ตามปกติอหิวาตกโรคซึ่งเป็นโรคเมืองร้อน จะระบาดในภูมิภาคย่านนี้ช่วงฤดูแล้ง และหายไปเองเมื่อฝนลง แต่ในปี พ.ศ.๒๓๙๒ อหิวาห์กลับระบาดหนักในเดือนมิถุนายน คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่าทุกปี ในขณะที่ผู้คนยังไม่มีความรู้เรื่องอหิวาต์ ไม่รู้สาเหตุของการเกิดของโรคและวิธีรักษา อหิวาต์จึงคร่าชีวิตผู้คนอย่างน่าตกใจ
ภาษาทางการขณะนั้นเรียกอหิวาห์ว่า “ไข้ป่วงใหญ่” แต่ชาวบ้านเรียกกันว่า “โรคห่า” ส่วนคนที่เป็นอหิวาต์เรียกว่า “ห่ากิน”
อหิวาต์จะเริ่มระบาดในเดือนเมษายน ซึ่งยุคนั้นผู้คนยังต้องอาศัยน้ำในแม่น้ำลำคลองดื่มกิน พอหลังเดือนตุลาคมฝนก็หยุดตก น้ำตามแม่น้ำลำคลองแห้งลง ทั้งผู้คนยังนิยมทิ้งทุกอย่างลงน้ำ แม่น้ำลำคลองจึงเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค พอเดือนกรกฎาคมมีฝนตกลงมา จึงชำระสิ่งสกปรกในแม่น้ำลำคลองไหลลงสู่ทะเล อหิวาต์ก็หายไปเอง
มีหลักฐานว่าอหิวาต์เกิดขึ้นในเมืองไทยมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาแล้ว และเกิดขึ้นทุกปีตลอดมา รุนแรงมากน้อยต่างกันไปแต่ละปี มีบันทึกไว้ว่า ในปี พ.ศ.๒๓๖๓ และ พ.ศ.๒๓๙๒ เกิดอหิวาต์ระบาดรุนแรงที่สุด มีคนตายถึงคราวละ ๓๐,๐๐๐-๔๐,๐๐๐ คน ซึ่งนับว่ามหาศาล เมื่อเทียบกับจำนวนพลเมืองที่มีเพียงไม่กี่ล้านคนในขณะนั้น
ในปี ๒๓๖๓ สมัยรัชกาลที่ ๒ อหิวาต์ระบาดมาจากอินเดีย เมื่อไม่รู้จะรักษาอย่างใด พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงใช้วิธีให้กำลังใจ โปรดให้ตั้งพิธีขับไล่โรคนี้ขึ้นที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เรียกว่า “พิธีอาพาธพินาศ” มีการยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดคืน อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบรมสารีริกธาตุออกแห่ มีพระราชาคณะโปรยน้ำพระพุทธมนต์ตลอดทาง ทรงทำบุญเลี้ยงพระ โปรดให้ปล่อยสัตว์ และประกาศไม่ให้ประชาชนฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อยู่กันแต่ในบ้าน แต่ก็ยังมีคนตายถึง ๓๐,๐๐๐ คน ศพกองเป็นภูเขาเลากา บ้างก็แอบทิ้งลงในแม่น้ำลำคลองในเวลากลางคืน จึงมีศพลอยเกลื่อนไปหมด ประชาชนต่างอพยพหนีออกจากเมืองด้วยความกลัว พระสงฆ์ทิ้งวัด งานของราชการและธุรกิจต้องหยุดชะงัก เพราะผู้คนถ้าไม่หนีไปก็มีภาระในการดูแลคนป่วยและจัดการกับศพของญาติมิตร
ในปี ๒๓๙๒ อหิวาต์ระบาดอีกครั้ง โดยเกิดที่ปีนังก่อน แล้วระบาดมาถึงกรุงเทพฯ เรียกกันว่า “ห่าลงปีระกา” ในช่วงระยะเวลา ๑ เดือนที่ระบาดหนัก ตั้งแต่วันที่ ๑๗ มิถุนายน มีคนตายถึง ๑๕,๐๐๐-๒๐,๐๐๐ คน และตลอดฤดูตายถึง ๔๐,๐๐๐ คน
