xs
xsm
sm
md
lg

หนุ่มอินดี้ที่กำลังดังไปทั่วโลก...แห่งเสียงเพลง "ภูมิ วิภูริศ"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จากเด็กหนุ่มที่ชื่นชอบดนตรีและเสียงเพลง เริ่มต้นด้วยการฟังจนพัฒนามาหัดเล่นเครื่องดนตรีต่างๆ ผ่านการฝึกฝนทั้งการเล่นดนตรีในแต่ละพื้นที่, ร้องคัฟเวอร์เพลงที่ตนเองสนใจลงในโลกออนไลน์ จนกระทั่งเริ่มหัดแต่งเพลงของตัวเอง และมีผลงานอัลบั้มเป็นของตนเอง วันนี้ วิภูริศ ศิริทิพย์ หรือ ภูมิ วิภูริศ (Phum Viphurit) เด็กหนุ่มคนนั้นผู้ซึ่งมีท่วงทำนองอันเป็นเฉพาะตัว กำลังจะเป็นอีกหนึ่งหัวหอกของวงการเพลงไทยที่จะมอบเสียงบทเพลงผ่านทางเนื้อร้องภาษาอังกฤษไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก และให้นักฟังเพลงโลกหันมาสนใจเพลงไทยกลิ่นสากลผ่านเด็กหนุ่มร่างสูงคนนี้

 • พื้นฐานและตัวตนของ “ภูมิ”

วิภูริศ : ภูมิเป็นลูกชายคนเล็กที่สุดของบ้าน มีพี่ชายหนึ่งคน พออายุ 9 ขวบก็ย้ายไปอยู่นิวซีแลนด์กับแม่และพี่ชายที่นั่น จนอายุ 18 ปี กลับมาเรียนมหาวิทยาลัยที่มหิดล ด้านภาพยนตร์ ที่บ้านจะเป็นทางสายศิลป์ พ่อเป็นสถาปนิก ส่วนแม่ก็เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ แล้วทุกคนจะไปทางด้านศิลปะหมดเลย ภูมิเป็นคนเดียวที่ไม่ได้ไปทางกราฟิกขนาดนั้น เลยเรียนทางด้านภาพยนตร์ ส่วนช่วงชีวิตในวัยเด็กก็เหมือนเป็นเด็กทั่วไป ชอบเตะฟุตบอล ชอบเล่นเกม ไม่ได้มีความพิเศษอะไร เป็นเด็กธรรมดาคนหนึ่งที่โตมาในกรุงเทพฯ แต่ที่บ้านจะชอบฟังเพลง อาจจะซึมซับมาตั้งแต่เด็กๆ ก่อนที่จะไปนิวซีแลนด์ จนวันหนึ่งแม่ก็ตัดสินใจว่าลองไปอยู่นิวซีแลนด์กัน เพราะว่าก่อนหน้านั้นแม่ภูมิเคยไปเรียนที่นั่นมา 1 ปี แม่ชอบมาก เหมือนได้รู้ตัวเองมาตั้งแต่เด็กๆ มีเวลาว่างในการทำงานอดิเรก แม่ก็เลยมาถามว่าไปลองอยู่กันมั้ย ความคิดแรกเราก็ไม่คิดว่าจะได้ไปอยู่เป็น 10 ปีหรอกครับ แต่พอได้ไปอยู่นานๆ มันก็ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ทุกคนเข้ากับที่นั่นได้ดี แล้วที่นั่นจะเป็นเมืองที่ธรรมชาติด้วย

 • ย้ายไปอยู่ที่นั่นตั้งแต่เด็ก ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตเรา?

วิภูริศ : โดยส่วนตัวเราก็ไม่แน่ใจว่าเปลี่ยนอะไรขนาดนั้นนะครับ เพราะเรารู้สึกว่าตั้งแต่ช่วงอายุ 9 ขวบเป็นต้นมา มันเป็นช่วงที่เราเปลี่ยนอยู่แล้วทุกปี แต่คือถ้าเราไม่ได้ไปอยู่ที่นั่นก็คงไม่ได้เป็นแบบที่เราเป็นในตอนนี้ ไม่ได้เป็นคนที่สบายๆ ค่อนข้างอยากรู้อยากเห็น คือช่วงแรกก็มีการปรับตัวครับ เพราะว่ามันก็ไม่ใช่กรุงเทพฯ ภาษาอังกฤษก็ต้องไปเรียนรู้ใหม่หมดเลย ตอนเด็กๆ เราไม่ได้คิดมากขนาดนั้นครับ เราสนุกกับโอกาสที่เราได้ไปอยู่ในที่ใหม่ๆ มากกว่า เราก็ไปเตะบอล เล่นกีฬากับเพื่อนใหม่ที่นั่น แต่ในเรื่องปัญหาส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นเรื่องภาษาครับ ในช่วง 2-3 ปีแรกก็ต้องเริ่มภาษาอังกฤษใหม่หมดเลย ตอนไปเราก็ไม่ได้รู้ภาษาอังกฤษเลย ถือว่าเจอปัญหาเรื่องภาษามากที่สุด แต่ว่ามันสนุกนะครับ เพราะว่าเราก็ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่คนเขาเหยียดผิวกัน ไม่ได้มีการกดอะไรขนาดนั้น ถือว่าโชคดีที่โตมาในสภาพแวดล้อมที่ดี แล้วเมืองที่ภูมิไปอยู่ก็ไม่ใชเมืองหลวงด้วย เป็นเมืองที่มีคนอยู่แค่ 4 แสนคน เป็นเมืองที่มีแต่มหาวิทยาลัย

