xs
xsm
sm
md
lg

ชัดเจน กล้าทำ ก็สำเร็จ “The ice cream people” คลับคาเฟ่ของคนรักไอติม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โด่งดังเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมล้นหลามชนิดลูกเด็กเล็กแดงไปจนถึงผู้หลักผู้ใหญ่วัยทำงาน สำหรับไอศกรีมโฮมเมด “The ice cream people” ของหวานทานเล่นๆที่เมื่อบวกกับความชัดเจนและโดดเด่นเฉพาะตัวในการครีเอทีฟ ทั้งเรื่องรสชาติ สีสัน ผลิตภัณฑ์แพคเกจจิ้ง ส่งผลให้กลายมาเป็นชุมชนของกลุ่มคนที่หลงรักไอศกรีม
จากความรักความชอบ ต่อเติมเป็นแรงบันดาลใจและชีวิต
จากอดีตกราฟฟิคดีไซน์เนอร์ สู่เจ้าของแบรนด์ไอศกรีมโฮมเมด
... อะไรที่เป็นจุดก่อไอศกรีมถ้วยเล็กๆ ให้เกิดเป็นชุมชนใหญ่ๆ ของคนชอบทานไอศกรีม แห่งหมู่บ้านภักดี พระราม 3 ซอย 11 ภายใต้ชื่อร้าน Gō coffee & Icē-cream

Manager online ขอนำไปทำความรู้จักกับหญิงสาวผู้เป็นหนึ่งในเจ้าของแบรนด์ “เจ-วธวรรณ สุวัฒนพิมพ์” ที่จะมาเปิดเผยรายละเอียด พร้อมกับพาเราไปตะลุยโลกหลากรสและสีสันของไอศกรีม ที่เปี่ยมด้วย Dream และ Love...

• จากกราฟฟิกดีไซน์เนอร์ ก่อนจะมาเป็นเจ้าของแบรนด์ไอศกรีมโฮเมด The ice cream people มีที่มาที่ไปอย่างไร ถึงผสมผสานกันอย่างลงตัวของกลุ่มก้อนไอศกรีมโฮมเมดถ้วยนี้

เนื่องจากที่บ้านทำธุรกิจโรงพิมพ์ ส่วนตัวก็เลยมีความคิดว่าเราน่าจะมีสกิลทักษะเพิ่มในเรื่องของตรงนี้ เมื่อบวกกับส่วนตัวที่เราเป็นคนชอบวาดรูปอยู่แล้วด้วย แม้ว่าจะวาดไม่ค่อยเก่ง แต่เราไม่กลัวที่จะวาดอะไร เพราะเรารู้สึกว่ามันไม่มีอะไรที่ผิด การวาดรูปในมุมมองของเรา เป็นการแต่งเติมให้มันไปเรื่อยๆ ก็เลยเลือกที่จะมาเรียนต่อทางด้านนี้

ทีนี้พอจบมา ความรู้สึกจริงๆ คือเราไม่มั่นใจเลย (หัวเราะ) เพราะตอนที่เรียนกับตอนที่ทำงาน มันไม่เหมือนกันเลย ทำงานเหมือนไปเริ่มต้นใหม่ ติดอาร์ตเวิร์คก็ไม่เป็น ทำโน่นทำนี่ก็ไม่เป็น คือช่วงที่เรียน เราจะได้รับอิสระมาก ทำอะไรก็ได้ แต่พอต้องมาทำงานปุ๊บ มันต้องมีโจทย์ ลูกค้าจะมีโจทย์มาว่าเขาชอบอะไรหรือเขาต้องการอะไร เขาอยากได้แบบไหน เราก็ต้องทำให้เขาให้ได้ ทำไม่ได้ ก็ต้องแก้ให้จนได้

