xs
xsm
sm
md
lg

กิจของสงฆ์ในประวัติศาสตร์ ไม่นิ่งดูดายยามบ้านเมืองคับขัน! เข้าร่วมกู้ชาติกับชาวบ้าน!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

มหาเถรคันฉ่องที่อนุสรณ์สถานสมเด็จพระนเรศวร กาญจนบุรี
มีความเห็นที่แตกต่างกันในสังคมเรื่องกิจของสงฆ์ ว่าสงฆ์มีหน้าที่แค่สวดมนต์ เผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอน และบิณฑบาตเท่านั้น หรือว่าสงฆ์ก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ยามบ้านเมืองเดือดร้อนมีปัญหา สงฆ์ก็ต้องเดือดร้อนเหมือนชาวบ้าน ฉะนั้นสงฆ์จึงต้องมีส่วนที่ร่วมที่จะแก้ปัญหานั้น ขึ้นอยู่ว่าจะมีสงฆ์หรือประชาชนที่ยอมเสียสละและกล้าหาญแค่ไหน

ในยุคสมัยที่ผ่านมา มีพระสงฆ์ที่ห่วงใยต่อประเทศชาติ และกล้าหาญที่จะเข้าร่วมกับประชาชน เข้ากอบกู้ความเดือดร้อนของบ้านเมือง แม้จะไม่ได้ถืออาวุธเข้าต่อสู้อันขัดต่อพระธรรมวินัย แต่ก็ร่วมเป็นร่วมคายกับชาวบ้าน และมีผลอย่างมากในการต่อสู้ จนประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้

อย่างเช่นในปี พ.ศ.๒๐๙๑ เมื่อพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ กษัตริย์หนุ่มผู้คลั่งสงตรามของพม่า ได้กรีฑาทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ที่เรียกกันว่า “สงครามช้างเผือก” คราวสูญเสียสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ตอนนั้นกำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยาก็ยังไม่มั่นคงแข็งแรง สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิจึงไปตั้งทัพรับพม่าที่ทุ่งภูเขาทอง พระมหานาค พระสงฆ์ที่วัดภูเขาทอง เห็นว่ากองทัพไทยมีกำลังน้อยกว่าพม่ามากนัก และท่านก็มีผู้คนเคารพนับถืออยู่มาก จึงคิดจะเข้าช่วยบ้านเมืองยามคับขัน ชักชวนลูกศิษย์และญาติโยมมาตั้งค่ายอีกด้านช่วยกันทัพเรือของข้าศึก พร้อมทั้งขุดคลองขึ้นป้องกันทัพพม่า และเพื่อให้ทำภารกิจนี้ได้สะดวก มหานาคจึงทุ่มสุดตัวสึกออกมาเป็นฆราวาส

หลังจากสมเด็จพระนเรศวรได้ประกาศอิสรภาพแล้ว บ้านเมืองสงบร่มเย็นเป็นเวลาถึง ๑๕๐ ปีไม่มีข้าศึกมากล้ำกราย ชาวกรุงศรีอยุธยาได้ใช้คลองนี้ที่เรียกกันว่า “คลองมหานาค” เป็นสถานบันเทิง เล่นเพลงเรือและสักวากัน

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีพระราชดำริที่จะถ่ายทอดจิตวิญญาณยุครุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยามาสู่กรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากจะสร้างปราสาทพระราชวังให้เหมือนกรุงศรีอยุธยาแล้ว ยังทรงขุดคลองมหานาคแยกจากคลองรอบกรุงตรงป้อมมหากาฬออกไปทางทิศตะวันออก คลองมหานาคของกรุงรัตนโกสินทร์ไม่ได้ขุดขึ้นเพื่อเป็นคลองยุทธศาสตร์ แต่เพื่อใช้ในด้านความบันเทิงเช่นเดียวกับคลองมหานาคของกรุงศรีอยุธยายามบ้านเมืองมีสันติสุข