 • จาก 9 ปีที่ไปอยู่นิวซีแลนด์ เราผ่านการเติบโตอย่างไรบ้าง

วิภูริศ :  ผมว่าจากเวลา 9 ปีตรงนั้น ถือว่าเติบโตขึ้นมากๆ เรารู้สึกว่าเรามีความรับผิดชอบที่สูงขึ้นตั้งแต่เด็กๆ คือตามสไตล์ฝรั่งครับ พออายุ 15-16 พ่อแม่ก็ไล่ให้ไปทำงานพาร์ตไทม์ อย่างในตอนนั้นผมก็ได้รับว่าจ้างให้ไปเล่นดนตรีบ้าง แล้วพออายุ 18 เด็กจะย้ายออกจากบ้านไปทำงานเอง เรียนมหา'ลัยก็ส่งตัวเองเรียน เป็น student alone คือมันถูกปลูกฝังไว้ในเด็กเมืองนอกตั้งแต่เด็กๆ ว่าจะต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเองนะ อยากได้อะไรก็ต้องไปทำงาน คือเราว่าเราเติบโตเหมือนเด็กทั่วไปแล้วล่ะ เจออะไรที่ชอบแล้วมาพัฒนาความชอบ แต่ว่าเรารู้ตัวในเรื่องความรับผิดชอบแม้ไม่ได้สูง แต่ก็มีมาตั้งแต่เด็กๆ อีกทั้งสิ่งแวดล้อมที่อยู่ด้วย ผมต้องให้เครดิตตรงนี้ ถือว่าเป็นผลดีเมื่อมองย้อนกลับไป พอกลับมากรุงเทพฯ มันทำให้เราปรับตัวได้ รับผิดชอบตัวเองได้ เข้าใจทุกอย่างมากขึ้น

 • แน่นอนว่าจุดที่เริ่มสนใจดนตรีก็มาจากที่นั่นด้วย

วิภูริศ : ใช่ครับ มันเริ่มมาจากการฟังเพลงนี่แหละครับ คือกลับมาบ้านก็มาเปิดทีวี เพราะว่าทีวีที่นั่นมีแค่ 4 ช่อง 3 ช่องแรกก็มีแต่ข่าว เลยเหลืออีกช่องคือช่องดนตรี เป็นช่องเดียวที่เราดูได้ ชื่อช่อง C4 จำได้ว่าเราเรียนเสร็จก็กลับมาดูช่องนี้ทุกวัน มาเรื่อยๆ จนอายุ 13-14 เราก็มีความคิดว่าน่าจะมาลองเล่นดนตรีแจมกับเพื่อนบ้าง อายุ 15 ก็ได้เครื่องดนตรีชุดแรกคือกลองชุด เพราะว่าเราอยากตีกลองมานานแล้ว แล้วก็ได้เล่น เล่นมาประมาณ 2 ปีก็มาเล่นกีตาร์ เพราะว่ากลองมันเสียงดัง พออายุ 16-17 ก็มาเริ่มคัฟเวอร์เพลงลงยูทูป หลังจากนั้นพัฒนามาเป็นแต่งเพลงเอง

 • แรงผลักดันอะไรที่ทำให้อยากเล่นดนตรี 

วิภูริศ : คือเป็นไปตามธรรมชาติวัยรุ่น มีอารมณ์ แล้วเรารู้สึกว่า การเล่นดนตรีของเรามันมหัศจรรย์ ในเวลาที่เราหยิบอะไรบางอย่างมาแล้วไม่มีเสียง เราจะไม่ได้ยินอะไร แต่พอเราไปจับคอร์ด จับเสียงปุ๊บ เป็นคอร์ด C ก็จะเป็นอย่างงี้ แล้วมาบวกกับความรู้ดนตรีเราก็จะกลายมาเป็นเพลงที่เราเคยชอบมาก่อน แต่เป็นเพลงที่เราสร้างมันขึ้นมา เราหลงในความมหัศจรรย์แบบนั้นในตอนเด็กๆ ที่เป็นจากศูนย์ในตอนเด็กๆ มาเป็นผลงานได้ ส่วนปัจจัยที่เหลือด้วยความที่ที่บ้านจะชอบฟังเพลงด้วย รวมไปถึงกิจกรรมที่ทั้งแม่และพี่ชายทำในตอนวัยรุ่นที่เหมือนกัน คือเป็นนักร้องนำเก่า ทุกคนชอบฟังเพลง ชอบเสียงดนตรีอยู่แล้ว แล้วเวลาที่เราซ้อมดนตรีคืออาจจะเสียงดังบ้าง แต่ทุกคนก็ยังโอเค

