xs
xsm
sm
md
lg

“มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” ตัด “การเมือง” ออกจากชื่อ แต่ก็ตัดออกจากจิตวิญญาณไม่ได้!!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีชื่อเมื่อแรกเริ่มก่อตั้งว่า "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ และการเมือง" (มธก.) จากความคิดริเริ่มของ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ โดยเล็งเห็นว่าการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ขณะนั้นมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียว เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว ประเทศชาติมีความจำเป็นจะต้องมีบุคคลที่มีความรู้ทางกฎหมาย การปกครอง และสังคม มารับใช้ประเทศชาติ จึงได้เสนอร่าง “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ.๒๔๗๖” เพื่อเปิดสอนในวิชาแขนงดังกล่าว เมื่อพระราชบัญญัติผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จึงได้มีพิธีเปิดมหาวิทยาลัยขึ้นเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๗ โดยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นผู้กระทำพิธีเปิดและศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้รับแต่งตั้งเป็น “ผู้ประศาสน์การ” คนแรกของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ประศาสน์การเพียงคนเดียว เพราะต่อมาได้เปลี่ยนชื่อตำแหน่งเป็น อธิการบดี

ปรัชญาของการตั้งมหาวิทยาลัย ปรากฏตามสุนทรพจน์ของ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ที่รายงานต่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีดังนี้

“...มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎรผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพของการศึกษา...”

ในปี พ.ศ.๒๔๘๑ มหาวิทยาลัยได้ตั้งโรงเรียนเตรียมปริญญาขึ้น มีหลักสูตร ๒ ปี เพื่อรับผู้ประสงค์จะเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองโดยตรง มีหลักสูตรการสอนหนักไปทางด้านภาษา ทั้งภาษาไทย ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และวิชาด้านสังคม เช่น ปรัชญา เทคโนโลยี ดนตรี พิมพ์ดีด และชวเลข เป็นต้น โรงเรียนเตรียมปริญญา (ต.มธก.) เปิดสอนได้เพียง ๘ รุ่น ก็ถูกยกเลิกไปในปี พ.ศ.๒๔๙๐

เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ คณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบ ผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ ชื่อมหาวิทยาลัยถูกตัดคำว่า “วิชา” และ “การเมือง” ออก เปลี่ยนเป็น "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" (มธ.) ตำแหน่ง “ผู้ประศาสน์การ” ก็ถูกยกเลิก เปลี่ยนเป็นตำแหน่ง “อธิการบดี” เมื่อ จอมพล ป.พิบูลสงครามเข้ารับตำแหน่งเอง หลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิต ถูกยกเลิก ขยายออกเป็น นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี สังคมสงเคราะห์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกยกเลิกเป็นตลาดวิชาในปี ๒๕๐๓ เปลี่ยนเป็นระบอบสอบเข้าเช่นเดียวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำให้ผู้จบ ม.ศ.๕ ในปีนั้นหมดโอกาสเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยกันมาก เพราะยังไม่มีมหาวิทยาลัยตลาดวิชาอย่างรามคำแหง และสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดมารองรับ

ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดี เห็นว่าควรขยายการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นในชั้นปริญญาตรี เพราะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีส่วนสำคัญในการพัฒนาสังคม เช่นเดียวกับหลักสูตรทางสังคมศาสตร์ที่มีอยู่เดิม พื้นที่ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ซึ่งมีประมาณ ๕๐ไร่ ไม่เพียงพอต่อการขยายตัว จึงเจรจาขอใช้ที่ดินนิคมอุตสาหกรรม ของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่รังสิต ประมาณ ๒,๔๐๐ ไร่ เพื่อสนองการขยายตัว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงขยายออกไปที่รังสิตอีกแห่ง เรียกว่า “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต” ซึ่งเจริญก้าวหน้าและพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังขยายไปที่ “มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง” และ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา”ด้วย โดยอยู่บนพื้นฐานการปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นธรรมศาสตร์ ดั่งเช่นจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์
มีความพยายามจากที่ประชุมของมหาวิทยาลัยที่จะเพิ่มคำว่า “การเมือง” เหมือนชื่อเมื่อแรกตั้งขึ้นอีก เพื่อแสดงถึงจิตวิญญาณความเป็นธรรมศาสตร์ ซึ่งถูกตัดออกเพราะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่เหตุการณ์ต่อมาก็ได้พิศูจน์แล้วว่า แม้จะตัดออกก็ไม่มีผล เพราะคนธรรมศาสตร์ก็ยังยุ่งเกี่ยวกับการเมืองตลอดมา คณะกรรมการยังเห็นว่าควรจะใส่คำว่า “ประชาธิปไตย”ไว้ใน พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย แต่ความพยายามนี้ก็ยังไม่เป็นผลสำเร็จ


กำลังโหลดความคิดเห็น