เธอคือ…ลูกไม้หล่นใต้ต้นของวงการนักพากย์ ที่มีผลงานการันตีมากกว่า 100 เรื่อง และยังเป็นเจ้าของรางวัล “นักพากย์ดีเด่น” จากเวทีโทรทัศน์ทองคำครั้งที่ 32 ประจำปี 2560 อ๋อมแอ๋ม-นพวรรณ เหมะบุตร ลูกสาวของอ๊อด-บัญชา เหมะบุตร นักพากย์รุ่นใหญ่ที่มีชื่อเสียงแห่งวงการคนหนึ่ง
คลุกคลีอยู่ในวงการพากย์มาตั้งแต่ 7 ขวบ จากการวิ่งตามคุณพ่อไปทำงาน จนมีโอกาสได้จับไมค์ส่งเสียงพากย์เพียงไม่กี่คำ กระทั่งทำให้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเธอมีผลงานเข้ามาอยู่เนืองๆ และถึงแม้ว่าจะเคยถูกครหาว่าเข้าวงการนี้มาได้ก็เพราะพ่อ จนถูกมองว่าเป็นเด็กเส้น แต่เธอก็ฝ่าฟันอุปสรรคโดยใช้ความสามารถลบคำสบประมาทจนได้รางวัลมาครอบครอง วันนี้ชื่อของนักพากย์รุ่นใหม่วัย 26 ปี อย่าง “อ๋อมแอ๋ม-นพวรรณ เหมะบุตร” ก็กลายเป็นที่ถูกพูดถึงไม่น้อย
• อยู่ในวงการพากย์มาตั้งแต่ 7 ขวบ จุดเริ่มต้นเส้นทางนี้เป็นมาอย่างไร
เริ่มมาจากตอนเด็กๆ เลยค่ะ ตอนนั้นแอ๋มอายุ 7 ขวบ อยู่ช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-2 แอ๋มจะชอบตามพ่อไปที่ทำงานทุกวันหยุด คุณพ่อแอ๋มทำงานเป็นนักพากย์ เวลาไปเราก็เลยได้วิ่งเล่นอยู่ในห้องพากย์ตามประสาเด็กคนหนึ่ง ไม่ได้มีสาระอะไรเลย แล้วบังเอิญว่าวันหนึ่ง ห้องพากย์ข้างๆ เขาเรียกเราไปลองแคสต์เสียงดู
ตอนนั้นเขาให้บทมาแผ่นหนึ่ง น่าจะเป็นบทเรื่อง เดอะ เพาเวอร์พัฟฟ์ เกิร์ลส์ (The Powerpuff Girls) เอามาให้ลองอ่าน เขาบอกว่าถ้าทำได้จะให้ไปพากย์อีกเรื่องหนึ่งแทน ด้วยความที่เด็กๆ แอ๋มเป็นคนกล้าแสดงออกอยู่แล้ว ใครให้ทำอะไรก็จะทำหมด เพราะชอบและสนุกด้วยที่จะได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ก็เลยลองดูค่ะ ปรากฏว่าทำได้ หลังจากนั้นเลยได้มาลองพากย์จริงๆ
เรื่องแรกที่แอ๋มได้พากย์ก็คือ เรื่อง “โจเซฟ คิง ออฟ ดรีม” (Joseph : King of Dreams) เป็นการ์ตูนอียิปต์ พากย์เป็นเด็กหญิงหนึ่ง ก็คือตัวประกอบมีซีนพูดไม่กี่คำ ตอนนั้นแอ๋มได้พูดแค่คำว่า “บ๊ายบาย ลาก่อน” แล้วก็หัวเราะฮิฮินิดหน่อยเองค่ะ จำได้ว่าตอนนั้นที่ให้หัวเราะเราทำไม่ได้ เราหัวเราะปกติ ไม่ได้หัวเราะแบบการ์ตูน จนผู้กำกับต้องมานั่งจี้เอวให้หัวเราะ ตรงนี้ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อ๋อมแอ๋มได้พากย์เรื่องแรกค่ะ
• หลังจากเรื่องแรก เรื่องที่ 2-3-4 และอื่นๆ ตามมาได้อย่างไร
