xs
xsm
sm
md
lg

“ชาย หญิง สิ่งสมมุติ” รับเทรนด์โลก หลากหลายเพศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มิวเซียมสยาม รับเทรนด์โลก! เปิดตัวนิทรรศการ “ชาย หญิง สิ่งสมมุติ : Gender Illumination” นิทรรศการแห่งการเรียนรู้เปิดกว้างในทัศนคติความหลากหลายทางเพศ ที่จะช่วยให้คุณเข้าใจตนเองและคนรอบข้างมากขึ้น ปลดล็อกมายาคติทางเพศ ครอบคลุมหลากมิติเรื่องเพศ เรียนรู้-เข้าใจ คนรอบตัว ลึกซึ้งกว่าที่เคย ี้ใช้เวลากว่า 1 ปี 7 เดือน ในการรวบรวมข้อมูลทั้งด้านเนื้อหา เพื่อให้นิทรรศการสามารถสะท้อนเรื่องราว มุมมอง ทัศนคติที่หลากหลายในสังคม ด้วยนิทรรศการสุดว้าวอินเทรนด์ที่รวบรวมสิ่งของจัดแสดงและเรื่องราวกว่า 100 ชิ้น โดยในงานมีบุคคลสำคัญมาร่วมงานมากมายและผู้สนใจหลากหลายเพศเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก


เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา มิวเซียมสยาม เปิดตัวนิทรรศการ “ชาย หญิง สิ่งสมมุติ : Gender Illumination” นิทรรศการเพื่อความเข้าใจความหลากหลายทางเพศ ประกอบไปด้วยเนื้อหาหลากประเด็น อาทิ ค่านิยมทางสังคม ความรัก กำลังใจ ประวัติศาสตร์การต่อสู้ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ และเปิดกว้างในทัศนคติด้านเพศกับตนเอง บุคคลรอบข้าง ตลอดจนคนในครอบครัว ผ่านโซนจัดแสดงที่ครอบคลุมพื้นที่ 715 ตารางเมตร โดยมี นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดตัวนิทรรศการ และ “ร่วมแสดงเจตนารมณ์เพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ” เนื่องในวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ คนรักสองเพศ (DAHOT) ซึ่งกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ร่วมกับ สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น เพื่อความเข้าใจความหลากหลายทางเพศ ซึ่งผลักดันเรื่องการเปิดกว้างต่อทัศนคติด้านเพศ ทั้งต่อตนเองและคนรอบข้าง รวมถึงคนในครอบครัว โดยในงานมีบุคคลสำคัญมาร่วมงานมากมาย โดยทางมิวเซียมสยาม จะเปิดให้เข้าชมนิทรรศการนิทรรศการ “ชาย หญิง สิ่งสมมุติ : Gender Illumination” เปิดให้เข้าชมฟรี ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 30 ก.ย.2561 และปิดทำการในวันจันทร์



นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในเชิงนโยบาย มีการตราพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พศ. 2558 ขึ้นมา 3 ปีแล้ว รัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหาการเลือกปฏิบัติ และได้มีความพยายามผลักดันกฎหมาย ด้านต่างๆ ที่เป็นรูปธรรม เช่น มีกฎหมายทางเลือกในการใช้คำนำหน้านามและชื่อสกุลได้ตามความสมัครใจ การแก้ไขกฎหมายการข่มขืนกระทำชำเราซึ่งขยายความคุ้มครองแก่บุคคลทุกเพศ ทุกสถานภาพ การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศในสังคมยังมีอยู่ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากเจตคติ หรือความเชื่อของสังคม เช่น เชื่อว่างานประเภทนี้หญิงทำได้แต่ชายไม่ควรทำ หรืองานประเภทนี้เหมาะกับชายมากกว่าหญิง และหลายครั้งการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทำให้ประชาชนบางกลุ่มไม่ได้รับสิทธิและโอกาสอย่างเป็นธรรมในสังคม และการที่ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) มาร่วมจัดงานในวันนี้ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ พร้อมกับ 130 ประเทศทั่วโลก และเพื่อสร้างความตระหนักแก่สาธารณะในเรื่องความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ รวมถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนโดยปราศจากอคติทางเพศร่วมกัน และอยากจะกล่าวถึงความมุ่งมั่นของในภาครัฐว่าเราจะมุ่งมั่นร่วมดำเนินงานกับทุกท่านต่อไป เพื่อให้ถึงเป้าหมายที่สำคัญคือสังคมแห่งความเท่าเทียมระหว่างเพศและสังคมที่ปราศจากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ก็ขอให้เราเดินหน้าไปด้วยกัน”

นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า มิวเซียมสยาม ได้จัดทำนิทรรศการ “ชาย หญิง สิ่งสมมุติ : Gender Illumination” เป็นนิทรรศการอันเกิดจากความร่วมมือกับหน่วยงานที่รณรงค์เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ทั้งในและต่างประเทศ โดยวัตถุประสงค์ของการสร้างนิทรรศการ เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ เข้าใจ และมีทัศนะที่เปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศ ทั้งกับตนเอง บุคคลรอบข้าง ตลอดจนเข้าใจบุคคลในครอบครัว เพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยจากรายงานสถิติการยอมรับและเข้าถึงจากสังคมต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ของสถาบันวิลเลียมส์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส พบว่า แม้ว่าสังคมจะตระหนักรู้ถึงการมีตัวตนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ในหลายประเทศกลับมีแนวโน้มการยอมรับกลุ่มเพศดังกล่าวลดน้อยลง หรือแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากอดีต ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย

ด้าน นางสาวชนน์ชนก พลสิงห์ ภัณฑารักษ์ผู้จัดนิทรรศการ กล่าวว่า การจัดทำนิทรรศการ “ชาย หญิง สิ่งสมมุติ : Gender Illumination” ทีมพัฒนาใช้เวลากว่า 1 ปี 7 เดือน ในการรวบรวมข้อมูลทั้งด้านเนื้อหา ทัศนคติ สัมภาษณ์ ตลอดจนรวบรวมวัตถุจัดแสดงจากทั่วประเทศ เพื่อให้นิทรรศการสามารถสะท้อนเรื่องราว มุมมอง ทัศนคติที่หลากหลายในสังคม โดยนิทรรศการประกอบด้วยโซนที่น่าสนใจ ดังนี้


•เขาวงกตแห่งเพศ : โซนกระตุกต่อมคิดมายาคติทางเพศ ในรูปแบบของทางวงกต ที่มีคำต่างๆ ซึ่งถูกใช้ในสังคมไทยเพื่อกรอบความคิดเรื่องเพศ ว่าคำใดสะท้อนความเป็นเพศชาย หรือเพศหญิง อาทิ เพศแม่ รักนวลสงวนตัว กุลเกย์ ชายชาตรี เป็นต้น
•มนุษย์ขนมปังขิง : ทำความเข้าใจความซับซ้อนของ “เพศ” ผ่านโมเดลมนุษย์ขนมปังขิง ที่นำเสนอความลื่นไหลระหว่าง สำนึกทางเพศ การแสดงออก เพศกำเนิด และความรู้สึกทางเพศ ว่าสามารถเปลี่ยนแปลง และไม่ต้องเป็นไปตามแบบแผนของสังคม พร้อมการนำเสนอผ่านเทคโนโลยีบอดี้ สแกนเนอร์ สะท้อนเรื่องของเพศสภาพ ที่เป็นเพียงปัจจัยภายนอก


•ห้องน้ำไร้เพศ : นำเสนอการแบ่งกล่องแห่งเพศซึ่งจำกัดแค่ความเป็นชายและหญิงในที่สาธารณะจากการใช้ห้องน้ำ พร้อมกระตุ้นความคิด จะดีกว่าหรือไม่ หากมีห้องน้ำไร้เพศ ในที่สาธารณะ
•บันทึก-เพศ-สยาม : นำเสนอประวัติศาสตร์การเริ่มขึ้นของความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงปัจจุบัน ผ่านแผนผังไทม์ไลน์เหตุการณ์ที่สำคัญ พร้อมเรียนรู้เรื่องราวของสื่อต่างๆ อาทิ สื่อสิ่งพิมพ์ โปรแกรมแชท โซเชียลมีเดีย เป็นต้น
•ฉากชีวิต : จัดแสดงที่รวบรวมวัตถุจัดแสดงกว่า 100 ชิ้น ซึ่งมีเรื่องราวเบื้องหลังของการค้นพบตัวตน ภาพถ่าย ของสะสม สิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนสิ่งของที่เป็นแรงบันดาลใจ และสะท้อนการใช้ชีวิตการดำเนินชีวิตของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ อาทิ ใบปริญญาที่นำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ จดหมายจากบุพการีต่อลูกอันเป็นที่รัก พวงหรีดจากภรรยาที่ครอบครัวไม่เคยรู้มาก่อน ตลับแป้งที่ปิดตาย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังนำเสนอภาพยนตร์สั้นเพื่อความเข้าใจผู้มีความหลากหลายทางเพศ ภาพศิลปะจากเยาวชนที่มีต่อประเด็นความหลากหลายทางเพศ ตลอดจนความเคลื่อนไหวทางสังคมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย