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดฯให้สร้างเจดีย์ภูเขาทองขึ้นที่วัดสระเกศ ใกล้คลองมหานาคเช่นเดียวกับที่กรุงศรีอยุธยา
ในคราวที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพนั้น พระภิกษุสงฆ์รูปหนึ่งก็มีความสำคัญในเรื่องนี้อยู่มาก จนเป็นที่รู้จักกันดีของคนไทยในนาม พระมหาเถรคันฉ่อง แม้ท่านจะเป็นพระมอญ แต่ก็มีจิตใจร่วมกับคนไทยที่ถือว่าพม่าเป็นศัตรู และเมื่อเห็นว่าบุคคลที่เป็นความหวังของกรุงศรีอยุธยาจะมีภัย ท่านก็ยอมเสียสละและกล้าหาญที่จะไม่นิ่งดูดาย

พระมหาเถรคันฉ่องเป็นพระภิกษุที่เคารพนับถือของชาวเมืองแครง ซึ่งเป็นเมืองมอญอยู่ในเส้นทางระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกรุงหงสาวดี สมเด็จพระนเรศวรต้องเสด็จพระราชดำเนินผ่านเป็นประจำระหว่างที่ทรงตกเป็นตัวประกันอยู่กรุงหงสาวดี ทรงแวะนมัสการทุกครั้งที่เสด็จผ่าน จนเป็นที่คุ้นเคยกับชาวเมืองแครงและเป็นที่รักใคร่เมตตาของมหาเถรคันฉ่อง

หลังจากที่พระเจ้านันทบุเรงทดสอบความสามารถของ ๓ รัชทายาทของ ๓ แคว้นในการปกครอง โดยให้ผลัดกันเข้าตีเมืองคังแล้ว ความเก่งกล้าสามารถของสมเด็จพระนเรศวรก็ทำให้พระเจ้านันทบุเรงทรงวิตกว่า นานไปจะเป็นเสี้ยนศัตรูต่อกรุงหงสาวดี จำจะต้องหาทางกำจัดเสียแต่เนิ่นๆ

เมื่อพระเจ้าอังวะแข็งเมืองต่อหงสาวดี พระเจ้านันทบุเรงจึงจัดทัพใหญ่จะไปตีกรุงอังวะ แล้วรับสั่งให้กรุงศรีอยุธยาส่งกองทัพตามไปช่วย โดยกำหนดแผนไว้ทั้งขึ้นทั้งล่อง หากไม่ไปก็ถือว่ากระด้างกระเดื่อง แต่หากไปก็สั่งให้พระมหาอุปราชาซึ่งอยู่รักษากรุงหงสาวดีดักทำร้ายเสียกลางทาง เพราะปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายต่อกรุงหงสาวดีในภายหลัง

พระมหาอุปราชได้ส่งพระยามอญ ๒ คนคือ พระยาเกียรติ และ พระยาราม มาคอยต้อนรับสมเด็จพระนเรศวรที่เมืองแครง และสั่งความลับให้เป็นไส้ศึกปนไปในกองทัพของสมเด็จพระนเรศวร เมื่อมีโอกาสก็หาทางกำจัดเสีย พระยามอญทั้ง ๒ เป็นคนเมืองแครงมีพรรคพวกในเมืองมาก จึงแพร่งพรายความลับที่ได้รับมอบหมายมาให้พรรคพวกทราบ เรื่องจึงไปถึงมหาเถรคันฉ่อง เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จมานมัสการมหาเถรคันฉ่องดังเช่นเคย พระมหาเถรจึงเรียก ๒ พระยามอญมาเฝ้าทูลความจริงให้ทรงทราบ