 • ในช่วง 15-16 ที่มาคัฟเวอร์เพลง ปัจจัยในตอนนั้นถือว่าเราพร้อมแล้ว

วิภูริศ : จริงๆ ปัจจัยยูทูปก็มีส่วนนะครับ เพราะว่ามันมีโอกาสได้อัดและแชร์ทีหลัง เพราะว่าเมื่อก่อนก็มีปัจจัยนี้แต่ไม่รู้ว่าจะไปลงที่ไหน เราเริ่มคัฟเวอร์เพลงเพราะว่าเราเรียนกีตาร์เองจากยูทูป เราก็อยากเล่นเพลงที่เราชอบ เช่น maroon 5 หรือ Jason mraz แล้วลองไปแกะเอาดู พอเปลี่ยนคอร์ดได้แล้วมาอัด พอเก็บไว้เองมันอาจจะดูเหงาๆ เลยมาอัปโหลดลงยูทูปและแชร์ คือมันเป็นพื้นที่ของเราโดยเฉพาะเลย ไม่ได้หวังไปไกลกว่านั้น ก็เป็นเวลาสักพักครับ 3-4 เดือนได้ กว่าที่จะอัปโหลดแบบลองดู พอเอาไปลงแล้วก็มีความรู้สึกสนุก ชอบ เราก็ทำอีก มาคัฟเวอร์เพลงที่คนไม่ค่อยรู้จัก แต่เราชอบเพลงนั้น มาลงอีกมาทำในเวอร์ชันเรา ก็ลงในยูทูปอีก เพราะเราเลือกเพลงที่เราชอบ ฟังแล้วอิน จากนั้นมาเปลี่ยนคอร์ดเป็นคีย์ของเราเอง แล้วก็เอามาลงในยูทูป อีกแง่หนึ่งผมว่ามันก็เหมือนงานอดิเรกของเราน่ะครับ ส่วนผลตอบรับส่วนใหญ่ก็เป็นเพื่อนๆ ครับ เขาชอบกัน แล้วก็อาจารย์ที่โรงเรียนก็ชวนไปเล่นตามงานต่างๆ ของโรงเรียน คือก็มีหนทางไปเรื่อยๆ เลยทำให้ฝีมือของเราเริ่มพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ทุกคนคอยสนับสนุนเรา

 • ความคิดเรื่องแต่งเพลงเอง เริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่

วิภูริศ : เริ่มมาตั้งแต่ปีที่ 2 ของการคัฟเวอร์ครับ ตอนนั้นเรามีความคิดที่ว่าคัฟเวอร์เพลงคนอื่นเยอะแล้ว ทำไมถึงไม่ลองแต่งเองดู เพราะว่าพอเราเริ่มแกะเพลงคนอื่นมากๆ เข้า หรือเอาเพลงของคนอื่นมาดัดแปลง มันก็จะมีไอเดียต่างๆ แล้ว ประมาณว่าเราชอบสไลด์คอร์ดตรงนี้นะ เราชอบซาวนด์กีตาร์แบบนี้ เราชอบร้องเพลงแนวนี้ มันก็เริ่มมีการพัฒนา คาแรกเตอร์ของเพลงก็เริ่มชัดขึ้น จนวันหนึ่งคนมาเจองานที่เราคัฟเวอร์เขาก็รู้สึกว่ามันก็ไม่ใช่งานของตัวเองจริงๆ เพราะว่ามันยังเป็นงานของศิลปินคนอื่นอยู่ ฉะนั้นเราก็คิดว่ามันก็ยังไม่เสียหายนี่ถ้าจะเริ่มหัดแต่งเพลงเอง มันเลยเริ่มมาจากจุดนั้นครับ

 • จำความรู้สึกแรกในการแต่งเพลงแรกในชีวิตได้มั้ย

วิภูริศ : รู้สึกดีมาก อธิบายไม่ถูก เหมือนกับคนที่สร้างผลงานอะไรก้ได้ แล้วมันเป็นชิ้นเป็นอันจริงๆ มันเหมือนกับวิญญาณของเราอยู่ในนั้นจริงๆ ดีใจ ซึ่งเพลงนั้นเนื้อหาก็ประมาณวัยรุ่นอกหัก แต่มีความเป็นตัวเองสูง ก็ดีใจที่ซาวนด์เหมือนตัวเองที่สุดแล้ว พอทำเสร็จก็ให้เพื่อนๆ ฟังบ้าง แต่ไม่ได้ไปส่งค่ายอะไร ประมาณแบบถ้าเขาได้ฟัง สำหรับเราก็โอเคแล้ว (ยิ้ม) หลังจากนั้นก็ติดลม และเริ่มกล้าที่จะหาไอเดียมาแต่งเพลงมากขึ้นจากจุดนั้น