• กี่ปีถึงจะเรียกความมั่นใจหรือประสบความสำเร็จเป็นมืออาชีพด้านการทำงานสายกราฟฟิก

ทำประมาณ 2 ปี ก็รู้สึกว่าขายงานได้ งานผ่าน เจ้านายโอเค เราทำอะไรไป เจ้านายก็ชอบ ก็เริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น แต่ถ้าถามว่ามันใช่ทางของเราไหม ก็แฮปปี้มีความสุข เนื่องจากเป็นคนไม่ชอบตัวหนังสือ เป็นคนชอบภาพ มันก็เลยเหมือนกับว่าทุกวัน เราได้คิดงานใหม่เรื่อยๆ มันก็สนุก เพราะจริงๆ เป็นคนที่มีลักษณะนิสัยขี้เบื่อง่าย ก่อนมาตรงนี้ก็เรียนมาหลายสาย แต่รู้สึกว่างานออกแบบเป็นงานที่ชอบที่สุด ได้ออกแบบโลโก้ ออกแบบผลิตภัณฑ์ ก็ทำงานด้านกราฟฟิกทั้งหมดประมาณ 6 ปี

• อะไรเป็นจุดเปลี่ยน ในเมื่อเรารู้สึกชอบและสนุกกับมันขนาดนี้

อาจจะเป็นเพราะความรู้สึกอิ่มตัวด้วย คือมันรู้สึกว่าเหมือนเรานั่งหน้าคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา นอนดึก ไม่มีเวลาไปไหนเท่าไหร่ วันเสาร์-อาทิตย์ หยุดงานก็อยากนอนอย่างเดียว เราคิดวนอย่างนี้ เราก็จะไม่ได้เริ่มสิ่งใหม่สักที คิดอย่างนี้ ก็ออกเลย ไม่ได้แพลนแผนการอนาคตว่าจะทำอะไรต่อสำรองด้วย (ยิ้ม) แต่การที่เราลาออกมาเลย โดยไม่มีแผน ก็เหมือนกับเป็นการบังคับตัวเราไปในตัว ให้หาเรื่องทำ ซึ่งก็มาเจอกับตรงนี้ไอศกรีม เพราะเป็นสิ่งที่เราชอบทำ เราชอบทานเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

• ไม่ได้รู้สึกว่าล้มเหลวในวนลูปชีวิตที่ส่งผลต่องาน

ไม่ได้รู้สึกว่าล้มเหลวค่ะ แต่ความรู้สึกในขณะที่เราทำงานตอนนั้นเราไม่ได้มีอะไรตื่นเต้นมากแล้ว เพราะตอนนั้นเราก็เต็มที่ ไปเรียนโน่นนี่ ไปทำนั่น อย่างเป็นคนชอบเซรามิกก็ไปเรียนเซรามิก ชอบเสื้อผ้าก็ลองไปเรียนเย็บเสื้อผ้า ก็ทดลองเรียนค้นหาในสิ่งที่ชอบ เวลาชอบอะไรก็จะไปเรียนก่อน เรียนให้รู้ว่าชอบไหม ไม่ชอบก็จบ ก็มาโป๊ะกับไอศกรีม

• แต่ตอนนั้นไอศกรีมก็ไม่ได้มีวิวัฒนาการมากมายเท่าไหร่ที่จะตอบโจทย์เรื่องความท้ายทายส่วนตัวที่เป็นคนลักษณะนิสัยขี้เบื่อ เพราะรสก็มีแทบจะแค่เบสิกเดิมๆ วนไปมา

ถูกต้องค่ะ แถมไอศกรีมโฮเมดส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบรนด์ใหญ่ๆ แบรนด์ต่างประเทศเมืองนอก แล้วในเรื่องของรสชาติเรารู้สึกว่ารสชาติมันหวานมากเกิน ก็รู้สึกว่าอยากทำบางรสชาติที่เราชอบที่เขาไม่มีทำออกมากัน ทั้งๆ ที่ไอศกรีมมันไม่ได้ทำยากมาก แต่มันสามารถทำอะไรก็ได้ในโลกใบนี้ถ้าเราอยากทำ แต่กินได้ไม่ได้ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งมันเป็นความแปลกใหม่ท้าทาย เป็นศาสตร์อีกศาสตร์หนึ่งที่เราทำไม่เป็นเลยในเรื่องของขนม มันสนุกที่อะไรเขาไปได้ ทำรสต้มยำก็ได้ ไอศกรีมสามารถหมด ที่สำคัญรู้สึกว่าเวลาไปนั่งกินทานไอศกรีมในร้าน ทุกคนจะดูแฮปปี้ มีความสุข มันก็เลยน่าจะเป็นอาชีพที่ดี