สมเด็จพระนเรศวรทรงดำริว่า เมื่อกรุงหงสาวดีคิดร้ายกับพระองค์เช่นนี้ เห็นทีจะเป็นไมตรีต่อกันไปไม่ได้แล้ว จึงมีรับสั่งเรียกแม่ทัพนายกอง รวมทั้งพระยาเกียรติ พระยาราม และกรมการเมืองแครงมาประชุมที่พลับพลา นิมนต์พระมหาเถรคันฉ่องและพระสงฆ์มาเป็นสักขีพยาน ตรัสเล่าเรื่องที่พระเจ้าหงสาวดีล่อลวงพระองค์มาจะทำร้ายให้คนทั้งปวงทราบ จากนั้นก็ทรงสุวรรณภิงคารหลั่งอุทกธาราลงบนพื้นพสุธา ประกาศแก่เทพยดาต่อหน้าที่ประชุมว่า แต่นี้ไปกรุงศรีอยุธยากับกรุงหงสาวดีขาดไมตรีกัน และกรุงศรีอยุธยาเป็นอิสรภาพไม่ขึ้นต่อกรุงหงสาวดีอีกต่อไป
การกระทำของมหารเถรคันฉ่องด้วยความรักห่วงใยในสมเด็จพระนเรศวรและกรุงศรีอยุธยาครั้งนี้ แน่นอนว่าจะต้องเกิดผลร้ายต่อตัวท่าน สมเด็จพระนเรศวรจึงนิมนต์ท่าน รวมทั้งพระยาเกียรติ พระยารามและญาติโยมให้โดยเสด็จไปกรุงศรีอยุธยา มีชาวมอญตามเสด็จมาด้วยในครั้งนั้นถึงหมื่นเศษ

โปรดให้พระมหาเถรคันฉ่องจำพรรษาอยู่วัดมหาธาตุ เป็น สมเด็จพระอริยวงศญาณปริยัติวราสังฆราชาธิบดี พระราชทานคานหามตลอดจนสมณบริขารต่างๆ ฝ่ายพระยาเกียรติ พระยารามนั้น พระราชทานเจียดทอง น้ำเต้าทอง กระบี่บั้งทอง เงินตราเสื้อผ้าแพรพรรณนุ่งห่มและเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นจำนวนมาก
มหาเถรคันฉ่องจึงเป็นพระภิกษุที่มีความสำคัญต่อการประกาศอิสรภาพของกรุงศรีอยุธยาอย่างมาก
พระภิกษุอีกรูปหนึ่งหนึ่งที่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ ว่ามีบทบาทสำคัญต่อแผ่นดิน ร่วมกับวีรกรรมของชาวบ้านบางระจัน ซึ่งไม่ได้ต่อสู้เพื่อป้องกันบ้านเมืองหรือชีวิต แต่เป็นการสละชีวิตเพื่อประกาศศักดิ์ศรีของคนไทย

ครั้งนั้นอยู่ในเหตุการณ์ที่เสียกรุงศรีอยุธยาอย่างย่อยยับใน พ.ศ.๒๓๑๐ ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ด้วยความขมขื่นว่า พม่ายกเข้ามาครั้งนั้น ๒ กองทัพ มีกำลังรวมกันเพียงแค่ ๒๔,๐๐๐ คน แต่กองทัพกรุงศรีอยุธยาที่ส่งออกไปสกัดข้าศึกตั้งแต่ชายแดน แตกพ่ายมาทุกกองทัพ จนพม่าบุกเข้ามาล้อมกรุง ทั้งนี้ก็เพราะพระเจ้าเอกทัศน์เป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอ ไม่มีความเป็นผู้นำ ขุนนางข้าราชการจึงแตกเป็นก๊กเป็นเหล่า อ่อนแอไปทั้งกิจการบ้านเมืองและกองทัพ