หลังจากพากย์เรื่องแรกได้ไม่นาน ก็จะมีทางบริษัทนั้นบริษัทนี้ติดต่อมาให้เราลองไปแคสติ้งค่ะ น่าจะไม่ถึงปีก็มีหนังใหญ่มาให้เราไปลองแคสต์ดู ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นเรื่อง “อีทีเพื่อนรัก” ที่นำกลับมาทำใหม่ ตอนนั้นมีคนไปแคสติ้งหลายคน เขาก็จะส่งเสียงไปให้ทางเมืองนอกเลือก คือแอ๋มจะอธิบายให้ฟังก่อนว่าทุกอย่างเขาจะต้องเริ่มจากการแคสต์ก่อน แล้วเขาจะส่งเสียงของเราไปให้ทางเมืองนอกเลือก ทางนั้นก็จะเลือกมาว่าเอาเสียงไหน หนังโรงส่วนใหญ่จะเป็นของต่างประเทศคัดเลือกทั้งหมดเลยนะคะ ไม่ใช่ทางคนไทยคัดเลือก แล้วครั้งนั้นบังเอิญว่าเขาจิ้มมาที่เสียงเรา วันที่ไปพากย์จริงๆ จะมีทีมงานจากต่างประเทศมานั่งดูด้วย กดดันมาก (ลากเสียงยาว) สุดท้ายแอ๋มก็ได้มาพากย์บทของ ดรูว์ แบรีมอร์ ตัวละครเกอร์ที น้องสาววัย 7 ขวบของเอลเลียต เรื่องนั้นถือว่าเป็นหนังเข้าโรงเรื่องแรกในชีวิตเลยค่ะ
• ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็ทำงานด้านนี้มาตลอดเลยใช่ไหมคะ
ใช่ค่ะ ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้พากย์มา เอาจริงๆ แอ๋มก็ได้ทำงานพากย์มาตลอดเลยนะคะ แอ๋มจะทำงานไปด้วย เรียนไปด้วยมาตั้งแต่เด็ก จนมาช่วงมหาวิทยาลัยแอ๋มก็ได้เลือกเรียนคณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกการแสดงและกำกับการแสดง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ที่เลือกเรียนคณะนี้เราก็ยังไม่ได้คิดว่าจะไปเป็นนักพากย์ด้วยซ้ำ แต่พอมาช่วงก่อนที่จะเรียนจบมหาวิทยาลัย แอ๋มก็ไม่รู้ว่ามีอะไรมาฉุดให้มาอยู่ตรงเส้นทางนี้ไปแบบเต็มตัวได้ยังไง
• เพราะคุณพ่อเป็นนักพากย์ด้วยหรือเปล่า เลยมีความฝันอยากจะเจริญรอยตาม
มีวันหนึ่งแอ๋มได้พากย์ประจำกับทีมหนึ่ง คุณพ่อก็เลยถามขึ้นมาประโยคหนึ่งว่า “ยังไง จะเอาเส้นทางนี้จริงๆ ใช่ไหม ถ้าเลือกแล้วก็ตามนั้นนะ ก็ทำให้มันดี ทำให้มันได้แล้วกัน” เราก็ได้คำตอบให้กับตัวเองแล้วว่า “โอเค เอาสิ เราจะทำจริงๆ” จนมาถึงตอนนี้เราก็ยังไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่าเรารักการพากย์ไปตั้งแต่ตอนไหน มารู้อีกที มันคือชีวิตของเรา เรารักอาชีพนี้ไปมากๆ แล้ว ตอนนี้ถ้าให้นับจริงๆ อ๋อมแอ๋มก็คลุกคลีอยู่ในวงการพากย์มาได้ 19 ปี และมีผลงานพากย์น่าจะมากกว่า 100 เรื่องแล้วค่ะ
