xs
xsm
sm
md
lg

รำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ ๗ ราชันผู้นิราศ! กษัตริย์ไทยพระองค์เดียวที่ถวายพระเพลิงในต่างประเทศ!!

เผยแพร่:   โดย: โรมบุนนาค

อัญเชิญพระบรมอัฐิจาก ร.ล.แม่กลองที่ท่าราชวรดิฐ
ในวันที่ ๔ มิถุนายนนี้ เมื่อปี ๒๔๘๔ ซึ่งอยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้มีพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ สุสาน Golders Greenในกรุงลอนดอน ซึ่งนอกจากพระองค์จะเป็นพระมหากษัตริย์ไทยเพียงพระองค์เดียวที่สวรรคตและถวายพระเพลิงพระบรมศพในต่างแดนแล้ว ยังเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวของราชวงศ์จักรีที่สละราชสมบัติ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับราชบัลลังก์ในขณะที่บ้านเมืองกำลังเผชิญวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างหนัก ขณะเดียวกันความคิดทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยก็กำลังแพร่กระจายในหมู่ปัญญาชน พระองค์เองก็ทรงตระหนักในเรื่องนี้ จึงทรงตั้งสภาต่างๆขึ้น มีสภาเสนาบดี องคมนตรีสภา และอภิรัฐมนตรีสภา เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน เพื่อเริ่มปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่กลับทำให้คนเหล่านี้มีอำนาจล้นเหลือ และพยายามหน่วงเหนี่ยวการพระราชทานรัฐธรรมนูญที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ นายเรมอนด์ บี สตีเวนส์ ที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศ กับพระยาศรีวิศาลวาจา ร่างขึ้น เพื่อจะพระราชทานแก่ชาวสยามในวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๗๕ อันเป็นวันจักรีที่จะเปิดราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และเปิดสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ ซึ่งผู้ร่างเองก็เสนอความเห็นมาพร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญด้วยว่า ไม่เห็นด้วยที่จะมีการเปลี่ยนแปลง เพราะประชาชนยังไม่พร้อม จึงไม่มีการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จนเกิดการยึดอำนาจในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

ต่อมาในวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๗๖ ได้เกิด “กบฏบวรเดช” ขึ้น เป็นสงครามกลางเมืองที่ต่อสู้กันอย่างรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตมากมายทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนพระราชหฤทัย จึงเสด็จไปประทับที่ประเทศอังกฤษพร้อมด้วยพระนางเจ้ารำไพพรรณีเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคมต่อมา ด้วยเหตุเพื่อไปผ่าตัดรักษาพระเนตร ในระยะนี้พระองค์ก็ยังทรงติดต่อกับรัฐบาลตลอดโดยผ่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และมีหลายเรื่องที่ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงทรงมีพระราชดำริที่จะสละราชสมบัติ

รัฐบาลได้ตั้งพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ประธานสภาผู้แทนราษฎร พลเรือตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์) และนายดิเรก ชัยนาม เดินทางไปเข้าเฝ้าเพื่อกราบทูลให้เสด็จกลับประเทศไทย แต่ไม่เป็นผล และเหมือนฟ้าผ่าลงกลางประเทศไทย เพื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชหัตถเลขาจากประเทศอังกฤษ ลงวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗ มาถึงรัฐบาลของคณะราษฎร มีข้อความสำคัญตอนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเปนของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร

บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงโดยนโยบายของประเทศไทยโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่า บัดนี้เปนอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือ ให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ตั้งแต่นี้เปนต้นไป...”

รัฐบาลได้นำพระราชหัตถเลขาฉบับนี้เข้าสู่สภาผู้แทนโดยทันที สภาได้อภิปรายกันว่ามีอำนาจที่จะยับยั้งการสละราชสมบัติของพระองค์ได้หรือไม่ และทูลเชิญ ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี มาให้คำอธิบายแก่สภา ซึ่งสรุปความเห็นได้ว่า พระราชหัตถเลขานี้สมบูรณ์ในตัวแล้วตามกฎหมายหรือประเพณีรัฐธรรมนูญ สภามีหน้าที่เพียงรับทราบได้เท่านั้น สภาผู้แทนราษฎรได้ซักถามถึงปัญหาต่างๆซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพระมหากษัตริย์กับคณะราษฎร ซึ่งรัฐบาลก็ได้อธิบายจนเข้าใจ จึงลงมติรับทราบการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยความสลดใจ

รัฐบาลได้มีโทรเลขกราบทูลแสดงความเสียใจไปว่า

“รัฐบาลได้รับพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติแล้วด้วยความโทมนัส รัฐบาลได้นำพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติขึ้นเสนอสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม และสภาผู้แทนได้ลงมติรับทราบด้วยความโทมนัส รัฐบาลขอถวายพระพร แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระบรมราชินีรำไพพรรณี ขอให้จงทรงพระสำราญอยู่ต่อไป
นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
นายกรัฐมนตรี
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ก็ได้มีพระราชโทรเลขตอบมาว่า