พม่าเห็นไทยอ่อนแอก็ย่ามใจ ข่มเหงราษฎร ปล้นสะดมเอาทรัพย์สิน และฉุดคร่าผู้หญิงอย่างป่าเถื่อน จนชาวบ้านกลุ่มหนึ่งสุดจะทนได้ ชาวศรีเมืองทอง แขวงเมืองสิงห์บุรีหลายคน มี นายแท่น นายโชติ นายอิน และนายเมือง ร่วมกับนายดอก บ้านกรับ และนายทองแก้ว บ้านโพธิ์ทะเล แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ จึงรวมตัวกันหาทางแก้แค้น โดยส่งคนไปลวงทหารพม่าว่าจะพาไปหาทรัพย์สินและผู้หญิง เมื่อทหารพม่าหลงเชื่อยกขบวนกันมา นายโชติก็นำพรรคพวกเข้าฆ่าฟันทหารพม่าตายไปกว่า ๒๐ คน จากนั้นชาวบ้านที่มีกำลังเพียงน้อยนิดนี้แทนที่จะหนีไปเพื่อเอาชีวิตรอด กลับพากันไปตั้งค่ายเตรียมสู้พม่าที่บ้านบางระจัน เมืองสิงห์บุรี ทั้งยังมีชาวบ้านอีก ๕ กลุ่มมาสมทบ มี นายจัน ผู้มีฉายาว่า “จันหนวดเขี้ยว” นายทองเหม็น นายทองแสงใหญ่ ขุนสรรค์ และพันเรือง เป็นหัวหน้า จึงมีระดับนายทัพเป็น ๑๑ คน และมีชาวบ้านจากเมืองวิเศษชัยชาญ เมืองสิงห์ เมืองอินทร์ เมืองพรหม เมืองสุพรรณ มาอยู่ในค่ายบางระจันรวม ๔๐๐ คน พร้อมทั้งผู้หญิงและเด็กอีกจำนวนหนึ่งอพยพเข้ามาอยู่ในความคุ้มครองของค่ายบางระจันด้วย

ในตอนนั้นมีพระภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อ พระอาจารย์ธรรมโชติ จำพรรษาอยู่ที่วัดนางบวช แขวงเมืองสุพรรณบุรี เป็นที่นับถือของชาวบ้านในย่านวิเศษชัยชาญ สิงห์บุรี และสุพรรณบุรี ชาวค่ายบางระจันจึงไปนิมนต์ท่านมาจำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิ์เก้าต้น ภายในค่าย เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ท่านก็มาร่วมเป็นร่วมตายกับชาวบ้านตามคำนิมนต์ และได้ทำผ้าประเจียดลงอักขระเลขยันต์เป็นของขลังแจกจ่ายเป็นกำลังใจแก่ชาวค่าย

หลังจากเปิดศึกกับพม่ามาถึง ๗ ครั้ง และชนะมาตลอด ในที่สุดชาวบางระจันก็สิ้นหวังเมื่อพม่าโหมกำลังเข้ามา เพราะทั้งกำลังคนและอาวุธก็ไม่สามารถรับมือกับพม่าได้ แต่เหล่าวีรชนผู้กล้าบางระจันก็ไม่หนี ขอสู้จนตัวตายในสนามรบ มอบหน้าที่ให้บางคนพาผู้หญิงและเด็กหนีไป ส่วนพระอาจารย์ธรรมโชติ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวค่าย ไม่ปรากฏว่าพม่าได้ตัวไปเมื่อเข้ายึดค่ายได้ กล่าวกันว่าท่านถูกนิมนต์ให้กลับไปที่วัดนางบวช และเรื่องราวต่างๆของค่ายบางระจัน ตลอดจนวีรกรรมของวีรชนแต่ละคน ก็มาจากคำบอกเล่าของท่านในภายหลัง

วีรกรรมของชาวบ้านบางระจันได้พิสูจน์ให้เห็นวิญญาณนักสู้ของคนไทย เป็นแบบอย่างของความกล้าหาญ ความสามัคคี ความรักชาติรักแผ่นดินแล้ว ยังได้เห็นการเสียสละและความกล้าหาญของพระภิกษุสงฆ์ที่ไม่นิ่งดูดายต่อความเดือดร้อนของแผ่นดิน