 • หลังจากที่มาแต่งเพลงเองแล้ว มีความรู้สึกว่าเพลินมั้ย

วิภูริศ : มันไม่ได้เปลี่ยนไปขนาดนั้น คือตอนที่ทำคัฟเวอร์มันก็จะมีโครงมาให้เราแล้ว แต่พอเรามาเป็นคนแต่งเพลงเอง มันก็ต้องจินตนาการด้วยตนเองก่อน มีการเริ่มต้นใหม่ คือมันต่างแค่กระบวนการ แต่ในเรื่องการทำเพลงและหาโน้ต มันก็ยังสนุกเหมือนเดิม ประมาณว่าเป็นไปตามธรรมชาติของเราเลย แต่การที่เราคัฟเวอร์มา ทิศทางในการทำงานของเรามันไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก เพราะว่าในระหว่างนั้นมันก็มีการคัฟเวอร์เพลงอยู่ด้วย คือเท่ากับว่ามันก็ไหลไปตามทางเรื่อยๆ ครับ แล้วปัจจัยรอบข้างก็ยังเป็นวัตถุดิบให้เราด้วย

 • พอกลับมากรุงเทพฯ นอกจากความเปลี่ยนแปลงที่บอกแล้ว ทักษะทางดนตรีก็ถือว่ามีความเพิ่มเติมขึ้นมั้ย

วิภูริศ : สำหรับภูมิถือว่าอยู่ในระดับโอเคนะครับ ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเก่งอะไร อย่างที่บอกไปว่าเราก็ไม่ได้เรียนดนตรีจริงจังอะไร แค่เล่นในโรงเรียนแค่นั้น ที่เหลือก็ฝึกฝนเอง คือไม่ได้รู้สึกว่าเราเก่ง แต่เราสัมผัสได้ถึงอะไรบางอย่าง เราเห็นแค่ว่าเราโอเคกับมันในตรงนั้น พอกลับมาที่เมืองไทยปุ๊บ โชคดีตรงที่ว่ามีชมรมดนตรีที่มหิดล และมีรุ่นพี่คือพี่เติ้ล The Whitest Crow (ปฏิภาณ สุวรรณสิงห์) มาเจอการคัฟเวอร์เพลงของผม เขาก็เอาไปให้พี่อ๊อฟดู (อนุชา โอเจริญ โปรดิวเซอร์, Music Production ค่าย Rats Records)
อนุชา : ตอนนั้นผมกำลังทำอัลบั้มของวงที่ทำก่อนหน้านั้นใกล้เสร็จแล้ว คือแรกสุดเลยค่ายที่ผมทำจะเป็นแต่เพลงสากลอยู่แล้ว ผมก็ประมาณว่าพอจะมีรุ่นน้องที่ร้องเพลงสากลดีๆ มั้ย แล้วเติ้ลเขาก็แนะนำมาว่ามีรุ่นน้องคนหนึ่ง พี่ลองเข้าไปดูสิ พอผมได้เข้าไปฟังก็ถามเติ้ลว่า เพิ่งกลับมาเหรอ เติ้ลก็บอกว่าใช่ เป็นรุ่นน้องในชมรมดนตรีที่มหา'ลัย ผมก็เลยนัดมาคุยกันที่สยาม
อ๊อฟ-อนุชา โอเจริญ โปรดิวเซอร์, Music Production ค่าย Rats Records
 • พอมาได้คุยกันแล้ว คุณอ๊อฟได้เห็นอะไรในตัวภูมิ

อนุชา :  อันดับแรกเขาร้องเพลงแล้วมีความสุขในการร้องเพลง ตอนนั้นผมยังไม่ได้มองว่าเขาเล่นเก่งอะไรมาก แต่สัมผัสถึงอารมณ์อย่างที่บอกว่าเขาชอบร้องเพลงจริงๆ แล้วเพลงที่เขาแต่งที่เขาเอาไปปล่อยใน soundclond ผมก็เริ่มเล็งเห็นว่าถ้าจับเขามาแล้วพยายามดันให้เขาแต่งเพลงไปเรื่อยๆ เขาอาจจะชอบก็ได้ อย่างเพลงนี้พูดตรงๆ ว่ายังไม่ใช่เพลงดีเท่าไหร่ เป็นแค่กีตาร์ตัวเดียว ท่อนเพลงก็ยังประหลาดๆ ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจนเท่าไหร่ แต่ผมรู้สึกว่าเขามี passion ของตัวเองนะ ถ้าเขามีเพลงของตัวเองแล้วอีกหน่อยเขาก็ต้องแต่งต่อได้ เราก็เลยมาลองคุยกัน แล้วตอนนั้นผมก็เพิ่งเริ่มทำค่ายได้ประมาณ 2 ปี ผมก็คุยกับเขาว่าลองดูมั้ย ค่ายเราก็ถือว่าเป็นอินดี้แหละ แต่ก็อยากทำงานให้เป็นระดับสากล คือทางออสเตรเลียเขาก็มีวงที่ไปดังทั่วโลกได้ หรืออย่างนิวซีแลนด์ก็มีอย่าง Lorde และ Kimbra ที่สามารถมีเพลงขึ้นชาร์ตที่อเมริกาได้ นั่นทำให้ผมรู้สึกว่าทำไมคนไทยมันมีเพลงวนอยู่แค่นี้นะ จุดเริ่มของผมเลยก็คือทำเพลงภาษาสากลเลย จนมาได้เจอภูมิ เราก็เลยลองทำมาตั้งแต่นั้นมา ตอนนั้นประมาณปี 2014 เราก็มาคุยกันว่าเริ่มลองทำกันดู ภูมิก็ลองไปแต่งเดโมใหม่มา เพราะว่าเพลงแรกที่เขาทำผมขอเก็บไว้ก่อน ผมรู้สึกว่ายังไม่เหมาะที่จะปล่อยเป็นเพลงแรก ก็เลยแนะนำตามที่บอกไป เขาก็ไปคิดมา

