xs
xsm
sm
md
lg

“นักวิชาการ” แนะช่วย “หมูป่า” สูบน้ำบาดาลไร้ผล เพราะน้ำไหลเติมแทนของเดิม ซ้ำอาจเกิดผลร้าย หนุนหาปล่อง-เจาะถ้ำดีสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อาจารย์ทรัพยากรน้ำ ม.เกษตรฯ” แนะวิธีช่วย “หมูป่า” สูบน้ำบาดาลไร้ประโยชน์ เพราะน้ำที่อยู่สูงกว่าจะไหลเติมแทนของเดิมอยู่ดี ซ้ำร้ายอาจเกิดผลทางลบที่ไม่คาดคิดก็ได้ หนุนวิธีหาปล่องถ้ำหรือแนวเจาะถ้ำนำเด็กออกมาดีที่สุด

วันนี้ (5 ก.ค.) ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Sitang Pilailar” แนะนำวิธีช่วย 13 ชีวิตทีมหมูป่าอะคาเดมี ที่ยังไม่สามารถออกมาจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

โดยระบุว่า “หลังจากที่เราดีใจกับการเจอเด็กหมูป่าและโค้ชในถ้ำหลวง เมื่อคืนวันที่ 2 ที่ผ่านมา แต่จริงๆ แล้ว ปัญหาที่ประสบตอนนี้ในการหาทางพาทุกคนออกจากถ้ำ ก็เป็นเรื่องใหญ่และน่ากังวลไม่น้อยไปกว่ากัน

จริงอยู่ เราที่อยู่นอกพื้นที่ ไม่ได้ล่วงรู้ถึงการวางแผนและกระบวนการทำงาน จะออกมาแสดงความเห็นหรือแนะนำอะไร ก็ดูจะไม่ถูกต้องและไม่เหมาะ แต่วันนี้ ในฐานะนักวิชาการ ดิฉันขอแสดงความห่วงใยในแบบนักวิชาการไปถึงผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่โดยอาศัยพื้นที่ตรงนี้

ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ตอนที่ยังมีฝนตกหนัก น้ำในถ้ำสูงขึ้น มีพี่น้องสายธรณีที่สนับสนุนหน้างานสอบถามมาว่า ถ้าเรามีข้อมูลโครงสร้างธรณีของดอยนางทั้งลูก เราสามารถสร้างโมเดลการไหลของน้ำได้ใช่ไหม? ดิฉันจึงตอบไปว่า การใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์นั้นมีขั้นตอนที่ใช้เวลาพอสมควร และต้องการข้อมูลสำหรับการเซ็ททอัพแบบจำลอง ซึ่งกว่าจะหาข้อมูลได้ เซ็ทอัพแบบจำลองได้ ก็ใช้เวลาหลายวันแล้ว และไม่รู้ว่าสิ่งที่จำลองนั้นถูกหรือผิดหรือแตกต่างไปจากของจริงมากน้อยแค่ไหน ดิฉันถามว่า ต้องการจะทำอะไร น้องเขาบอกว่าทีมงานต้องการจะอุดรูหรือช่องที่น้ำเข้าถ้ำ ... ดิฉันร้องโอยเลย เพราะน้ำที่เข้าถ้ำนั้นมีสามส่วน คือ 1. น้ำบาดาลที่ไหลใต้ผิวดิน แล้วไปโผล่ในถ้ำ เป็นธารน้ำใต้ดิน 2. น้ำฝน และ 3. น้ำผิวดินที่ไหลตามทางน้ำบนดินแล้วไหลลงไปตามร่องหิน ในวันนั้นที่ฝนตกหนัก ดิฉันบอกเขาไปว่า การจะอุดร่องหินไม่ให้น้ำฝนและน้ำผิวดินไหลลงไปถ้ำนั้นเป็นไปไม่ได้ นึกไปถึงการปูแผ่นไวนิลท้องอ่าง หรือการใช้คอนกรีดดาดคลอง ซึ่งทำไม่ได้กับเขาทั้งลูก รวมทั้งการประเมินน้ำบาดาลในภาวะที่ข้อมูลมีแค่ธรณีสัณฐานก็เป็นเรื่องยาก ปกติเราจะจำลองเพื่อดูทิศทางการไหลของน้ำ ศักยภาพว่าน้ำใต้ดินมีปริมาณสักเท่าไหร่ คือ มันเป็นของที่มีอยู่แล้ว มันก็ไหลจากที่สูงไปลงที่ต่ำตามธรรมชาติ ซึ่่งปกติปริมาณมันไม่ได้ผันแปรตามฝนในแต่ละช่วงเวลาเท่าไหร่ ปริมาณมันค่อนข้างคงที่ มันก็ไหลของมันไปเรื่อยๆ ไปผุดให้เราเห็นตรงจุดที่ผิวดินอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำบาดาล แต่ในสภาวะนี้ไม่มีทางที่จะสูบน้ำใต้ดินออกได้หมดมันไหลหากันได้ ไหลได้ทั้งปี จะไปสูบยังไง ยิ่งสูบออก ก็ยิ่งทำให้เฮดตรงนั้นดรอป เกิดความแตกต่างของพลังงานต้นน้ำและท้ายน้ำ ดิฉันกังวลว่าน้ำจะยิ่งไหลลงมาเติมเร็วกว่าเดิม