ขณะนั้น เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ซึ่งก็คือรัชกาลที่ ๔ ดำรงเพศบรรพชิตเป็นพระราชาคณะ ทรงบัญชาให้วัด ๓ วัด คือ วัดสระเกศ วัดบางลำพู (วัดสังเวชวิศยาราม) วัดเชิงเลน (วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร) เป็นที่สำหรับเผาศพ มีศพนำมาเผาถึงวันละประมาณ ๗๐๐ ศพ จนเผาไม่ทันกองเป็นภูเขาเลากา โดยเฉพาะวัดสระเกศมีศพส่งไปมากที่สุด ทำให้ฝูงแร้งแห่ลงทึ้งกินซากศพจนกระดูกขาวโพลน ตามลานวัด บนต้นไม้ บนกำแพง และหลังคากุฏิ เต็มไปด้วยแร้ง แม้เจ้าหน้าที่จะคอยไล่ตี ก็ไม่สามารถสู้กับฝูงแร้งที่หิวกระหายได้ และจิกกินซากศพจนกระดูกขาวโพลน พฤติกรรมน่าสยดสยองของ “แร้งวัดสระเกศ” ได้รับการกล่าวขานไปทั่ว
ต่อมาในปี ๒๔๐๒ อหิวาต์ทำให้บาทหลวงในคริสต์ศาสนาแตกแยกกันเอง ทั้งนี้เจ้าฟ้ามงกุฎฯขึ้นครองราชย์แล้ว จึงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงศีลและปล่อยสัตว์เมื่ออหิวาต์ระบาด ทั้งยังทรงป่าวประกาศให้ราษฎรทำบุญให้ทาน ปล่อยสัตว์ที่ถูกกักขังด้วย ผู้คนทุกชาติทุกภาษาในบางกอกก็ทำตาม นอกจากบาทหลวงฝรั่งเศส ๘ คนที่เห็นว่าการปล่อยสัตว์ตามคติความเชื่อของศาสนาพุทธ เป็นการขัดต่อหลักของศาสนาคริสต์ จึงไม่ยอมทำตาม ทั้งยังห้ามคนที่เข้ารีตไม่ให้ทำด้วย แต่สังฆราช บับติสต์ ปาลเลอกัวซ์ ผู้ปกครองคริสตจักรคาทอลิค และเป็นเจ้าอธิการวัดคอนเซบซิออง ที่บ้านเขมร ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯตั้งแต่ครั้งยังจำพรรษาอยู่ที่วัดราชาธิวาสที่อยู่ใกล้กัน จึงประกาศว่า การปล่อยสัตว์ไม่ได้ผิดหลักศาสนาคริสต์แต่อย่างใด บาทหลวงทั้ง ๘ นั้นถือเกินไปหรือเปล่า และยังได้นำเป็ด ไก่ ห่าน ไปถวายให้ทรงปล่อย พร้อมกับบอกให้พวกเข้ารีตปล่อยสัตว์ที่ขังไว้ทุกคน ทำให้บาทหลวงทั้ง ๘ ไม่พอใจ พากันหนีไปอยู่สิงคโปร์
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ กรมสุขาภิบาลได้จัดให้พิมพ์ใบปลิวออกแจกจ่ายประชาชน ให้ความรู้เกี่ยวกับอหิวาต์เป็นครั้งแรก แนะนำไม่ให้เอาของโสโครกหรือเสื้อผ้าคนป่วยไปทิ้งในแม่น้ำลำคลอง อย่ากินอาหารที่บูดเสีย เสาะท้อง หรือรสจัด ให้กินแต่น้ำต้มและอาหารที่ไม่มีแมลงวันตอม
ส่วนการรักษานั้น ถ้าเริ่มรู้สึกไม่สบายท้อง มีอาการอืดเฟ้อ ให้กินยาแก้ท้องเฟ้อประเภทการบูรหรือไพล
ในขณะนั้นเริ่มมียาแก้อหิวาต์ออกมาขายในท้องตลาดแล้ว ของห้างโอสถสภามีชื่อว่า “ยาแก้อหิวาตกโรค” ส่วนห้างบีกริมซึ่งเป็นห้างฝรั่งก็มีออกมาเหมือนกัน เรียกกันว่า “ยาขวดแตก”
ต่อมาในปี ๒๔๕๗ มีการผลิตน้ำประปาขึ้นในกรุงเทพฯ อหิวาต์จึงบรรเทาเบาบางลงมาก แต่ก็ยังไม่สูญพันธุ์ แม้ทุกวันนี้ก็ยังมีอหิวาต์เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่ความรู้และการสุขาภิบาล ก็ทำให้อหิวาต์ไม่สามารคร่าชีวิตผู้คนได้เหมือนในสมัยก่อน