ในคราว “สงคราม ๙ ทัพ” ในสมัยรัชกลที่ ๑ ประวัติศาสตร์ก็ได้บันทึกถึงความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองของพระภิกษุสงฆ์อีกรูปหนึ่ง ครั้งนั้นพม่าโหมกำลังเข้ามาหวังไม่ให้ไทยได้ผุดได้เกิด และไทยเราก็ยังอยู่ในระยะสร้งเมืองใหม่ ยังไม่มีกำแพงเมืองที่จะป้องกันกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งยังไม่มีกำลังพอจะรับทัพพม่า ได้แต่ส่งกองทัพไปยันไว้ที่ภาคเหนือและเมืองกาญจน์ ส่วนภาคใต้ต้องปล่อยให้พม่ายึดไปก่อน เสร็จศึกด้านอื่นแล้วค่อยไปจัดการ จนทำให้เกิดวีรสตรี ท้าวเทพกษัตรีย์ และ ท้าวศรีสุนทร ขึ้นที่ภูเก็ต

ส่วนอีกเมืองหนึ่งคือพัทลุง เมื่อได้ทราบข่าวว่า เมืองชุมพร เมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราชเสียแก่พม่าแล้ว เจ้าเมืองและกรมการเมืองทั้งปวงก็เตรียมจะยกครอบครัวทิ้งเมืองหนีเข้าป่า แต่ พระมหาช่วย เจ้าอธิการของวัดหนึ่งซึ่งมีประชาชนนับถือมาก กลับทำพิธีปลุกเศกเครื่องรางของขลังออกแจกจ่ายประชาชน แล้วชักชวนให้ช่วยกันต่อสู้ป้องกันเมืองไว้ พวกกรมการเมืองและนายแขวง นายบ้านทั้งหลายจึงเปลี่ยนในไม่คิดหนี ได้ชักชวนประชาชนให้มารับของแจกจากมหาช่วย ทำให้มีจิตใจฮึกเหิมที่จะต่อสู้กับพม่า แม้จะรวมคนได้เพียง ๑,๐๐๐ คน ก็ยกกำลังออกไปตั้งรับพม่าที่จะมาจากนครศรีธรรมราช โดยนิมนต์พระมหาช่วยขึ้นคานหามไปในกองทัพด้วย แต่เผอิญกองทัพจากกรุงเทพฯยกไปตีพม่าแตกไปเสียก่อน จึงไม่มีโอกาสได้แสดงฝีมือ

เมื่อเสร็จศึกภาคใต้แล้ว กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทซึ่งทรงนำทัพมาเองหลังจากไล่ทัพหลวงของพม่าออกไปจากเมืองกาญจน์แล้ว ได้รับสั่งถามบรรดาเจ้าเมืองและข้าราชการภาคใต้ว่า มีใครคิดสู้พม่าบ้าง พระยาพัทลุงคนที่หอบของเตรียมหนีพม่า กราบทูลว่ากองทัพเมืองพัทลุงได้ยกมาคอยรับพม่าโดยมีพระมหาช่วยมาเป็นขวัญกำลังใจของกองทัพ ทรงดำรัสยกย่องชมเชยมหาช่วย มหาช่วยเลยขอลาสิกขาบทออกมารับราชการ ทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เป็น พระยาทุกขราษฎร์ ช่วยราชการเมืองพัทลุง

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็มีพระภิกษุอีกรูปหนึ่งซึ่งปรากฏชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์ ในฐานะเป็นนักสู้ ผู้ไม่ยอมถอยให้อั้งยี่ผยองที่เผาบ้านเผาเมือง และสู้อย่างพระที่ไม่ยอมให้ธรรมะต้องถอยหนีอธรรม อิทธิฤทธิ์ของท่านทำให้อั้งยี่ที่ตะลุยมาได้ค่อนเมือง ต้องวิ่งหนีกันหัวซุกหัวซุนจนถูกปราบไปราบคาบ

