เมื่อราว ๑๐๐ ปีก่อน เป็นความฝันของคนไทยหลายคนที่อยากจะไปเห็นเมืองนอก และเด็กไทยคนหนึ่งก็ได้โลดแล่นไปตามความฝันนี้ตั้งแต่อายุเพียง ๑๐ กว่าขวบ ไขว่คว้าหาความรู้ตามที่ใจรัก ขณะเดียวกันก็ต้องดิ้นรนหาเงินเพื่อยังชีพด้วยความยากแค้น แต่แล้วเขาก็ได้รับการจารึกไว้ว่า เป็นนักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองคนแรกของไทย เป็นคนเปิดกิจการทำบล็อกแม่พิมพ์เป็นคนแรก และเป็นคนแรกๆที่ถ่ายภาพยนตร์ในเมืองไทย รวมทั้งเป็นคนกลุ่มแรกที่บุกเบิกงานภาพยนตร์ของกรมรถไฟหลวง
เขาผู้นี้มีชื่อว่า เปล่ง ไตรปิ่น เป็นคนเกิดใน พ.ศ.๒๔๒๘ สมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ตำบลบางยี่ขันในกรุงเทพฯนี่เอง แต่ในสมัยนั้นอยู่ในจังหวัดธนบุรี และเป็นคนชอบการวาดเขียนมาตั้งแต่เด็ก เจอภาพเขียนที่ไหนเป็นต้องหยุดดูเป็นเวลานาน พอเรียนจบแค่ ป.๓ ชั้นสูงสุดของโรงเรียนวัดปรินายก รู้ข่าวว่าพระยาราชานุประพันธ์ที่สนิทสนมกับบิดาจะไปเป็นทูตที่ญี่ปุ่น เปล่งก็รบเร้าบิดาขอให้ฝากเขาไปด้วย ในที่สุดพระยาราชาฯก็บรรจุเข้าเป็นเด็กรับใช้ในสถานทูต
ในระหว่างที่อยู่ในญี่ปุ่นนี้ เปล่งก็หาโอกาสศึกษาวิชาวาดเขียนด้วยตัวเองมาตลอด เป็นเวลาถึง ๕ ปีก็มีเพื่อนนักเรียนไทยคนหนึ่งชื่อประดิษฐ์ พ่อแม่ส่งไปเรียนวิชาป่าไม้และจะไปเรียนต่อที่อังกฤษ ได้ชวนเปล่งไปด้วย เปล่งก็อยากจะไปให้ถึงยุโรป แต่ก็ติดขัดที่ไม่มีค่าเดินทาง ความอยากไปทำให้เปล่งเขียนจดหมายมาทางบ้านว่า จากมา ๕ ปีแล้วคิดถึงบ้านมาก อยากกลับมาซักครั้ง พ่อแม่ก็คิดดึงลูกเลยหาเงินค่าเดินทางส่งไปให้ พอเงินถึงมือเปล่งก็ตรงไปซื้อตั๋วเรือโดยสารทันที แต่เป็นตั๋วไปกรุงลอนดอนไม่ใช่กรุงเทพฯ
ตอนนั้นเปล่งอายุ ๑๗-๑๘ ปี ต้องเผชิญความยากลำบากอย่างแสนสาหัส เพราะไม่มีเงินเดือนจากสถานทูตเหมือนอยู่ญี่ปุ่น เพื่อนที่ชวนมาก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ เปล่งจึงต้องหางานทำทุกอย่างที่จะหาได้ จนถึงงานกุลีทุบถนนก็ต้องทำเพื่อเป็นค่าอาหารไปวันๆ
แต่แล้วก็เหมือนโชคบัลดาลให้ความฝันของเขาเป็นจริง สถาบันการศึกษาวิชาวาดเขียนแห่งหนึ่งต้องการเด็กรับใช้ประจำตัวอาจารย์ เปล่งจึงนำความรู้วิชาวาดเขียนที่เขาได้รับจากญี่ปุ่นไปสมัคร เป็นผลให้เขาได้งานนี้ มีหน้าที่คอยส่งพู่กันและสีให้อาจารย์
งานเด็กรับใช้ ทำให้เปล่งมีโอกาสได้ยืนดูช่างเขียนระดับอาจารย์แต้มสีลงบนผืนผ้าใบที่ว่างเปล่าจนเกิดเป็นภาพที่สวยงามขึ้น ทุกหยดของสีที่อาจารย์แต้มลงไป เปล่งก็ได้แต้มลงบนความทรงจำของเขาด้วย และนำไปฝึกหัดทำตามที่ลักจำมาจากอาจารย์ เมื่ออาจารย์มาเห็นภาพที่เปล่งเขียน ก็เกิดความรักและเอ็นดูเด็กรับใช้ผู้นี้เป็นพิเศษ ถ่ายทอดความรู้ให้ด้วยความเต็มใจ จนเปล่งเข้าถึงกฎเกณฑ์ต่างๆได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งทำให้ภาพเขียนของเขาเป็นเงินเป็นทองขึ้นมาได้
อยู่อังกฤษ ๓ ปี เพื่อนที่เรียนป่าไม้ก็จบหลักสูตร จะเดินทางกลับบ้านและชวนเปล่งกลับด้วยกัน พร้อมทั้งเสนอจะออกค่าเดินทางให้ด้วย แต่เปล่งยังต้องการเรียนรู้วิชาการที่น่าสนใจอย่างอื่นอีกนอกจากวาดรูป