• พอได้เข้ามาทำงานด้านนี้แบบเต็มตัว คุณพ่อสอนและแนะนำเทคนิคอะไร หรือเราได้ซึมซับอะไรมาบ้างจากการที่ได้เห็นคุณพ่อทำงานมาตั้งแต่ยังเด็ก
คุณพ่อแอ๋มจะค่อนข้างเป็นคนที่มีระเบียบวินัยมาก (ลากเสียงยาว) ทุกอย่างจะต้องเป๊ะ คงจะเป็นจุดนี้ที่แอ๋มได้ซึมซับมา เพราะคุณพ่อจะสอนตั้งแต่เด็กๆ เลยค่ะว่าเวลาไปทำงาน เราจะต้องไปก่อนเวลานะ ไปรอเขายังดีกว่าให้เขารอเรา แอ๋มก็จะทำแบบนั้นมาตลอด อย่างเวลาทำงานเราจะไปก่อน 40-60 นาที ไปเตรียมทำนั่นทำนี่ของเราไป ตรงนี้จะเป็นเรื่องที่คุณพ่อเน้นย้ำเอามากๆ
ส่วนเรื่องเทคนิคหรือเคล็ดลับเกี่ยวกับการพากย์ ถามว่าคุณพ่อสอนไหม ก็จะมีบ้างนะคะ แต่ว่าเราจะเป็นคนที่ค่อนข้างเกรงใจและเกร็งเวลาที่คุณพ่อสอน ก็เลยเหมือนกับว่าจะพยายามหลบเลี่ยงไม่ให้เขาสอน เขาไม่ได้ดุนะคะ คือต้องเท้าความก่อนว่าแอ๋มเคยหยิบบทพากย์ที่เขาใช้แล้วกลับบ้านมาพากย์ให้คุณพ่อฟัง พอเราเริ่มพากย์ประโยคแรกปุ๊บ พ่อจะบอกว่าไม่ได้ เอาใหม่ เราก็จะสติเตลิด กดดัน เพราะคุณพ่อเสียงดัง ทำให้ต้องเก็บบท ไม่พากย์แล้ว ไม่เอาแล้ว อย่างเวลาที่เปิดมาเจอหนังที่ตัวเองพากย์ถ้าพ่อนั่งอยู่ แอ๋มก็จะรีบเปลี่ยนทันที (หัวเราะ) เพราะเรากลัวเขาว่าว่าเราพากย์อะไรของเรา อะไรประมาณนี้ค่ะ
จริงๆ คุณพ่อก็ไม่เคยมาบอกนะคะว่าไปแอบฟังเรื่องนั้นเรื่องนี้ที่เราพากย์มา แต่ก็จะมีคอยแนะนำให้บ้าง อย่างตอนที่แอ๋มจะไปพากย์แล้วคุณพ่อต้องไปรับไปส่ง ตอนนั่งรถคุณพ่อก็จะพูดยาวตั้งแต่ห้องพากย์ยันบ้านเลยค่ะ ประมาณว่าถ้าตัวละครเป็นแบบนี้ ลูกต้องพากย์ให้อารมณ์ประมาณนี้นะ เขาก็จะแนะนำให้ค่ะ แอ๋มก็จะหยิบเทคนิคที่คุณพ่อสอนมาใช้ และก็จะใช้วิธีครูพักลักจำด้วย ซึ่งคุณพ่อเขาก็ชอบที่จะให้เราเรียนรู้ด้วยตัวเองด้วย
• แบบนี้ไอดอลในวงการพากย์คงหนีไม่พ้นคุณพ่อใช่ไหมคะ
ก็ต้องคงต้องเป็นคุณพ่อแหละเนอะ เพราะเราได้เห็นการดำเนินชีวิตของเขามาตั้งแต่เกิดมา เห็นว่าเขาทำอะไร ยังไงบ้าง แล้วทุกอย่างที่คุณพ่อทำมาจนถึงปัจจุบัน เราจะเก็บเอามาทำทั้งหมด แอ๋มทำตามเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์เลย เรียกได้ว่าเราเดินตามคุณพ่อเลยก็ว่าได้ค่ะ
