xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านทำพิธีเรียกขวัญ 13 ชีวิตหน้าปากถ้ำหลวง ตามความเชื่อของล้านนา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บรรยากาศพิธีช้อนขวัญ โดยผู้ปกครองของเด็กทั้ง 13 คน ร่วมกันประกอบพิธีบริเวณหน้าปากถ้ำหลวง ตั้งแต่ 06.30 น. ตามความเชื่อของชาวล้านนา

วันนี้ (26 มิ.ย.) เวลา 06.30 น. เพจเฟซบุ๊ก “BaaBin-บ้าบิ่น” โพสต์คลิปไลฟ์สด รายงานความคืบหน้าเด็กนักกีฬาสูญหาย 13 คน และบรรยากาศในเช้า โดยในช่วงท้ายของคลิปมีภาพในพิธีช้อนขวัญ ซึ่งผู้ปกครองของเด็กทั้ง 13 คน ร่วมกันประกอบพิธีบริเวณหน้าปากถ้ำหลวง ตามความเชื่อของล้านนา

ทั้งนี้ ข้อมูลจากครูศรีจันทรัตน์ กันทะวัง ระบุว่า ประเพณีเรียกขวัญ หรือ ฮ้องขวัญ เป็นประเพณีที่ชาวล้านนาถือปฏิบัติสืบต่อกันมาสำหรับเรียกขวัญคนที่หายป่วยใหม่ๆ หรือผู้ที่กำลังป่วยไข้ให้มีกำลังใจ นอกจากนี้ ผู้ป่วยเชื่อว่าบางครั้งได้รับความตกใจหรือขวัญเสียในสถานที่บางแห่ง เพื่อต้องการให้หายจากอาการป่วยไข้ จะมีพิธีช้อนขวัญที่ตกหายไปคืนแก่เจ้าของอีกด้วย โดยมีอุปกรณ์ในการช้อนขวัญ ได้แก่ ด้ายสายสิญจน์ 1 เส้นให้มีความยาวพอประมาณ ข้าวเหนียวปั้นให้พอดีคำ 1 คำกล้วยน้ำว้าสุก 1 ลูก กระทงใบตองกล้วย 2 กระทง แซะหรือสวิง 1 อัน โดยนำกล้วยกับข้าวสุกวางไว้ที่จุดที่ผู้ป่วยตกใจหรือเสียขวัญ ใช้ด้ายสายสิญจน์แกว่งไปมาในบริเวณนั้นแล้วเอาแซะหรือสวิงช้อนขวัญที่คิดว่าหล่นหรือตกหายแล้วพูดว่า “ขวัญได้มาตกหกตกหาย ขอฮื้อเมียอยู่กับเจ้าจิ่มเน้อ” (ขวัญที่หล่นอยู่ที่นี่ขอให้กลับบ้านไปอยู่กับเจ้าของด้วย)

นอกจากการฮ้องขวัญเพื่อเรียกกำลังใจแก่ผู้ป่วยให้หายแล้ว การฮ้องขวัญยังเป็นการเสริมสร้างมิตรภาพเช่น ฮ้องขวัญผู้อาวุโส เป็นการฉลองครบครบวันเกิดเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลมีอายุยืนนาน เพื่อเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของลูกหลานต่อไป ฮ้องขวัญในพิธีสำคัญ เช่น ฮ้องขวัญลูกแก้ว หรือนาคที่จะบวชในพุทธศาสนา เพื่อให้จิตใจบริสุทธิ์ก่อนบวช ฮ้องขวัญคู่บ่าวสาวที่ตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน เพื่อเป็นการเตือนสติ เสริมกำลังใจในการฟันฝ่าอุปสรรคในชีวิตคู่ และฮ้องขวัญในงานศพ เพื่อเรียกขวัญญาติให้อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ให้ไปกับผู้ตาย และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนและครอบครัว





กำลังโหลดความคิดเห็น