เราภูมิใจกันว่า ประเทศของเราไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก แต่ประวัติศาสตร์ก็ต้องจารึกไว้ว่าพี่น้องร่วมชาติของเราในจังหวัดจันทบุรีต้องตกอยู่ใต้การยึดครองของฝรั่งเศสถึง ๑๐ ปี และจังหวัดตราดยังยิ่งกว่านั้น ต้องทำพิธีมอบเมืองให้ตกไปรวมอยู่ในอินโดจีนของฝรั่งเศส เป็นเวลาถึง ๒ ปี ๖ เดือน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงตัดสินพระราชหฤทัยสละนครวัด สิ่งมหัศจรรย์ของโลก และทะเลสาปเสียมราฐอันกว้างใหญ่อุดมสมบูรณ์เลี้ยงคนได้ทั้งอินโดจีน ซึ่งรวมอยู่ในเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ มีพื้นที่ถึง ๕๐,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร เพื่อแลกกับเมืองตราด ซึ่งมีพื้นที่เพียง ๒,๘๑๙ ตารางกิโลเมตรคืนมา ก็เพราะทรงเห็นว่าสิ่งมีค่าเหนือกว่าสิ่งอื่นใดทั้งหมด ก็คือ “คน”
พื้นที่ซึ่งทรงสละไปนั้นประชาชนที่อยู่เป็นชาวเขมร แต่ประชาชนในจังหวัดตราดเป็นคนไทย ในวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๔๔๗ ที่เราถูกบังคับให้ทำพิธีมอบเมืองตราดให้แก่ฝรั่งเศส นอกจากยื่นเอกสารต่อกันแล้ว มีการชักธงช้างลงจากยอดเสาหน้าศาลากลางจังหวัด แล้วชักธงชาติฝรั่งเศสขึ้นสู่ยอดเสาแทน ทหารฝรั่งเศสเป่าแตรทำความเคารพนั้น บรรดาข้าราชการไทยที่ต้องไปทำพิธีอันแสนหดหู่นี้พากันน้ำตาซึม รีบหันหลังกลับลงเรือมกุฏราชกุมารกลับกรุงเทพฯ โดยมีข้าราชการของจังหวัดตราดและเกาะกงอาศัยกลับเข้ากรุงเทพฯด้วย
คนไทยเป็นจำนวนมากได้ยอมสละบ้านช่องที่ดินอพยพเข้ามาอยู่ในเขตไทย ไม่ยอมอยู่ใต้ธงของฝรั่งเศส ซึ่งรัฐบาลก็อ้าแขนรับด้วยความอบอุ่น จัดการช่วยเหลือหาที่ทำกินให้
จนในวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๔๕๐ ในการรับมอบจังหวัดตราดคืนจากฝรั่งเศส พระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิริยศิริ) ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเคยเป็นผู้ทำพิธีมอบให้ฝรั่งเศสไว้เมื่อเกือบ ๓ ปีก่อนไปทำพิธีรับมอบด้วยตนเอง ขณะนั้นท่านมีบรรดาศักดิ์ใหม่เป็น พระยามหาอำมาตย์ธิบดี การมอบครั้งก่อนท่านต้องน้ำตาไหลเมื่อเห็นธงไทยถูกชักลงจากเสา โดยมีธงฝรั่งเศสสวนขึ้นแทน การมอบครั้งนี้ท่านน่าจะได้สะใจที่เห็นธงฝรั่งเศสชักลงจากเสาโดยมีธงไทยสวนขึ้นไปแทนบ้าง แต่กลับไม่ได้เห็น เพราะฝรั่งเศสมอบเสาธงเปล่าๆให้ คนไทยที่เคยน้ำตาไหลตอนเสียเมืองเลยไม่ได้สะใจกัน
เมื่อตราดกลับเข้ามาอยู่ในอ้อมกอดของพี่น้องไทยอีก ราษฎรที่ทิ้งถิ่นมาก็อยากกลับไปสู่ถิ่นเดิม บางคนได้ขายที่ดินไปก่อนที่จะย้ายมา หรือจำนองไว้แล้วปล่อยให้หลุดมือ รัฐบาลก็ช่วยซื้อหรือไถ่ถอนคืนให้ ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯยกเว้นการเก็บภาษีและการเกณฑ์ทหารเป็นเวลาถึง ๕ ปีให้แก่ชาวจังหวัดตราด เป็นการเรียกขวัญและกำลังใจให้ชาวตราดกลับคืนมา