•ตบแต่งตัวตน : สัมผัสประสบการณ์หลังม่านละครชีวิตของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในรูปแบบของหลังเวทีโรงละคร ที่ให้ทุกคนสามารถทดลองแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าไร้เพศ วิก เมคอัพ ฯลฯ อิสระตามที่ใจต้องการ
•คาเฟ่โรงละคร : โซนรวบรวมความคิดเห็นเพื่อสำรวจการขับเคลื่อนด้านสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยปัจจุบัน ผ่านการโหวต Yes/No ในประเด็นต่างๆ อาทิ ห้องน้ำไร้เพศควรมีในประเทศหรือไม่ คำนำหน้าชื่อควรเอกด้วยตัวเองหรือไม่ เป็นต้น พร้อมกำแพงที่ให้คุณได้ทลายกำแพงเพศสภาพผ่านงานศิลปะตุ๊กตากระดาษ

นอกจากนี้ มิวเซียมสยามร่วมกับ B Visible Asia สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ ได้จัดงานวันไอดาฮอท (IDAHOT: International Day Against Homophobia, Biphobia and Transphobia) หรือวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ในประเด็นความหลากหลายทางเพศที่น่าสนใจ อาทิ เสวนาข้อค้นพบงานวิจัยกับการเคลื่อนไหวทางสังคม เสวนาในประเด็นการจ้างงานกลุ่มผู้มีความหลากหลายเพศ เสวนาประเด็นสื่อกับความหลากหลายทางเพศ กิจกรรมเวิร์กช็อปเรียนรู้เข้าใจในกลุ่มผู้มีความหลากหลาย ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการแสดงดนตรีโดยกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

นายรัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น ดารานักแสดง ตัวแทนผู้มีความหลากหลายทางเพศ รู้สึกดีใจอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งกับนิทรรศการดีๆ ของมิวเซียมสยามในครั้งนี้ ด้วยการส่งวัตถุจัดแสดง อย่างรูปถ่ายที่เห็นแผลเป็นที่เคยได้รับจากการถูกเหยียดเพศและทำร้ายจากคนรอบข้าง ที่เปรียบเสมือนหลักฐานเตือนใจ ที่ทำให้ตนอดทนต่อสู้และก้าวผ่านอุปสรรคดังกล่าวมาได้ และรองเท้าวิ่ง ที่ตนสวมในครั้งที่ร่วมมาราธอนของโครงการ “ก้าวคนละก้าว” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ตนไม่เคยคิดจะร่วมมาก่อน ซึ่งการออกไปร่วมกิจกรรมดังกล่าว ทำให้ตนได้พบปะกับประชาชนจำนวนมาก ที่ยอมรับและเข้าในตัวรัศมีแข เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ตนอยากเชิญชวนประชาชนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เยาวชน คนทำงาน ครอบครัว ผู้สูงอายุ มาชมนิทรรศการดังกล่าว เพื่อจะได้เรียนรู้ เข้าใจ เปิดทัศนะคติเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งผิดปกติ หรือแปลกแตกต่าง และเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม โดยปราศจากอคติ หรือความเข้าใจผิดในสังคม


นิทรรศการ “ชายหญิงสิ่งสมมุติ : Gender Illumination” เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 กันยายน 2561 วันอังคาร - วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) เวลา 10.00 - 18.00 น. ณ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน กรุงเทพฯ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 หรือ www.museumsiam.org
เรื่อง/ภาพ : อรวรรณ เหม่นแหลม



กำลังโหลดความคิดเห็น