• รสชาติแรกที่เราทำเลยคือรสชาติอะไร

รสวานิลา เพราะเป็นไอศกรีมที่ปราบเซียน รสวานิลาเป็นรสชาติเบสิกพื้นฐานที่ทุกคนรู้จัก มองผิวเผินดูเหมือนง่าย แต่ว่ามันอร่อยยาก คือเราอาจจะคุ้นเคยกับที่เรากินกันมา แต่พอมาเรียนแล้ว รู้สึกว่าไอศกรีมวานิลา ถ้าใช้วัตถุดิบดี เครื่องปรุงดี รสจะออกมาอร่อยมาก แล้วมันเข้ากับทุกอย่างได้ ตอนนี้ก็มีทั้งหมด 18 รสชาติ ส่วนไอศกรีมที่เป็นซิกเนเจอร์ ก็มีไอศกรีมรสขนมผิง Honey Milk แล้วก็มีรสชาติ Haspberry จะเป็นไอริชกรีมผสมเหล้าวิสกี้นิดหนึ่ง

• ทำตรงนี้มาทั้งหมดกี่ปีแล้วสำหรับ The ice cream people

6 ปี ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ได้ก็ต้องใช้เวลา

• มีอุปสรรคหรือปัญหาอะไรอย่างไรในการเริ่มต้นจนถึงวันนี้ 6 ปีของเรา

อุปสรรคอย่างแรกเลยคือเป็นคนไม่ชอบขาย ชอบทำ แต่ไม่เก่งเรื่องขาย แต่มันต้องขาย ก็คือเหมือนเรารู้สึกว่าตอนแรกที่เราทำ ก็คิดว่าส่งร้านอาหาร ส่งร้านกาแฟ แต่พอถึงจุดหนึ่ง เราไม่ได้ฟีดแบคกระแสตอบรับจากลูกค้า ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราต้องเปิดร้านนี้ขึ้นมาเพื่อที่คนจะได้เข้ามาและชิมได้ด้วย และรับรู้ความรู้สึกฟีดแบคเขาได้ด้วย

ทีนี้เราก็ค่อยๆ พัฒนาควบคู่กันจากตอนแรกใหม่ๆ เลย แพคเกจถ้วยก็ไม่ได้มีลวดลายอย่างนี้ ก็เป็นถ้วยขาวๆ เลย ไปสั่งเขาทำสติ๊กเกอร์แล้วก็แปะฝาเอาในช่วงประมาณ 1 ปีแรกที่ยังไม่ได้ทำการตลาด ตู้ไอศกรีมก็ยังไม่มีไปวางตามที่ต่างๆ

ก็ค่อยๆ ขยับขึ้นมาเรื่อยๆ เป็นแพคเกจ มีไปฝากร้านค้าในตู้ร้านของเขา อันนี้ขอวางตู้ได้ไหม ตามร้านกาแฟ ร้านอาหาร คนก็เริ่มคุ้นกับแบรนด์เรามากขึ้น เราก็พยายามโปรโมทหนักขึ้นตามช่องทางโซเชียลมีเดียออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตราแกรม คืออยู่ตัวน่าจะสักประมาณ 2 ปี จากนั้นเราก็ออกบูท พยายามไปแนะนำตัวกับสาธารณชนมากขึ้น หลังจากที่เขินๆ ไม่กล้าขายของ คนก็เริ่มคุ้นๆ กับเราแล้ว ทีนี้ก็มีเดลิเวอรี่ให้คนเข้าถึงมากขึ้น

คือเราก็ค่อยๆ เรียนรู้แล้วเติบโตมากับมัน ค่อยปรับไปเรื่อยๆ พอเราไปเจอลูกค้าก็ทำให้เรารู้ว่าลูกค้ารู้สึกอย่างไรกับแบรนด์เรา รสชาติเรายังไง เราก็ค่อยปรับไปเรื่อยๆ จนมันค่อยๆ ลงตัวมากขึ้น

