หลังจากได้สร้างประวัติศาสตร์การผ่าตัดครั้งแรกไว้ให้ไทยแล้ว นายแพทย์แดน บีช บรัดย์ มิชชันนารีอเมริกัน ก็ได้ตั้งโรงพิมพ์เพื่อธุรกิจแห่งแรกขึ้นในเมืองไทยเมื่อปี ๒๓๗๗ ที่บ้านพักหลังป้อมวิชัยประสิทธิ์ โดยซื้อแท่นพิมพ์ต่อจากคณะมิสชันนารี และใช้ตัวพิมพ์ภาษาไทยที่ ร.ท.โลว์ นายทหารอังกฤษ ผู้เข้ามาศึกษาภาษาไทยอยู่หลายปี แล้วประดิษฐ์แม่พิมพ์ตัวอักษรไทยขึ้น พิมพ์เป็นตำราเรียนภาษาไทยที่สิงคโปร์ เพื่อแจกจ่ายให้ข้าราชการและพ่อค้าชาวอังกฤษที่จะมาติดต่อกับเมืองไทย
เมื่อตั้งโรงพิมพ์ขึ้นแล้ว หมอบรัดเลย์ก็รับจ้างงานพิมพ์ทั่วไป ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงจ้างให้พิมพ์ใบปลิวห้ามการสูบฝิ่นจำนวน ๙,๐๐๐ ฉบับแจกจ่ายราษฎร นับเป็นเอกสารทางราชการฉบับแรกที่ใช้การพิมพ์ และยังหารายได้ด้วยการพิมพ์ปฏิทินไทยเป็นครั้งแรก กับพิมพ์ตำราปืนใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวออกจำหน่ายอีกด้วยด้วย
ต่อมาหมอบรัดเลย์เห็นว่า ชาวต่างประเทศที่เข้ามาอยู่เมืองไทยจำนวนมาก อยากจะรู้ข่าวสารบ้านเมืองบ้าง จึงได้ปรึกษาคณะมิชชันารีออกเป็นหนังสือข่าวขึ้น ให้ชื่อว่า The Bangkok Recorder มีทั้งฉบับภาษาอังกฤษและภาษาไทย เพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางข้าราชการได้อ่านด้วย โดยออกฉบับปฐมฤกษ์ในวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๓๙๘ เป็นรายปักษ์ ทำให้ไทยมีหนังสือพิมพ์ก่อนประเทศญี่ปุ่นถึง ๑๗ ปี หมอบรัดเลย์เรียกหนังสือพิมพ์ของเขาว่า “จดหมายเหตุ”บ้าง “นิวสะเปเปอ”บ้าง และ “หนังสือพิมพ์”บ้าง ต่อมาคำว่า “หนังสือพิมพ์”ได้รับการยอมรับจนใช้มาถึงวันนี้
“บางกอกรีคอร์เดอร์” นำเสนอเป็นรายงานข่าวและบทความแบบวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในยุคนั้น จุดประสงค์ก็เพื่อเน้นให้เห็นว่าหนังสือพิมพ์คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และพยายามชี้ให้เห็นว่าหนังสือพิมพ์มีคุณต่อประชาชน เป็นแสงสว่างของบ้านเมือง คนชั่วเท่านั้นที่กลัวหนังสือพิมพ์ เพราะหนังสือพิมพ์จะประจานความชั่วของเขา
“บางกอกรีคอร์เดอร์” ออกไม่ถึงปีก็หยุดกิจการ เพราะสังคมชั้นสูงไทยรับไม่ได้กับการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้ไม่ได้รับการสนับสนุน แต่บางครั้งเอาไปรวมกับฉบับภาษาอังกฤษ จนในวันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๐๘ “บางกอกรีคอเดอร์” ก็ออกใหม่อีกครั้ง เสนอทั้งข่าวในประเทศ ข่าวต่างประเทศ บทความ และจดหมายจากผู้อ่าน ครั้งนี้ออกอยู่ได้ ๒ ปีก็เกิดเรื่องอีก
สาเหตุมาจากการปักปันเขตแดนสยามกับอาณานิคมของฝรั่งเศสในอินโดจีน ฝรั่งเศสซึ่งเล่นบทหมาป่ากับลูกแกะพยายามเอาเปรียบทุกทาง แต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหกลาโหม ไม่ยอมอ่อนข้อให้ ม.กาเบรียล ออบาเรต์ กงสุลฝรั่งเศสขุ่นเคือง จึงกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯให้ปลดเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ออกจากคณะกรรมการปักปันเขตแดน แต่ ร.๔ ไม่โปรดตามคำทูล ม.ออบาเรต์จึงทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรไปยืนดักรออยู่หน้าวังยื่นถวายพร้อมกับคำขู่ว่า ถ้าไม่ทำตามประสงค์ของเขา สัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับฝรั่งเศสจะต้องขาดสะบั้น เกิดสงครามขึ้นเป็นแน่ พระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ตรัสตอบแต่อย่างใด เสด็จเข้าวังไป
หมอบรัดเลย์เอาเรื่องนี้มาตีแผ่ใน“บางกอกรีคอเดอร์” ทั้งยังออกวามเห็นด้วยว่า การกระทำของทูตฝรั่งเศสนี้ผิดวิธีการทูต และดักคอว่าการไม่ยอมปลดสมุหกลาโหม กงสุลฝรั่งเศสอาจพยายามแปลความเป็นว่า ในหลวงได้ทรงหยามเกียรติพระเจ้าจักรพรรดินโปเลียน และอ้างเอาเป็นเหตุทำสงครามกับสยามก็เป็นได้
การตีแผ่ของของ “บางกอกรีคอเดอร์” ทำให้กงสุลฝรั่งเศสไม่กล้าแสดงอำนาจบาตรใหญ่กับคณะกรรมการปักปันเขตแดนต่อไป แต่หันไปฟ้องหมอบรัดเลย์ต่อศาลกงสุลในข้อหาหมิ่นประมาท
คดีนี้ทั้งคนไทยและฝรั่งในบางกอกต่างสนับสนุนหมอบรัดเลย์ กงสุลอังกฤษเสนอตัวเป็นทนายให้ กงสุลอเมริกันเป็นผู้พิพากษา แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯมีพระราชประสงค์ที่จะไม่สร้างความขุ่นเคืองให้ฝรั่งเศสอีก จึงห้ามข้าราชการไทยที่รู้เห็นเหตุการณ์ไปเป็นพยานในศาล ผลจึงปรากฏว่าหมอบรัดเลย์แพ้คดี ถูกปรับเป็นเงิน ๔๐๐ เหรียญอเมริกัน และให้ประกาศขอขมากงสุลฝรั่งเศสในบางกอกรีคอเดอร์ ซึ่งคนไทยและชาวต่างประเทศได้เรี่ยไรกันออกค่าปรับให้ ส่วนเรื่องขอขมานั้น หมอบรัดเลย์ได้ตอบโต้ ม.ออบาเรต์อย่างสะใจ โดยหยุดออกบางกอกรีคอเดอร์ซึ่งเป็นหนัสือพิมพ์ฉบับเดียวในยามนั้น เลยไม่รู้จะเอาหนังสือพิมพ์ที่ไหนขอขมา
เมื่อเรื่องราวสงบแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้พระราชทานเงินให้หมอบรัดเลย์ ๒,๐๐๐ เหรียญ เป็นค่ารักษาข้าราชสำนักฝ่ายใน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นค่าปลอบใจเรื่องนี้นั่นเอง