จากความกังวลนี้ พี่ๆ นักธรณีท่านหนึ่ง ตอบว่า เราคาดหวังให้น้ำใต้ดินลด เมื่อเกิดเฮดดิฟเฟอเร้นท์ (ขอใช้ทับศัพท์วิชาการ) น้ำในถ้ำลงมาเติมบ่อบาดาลที่สูบน้ำออก ก็จะทำให้น้ำในถ้ำแห้งได้ ดิฉันได้ฟังดังนั้นก็ยังกังวล ว่าไม่มีประโยชน์ที่จะสูบน้ำบาดาลออกเลย เพราะยังไง น้ำบาดาลที่อยู่ด้านเหนือน้ำ ก็จะยังไหลมาเติมน้ำที่สูบออกอยู่ดี เพราะธรรมชาติพยายามจะรักษาสมดุลย์ของมันเหมือนกัน นอกจากว่าเราจะกำแพงลงไปกั้นไม่ให้น้ำใต้ดินด้านเหนือน้ำไหลลงมาเติม ซึ่งพี่อีกนักธรณีอีกท่านหนึ่งก็บอกว่า การตอกชีทพายในธรณีสัณฐานแบบนี้ทำไม่ได้ และไม่สามารถกั้นน้ำได้อยู่ดี ดิฉันจึงบอกไปว่า อย่าเจาะบ่อบาดาลเพื่อสูบน้ำออกเลย ไม่ได้ผลหรอก ซ้ำร้ายอาจเกิดอะไรในทางลบที่เราไม่คาดคิดก็ได้ เราไม่รู้ทิศทางการไหลอะไรเลย แต่ถ้าอยากสูบน้ำในถ้ำออกก็สูบเถอะ อันนี้ดี อย่างน้อยก็สูบเพื่อประคองระดับน้ำในถ้ำไม่ให้สูงไปกว่าเดิม แต่ถ้าอยากรู้ช่องน้ำเข้า หรือทางน้ำ ให้ถามคนในพื้นที่ เขารู้ดีที่สุด อย่ามัวเสียเวลาขึ้นแบบจำลองคณิตศาสตร์เลย ไม่ทันการณ์ และไม่มีประโยชน์!

สรุป ดิฉันตอบน้องไปอย่างเข้าใจหัวอกคนปรารถนาดีและอยากช่วยว่า ถ้าอะไรที่จิตอาสาหน้างานเขาอยากช่วยและมันไม่ส่งผลเสียต่อการช่วยชีวิตเด็กๆ ก็ให้เขาทำไปเถอะ แม้ว่ามันจะไม่ได้ผลอย่างที่เขาคิดหวัง อาจจะเสียเวลามากได้ผลน้อย แต่อย่างน้อยเขาก็มีความสุขใจที่ได้ทำ

ถึงวันนี้ ถามว่าทำไมดิฉันออกมาเล่าเรื่องนี้ เล่าแล้วก็คิดว่าต้องโดนใครด่าแน่ๆ แต่ก็อยากเล่า เพราะอยากบอกว่า ตอนนี้ เราไม่มีเวลาให้เสียไปกับอะไรที่ทำแล้วไม่ได้ผลแล้วค่ะ น้ำบาดาลสูบมากี่วันแล้ว น้ำไม่ลดใช่ไหม สูบออกเท่าไหร่ ธรรมชาติก็รักษาสมดุลย์โดยการไหลลงมาเติมเท่านั้น รู้แหละว่าพูดแบบนี้ ก็จะมีคำถามว่า แล้วจะให้ทำยังไง .. พูดจริงๆ นะ ว่าไม่รู้ แต่ดิฉันก็เห็นด้วยกับอาจารย์ Looknarm Aruninta Ariya ว่า การที่ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีและด้านแผนที่ทำงานร่วมกัน เพื่อหาปล่องถ้ำหรือแนวที่จะเจาะถ้ำ ไม่ว่าจะแนวดิ่งหรือแนวราบ เพื่อพาเด็กๆ ออกมาทางปล่องหรือช่องที่เจาะน่าจะดีที่สุด เทคโนโลยีเรามี ผู้เชี่ยวชาญธรณีเรามี ผู้เชี่ยวชาญแผนที่ก็มี อ่อ อีกทีม คือผู้เชี่ยวชาญด้านการทำเหมือง ซึ่งคงจะทราบว่าเจาะเขาหินปูนยังไงให้ไม่ถล่ม คงร่วมกันทำงานได้ผลดีในเร็ววัน .. ระหว่างนี้ อยากให้ช่วยปรับสภาพในถ้ำเผื่อเด็กๆ จะอยู่กันยาวๆ ได้ โดยไม่ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ไม่เป็นปอดบวม .. ไม่อยากให้ดำน้ำออกมาเลย น้ำทั้งขุ่นทั้งมืดแล้วก็ไม่เคย พลาดนิดเดียวนี่ชีวิต!! รอน้ำลด หรือรอขุดปล่องพาเด็กออกมา เด็กๆ ก็อดทนกันอีกหน่อยนะลูก

เป็นกำลังใจให้ทุกคนค่ะ ทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้ ได้แต่อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ”




กำลังโหลดความคิดเห็น