• ตรงนี้แรกเริ่มวางแผนไว้เลยหรือไม่ว่าเป็นที่มาของความหมายชื่อตามวัตถุประสงค์เรา

ค่ะ... คือเป็นคนที่ชอบไอศกรีม กลุ่มคนที่ชอบไอศกรีม ผู้คนที่ชอบไอศกรีม The ice cream people ก็เป็นจุดมุ่งหมายตั้งแต่เริ่มต้น เราก็จะดีไซน์ตัวไอศกรีม รสชาติ สีสันเอง ทำกับเพื่อนพาสเนอร์หนึ่งท่าน อย่างในกล่องโลโก้ 2 คน (ยิ้ม)

• นอกจากเรื่องของรสชาติหรือกระทั่งดีไซน์ต่างๆ ของแพคเกจ ดูเหมือนว่ารูปแบบของร้าน Gō coffee & Icē-cream ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ไม่เหมือนใครอีกด้วย

(ยิ้ม) ร้าน Gō coffee & Icē-cream (โกะคอฟฟี่แอนด์ไอศกรีม) เราตั้งใจจะให้เป็นที่ๆ ให้คนมากินไอศกรีมแต่มีกาแฟขาย แต่กลับกลายเป็นว่าด้วยรูปลักษณ์ การตกแต่ง คนมานั่งก็เริ่มจากดื่มกาแฟก่อนแล้วก็ค่อยพัฒนามาเป็นไอศกรีม เราก็เอามาผสมผสานกัน ก็ได้รับฟีดแบคกระแสตอบรับดีมาก ตอนนี้ก็อยู่ได้เลย แล้วก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ

• ตอนนี้ถ้ามองในเรื่องแบรนด์ เราเดินทางมาถึงช่วงขั้นอายุไหนแล้ว

กำลังพัฒนา เพราะตอนแรกเราทำอย่างอื่นควบคู่ไปด้วยระหว่างที่ทำไอศกรีม แต่ตอนนี้เริ่มมาโฟกัสว่าให้มันจริงจังมากขึ้นค่ะ (ยิ้ม)

• จากวันนั้นที่เราจริงจังกับไอศกรีมที่เรารักและเลือกที่จะเดินทางในถนนสายรวมคนรักไอศกรีม วันนี้วางแผนไอศกรีมของเราไว้ในทิศทางใดบ้าง

ก็คือจะพยายามพัฒนารสชาติที่เป็นซิกเนเจอร์ต่อไป เนื่องจากเราไม่อยากให้ซิกเนเจอร์ของเราซ้ำกับของคนอื่นๆ และก็กำลังพัฒนาในเรื่องของ “ซอร์เบท์” (Sorbet) เนื่องจากรู้สึกว่าคนสมัยนี้แพ้นมมากขึ้นเยอะ เราอยากทำไอศกรีมที่ทุกคนทานได้ และที่สำคัญเมื่อพูดถึงซอร์เบท์ คนส่วนใหญ่มักติดภาพนึกถึงแต่ผลไม้ เราก็อยากจะทำให้รู้สึกว่าจริงๆ มันทำได้โดยที่รสชาติที่มีนมก็ทำได้ ได้ ตอนนี้กำลังทดลอง คือเราพยายามทำอะไรที่แปลกใหม่ออกมาเพื่อให้คนทานรู้สึกไม่เบื่อ เนื่องจากเรารักไอศกรีม เราคือกลุ่มผู้คนที่ชื่นชอบไอศกรีม ไอศกรีมมันมอบความสุขให้คนอื่นได้ แล้วเวลาให้คนอื่นชิมแล้วเห็นหน้าเขาทุกคนแฮปปี้กับไอศกรีมเรา สิ่งนี้ก็เป็นเสมือนแรงบันดาลใจให้เราทำไอศกรีมและพัฒนาต่อไป

ก็ขอฝาก The ice cream people กับทุกๆ คนที่รักและชอบไอศกรีม และสำหรับคนที่มีฝันก็อยากให้ทุกคนทำมันเลย ลุยเลยแล้วเราจะรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำทำแล้วสนุกกับมันก็ทำเลย ไมต้องคิดมากคิดเยอะ อย่ากลัวที่จะลองอะไรใหม่ๆ ทุกคนทำได้ค่ะ

ข้อมูล / ภาพ : รายการคนล่าฝัน, เพจ The Ice Cream People
เรียบเรียง : รัชพล ธนศุทธิสกุล



กำลังโหลดความคิดเห็น