แอ๋มยังมีอีกท่านหนึ่งที่แอ๋มนับถือมากๆ เลยเช่นกันนั่นก็คือ ลุงต๋อง กฤษณะ ศฤงคารนนท์ แต่ว่าท่านเพิ่งเสียชีวิตไปตอนที่แอ๋มรับรางวัลได้ไม่กี่วัน เราก็เสียใจที่เอารางวัลไปให้เขาดูไม่ทัน แต่เขาก็รับรู้ก่อนหน้านั้นแล้วว่าเราได้รับ คุณลุงต๋องมีส่วนในชีวิตแอ๋มเยอะมากเหมือนกันนะคะ ตั้งแต่แอ๋ม 7-8 ขวบ จนถึงปัจจุบันเลย เขาจะสอนพากย์มาโดยตลอด และหนังหรือตัวละครที่ดังๆ ที่แอ๋มได้ทำมาก็มีเขาที่อยู่เบื้องหลัง เวลาที่แอ๋มทำงานกับเขา แอ๋มไม่เคยเครียดเลยนะคะ ทั้งๆ ที่หนังมันดูยากมากแต่เขากลับทำให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่าย แล้วก็สนุกด้วย เรียกได้ว่าท่านเป็นครูผู้ยิ่งใหญ่ เป็นครูผู้ให้ ที่สอนทั้งเรื่องพากย์ สอนทั้งเรื่องการใช้ชีวิตทั้งหมดเลย ถือว่าเป็นพ่อของเราอีกคนหนึ่งเลยก็ว่าได้ค่ะ
• ด้วยความที่มีคุณพ่อเป็นนักพากย์รุ่นเก๋า คิดว่าตัวเองได้เปรียบในการทำงานไหม เพราะเหมือนเคยโดนครหาว่าเป็นเด็กเส้นอยู่เหมือนกัน
“เด็กเส้น เข้ามาวงการพากย์ได้ก็เพราะพ่อ” เอาจริงๆ คุณพ่อแทบไม่ได้พูดอะไรเลยนะคะ แอ๋มก็ไม่รู้เหมือนกันว่าหลังไมค์เขาได้ไปพูดหรือไปฝากอะไรเราหรือเปล่า มีอยู่ช่วงหนึ่งเหมือนกันที่ทำให้เราคิดขึ้นมาว่าเราไม่อยากทำแล้วเหมือนกัน เพราะเราอยากให้คนอื่นมองว่าไม่ได้พึ่งพ่อเลย เราเก่งด้วยตัวเอง แต่พอจะเลิกทำ คุณพ่อกับคุณแม่ก็จะให้กำลังใจ บอกให้เราสู้ ให้เราลองทำใหม่ หรือแม้แต่ญาติพี่น้อง เพื่อนๆ เพื่อนร่วมงาน คนรอบตัวก็จะคอยให้กำลังใจเรา จนมันทำให้เราไม่รู้สึกกดดันกับคำครหาของหลายๆ คน แอ๋มมองว่ายิ่งแอ๋มโดนครหาว่าเป็นเด็กเส้นมากเท่าไหร่ แอ๋มจะยิ่งฮึดว่าเราจะต้องลบคำสบประมาทเหล่านี้ออกไปให้ได้ โอเคเขาอาจจะมองว่าเราเป็นเด็กเส้นก็ได้ แต่เด็กเส้นทำงานเละเทะไม่ได้นะคะ เด็กเส้นเข้ามาจะไม่ทำอะไรเลยก็ไม่ได้นะคะ ซึ่งเราก็ต้องใช้ความสามารถของเราด้วย
ตอนนี้แอ๋มก็ไม่รู้ว่าลบสิ่งเหล่านั้นออกไปได้หมดหรือยังนะคะ แต่เราก็จะพยายามลบมันออกด้วยการสร้างผลงานของตัวเอง ทำออกมาให้ดีที่สุด และถูกตำหนิน้อยที่สุดค่ะ
• แต่เราก็พิสูจน์ความสามารถด้วยการคว้ารางวัลนักพากย์ดีเด่นจากเวทีโทรทัศน์ทองคำปีล่าสุดมา สิ่งนี้สามารถการันตีความสำเร็จได้แล้วหรือยัง
รางวัลนี้แอ๋มได้มาจากการพากย์เป็น ชินจังจอมแก่น ค่ะ ถือได้ว่าเป็นรางวัลแรกจริงๆ ที่เราได้รับ ซึ่งตรงนี้แอ๋มก็ต้องขอขอบคุณทุกคนมากๆ ที่ทำให้แอ๋มได้มายืนถึงจุดนี้ มันคือความภูมิใจที่สุดเลยนะคะ แอ๋มอยากจะมอบรางวัลนี้ให้แก่ทุกคนในวงการเพื่อเป็นเหมือนดั่งกำลังใจให้เขาได้พัฒนาผลงานต่อๆ ไป แอ๋มไม่อยากให้บอกว่ารางวัลนี้เป็นของแอ๋มคนเดียว เพราะว่าแอ๋มมีวันนี้ได้ ก็เพราะทุกคนรอบตัวที่คอยช่วยเหลือ คอยสอนแอ๋มมาตลอด