ในขณะที่รัฐบาลสยามรับมอบจังหวัดตราดคืนจากฝรั่งเศสนั้น เป็นเวลาที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสยุโรป ได้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงมีพระราชประสงค์จะเสด็จเยี่ยมชาวจังหวัดจันทบุรีและตราด ฉะนั้น ก่อนที่จะเสด็จกลับคืนสู่พระนคร เรือพระที่นั่งมหาจักรีจึงได้แวะที่จังหวัดตราดในเช้าวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๐ ครั้นในเวลา ๑๑.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องแบบจอมพลเรือ ประทับเรือกลไฟที่ทหารเรือจัดถวาย มาถึงปากน้ำจังหวัดตราด แล่นไปตามลำน้ำโดยมีราษฎรโห่ร้องถวายพระพรตลอดสองฝั่งและแจวเรือตามเสด็จ
ณ พลับพลาที่ท่าเรือ มีพระสงฆ์ ๑๕๐ รูปถวายพระพรชัยมงคล และราษฎรมาเฝ้าอย่างล้นหลามด้วยความปิติยินดี พระบริรักษ์ภูธร (ปิ๋ว บุนนาค) ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ได้อ่านคำถวายพระพรชัยมงคล มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“อันน้ำใจของประชาชนชาวเมืองตราด เมื่อได้แลเห็นพระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐเวลานี้ ความปิติยินดีก็เต็มตื้นเต็มอกไปทั่วหน้า พ้นวิสัยที่จะพรรณนาด้วยถ้อยคำให้ทรงทราบได้ว่า ความยินดีที่ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในครั้งนี้มีแก่ชาวจังหวัดตราดสักเพียงใด ถ้าจะมีที่เปรียบได้ก็แต่ด้วยความยินดีของพระชาลีและนางกัณหา เมื่อได้กลับไปพบเห็นพระเวสสันดรและนางมัทรี...”
พระพุทธเจ้าหลวงมีดำรัสตอบ มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“ดูกรประชาชนอันเป็นที่รักของเรา ถ้อยคำซึ่งเจ้าทั้งหลายได้มอบฉันทะให้กล่าวเฉพาะหน้าเราเวลานี้ เป็นที่จับใจอย่างยิ่ง สมัยเมื่อเราต้องพลัดพรากเขตแดนอันเป็นที่พึงพอใจ ซึ่งเราได้ใส่ใจบำรุงอยู่ แลเมื่อนึกถึงประชาชนทั้งหลาย อันเป็นที่รักใคร่คุ้นเคยของเรา ต้องได้รับความเปลี่ยนแปลง อันประกอบไปด้วยความวิบัติไม่มากก็น้อย ย่อมมีความเสร้าสลดใจเป็นอันมาก เพราะฉะนั้น ครั้นเมื่อได้รับโทรเลขจากเมืองตราดในเวลาที่เราอยู่ในประเทศยุโรป เป็นสมัยที่เรามารวมอยู่กันอีก จึงมีความยินดีอย่างยิ่ง มีความปรารถนาที่จะใคร่มาเห็นเมืองนี้แลเจ้าทั้งหลาย เพื่อจะได้ระงับความลำบากอันใด ซึ่งจะเกิดขึ้นด้วยความเปลี่ยนแปลง แลเพื่อจะได้ปรากฏเป็นที่มั่นใจแก่เจ้าทั้งหลายว่า การทั้งปวงจะเป็นที่มั่นคงยืดยาวสืบไป เจ้าทั้งหลายผู้ที่ละทิ้งภูมิลำเนา จะได้กลับเข้ามาถิ่นฐานแลที่ได้เว้นการทำมาหากิน จะได้มีใจอุตสาหะทำมาหากินให้บริบูรณ์ดังแต่ก่อน แลทวียิ่งขึ้น ซึ่งเจ้าทั้งหลายคิดเห็นว่า เราเหมือนบิดาที่พลัดพรากจากบุตรจึงรีบมาหานั้น เป็นความคิดอันถูกต้องแล้ว ขอให้เชื่ออยู่ในใจเสมอสืบไปในเบื้องหน้า ดังเช่นที่คิดเห็นในครั้งนี้ ว่าเราคงจะเป็นเหมือนบิดาของเจ้าเสมอตลอดไป ย่อมยินดีด้วยในเวลาที่มีความสุข แลช่วยปลดเปลื้องอันตรายในเวลามีภัยได้ทุกข์”