ในระยะนี้เปล่งเป็นหนุ่มเต็มตัวและปีกกล้าขาแข็งจากอาชีพเขียนรูป อยากจะโลดแล่นต่อไปอีก จึงข้ามไปเดนมาร์คโดยหารายได้จากการขายรูปเหมือนเดิม พร้อมทั้งศึกษาวิชาที่สนใจ อย่างเช่น การถ่ายภาพ การทำแม่พิมพ์ การแกะสลัก ตลอดจนการกลึง
จากเดนมาร์ค เปล่งต่อไปยังฮอลแลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี ซึ่งเป็นดินแดนของศิลปะ หาความรู้เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ จนข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงออสเตรเลียเปล่งก็หมดทุน เพราะขายรูปได้ไม่เหมือนที่ยุโรป ทำให้เริ่มคิดถึงบ้านที่จากมาร่วม ๒๐ ปี พอดีมีผู้ใหญ่ใจดีท่านหนึ่ง คือ พระยาคทาธรธรนินทร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) เจ้าของคอกม้าในกรุงเทพฯ มาหาซื้อม้าแข่งในออสเตรเลียจะกลับไทย จึงชวนเปล่งกลับมาด้วยโดยออกค่าเดินทางให้
เปล่งกลับมาถึงบ้านโดยไม่มีเงินติดกระเป๋า มีแต่ความรู้ติดตัวแล้วยังมีสมบัติมาด้วยอีก ๕-๖ ลังไม้ฉำฉาขนาดใหญ่ บรรจุทั้งภาพเขียนสีน้ำมันและสีน้ำ พร้อมภาพสเก็ตซ์เกรยอง อีกทั้งเครื่องมือช่างต่างๆ รวมทั้งเครื่องมือทำบล็อกแม่พิมพ์
ที่โชคดีสุดๆก็คือทั้งพ่อและแม่ของเขายังมีชีวิตอยู่ ได้เห็นหน้าลูกชายในวัย ๓๒ คืนนั้นทั้งคืนในบ้านไม่มีใครได้นอน ต่างตื่นเต้นกับการกลับมาของเปล่ง กับแปลกใจที่เขาพูดไทยไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะไม่ค่อยได้พูดมาถึง ๒๐ ปี
ในระยะแรกที่กลับมาถึงเมืองไทย เปล่งยังไม่ได้จับงานอะไรจริงจังนัก เพราะต้องพยายามฟื้นฟูการพูดและการเขียนภาษาไทยกันใหม่ จนใช้การได้แล้วจึงเปิดร้านเล็กๆรับทำแม่พิมพ์ขึ้นที่ตลาดเก่า เป็นแม่พิมพ์แบบทันสมัยที่ใช้น้ำกรดกัดอลูมิเนียม ที่ต่อมาเรียกกันว่า “บล็อก” มีโรงพิมพ์หลายแหล่งสนใจแม่พิมพ์แบบนี้กันมาก พอกิจการเริ่มดีก็ถูกขโมยยกเค้าอุปกรณ์ทั้งหมดไปจนเกลี้ยง ทำให้ต้องปิดกิจการ
ในตอนนั้นหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ซึ่งมีนายหลุยส์ คีรีวัต เป็นเจ้าของ ได้เปิดประกวดภาพล้อการเมืองขึ้น ซึ่งเป็นของใหม่ในยุคนั้นเหมือนกัน มีผู้สนใจส่งไปมาก รวมทั้งเปล่ง ไตรปิ่น จากการประกวดครั้งนี้ เปล่งก็ได้รับการบรรจุเข้าร่วมทีมเดลิเมล์ในฐานะนักเขียนการ์ตูน ภาพเขียนของเปล่งในในช่วงนี้ แต่ละภาพล้วนแต่เป็นบุคคลสำคัญในวงราชการ แม้ใบหน้าจะไม่เหมือน แต่บุคลิกในภาพก็ทำให้คนอ่านรู้ว่าเป็นใคร ทำให้คนดูหัวเราะ แต่หลายภาพก็ทำให้เจ้าของภาพตัวสั่น และอยากจะเขกหัวคนเขียนที่ทำให้เป็นตัวตลก
การเขียนภาพการ์ตูนรุ่งเรืองในสมัยรัชกาลที่ ๖ ซึ่งทรงบัญญัติศัพท์ “การ์ตูน” ว่า “ภาพล้อ” และทรงแสดงฝีพระหัตถ์ล้อบรรดาข้าราชการลงในหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิธ เป็นระยะ ทรงพระราชทานรางวัลแก่เปล่ง ไตรปิ่น ในฐานะนักเขียนการ์ตูนฝีมือดี อีกทั้งพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต
ต่อมาพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้ทรงตั้งแผนกภาพยนตร์ขึ้นในกรมรถไฟหลวงเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว และทรงชักชวนเปล่ง ไตรปิ่นเข้าร่วมในฐานะคนถ่ายภาพยนตร์ที่เรียนรู้มาจากยุโรป ในอัตราเงินเดือน ๓๐๐ บาท รวมกับรายได้จากการเป็นนักเขียนการ์ตูนอีก ๑๐๐ บาท เปล่งจึงมีรายได้อยู่ในขั้นสูง
เปล่งรับราชการอยู่ในกรมรถไฟหลวงได้ไม่นาน ก็เกิดขัดแย้งกับวิศวกรฝรั่งที่กรมรถไฟหลวงจ้างมาเป็นผู้ชำนาญพิเศษ ด้วยความเห็นไม่ตรงกัน เปล่งจึงเป็นฝ่ายอำลาหันมาทำงานหนังสือพิมพ์ด้านเดียว นอกจากเขียนให้เดลิเมล์แล้วยังเขียนให้ไทยหนุ่มและชาตินิยมด้วย
ในปี พ.ศ.๒๔๖๖ หลังจากที่ “นางสาวสุวรรณ” หนังที่บริษัทยูนิเวอร์แซลเข้ามาถ่ายทำในเมืองไทย โดยเขียนเรื่องแบบนิยายไทยและใช้ผู้แสดงเป็นไทยทั้งหมด ซึ่งถือกันว่าเป็นหนังไทยเรื่องแรก ออกฉายแล้ว ก็มีเสียงเรียกร้องจากคนดูให้คนไทยสร้างหนังไทยขึ้นมาเองบ้าง ต่อมามี “บริษัทภาพยนตร์ไทย” ประกาศจะสร้างหนังไทยพันธุ์แท้ในชื่อ “ไม่คิดเลย” แต่เตรียมงานนานไปหน่อย “บริษัทกรุงเทพภาพยนตร์” ก็ชิงตัดหน้าสร้างเรื่อง “โชคสองชั้น” ออกฉายไปก่อนในวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๔๗๐ ต่อมาในวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๔๗๐ “ไม่คิดเลย” จึงออกฉายที่โรงภาพยนตร์พัฒนากรตามมา
ผู้ถ่าย “ไม่คิดเลย” ก็คือ ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต (เปล่ง ไตรปิ่น) อดีตหัวหน้าช่างถ่ายภาพยนตร์ ของกองภาพยนตร์เผยแพร่ข่าว กรมรถไฟหลวงนั่นเอง
ในช่วงที่เขียนการ์ตูนล้อการเมืองลงหนังสือพิมพ์ ภาพหนึ่งในหนังสือพิมพ์ไทยหนุ่มจากฝีมือของเปล่ง ได้สร้างความเกรียวกราวเป็นที่กล่าวขานกันทั้งเมือง โดยภาพเป็นคนทอดแหติดปลาขึ้นมามาก ปลาตัวหนึ่งในแหหน้าเป็นคนตัวเป็นปลา ได้พนมมือวิงวอนขอชีวิต และมีข้อความบรรยายว่า “ได้โปรดเวทนาปลาที่ตกยากบ้าง”
ทั้งนี้ในขณะนั้นรัฐบาลประชาธิปไตยหลัง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ได้ประกาศเก็บค่า “รัชชูประการ” จากประชาชนทุกคนเสมอหน้ากันไม่ว่าจะรวยหรือจน คนละ ๘ บาทต่อปี ทำให้เกิดประท้วงว่าเป็นกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม นายนรินทร์ ภาษิต นักสู้แห่งยุค อดข้าวประท้วงก็ไม่เป็นผล ที่สำคัญใบหน้าของคนทอดแหที่มีลักษณะยาวกว่าปกติเหมือนฝ่าเท้า ทำให้คนดูก็จินตนาการไปถึงหน้าพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีไทยคนแรก ผลก็คือไทยหนุ่มถูกปิดทันที และเปล่ง ไตรปิ่น คนเขียน ถูกเชิญตัวไปสอบสวนที่โรงพัก
เมื่อแก้ตัวหลุดรอดจากคดีนี้ไปได้ เปล่งก็ได้รับเชิญเข้าเป็นครูของโรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งเป็นโรงเรียนอาชีวะที่ผลิตศิลปินและจิตรกรออกมาเป็นจำนวนมาก
วรรณสิทธิ์ ปูคะวนิช จิตรกรและนักประพันธ์ผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งซึ่งเป็นลูกศิษย์คนเปล่ง ได้เขียนประวัติและผลงานของครูผู้ที่เขาเลื่อมใสคนนี้ไว้ในนิตยสาร “สามอักษร” ตอนหนึ่งว่า
