ในวันที่ ๑๔ มิถุนายนนี้ เกมกีฬาหยุดโลกในรอบ ๔ ปีก็จะเริมขึ้นอีกครั้ง ยุคนี้คงไม่มีกีฬาใดที่คนทั่วโลกจะคลั่งไคล้เท่ากับฟุตบอล และไม่มีกีฬาใดที่เป็นธุรกิจในวงเงินมหาศาลเท่าฟุตบอลอีกเหมือนกัน ขณะเดียวกัน ฟุตบอลก็เป็นการพนันที่ทำให้คนลุ่มหลงยิ่งกว่ากีฬาม้าแข่งที่เคยเป็นแชมป์ทำให้คนหมดตัวมาก่อน แต่ใครกันแน่เป็นชาติแรกที่คิดการเล่นฟุตบอลขึ้นมา ในเมื่อหลายชาติทั้งยุโรปและเอเชียต่างก็อ้างว่าเล่นฟุตบอลมาก่อนคนอื่น
ลูกฟุตบอลที่ก่อนจะมาเป็นลูกหนังอย่างในวันนี้ ก็เคยใช้อะไรที่กลมๆ เตะกันมาก ตั้งแต่ลูกอัณฑะวัว จนถึงหัวกะโหลกมนุษย์
จำนวนคนเล่นก็เหมือนกัน ก่อนจะพัฒนามาเป็นข้างละ ๑๑ คน ก็เคยมีคนลงดวลแข้งกันถึง ๕๐๐ คนมาแล้ว
จีนอ้างว่าเล่นฟุตบอลมากว่า ๓,๐๐๐ ปีแล้ว โดยแข่งขันกันในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของจักรพรรดิ ต่อมามีคนติดใจแอบเล่นกันในวังจนกระจายออกมาภายนอก ในหนังจีนที่เป็นเรื่องราวสมัยเก่าๆ ก็เคยมีฉากนี้
กรีกโบราณและชาวโรมันใช้เกมฟุตบอลปลุกความฮึกเหิมของนักรบก่อนไปสงคราม และเกมของชาวโรมันที่วิ่งไปพร้อมกับลูกฟุตบอล ได้แพร่กระจายไปทั่วยุโรปเมื่อจักรวรรดิโรมันเรืองอำนาจ
ในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ก็มีเกมคล้ายฟุตบอลที่เรียกว่า Tlatchi ซึ่งนิยมกันแพร่หลาย ส่วนพวกไวกิ้งก็มีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับฟุตบอลเหมือนกัน
ต้นกำเนิดของฟุตบอลจึงถูกค้นพบแทบทุกส่วนของโลก ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ เปอร์เซีย สก็อตแลนด์ ญี่ปุ่น อินเดียแดง ฯลฯ ต่างก็เล่นฟุตบอลหรือเกมที่คล้ายฟุตบอลมาแต่ยุคโบราณทั้งนั้น
ลูกบอลที่เล่นกันก็มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งวัสดุที่ใช้ทำ สี และขนาด บ้างก็เอาเส้นผมหรือเศษผ้ามาม้วนเป็นลูกกลม แต่พวกโรมันดูจะวิตถารไปหน่อย เอาถุงอัณฑะวัวมาเตะกัน บางทีไปสงครามก็เอาหัวกะโหลกของศัตรูที่ถูกฆ่ามาเตะเป็นลูกฟุตบอล
เกมฟุตบอลของพวกโรมันที่เอาไปแพร่ในยุโรปยังคงยืนยงมาจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะในเกาะอังกฤษซึ่งบ้าคลั่งฟุตบอลกันมาก แต่ได้รวมเอาการต่อสู้เข้าไปด้วย พวกลูกชาวนาชาวไร่ก็เล่นกันในท้องทุ่ง พวกลูกจ้างแรงงานในเมืองก็ยึดถนนเป็นที่เล่น บางทีก็ใช้ถนนที่ผ่าเมืองทั้งสายเป็นสนาม มีคนลงเล่นถึง ๕๐๐ คน ไล่ล่าลูกฟุตบอลกันอย่างเอาเป็นเอาตายทั้งบนบกและในน้ำ ขับเคี่ยวกันทั้งวันจนกระจกหน้าต่าง ๒ ข้างทางแตกเสียหาย หลายคนขาแข้งหัก บางคนก็ถึงตาย
