานด้านใน รวมทั้งในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการนำแถบสีเหลืองของตำรวจกั้นพื้นที่การปฏิบัติงานอีกด้วย อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเข้มงวดกับสื่อมวลชนขนาดนั้น?
สาเหตุสำคัญ คือ การปฏิบัติงานของสื่อมวลชน “บางส่วน” ไปสร้างความวุ่นวายให้กับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ จนถูกสังคมประณาม เช่น เข้าไปปะปนกับญาติ หรือเข้าไปปะปนกับเจ้าหน้าที่ภายในถ้ำ และสังคมไม่ได้โทษเพียงแค่ผู้สื่อข่าว ยังเหมารวมไปถึงสื่อมวลชนอื่นๆ ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ด้วย
ครั้งหนึ่ง นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (ศอร.) ยังเคยออกมาระบุว่า “มีสื่อโทรทัศน์แห่งหนึ่ง เข้าไปรายงานข่าวบริเวณในถ้ำ โดยขอพื้นที่ที่ไว้ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน”
แม้จะไม่ระบุว่าเป็นสื่อโทรทัศน์ช่องไหน แต่สำหรับ “แยม-ฐปณีย์ เอียดศรีไชย” ผู้สื่อข่าวรายการ ข่าว 3 มิติ ของไทยทีวีสีช่อง 3 ก็ต้องออกมาชี้แจงทั้งในเฟซบุ๊ก รวมทั้งรายการโทรทัศน์ของตัวเองเพื่อขอความเป็นธรรม ว่า ไม่ใช่นักข่าวทีวี ที่นายณรงค์ศักดิ์ ระบุว่าเข้าไปทำข่าวภายในถ้ำแต่อย่างใด
ภายหลังได้มีการจัดระเบียบสื่อมวลชน โดยให้ลงทะเบียนและให้แขวนบัตรอนุญาตที่ ผบ.ศอร. กำหนดไว้ แม้สื่อมวลชนส่วนใหญ่ปฏิบัติแต่โดยดี แต่ก็พบว่ามีสื่อมวลชนบางคนใช้วิธีการแบบ "นักข่าวสายโจร" เพื่อให้ได้ภาพและเหตุการณ์แบบเอ็กซ์คลูซีฟ ซึ่งถือเป็นสไตล์การทำข่าวแบบหนึ่ง
เฉกเช่นกรณี “เพจดัง” ใช้วิธีนำมือถือของผู้สื่อข่าว ฝากไว้กับอาสาสมัครกลุ่มหนึ่ง เพื่อขอให้ช่วยถ่ายรูปภายในถ้ำ เพราะสื่อมวลชนไม่สามารถเข้าไปถ่ายภาพด้านในถ้ำได้ หลังการจัดระเบียบของ ผอ.ศอร. แต่ปรากฎว่าอาสาสมัครกลุ่มนั้นไม่มีบัตรอนุญาต จึงเข้าไปไม่ได้ และเกิดการโต้เถียงกับเจ้าหน้าที่ทหาร
เมื่ออาสาสมัครกลุ่มนั้นไม่สามารถเข้าไปภายในถ้ำได้ จึงได้คืนโทรศัพท์แก่ผู้สื่อข่าว ก่อนที่จะนำเสนอเรื่องดรามา ทำนองว่าอาสาสมัครกลุ่มนั้นร้องไห้น้ำตาซึม เปรียบเทียบว่าทำไมอาสาสมัครอีกกลุ่มหนึ่งเข้าไปได้ แต่พวกเขาจะขอเข้าไปดูปริมาณน้ำภายในถ้ำกลับเข้าไปไม่ได้
กระทั่ง ผอ.ศอร. คนเดิมต้องใช้เวลาช่วงหนึ่งในการแถลงข่าว ชี้แจงดรามาว่า สิ่งที่เจ้าหน้าที่ทำนั้นถูกต้องแล้ว และตำหนิอาสาสมัครกลุ่มนั้นว่า เคยเข้าไปทำงานในถ้ำโดยพลการและไม่ขออนุญาต พอเกิดน้ำท่วมใหญ่ในถ้ำ แล้วเช็กยอดอาสาสมัครกลับไม่ครบ เดือดร้อนเจ้าหน้าที่ต้องค้นหาครึ่งวันกว่าจะเจอ
นอกจากนี้ มีข้อมูลว่า สื่อมวลชนบางสำนักก็ใช้วิธี จ้างเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานเข้าไปถ่ายภาพภายในถ้ำ ทำให้เมื่อวานนี้ (7 ก.ค.) หลังการแถลงข่าวประจำวัน มีเจ้าหน้าที่เดินเข้ามาที่เต็นท์สื่อมวลชน แล้วตรวจบัตรอนุญาตอย่างละเอียด พร้อมขอความร่วมมือให้คล้องบัตรตลอดเวลา
กระทั่งเช้าวันนี้ ศอร. ได้ออกมาขอความร่วมมือกับสื่อมวลชน และจิตอาสาที่ไม่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าอะคาเดมี่แม่สาย ออกจากพื้นที่โดยด่วน โดยให้เก็บของและนำรถยนต์ลงไปอยู่ ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โป่งผา ถนนพหลโยธิน ซึ่งอยู่ห่างจากถ้ำหลวง 5 กิโลเมตร
แม้มาตรการจาก ศอร. จะทำให้การทำงานของสื่อมวลชนลำบากมากขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับสภาพ อันเนื่องมาจากพฤติกรรมของคนบางกลุ่ม ทำให้คนที่ตั้งใจทำงานต้องพลอยเดือดร้อนไปด้วย แต่การทำหน้าที่ยังคงต้องดำเนินต่อไป และภาวนาว่าให้ทั้ง 13 ชีวิตออกจากถ้ำหลวงอย่างปลอดภัยพร้อมกันด้วย