“ข้าพเจ้าและพระชายา ขอบใจรัฐบาลที่ได้แสดงความหวังดีมา ข้าพเจ้ามีความเสียใจที่ข้าพเจ้าและรัฐบาลไม่สามารถตกลงกันได้ในปัญหาต่างๆ ซึ่งเรามีความเห็นแตกต่างกัน ข้าพเจ้าขอให้รัฐบาลมั่นใจว่า ข้าพเจ้ามิได้มีความรู้สึกโกรธขึ้งและแค้นเคืองเนื่องด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเลย และขอให้รัฐบาลจงบรรลุความสำเร็จทุกประการ

ประชาธิปก

เมื่อสละราชสมบัติแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯก็ยังประทับรักษาพระองค์อยู่ที่คฤหาสโนล ในอังกฤษต่อไป ด้วยโรคประจำพระองค์คือพระหทัยพิการ และพระเนตรข้างขวาทอดพระเนตรไม่ชัดนัก บรรดาข้าราชบริพารที่รับใช้เบื้องพระยุคลบาทตามตำแหน่งหน้าที่ก็ต้องกลับกรุงเทพฯกันเป็นแถว คงมีแต่พระนางเจ้ารำไพพรรณีเคียงข้างเป็นกำลังพระทัย

ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “The Last Day of the Absolute King” อันเป็นเรื่องราวของพระองค์ที่เกี่ยวกับการเมืองช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ทรงย้ายที่ประทับไปหลายแห่งขณะที่ภัยทางอากาศคุกคามอังกฤษ ซึ่งรัฐบาลอังกฤษก็ยังคงถวายพระเกียรติยศแด่พระองค์เสมือนยังทรงเป็นกษัตริย์พระองค์หนึ่งเสมอมา

พระอาการประชวรด้วยโรคพระหทัยได้ทรุดหนักในเดือนเมษายน ๒๔๘๔ จนต้องประทับบนพระแท่น ขยับพระองค์ไม่ได้ แต่พอเดือนพฤษภาคมก็ทรงฟื้นอย่างอัศจรรย์ เสด็จพระราชดำเนินลงทอดพระเนตรในสวนได้

แต่แล้วในวันที่ ๓๐ พฤษภาคมนั้นเอง ขณะที่พระนางเจ้ารำไพพรรณีเสด็จไปเมืองเคนท์ เพื่อเยี่ยมชมพระตำหนักเก่าที่เคยประทับ พระอาการก็กำเริบขึ้นมาอีก ในเวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น.ทรงเอื้อมพระหัตถ์ไปกดกริ่งเรียกนางพยาบาล แต่เมื่อพยาบาลประจำพระองค์เข้าไปถึงที่บรรทม ราชันผู้นิราศจากแผ่นดินสยามก็เสด็จสวรรคตเสียแล้ว ในขณะพระชนมายุเพียง ๔๘ พรรษา

เมื่อได้ประดิษฐานพระบรมศพไว้ ๔ คืน เพื่อให้พระประยูรญาติที่อยู่ห่างไกลได้เสด็จมากราบถวายบังคมลาเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ในวันที่ ๓ มิถุนายนก็ได้อัญเชิญพระบรมศพประดิษฐานบนรถซึ่งตกแต่งอย่างงดงาม มีธงมหาราชคลุมพระบรมศพ เคลื่อนออกจากพระตำหนักคอมพ์ตัน ซึ่งอยู่ในชนบทใกล้กรุงลอนดอนไปยังสุสานโกลเดอร์ส กรีน ทางเหนือของกรุงลอนดอน มีรถตามเสด็จประมาณ ๕ คัน คันแรกเป็นรถของพระนางเจ้ารำไพพรรณี ตามด้วยรถที่ประทับของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์กับพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าพีระพงษ์ภานุเดช พระราชนัดดา คันต่อไปเป็นของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจีรศักดิ์สุประภาต พระโอรสบุญธรรมกับพระชายา และรถของหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ และบุคคลอื่นๆ เมื่อเสด็จไปถึงสุสานก็มีทั้งคนไทยและคนต่างชาติมาเฝ้ารับเสด็จ

เมื่ออัญเชิญพระบรมศพเข้าสู่ที่ตั้งแล้ว นายอาร์. ดี. เครก ชาวอังกฤษที่เคยรับราชการอยู่ที่กรุงเทพฯและเป็นพระสหาย ได้อ่านสุนทรพจน์สรรเสริญพระเกียรติคุณ และคนไทยที่เคยบวชมาก็สวดถวาย กับมีการบรรเลงเพลงเมนเดลโซน ไวโอลิน คอนแชร์โต ซึ่งเป็นเพลงที่ทรงโปรดถวายเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว ได้อัญเชิญพระบรมอัฐิไปประดิษฐานยังพระตำหนักคอมพ์ตัน จนถึงวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๔๙๒ จึงได้อัญเชิญพระอัฐิ ออกจากอังกฤษกลับไทยทางเรือ ถึงกรุงเทพฯในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม

ในที่สุด พระราชดำริที่จะคืนสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯเจ้าอยู่หัว ก็ถูกเหนี่ยวรั้งจากขุนนาง และถูกขัดขวางจากผู้ยึดอำนาจ พระองค์จึงทรงเลือกทางออกที่ทำให้เกิดความโทมนัสทั่วแผ่นดินด้วยการสละราชสมบัติ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของชาติไทย
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯกับพระนางเจ้ารำไพพรรณีในวันอภิเษกสมรส



กำลังโหลดความคิดเห็น