ผู้เชี่ยวชาญกรมทรัพยากรธรณี วิเคราะห์พื้นที่ คาดว่า จะพบทางเข้าใหม่ ส่งทีมงานเดินเท้าโรยตัวไปดูว่าจะเชื่อมต่อกับเส้นทางหลัก หาความเป็นไปได้ สำหรับใช้เป็นเส้นทางช่วยเหลือ 13 ชีวิต
เมื่อเวลา 13.30 น. นายทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ นายชัยพร ศิริพรไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการประสานงานระหว่างประเทศ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านถ้ำในประเทศไทย ณ กรมทรัพยากรธรณี แถลงสนับสนุนข้อมูลทางธรณีวิทยา ถ้ำหลวงนางนอน เพื่อใช้ในการค้นหาผู้สูญหาย
โดยได้ดำเนินการจัดส่งตำแหน่งของถ้ำและระดับความสูง-ต่ำของพื้นถ้ำ ที่ระดับความลึก 1 กิโลเมตร ให้ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลในท้องที่ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อประสานให้หน่วยกู้ภัยเร่งให้การช่วยเหลือต่อไป และขณะนี้มีเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 1 อยู่ในพื้นที่เพื่อคอยสนับสนุน
ขณะเดียวกัน ได้จัดทำข้อมูลทางธรณีวิทยาสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะพบทางเข้าถ้ำนอกเหนือจากปากถ้ำ โดยใช้ข้อมูลทางธรณีวิทยาเพื่อหาแนวรอยแตกของถ้ำที่พบโพรง หรือช่องที่เข้าได้อีกทางหนึ่ง เพื่อสนับสนุนทีมค้นหา ซึ่งในจุดนั้นจะพบบริเวณที่เรียกว่าถ้ำแห้ง แผนที่ที่จะพบในตำแหน่ง A และ B คือ บริเวณโอกาสที่จะพบช่องหรือปล่องเข้าสู่ถ้ำ จุดตัดระหว่างแนวถ้ำ หรือรอยแตกของเขา ตำแหน่ง A บริเวณทางออกของถ้ำที่จะตัดในทางทิศใต้ของปลายถ้ำ ซึ่งจะมีลักษณะเป็นร่องเขา ส่วนในตำแหน่ง B แนวฝั่งตะวันออกของแนวถ้ำเป็นหน้าผาใกล้เชิงเขา
นายชัยพร เปิดเผยว่า กำลังเตรียมสำรวจหาความเป็นไปได้ที่ใช้เข้า-ออก แทนปากถ้ำหลัก ซึ่งปล่องจุด A เหนือถ้ำหลวง ขนาดเท่ากับ 1 คน สามารถเข้าไปได้ อาจใช้เป็นช่องทางที่ไว้ลำเลียงผู้สูญหายได้
ทั้งนี้ ลักษณะของถ้ำหลวงนางนอน เป็นถ้ำธารลอด ซึ่งในฤดูฝนจะมีน้ำไหลเข้ามาท่วมพื้นถ้ำ แต่เนื่องจากความสูงต่ำของพื้นถ้ำจะมีลักษณะต่างกัน เช่น บางช่วงมีเพดานถ้ำที่ต่ำมากๆ ไม่สามารถที่จะผ่านไปได้ ในช่วงที่มีน้ำท่วม ยกเว้นแต่จะให้รอให้น้ำลด หรือจะดำน้ำผ่านไป แต่เนื่องจากพื้นถ้ำในแต่ละช่วงจะมีบางจุดที่เกิดหินถล่ม และมีตะกอนดินสะสมบางส่วนสามารถหลบน้ำได้