มีเรื่องฟุตบอลอังกฤษกับกัลโซ่ หรือฟุตบอลของชาวอิตาเลียน บันทึกไว้อย่างไม่เป็นทางการเมื่อราวปี ค.ศ.๑๕๖๑ ว่า มีชาวอิตาเลียนกลุ่มหนึ่งมาที่สก็อตแลนด์ และท้าคนในตำบล Scone มาดวลแข้งกัน ผลปรากฏว่าชาวสก็อตเป็นฝ่ายชนะ แต่การแข่งขันครั้งนี้ก็ไม่อาจเรียกว่าฟุตบอลได้เต็มปากนัก เพราะเป็นการทะเลาะกันอย่างเอาเป็นเอาตายโดยใช้ลูกฟุตบอลเป็นอุปกรณ์ประกอบเท่านั้น
พวกผู้ดีอังกฤษและทางราชการมองการเล่นฟุตบอลของชาวบ้านว่าเป็นเกมฆ่าเวลาของพวกเกเร เป็นเรื่องไร้สาระ และพยายามกำจัด เพื่อไม่ให้คนหนุ่มไปหมกมุ่น แทนที่จะใช้เวลาไปฝึกยิงธนู เพราะขณะนั้นอยู่ในยุคต้องทำสงครามขับเคี่ยวกับฝรั่งเศส คิงส์เอ็ดเวิร์ดถึงกับสั่งไม่ให้ทหารเล่นฟุตบอลโดยเด็ดขาด เพราะกลัวพลธนูจะเอาเวลาฝึกซ้อมไปเตะฟุตบอลจนทำให้แพ้สงคราม พวกนายอำเภอและบาทหลวงก็ออกคำสั่งห้ามชาวบ้านเล่น แต่ไม่ว่าจะพยายามห้ามอย่างไรก็ไม่มีผล ผู้คนยังนิยมเล่นฟุบอล เกมที่ให้ความมันและแสดงความเป็นลูกผู้ชาย
จากเกมของพวกคนงานและลูกชาวนาชาวไร่ ก็กลายเป็นเกมยอดฮิตกระจายไปทั่วทุกหัวระแหงในเกาะอังกฤษ แต่ก็ยังเป็นฟุตบอลป่าเถื่อนที่ไร้ระเบียบ จนกลายเป็นเรื่องวิวาทกันประจำ ต่อมาจึงมีการออกกฎกติกาพัฒนาขึ้นเป็นฟุตบอลสมัยใหม่ เกมกีฬาป่าเถื่อนไร้กติกาตามท้องถนนและไร่นา จึงกลายเป็นเกมที่สุภาพเรียบร้อยและเล่นกันในสนาม ก้าวไปสู่ความนิยมของชนชั้นกลางอย่างพวกลูกนักธุรกิจและลูกพ่อค้า กระจายไปตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัย แม้แต่มหาวิทยาลัยดังของพวกผู้ดี อย่าง อ็อกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์ ก็ยอมรับฟุตบอลเข้าเป็นเกมของมหาวิทยาลัย
เมื่อฟุตบอลได้พัฒนาจากเกมกีฬาป่าเถื่อนมามีกฎกติกาแล้ว ในปี ค.ศ.๑๘๖๓ ก็เริ่มมีสมาคมฟุตบอลลอนดอนขึ้น แต่การตั้งกฎกติกาตอนนั้นไม่ได้คิดให้เป็นกติกาสากล เพียงแต่พวกหนุ่มๆที่มีฐานะในบริตันตั้งสมาคมขึ้นมา และได้ตั้งกติกาของตัวเองขึ้นสำหรับของใครของมัน ต่างก็ภูมิใจในกฎที่พวกตนสร้าง จึงต่างเล่นในแบบที่ตัวเองกำหนด แต่ก็ยังอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ ของฟุตบอลล้วนเกิดขึ้นที่อังกฤษ เช่นการแข่งขันระดับชาติครั้งแรกระหว่างอังกฤษกับสก็อตแลนด์ การเกิดฟุตบอลอาชีพและการแข่งขันลีกอย่างเต็มตัวในปี ค.ศ. ๑๘๘๘
ฟุตบอลได้แพร่กระจายไปทั้งทวีปยุโรป อเมริกาใต้ อินเดีย โดยพวกนักเดินเรืออังกฤษและพวกที่ไปตั้งรกรากที่นั่น ซึ่งแต่ละแห่งก็ได้รับการตอบสนองอย่างดี