จนหายไปประมาณ 4 เดือนได้ ในระหว่างนั้นก็มีถามไถ่บ้าง จนโผล่มาเป็น Adore เพลงแรก จากนั้นก็มาทำดนตรี ตอนนั้นจะเป็นร้องและมีกีตาร์โปร่ง แล้วผมก็มองว่ากีตาร์ตัวเดียวไม่พอ จะต้องมีเต็มแบนด์ มีกลอง มีเบส มีกีตาร์ไฟฟ้า เลยให้ลองเข้าห้องอัด เหมือนผมให้ลองดูว่าเข้าไปแล้วจะเป็นยังไง ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จักภูมิเลย คือตอนปล่อยซิงเกิลแรก ภูมิยังอยู่ปี 1-2 อยู่เลย ผมก็เลยให้เขาลองดู

 • การที่มีภูมิเข้ามาในค่าย ถือว่าเป็นการเติมเต็มในส่วนของการทำเพลงของเราด้วยมั้ย

อนุชา : โดยส่วนตัวผมไม่ได้มองว่าเป็นความเติมเต็มนะ คือ passion ที่ผ่านมา ทั้งวง Part Time Musician หรือโดยส่วนตัวเราก็เล่นดนตรีตามงานปาร์ตี้ไปจนเบื่อ ผมก็รู้สึกว่า จุดเริ่มก็คือหาศิลปินใหม่ที่น่าจะตรงกับ passion ที่เราหวังไว้ คือ ชอบทำเพลงแต่อย่าซีเรียสนะว่าถ้าเพลงดังหรือไม่ดัง ถือว่าเราได้ปล่อยงานศิลปะที่ดีๆ ออกไปงานหนึ่ง แต่โดยส่วนตัวเราก็ถือว่ามือความเป็นมืออาชีพประมาณหนึ่งว่าถ้าเพลงที่ต้องปล่อยในแต่ละครั้งมันจะต้องดีจริงๆ ดีที่ว่าคือให้มันเทียบเท่ากับเมืองนอกได้ อีกอย่างคือมันก็มีคนมาแซวผมเหมือนกันว่าเป็นคนไทยแล้วทำไมต้องทำเพลงสากล ผมก็มีตรรกะของตัวเองเหมือนกันว่าแล้วทำไมคนไทยถึงชอบไปดูหนังซาวนด์แทร็กเหมือนกันล่ะ คือผมรู้สึกว่าที่เลือกใช้ภาษาอังกฤษเพราะว่ามันเป็นภาษาสากลที่สามารถไปได้ทุกที่ในโลกแค่นั้นเอง ไม่ได้ทำตัวกระแดะไฮโซอะไร แต่เราตั้งเป้าหมายไปว่าอยากทำเพลงไทยไปสู่ตลาดเพลงสากล ประมาณนั้น แล้วผมก้พูดคอนเซปต์ของค่ายให้ภูมิฟัง เขาก็รู้สึกว่าชอบแบบนี้แหละ

 • เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว พอภูมิได้เข้ามาเป็นนักดนตรีจริงๆ รู้สึกอย่างไรบ้าง

อนุชา : จริงๆ เราสองคนก็มีความตื่นเต้นนะ ในทุกซิงเกิลที่ปล่อยไปมันก็เหมือนให้เราได้ทำผลงานใหม่เป็นของตัวเองแบบเรื่อยๆ ช่วงแรกๆ ก็มีความกังวลเหมือนกันว่าจะมีคนฟังมั้ย แต่พอได้มาทำเรื่อยๆ เราก็เริ่มไม่คิดแล้ว มันเปลี่ยนมาเป็นดีใจที่เราได้ทำผลงานใหม่มาเรื่อยๆ ซิงเกิลแรกปล่อยไปก็หลักหมื่นวิวนะ ผมพูดกับภูมิบ่อยว่าถ้าคุณภาพที่เราตั้งใจทำออกไปแล้ว ถึงยอดวิวจะน้อย เราอย่าไปสนใจ เพราะว่าคนก็เห็นแล้วว่างานมันดี พองานดีเดี๋ยวจะมีการพูดต่อไปเอง ผมคิดอย่างงั้นมากกว่า ผมไม่สนใจว่าจะต้องวันแรก 1 แสนวิว แต่คิดว่าจะทำยังไงให้งานมันสนุก