เหตุการณ์ครั้งนั้นเริ่มขึ้นที่จังหวัดระนอง มีกรรมกรเหมืองชาวจีนราว ๕๐๐-๖๐๐ คน อยู่ในแก๊งอั้งยี่ “ยี่หิน” อาละวาดไล่ฆ่าฟันผู้คนและเผาบ้านเรือนไปทั่ว เจ้าเมืองระนองไม่มีกำลังจะปราบปราม ทำได้แค่รักษาศาลากลางไว้ พวกอั้งยี่จะเข้าปล้นเอาเงินในคลังก็ปล้นไม่ได้ เลยหันไปปล้นฉางข้าวและปล้นเรือหนีออกทะเลไป ๓๐๐-๔๐๐ คน เมื่อไปถึงภูเก็ตก็แยกย้ายกันเข้าอาศัยตามโรงกงสีของแก๊งอั้งยี่ “ปูนเถ้าก๋ง” ในตำบลต่างๆ เล่าให้พรรคพวกฟัง ว่าเกือบจะยึดเมืองระนองได้แล้ว แต่มีอาวุธไม่พอจึงต้องหนีมา พวกหัวโจกตามกงสีต่างๆจึงชักชวนให้รวมตัวกันตีเมืองภูเก็ตบ้าง โดยปกปิดไม่ให้กลุ่มหัวหน้าใหญ่รู้

ขณะเดียวกันก็มีคนจีนเข้ามาสมทบกันเรื่อยๆ รวมประมาณ ๒,๐๐๐ คน จะเข้าปล้นสำนักงานรัฐบาล พระยาวิชิตสงคราม เจ้าเมืองภูเก็ต ต้องพาครอบครัวหนี แต่พระยามนตรีสุริยวงศ์ ข้าหลวงประจำหัวเมืองฝ่ายตะวันตก ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ภูเก็ต ไม่ยอมถอย เรียกคนประชาชนในย่านนั้นให้มาช่วยป้องกันสถานที่ราชการรวมทั้งบ้านพระยาวิชิตสงครามไว้ มีทหารเรืออีก ๑๐๐ คนมาสมทบ ทั้งยังปล่อยนักโทษอีก ๑๐๐ คนให้มาช่วยรับมืออั้งยี่

เมื่อพวกอั้งยี่เข้าปล้นศาลากลางไม่ได้ ก็กระจายกันออกเผาเมือง จลาจลไปทั่วภูเก็ต ชาวบ้านต้องพากันหลบหนีเข้าป่าเอาตัวรอด หลายรายได้หนีเข้าไปหลบซ่อนในวัดฉลอง แต่พอได้ข่าวว่าพวกอั้งยี่กำลังมุ่งมาทางนั้น จึงพากันเข้านมัสการหลวงพ่อแช่มที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “พ่อท่านแช่ม” ผู้เป็นเจ้าอาวาส ให้หนีไปด้วยกัน แต่หลวงพ่อแช่มบอกว่า

“ข้าอยู่วัดนี้มาตั้งแต่ยังเป็นเด็กจนอายุถึงป่านนี้แล้ว ทั้งยังเป็นสมภารเจ้าอยู่ด้วย จะทิ้งวัดไปเสียอย่างใดได้ พวกสูจะหนีก็หนีเถิด แต่ข้าไม่ไปละ ถ้าจะต้องตายก็จะตายอยู่ในวัด อย่าเป็นห่วงข้าเลย”

เมื่อหลวงพ่อไม่ยอมหนี ชาวบ้านก็ไม่ยอมทิ้งท่าน จะอยู่ร่วมเป็นร่วมตายกับท่าน แต่ขออะไรไว้พอคุ้มตัวสักอย่าง หลวงพ่อจึงเอาผ้าขาวมาลงยันต์เป็นผ้าประเจียด ฉีกแจกชาวบ้านให้เอาไปโพกหัวคนละผืน พอมีกำลังใจชาวบ้านก็ออกไปชักชวนพวกที่หลบอยู่ใกล้วัดให้หาอาวุธที่พอจะหาได้ มารวมตัวกันที่วัดฉลอง