มีการบันทึกไว้ว่า John Wheelright เป็นคนแรกที่นำฟุตบอลไปอเมริกา ทุกวันนี้ก็ยังมีรูปของเขาติดอยู่ในสภาของรัฐบอสตัน ซึ่งเขาได้นำฟุตบอลไปถึงเป็นแห่งแรก
ในปี ค.ศ.๑๙๐๘ กีฬาโอลิมปิกได้บรรจุฟุตบอลเข้าเป็นกีฬาอย่างหนึ่งในการแข่งขันอย่างถาวร และในปี ค.ศ.๑๙๕๒ ฮังการีทำสถิติได้ครองเหรียญทองจากการแข่งขันฟุตบอลถึง ๓ เหรียญ ไม่ยักใช่อังกฤษ
สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งชาติ หรือ FIFA ได้ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.๑๙๐๔ โดยจุดประสงค์ที่จะเอาทีมอาชีพแต่ละชาติมาแข่งขันกัน และได้เริ่มจัดในทวีปยุโรปในช่วงปี ค.ศ.๑๙๒๐ ต่อมาอีกสิบปีจึงมีการจัดในอเมริกาใต้ จากนั้นความนิยมในกีฬาฟุตบอลก็สูงมากพอจะเริ่มแข่งขันฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรกได้โดยมีเพียง ๑๓ ทีมเข้าแข่งขัน
ฟุตบอลดูจะเป็นเกมของผู้ชาย แต่ผู้หญิงก็เริ่มเข้ามาเล่นฟุตบอลด้วย การแข่งขันฟุตบอลโลกหญิงครั้งแรกจัดขึ้นในประเทศจีนเมื่อปี ค.ศ.๑๙๙๑ และอเมริกาคว้าถ้วยไปครอง
ฟุตบอลได้ก้าวมาสู่ความเป็นกีฬาอันดับ ๑ ของโลกอย่างสง่างาม มีสมาคมที่เป็นสมาชิกของฟีฟ่าถึง ๒๐๓ สมาคม มากกว่าจำนวนประเทศในโลกเสียอีก และมีทั้งชายและหญิงกว่า ๒๕๐ ล้านคนที่เล่นฟุตบอล ซึ่งจำนวนนี้ก็เฉพาะนักฟุตบอลที่ลงทะเบียนเท่านั้น ยังมีคนเล่นฟุตบอลจริงๆมากกว่านี้อีก ไม่จำกัดวัย ไม่จำกัดฐานะหรือเผ่าพันธุ์ ต่างแบ่งทีมลงสนามดวลแข้งกันอย่างสนุกสนานตามกฎกติกาและมารยาท
เกมกีฬาป่าเถื่อนที่เคยใช้แม้แต่หัวกะโหลกมนุษย์มาเตะกัน จึงพัฒนามาเป็นเกมกีฬาที่มีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของคนทั่วโลกในวันนี้ จนอาจถือได้ว่าเป็นจุดรวมความสนใจของมนุษยชาติก็ว่าได้
สำหรับไทยเราได้เล่นฟุตบอลกันในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางข้าราชการการและบุตรหลานไปศึกษาในยุโรปกันมาก โดยเฉพาะอังกฤษ และนำฟุตบอลเข้ามา ตอนนั้นก็มีเสียงวิจารณ์กันมากว่าเป็นเกมกีฬาที่ไม่เหมาะกับประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อน น่าจะเป็นกีฬาของพวกเมืองหนาวมากกว่า ทั้งยังเป็นกีฬาที่อันตรายอย่างมากด้วย แต่เสียงวิจารณ์เหล่านี้ก็ไม่อาจหยุดความ “มัน” ของฟุตบอลได้
บุคคลผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นคนแรกที่นำฟุตบอลมาเผยแพร่ในไทยก็คือ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) นักเรียนอังกฤษ ผู้กลับมารับราชการในกระทรวงธรรมการ หรือกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน จนได้ขึ้นเป็นเสนาบดีของกระทรวงนี้ และเป็นเจ้าของนามปากกา “ครูเทพ” ผู้แต่งเพลง “กราวกีฬา”