 • จนกระทั่งอัลบั้มเต็มออกมา ในมุมมองของทั้งสองคนคิดว่าเป็นยังไงบ้างครับ

วิภูริศ : เราแฮปปี้กับมันมากครับ มันเหมือนเป็นไดอารีของเราตั้งแต่อายุ 19 จนถึง 21 ซึ่งเราก็เข้าใจว่ามันใช้เวลานาน ไม่คิดว่าเป็นอัลบั้มที่ดีมากหรือเป็นคอนเซ็ปต์อะไรขนาดนั้น แต่เรารู้สึกว่าทุกเพลงที่แต่งไป เรารู้สึกกับมันจริงๆ คือมันเป็นไปตามจังหวะเพลงเลยครับ มีเศร้าบ้าง มีความสุขบ้าง หรืออกหักบ้าง แต่มันก็เป็นการเดินทางของเรา คือมันเหมือนเป็นช่วงที่เราเติบโต เราเลยได้ใช้อัลบั้มนี้เป็นไดอารี

อนุชา : อย่างเพลงของเขาก็จะแต่งจากช่วงที่เขาเจออะไรมาด้วยไง ส่วนความรู้สึกก็อย่างที่บอกว่าเรามีความตื่นเต้นในการปล่อยแต่ละเพลง เพราะเรารู้สึกว่ามันจะมีงานอะไรออกมาใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ แล้วอย่างน้อยเราทำงานกับภูมิ เราก็ได้อะไรมาจากตัวเขาเหมือนกัน ได้เรียนรู้ความคิดเขาหรือเรื่องต่างๆ ซึ่งผมก็ทำให้พร้อมที่จะเรียนรู้ไปด้วยว่าความคิดของคนยุคนี้มันมีอะไรบ้าง คือเหมือนต่างฝ่ายต่างแลกเปลี่ยนความคิดกัน ส่วนผลตอบรับที่กลับมา ผมพอใจนะ แล้วผมก็เลยคิดว่าการปล่อยอะไรอย่างงี้ไป มันเป็นงานศิลปะของผม ค่ายผมจะเรียกว่างานดีๆ แม้ว่าคนอื่นจะมองยังไงก็ตาม แต่ผมรู้สึกว่ามันดีสำหรับผม อันนี้มันคือการปล่อยของสำหรับเรา อีกครึ่งหนึ่งผมทำเพลงโฆษณา แต่เราก็ต้องหาอะไรมาอะไรที่มาทำเพื่อผ่อนคลายจากการทำตามโจทย์ที่ขายของให้เขา ผมเลยมีความสุขกับการทำค่ายมาก เพราะมันคือเป็นการปล่อยงานศิลปะที่ดี

 • ผลตอบรับในเมืองไทย เขาว่ากันยังไงบ้างครับ

อนุชา : เริ่มมีคนเอาเอ็มวีไปเปิดในช่องต่างๆ เริ่มมีแฟนเพลงมากขึ้น เริ่มมีคนอยากให้ไปเล่นสดมากขึ้น เริ่มมีสื่อมาสัมภาษณ์เยอะขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราก็แฮปปี้ครับ เพราะว่าเราจะไม่ค่อยปฏิเสธอยู่แล้ว (ยิ้ม) เพราะเรารู้สึกว่าทุกคนที่มาสัมภาษณ์เราคือคนที่ช่วยผลักดันเราอีกทางหนึ่ง ส่วนผมไม่ได้คิดว่าเกินคาดนะ แต่มันเร็วมากกว่า เร็วกว่าที่คิดไว้ เราตั้งเป้าไว้ก่อนแล้วว่าถ้าภายใน 10 ปี เมืองนอกเขายังไม่เห็นเพลงของเรา ผมอาจจะเลิกทำค่ายก็ได้นะ แต่ทำมา 4 ปี ตอนนี้พวกเขาเริ่มมองเห็นแล้วว่าเมืองไทยก็มีเพลงแบบนี้ด้วย แล้วคนที่ติดตามในช่องยูทูปของค่ายก็มีคนจากทั่วโลก 60 เปอร์เซ็นต์เป็นคนต่างประเทศ อีก 40 เป็นคนไทย แต่อย่างที่บอกว่ามันเร็วมากกว่า คือพูดไปอาจจะดูเวอร์นะ แต่หลายๆ คนที่ทำงานอะไรที่แปลกใหม่ก้าวหน้า เขาก็คงคิดอย่างงี้แหละ ซึ่งจริงๆ ผมน่ะตั้งสูงไว้ ถามผมว่าคนรู้จักภูมิเยอะแบบเกินคาดมั้ย ผมว่าไม่ได้เกินคาด แต่มันเร็วกว่าที่คิดไว้มากกว่า คือนิสัยผมอย่างหนึ่งจะเป็นคนชอบเดาด้วยนะว่ายังหรอก คงหมดอัลบั้ม 2 ก่อน แต่นี่มันเร็วเกินคาด