ชาวบ้านเตรียมการซักซ้อมอยู่ ๒ วัน อั้งยี่ผยองที่ไล่ฆ่าฟันผู้คนก็มาถึงวัดฉลอง ลูกศิษย์หลวงพ่อแช่มแอบอยู่หลังกำแพงวัด พออั้งยี่เข้ามาในระยะปืนก็โผล่ออกมาระดมยิง ทำเอาอั้งยี่หงายท้องล้มตายเป็นอันมาก ต้องล่าถอยไป
อั้งยี่พากันโกรธแค้น “ไอ้พวกหัวขาว” ที่ทำให้พวกตนพ่ายแพ้อับอาย จึงไประดมพลมาแก้แค้น ส่วนชาวบ้านที่หลบอยู่ในป่าพอรู้ว่าพวกวัดฉลองตีอั้งยี่แตกพ่าย ก็มีกำลังใจออกมาสมทบด้วย

หลวงพ่อแช่มบอกกับพวกที่มาชุมนุมอยู่ในวัดว่า

“ข้าเป็นพระสงฆ์ จะรบราฆ่าฟันใครไม่ได้ สูจะสู้รบก็คิดอ่านกันเองเถิด ข้าจะทำเครื่องคุณพระไว้ให้ป้องกันตัวเท่านั้น”

ศึกแก้แค้นครั้งใหม่นี้อั้งยี่ยกมาเป็นกองทัพ มีการถือริ้วธงและตีกลองเป็นสัญญาณข่มขวัญ แต่ศิษย์หลวงพ่อแช่มก็ฮึกเหิมด้วยผ้าประเจียดที่โพกหัว ทั้งยังมีพรรคพวกมารวมกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง จึงตั้งรับอยู่ในวัดโดยไม่หวั่นไหว พวกอั้งยี่ใช้กำลังที่มากกว่าเข้าล้อมแล้วระดมยิง ทั้งพุ่งหลาว ขว้างอีโต้เข้าใส่ชาวบ้านเป็นห่าฝน แต่น่าอัศจรรย์ที่ “พวกหัวขาว” ไม่มีใครได้รับอันตราย กลับสอยอั้งยี่ที่บุกเข้ามาหงายท้องไปหลายราย

อั้งยี่ล้อมอยู่จนเที่ยงก็บุกเข้าวัดฉลองไม่ได้ จนหมดแรงหิวข้าว จึงวางอาวุธหันไปหุงข้าวต้มเพิ่มกำลัง ลูกศิษย์หลวงพ่อแช่มเห็นได้โอกาสเหมาะตอนอั้งยี่พุ้ยข้าวต้ม จู่โจมออกนอกกำแพงเข้าตะลุมบอน อั้งยี่เลยต้องทิ้งตะเกียบวิ่งหนีตาย ทิ้งศพพวกไว้กราดเกลื่อน

เมื่ออั้งยี่ผยองอยู่ได้ไม่นาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงส่ง พระยาภาสกรวงศ์ มาเป็นผู้บัญชาการปราบอั้งยี่ เมื่อทางราชการเอาจริง อั้งยี่ผยองที่จะยึดเมืองภูเก็ต ก็ไม่มีน้ำยา ต้องวิ่งหนีเอาชีวิตรอดกันหัวซุกหัวซุน
เมื่อเหตุการณ์สงบ คณะกรรมการเมืองภูเก็ตได้ทำรายงานกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงถวายสมณศักดิ์หลวงพ่อแช่มขึ้นเป็น พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี ตำแหน่งสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ต และพระราชทานนามวัดฉลองเป็น “วัดชัยธาราราม” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

นี่ก็เป็นบทบาทของพระสงฆ์ในยามที่บ้านเมืองมีเหตุคับขัน ที่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้
คลองมหานาคของกรุงรัตนโกสินทร์ ตรงที่เรียกว่า “สี่แยกมหานาค”
พระอาจารย์ธรรมโชติ ในวิหารของค่ายบางระจันในปัจจุบัน
อนุสาวรีย์พระยาทุกขราษฎร์ในเมืองพัทลุง
หลวงพ่อแช่มวัดฉลอง


กำลังโหลดความคิดเห็น