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้จัดให้มีการแข่งขันฟุตบอลตามกติกาสากลขึ้นครั้งแรกที่สนามหลวง ในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๓ ระหว่าง “ทีมกรมศึกษาธิการ” ของกระทรวงธรรมการ กับ “ทีมบางกอก” ทีมรวมชาวต่างชาติในไทย ผลปรากฏว่าเสมอกัน ๒ : ๒
ในปี พ.ศ.๒๔๔๔ ครูเทพได้จัดให้มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างโรงเรียน กำหนดอายุไม่เกิน ๒๐ ปี โดยใช้พิ้นที่สนามหลวงเป็นสนามแข่งขัน โรงเรียนที่ชนะเลิศจะได้โล่ที่จารึก “การแข่งขันฟุตบอลชิงโล่ของกระทรวงธรรมการ”
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเอยู่หัว ซึ่งทรงศึกษาอยู่ที่อังกฤษถึง ๘ ปีได้โปรดฯให้ตั้งทีมชาติไทยทีมแรกขึ้น เรียกกันว่า “คณะฟุตบอลสำหรับชาติสยาม” และได้พระราชทานตราพระมหามงกุฏให้แก่นักฟุตบอลทีมชาติ เพื่อให้ใช้ในการลงสนามครั้งแรกแข่งขันกับทีมสปอร์ตคลับในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๕๘
“พระมหาพิชัยมงกุฎ” ก็คือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ ทีมชาติสยามในครั้งนั้นจึงใส่เสื้อสีแดงคาดขาว มีตราพระมหามงกุฎติดอยู่ที่อกเสื้อด้านซ้าย ซึ่งนักฟุตบอลทีมชาติที่มีเครื่องหมายจากพระมหากษัตริย์ติดเสื้อลงสนามนั้นมีเพียง ๒ ชาติเท่านั้นในโลก คือทีมชาติสยามและทีมชาติอังกฤษ
ปัจจุบันตราพระมหาพิชัยมงกุฎได้หายไปจากอกเสื้อนักเตะทีมชาติไทยนานแล้ว นัยว่าเก็บเทิดทูนไว้ในฐานะเป็นของสูง ใช้ในโอกาสสำคัญยิ่งเท่านั้น
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ นั้น ทีมชาติสยามที่ลงสนามแข่งขันกับทีมต่างชาติได้รับชัยชนะทุกครั้งตั้งแต่ครั้งแรก
ในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๗๓ นั้น ทีมชาติสยามก็ได้รับเชิญให้ไปร่วมการแข่งขันด้วย และเราก็ฟิตซ้อมเตรียมพร้อมที่จะไป แต่การแข่งขันครั้งนั้นจัดขึ้นที่ประเทศอุรุกรัยในอเมริกาใต้ ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางเป็นแรมเดือนและมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งในยามนั้นเศรษฐกิจของไทยกำลังมีปัญหา ถึงขั้นต้องลดจำนวนข้าราชการลงเพราะไม่มีเงินจ่ายเงินเดือน จึงจำต้องปฏิเสธคำเชิญของฟีฟ่าไป ทุกวันนี้มีทีมชาติฟุตบอลมากมาย ฟีฟ่าจึงต้องใช้วิธีแข่งขันตัดเลือกเข้าแข่งฟุตบอลโลก ทีมชาติไทยยังอยู่ในขั้นพยายาม หวังได้เลยว่าเราจะประสบความสำเร็จในเร็วนี้ เพราะ ๒-๓ ปีที่ผ่านมา ถือได้ว่ากิจการฟุตบอลไทยอยู่ในขั้นก้าวกระโดด