จากนั้นเรือพระที่นั่งมหาจักรีก็ออกจากจังหวัดตราด มาถึงปากน้ำจันทบุรีในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายนเวลากลางคืน เจ้าพนักงานได้ตกแต่งประทีปโคมไฟที่ปากน้ำแหลมสิงห์และบนยอดเขาสว่างไสว ทั้งยังจุดดอกไม้ไฟให้ทอดพระเนตรทั้งคืน
ในเวลาเช้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จโดยเรือพระที่นั่งไปตามลำน้ำจันทบุรี ท่ามกลางเรือของราษฎรที่แห่ล้อม และถวายพระพรสนั่นหวั่นไหว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จยังพลับพลาที่ประทับ มีพระราชดำรัสตอบคำกราบบังคมทูลของพระยาวิชยาธิบดี (แบน บุนนาค) สมุหเทศาภิบาลมณฑลจันทบุรี ตอนหนึ่งว่า
“เมืองจันทบุรีนี้แต่เดิมมา ย่อมเป็นที่เราไปมาเยี่ยมเยียนอยู่เป็นนิตย์ ได้รู้สึกว่าเป็นเมืองหนึ่งซึ่งอาจบำบัดโรคแลให้ความสำราญใจสำราญกาย เพราะได้มาอยู่ในที่นี้เป็นหลายคราว จึงเป็นที่รักมุ่งหมายจะบำรุงให้มีความเจริญยิ่งขึ้น ความคุ้นเคยต่อประชาชนในที่นี้ย่อมมีเป็นอันมาก ดุจเจ้าทั้งหลายระลึกได้ถึงว่าเราต้องห่างเหินไปไม่ได้มาอยู่เมืองนี้ถึง ๑๔-๑๕ ปีด้วยความจำเป็น แต่มิได้ละเลยความผูกพันในที่จะบำรุงเมืองนี้ให้อยู่เย็นเป็นสุข และมีใจระลึกถึงประชาชนทั้งหลายอันเป็นที่รักที่คุ้นเคยกัน และได้ฟังข่าวสุขทุกข์ของเจ้าทั้งหลายอยู่เป็นนิตย์ เมื่อเป็นโอกาสที่จะได้มาเมืองนี้ในครั้งแรกซึ่งได้เริศร้างไปช้านาน จึงมีความยินดีตักเตือนใจอยู่เสมอ ซึ่งจะใคร่เห็นภูมิประเทศแลราษฎรอันเป็นที่รักของเรา ผลแห่งความมุ่งหมายอันแรงกล้านี้ได้สำเร็จเป็นอันดี เป็นเหตุให้เกิดความชื่นชมโสมนัสในใจว่า บ้านเมืองมิเสื่อมทรามไป มีความสุขสมบูรณ์อยู่สมดังความปรารถนาของเรา ทั้งได้เห็นหน้าพวกเจ้าทั้งหลายเบิกบานแสดงความชื่นชมยินดี ส่อให้เห็นความจงรักภักดีมิได้เสื่อมคลาย สมกับคำที่กล่าวว่ามีมิตรจิตและมิตรใจในระหว่างตัวเราและเจ้าทั้งหลาย ความรู้สึกอันนี้ย่อมมีแต่ความชื่นชมยินดีทวีขึ้น”
หลังจากทรงเสด็จเยี่ยมเยียนชาวตราดและจันทบุรีแล้ว ขวัญกำลังใจของประชาชนทั้ง ๒ จังหวัดก็กลับคืนมา มีพลังที่จะประกอบอาชีพสร้างบ้านสร้างเมืองต่อไป
นี่ก็เป็นประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งที่บรรพบุรุษของเราได้ประสบมา แต่ตอนนี้จะเชียร์ฟุตบอลทีมฝรั่งเศสก็เชียร์ไปเถอะ คนรุ่นนี้เขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่บรรพบุรุษของเขาไปก่อกรรมทำเข็ญกับคนอื่นไว้แบบหน้าด้านๆ เขาอาจจะไม่เห็นด้วยกับการกระทำแบบนี้ก็ได้ (เพราะรุ่นเขาต้องแนบเนียนกว่านี้) แต่จงสำนึกว่า ไม่มีใครหรอกที่จะรักและหวังดีต่อคนไทยอย่างจริงใจเหมือนคนไทยด้วยกัน เขาทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติตัวเองด้วยกันทั้งนั้น จะต่างกันก็แต่ว่าจะมาไม้ไหน ฉะนั้นถ้าขัดแย้งกันเรื่องภายใน ก็อย่าไปเสนอหน้าฟ้องต่างชาติเลย นอกจากเขาจะดูถูกแล้ว ยังเปิดช่องให้เขาจ้องเอาเปรียบเราด้วย