 • เช่นเดียวกัน ตอนที่ภูมิไปทัวร์เมืองนอก เราได้เห็นอะไรจากการทัวร์นี้

วิภูริศ : ได้อะไรเยอะมากๆ ครับ อย่างวัฒนธรรมในการฟังเพลงก็ไม่เหมือนกันเลย แล้วก็จะมีคนที่มาดูเราจริงๆ แล้วไม่ได้ร้องแค่เพลงที่ดัง เขาร้องได้ทุกเพลงเลย อย่างญี่ปุ่นแม้ว่าจะยังไม่มีคนรู้จักเราบ้าง แต่ว่าเราได้พลังจากผู้ชมจากเขา เรารู้สึกนี่คือการเล่นดนตรีแบบแสดงสดจริงๆ มันเป็นการแลกเปลี่ยนกันเลย ไม่ใช่ให้แต่เขาอย่างเดียว แต่เราได้อะไรกลับมา

อนุชา : เขาสนใจในการดูดนตรีจริงๆ แล้วเขาเงียบด้วย ไม่คุยกันเลย แล้วก็เราไม่เคยคิดมาก่อนเหมือนกันว่าเป็นศิลปินไทย แล้วถูกเดินมาขอถ่ายรูปที่ต่างประเทศ แค่เขามาขอเราถ่ายรูปเราก็ดีใจมากแล้วนะ แต่เขารู้จักเราด้วย อย่างเวลาที่มีอีเมลเข้ามาจะเป็นลักษณะว่ารายงานชาร์ตจากที่ต่างๆ เพลง long gone มันเริ่มที่จะไปเข้าชาร์ตในที่ต่างๆ เช่น ยุโรป อเมริกา เกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น หรือประเทศอย่างแถบอเมริกาใต้ ผมก็จะส่งให้ภูมิดูตลอด แสดงว่ามันได้ไปจริงๆ ผมก็ดีใจ

 • ในมุมหนึ่งการที่ภูมิได้ไปทัวร์ในที่ต่างๆ ถือว่าได้เผยแพร่งานเพลงอินดี้ไทยให้วงกว้างยิ่งขึ้นด้วยมั้ย

วิภูริศ : จริงๆ โลกในวงการดนตรีมันเปิดมากกว่าที่เราคิดมาก ถ้ามันไปอยุ่ในยูทูปแล้ว ใครเข้ามาเจอก็ได้ อย่างผมก็มีรุ่นน้องเข้ามาปรึกษาผมเหมือนกันว่าทำยังไงถึงจะมีเพลงไปเมืองนอกได้บ้าง คือมันก็ไม่มีคำตอบว่าจะต้องทำอย่างนี้นะ ซึ่งพี่อ๊อฟก็บอกกลับมาว่า กลับไปแต่งเพลงดีกว่า คือมันต้องลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ อย่าไปตีกรอบว่าเพลงนี้จะขายแบบนี้ เราทำงานให้ดี อย่างตั้งใจ เดี๋ยวมันก็มีคนเห็นเอง ผมก็เชื่ออย่างงี้มาตลอด แล้วช่วงเวลามันก็เป้นไปตามทางของมัน

อนุชา :  แต่ผมก็อยากเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินอินดี้วงอื่นๆ ที่กำลังทำ อย่างน้อยก็ร่วมกันสู้ ผมชอบรวมกันเราอยู่ เพราะในมุมมองส่วนตัว ข้อเสียของคนไทย คือ หนึ่ง ชอบขัดแย้งกันเอง เรารู้สึกว่าทำไมไม่จับมือแล้วไปด้วยกัน อย่างคนไหนที่ได้ไปเมืองนอก เราก็ช่วยกันผลักดันไปสิ อย่างผมไปทัวร์ที่ญี่ปุ่นหรือเกาหลีมา ผมไปในฐานะโปรดิวเวอร์และผู้จัดการวง มีวงเกาหลีเขามาพูดคุยกับผมแล้วบอกว่าอยากมาเล่นดนตรีที่เมืองไทย ผมก็บอกกลับไปว่าลองติดต่อไปสิ ซึ่งมันอาจจะมีการแลกเปลี่ยนกัน แล้วผมก็ไปโฆษณาวงอินดี้ไทยให้ชาวต่างชาติได้รู้เหมือนกันว่าก็มีวงนี้ในไทยนะ คุณลองพามาเล่นมั้ย เราก็โฆษณาให้ตลอด เราก็อยากเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจตามไปด้วย

 • ถามถึงอัลบั้มใหม่ จากแนวเพลงที่เปลี่ยนไป ถือว่าเป็นการเปิดตัวตนใหม่ของเราด้วยมั้ย