“เวลาครูเข้ามาใกล้ๆ ใจผมไม่ค่อยดี เพราะท่านบีบสีที่หลอดอย่างน่ากลัว และป้ายลงไปหนาๆ ถ้าใครไม่เคยเห็นวิธีเขียนแบบนี้มาก่อนก็ต้องนึกว่าเสีย แต่เปล่าเลย ผมได้รับความรู้แปลกๆใหม่ๆจากครูหลายอย่าง การเขียนภาพสเก็ตซ์ ท่านให้จับดินสออีกอย่างหนึ่ง เพราะภาพสเก็ตซ์ต้องการความเร็วมาก เพื่อนของผมคนหนึ่งชื่อ เฟื้อ ทองอยู่ (ต่อมาคือ ศาสตราจารย์ เฟื้อ หริพิทักษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์) เกิดเลื่อมใสครูขึ้นมาอย่างจริงจัง เขาได้ออกเดินทางไปต่างประเทศอย่างครู ขณะนี้เขาจะอยู่ที่อิตาลี ซึ่งเขาใฝ่ฝันจะเห็นศิลปะอันล้ำค่าเก่าคร่ำครึ หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ เพราะไม่มีใครทราบข่าวคราวของเขาอีกเลย”
และ รศ.ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน ได้เขียนบทความเรื่อง “เฟื้อ หริพิทักษ์ จิตรกรเอกและนักอนุรักษ์ศิลปะของแผ่นดิน” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ธันวาคม ๒๕๕๓ ไว้ว่า
“ ๓ ปีหลังจากที่เฟื้อสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ จากโรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เขาจึงตัดสินใจเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนเพาะช่าง แผนกฝึกหัดครู เฟื้อศึกษาการเขียนภาพในสถาบันแห่งนี้เป็นเวลา ๕ ปี แต่ก็ไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ ทั้งๆ ที่สอบวิชาครูและวิชาอื่นๆ ได้หมด สาเหตุเป็นเพราะว่าเฟื้อมักจะเขียนรูปนอกหลักสูตรและตามอารมณ์ของตนเสมอจึงสอบตกวิชาศิลปะ ถึงแม้ว่าเฟื้อจะไม่ได้รับประกาศนียบัตรสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเพาะช่างก็ตาม แต่ที่นี่ก็นับเป็นสถาบันที่ได้ปูพื้นฐานทางศิลปะให้แก่เฟื้อ และทำให้เฟื้อมีโอกาสได้เรียนรู้วิธีการเขียนภาพแนวใหม่ ตลอดจนวิธีการวิเคราะห์และวิจารณ์งานศิลปะจากขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต (เปล่ง ไตรปิ่น) ซึ่งเคยมีโอกาสไปเรียนวิธีการเขียนภาพจากหลายประเทศในทวีปยุโรปมาแล้ว และขณะนั้นได้รับราชการเป็นครูสอนศิลปะในโรงเรียนเพาะช่างอีกด้วย”
บั้นปลายชีวิตของเปล่ง ไตรปิ่น เมื่อลาออกจากโรงเรียนเพาะช่างเพราะสุขภาพไม่อำนวยแล้ว ก็ยังอยู่ในตำแหน่งผู้ชำนาญพิเศษของบริษัทศรีกรุง จำกัด เจ้าของหนังสือพิมพ์ศรีกรุง แต่ไม่นานก็ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาลด้วยโรคลำไส้พิการที่เรื้อรังมานาน เมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๔๘๕ รวมอายุได้ ๕๗ ปี
เมื่อราว ๖๐-๗๐ ปีมานี้ ไม่มีนักอ่านคนไหนที่ไม่รู้จักชื่อ จ.ไตรปิ่น นามปากกาของ จิตต์ ไตรปิ่น นวนิยายของเขาไม่ว่าจะเป็น ลูกคนยาก ขวัญใจนักเรียนนายร้อย บางหลวง ฯลฯ แฟนติดกันงอมแงม ถือได้ว่าเป็นนักประพันธ์ที่โด่งดังของยุคคนหนึ่ง ซึ่ง จ.ไตรปิ่น ก็คือลูกชายของ เปล่ง ไตรปิ่น มรดกของแผ่นดินที่เขาทิ้งไว้อีกอย่างนั่นเอง