วิภูริศ : คือจริงๆ เราเป็นตัวเรามาตลอดอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ผมแต่งเพลงจากการที่ไปเจออะไรมา แต่เราเลือกนำเสนอในมุมมองที่เปลี่ยนไป แต่เนื้อหาก็ยังเป็นเราอยู่ จากอัลบั้มแรกมันจะมีกลิ่นของโฟล์กผสมกับอัลเทอร์เนทีฟบ้าง จนชุดที่กำลังจะปล่อยก็จะมีจังหวะกรูฟ และเครื่องดนตรีต่างๆ ที่เริ่มจะเข้ามาแล้วซึ่งหลายคนที่ฟังอาจจะคิดว่าเปลี่ยนไป แต่จริงๆ แล้วมันอยู่ในโครงแบบของเรามาโดยตลอด แค่เลือกที่จะนำเสนอ ซึ่งชุดนี้ก็ยังไม่มีเพลงภาษาไทยแน่นอน โจทย์นี้ก็ถือว่าอยากลองทำอยู่เหมือนกันครับ แต่คงจะไม่ใช้ในเร็วๆ นี้ แน่ คงต้องรอให้พร้อมกว่านี้ก่อน

อนุชา : แต่ในมุมของโปรดิวเซอร์ที่ผมคุยกับภูมิว่า สมัยก่อนมันมีเพลงโฟล์กเยอะ เวลาไปทัวร์มันก็จะไปเล่นคนเดียว มันก็เกิดความเหงา (หัวเราะเบาๆ) ผมเลยบอกกับเขาว่า งั้นชุดนี้ให้เป็นวงมากขึ้น การแสดงสดก็ต้องมีเครื่องดนตรีชิ้นอื่นเข้ามาด้วย ผมเลยขอให้มีดนตรีที่เข้มข้นในทางกีตาร์แบนด์มากขึ้น แต่กลิ่นของทางซาวนด์ดนตรี มันก็ยังมีความเป็นภูมิอยู่ ส่วนเพลงภาษาไทยนั้น ด้วยความที่ตัวภูมิมีการร้องในภาษาอังกฤษได้ดี แต่การร้องภาษาไทยมันยังได้ในระดับหนึ่งอยู่ เพราะฉะนั้นมันก็อยู่ที่อนาคตว่าจะยังไง แต่คงไม่ใช่เร็วๆ นี้ อย่างที่ภูมิบอก เพราะตัวภูมิยังสนุกกับการแต่งเพลงภาษาอังกฤษอยู่  น้องก็ดีใจนะที่เห็นชาวต่างชาติร้องคัฟเวอร์เพลงของภูมิแล้วแท็กในอินสตาแกรมส่งมาให้ ภูมิก็ดีใจว่าเพลงมันไปถึงที่นั่นแล้ว

 • ความคาดหวังของภูมิในเส้นทางดนตรี คิดว่าจะเป็นยังไงต่อ

วิภูริศ : เราไม่ได้คาดหวังอะไรกับมันมากครับ เรารู้สึกว่าการมีชื่อเสียงหรือตัวตนในวงการมันไม่ถาวร แต่คาดหวังว่าเราจะไม่สูญเสียความเป็นตัวตน เราไม่อยากลืมว่าทำไมเราอยากเล่นดนตรีในตอนแรก ซึ่งมันเกิดมาจากความรัก มันมาจากไม่มีความกล้าที่จะดีดมัน ไม่มีทางเป็นดนตรี ไม่มีทางเป็นเสียงให้คนอื่นฟัง ก็เข้าใจได้ คือเราอยากจะเก็บความมหัศจรรย์ทางดนตรีไว้กับตัวเอง นั่นคือคาดหวังว่าต่อให้เราจะเป็นยังไงต่อไปในอนาคต เราก็จะทำผลงานที่ดีและรักกับมันจริงๆ และสนุกกับมัน แค่นั้นละครับ (ยิ้ม)


การเปลี่ยนบรรยากาศของชายหาดพัทยา ให้กลายเป็นย่านไมอามี่ ในมิวสิควีดีโอเพลง Lover Boy ปัจจัยหลัก คือ การถ่ายทำโดยใช้เลนส์ Petzval ของ Lomography และด้วยฝีมือการเกรดสีให้หาดจืด ๆ ในเอ็มวีเพลงนี้ ซึ่งต้องขอบคุณ จีน-คำขวัญ ดวงมณี ผู้กำกับมิวสิควีดีโอสาว และทีมงาน สำหรับไอเดียดังกล่าวที่ให้กับงานชิ้นนี้


เตรียมพบกับคอนเสิร์ตเต็มรูปแบบครั้งแรกของ ภูมิ วิภูริศ ในคอนเสิร์ต VERY LIVE : BOY PABLO & PHUM VIPHURIT 2 คอนเสิร์ตใหญ่ใน 1 คืนของ 2 ศิลปิน Chill Wave Star ที่มาพร้อมกับการแสดงครั้งแรกในไทยของ Boy Pablo ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2561 นี้ ที่ Moonstar Studio 8 บัตร Early Bird 1,500 บาท และ บัตร Regular 1,800 บาท  ซื้อบัตรได้ที่ www.ticketmelon.com/very/verylive1 เริ่มจําหน่ายบัตร วันเสาร์ 14 กรกฎาคม ตั้งแต่ 10 นาฬิกา เป็นต้นไป
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : พลภัทร วรรณดี



กำลังโหลดความคิดเห็น