แอ๋มว่ามันเป็นบันไดแห่งความสำเร็จขั้นหนึ่งที่ทำให้เรามีกำลังใจที่จะก้าวต่อไปเรื่อยๆ หลายคนอาจจะมองว่าเรายังอายุไม่เท่าไหร่แต่ทำไมประสบความสำเร็จเร็วกว่าคนอื่นๆ ถามว่ามันใช่ไหม มันก็อาจจะใช่นะคะ แต่ว่าสุดท้ายแล้ว แอ๋มคงไม่เอาสิ่งนี้มาเป็นตัวสิ้นสุดความคิดของตัวเองว่า ฉันจะหยุดอยู่แค่ตรงนี้นะ เพราะถ้าให้เทียบความสำเร็จเต็มร้อย ตอนนี้แอ๋มยังอยู่แค่ 50 เปอร์เซ็นต์เองค่ะ 50 เปอร์เซ็นต์แรกเป็นสิ่งที่เราทำได้ทั้งหมด ส่วน 50 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ เป็นสิ่งที่เรายังไม่ได้ทำและยังทำไม่ได้ รางวัลที่แอ๋มได้มา กำลังใจจากทุกคนที่แอ๋มได้รับ คำสอนของคุณครูทุกคน แอ๋มจำได้หมด แอ๋มจะเก็บมาพัฒนาผลงานของแอ๋มต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด จะหมั่นเติมให้มันเต็มและทำให้ดีต่อไปเรื่อยๆ แน่นอนค่ะ
• ถามถึงงานพากย์บ้าง ผ่านมามากกว่า 100 เรื่องแล้ว เอกลักษณ์และสไตล์การพากย์ของอ๋อมแอ๋มเป็นอย่างไร
ทุกวันนี้ที่แอ๋มไปพากย์ เราจะได้ตัวละครที่ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว วันหนึ่งเราอาจจะได้เป็นตัวหนึ่ง สักพักพอตอนนี้จบเราก็ได้เป็นเพิ่มอีกตัวหนึ่ง มันสนุกนะ เราได้เรียนรู้ตัวละครนั้นๆ บางตัวละครก็สะท้อนชีวิตเรา บางตัวละครก็สะท้อนถึงชีวิตคนรอบข้างเยอะแยะเลยค่ะ การได้พากย์หลายๆ คาแรกเตอร์มันทำให้แอ๋มได้พัฒนามากขึ้น
ส่วนเอกลักษณ์หรือสไตล์การพากย์ของแอ๋มจะเน้นความเป็นธรรมชาติค่ะ เราจะไม่ได้ดัดเสียงจนคนฟังฟังแล้วอึดอัด เราจะพูดเป็นเสียงเรา เพื่อนหรือคนที่สนิทก็จะฟังแล้วรู้ว่าอันนี้เสียงแอ๋มนะ ส่วนใหญ่แอ๋มจะได้พากย์การ์ตูน ภาพยนตร์ แต่จะมีสารคดี บรรยายรายการวาไรตี้บ้าง รวมๆ แล้วจะมีทุกแนวเลยเหมือนกัน ที่ผ่านๆ มา แอ๋มก็จะได้พากย์เป็นเสียงคนแก่ เสียงเด็กผู้ชาย เด็กผู้หญิง วัยรุ่นมีแทบทุกอย่างเลย
ผลงานที่ภูมิใจส่วนใหญ่จะแทบทุกเรื่องที่เราแคสต์ติดเลยนะคะ เพราะมันทำให้รู้ว่าเราทำได้ อย่างเรื่อง prirate of carribien แอ๋มดูมานานมาก แล้วเราก็ชอบหนังเรื่องนี้มากๆ จนไม่คิดไม่ฝันว่าภาคใหม่มาเราจะได้แคสต์ ซึ่งเราก็แคสต์ติดได้พากย์บท คารินา สมิธ ค่ะ ตรงนี้มันก็เป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งเหมือนกัน
หรืออย่างเรื่อง lilo and stitch แอ๋มก็ประทับใจค่ะ เพราะว่าแอ๋มอยู่กับตัวละคร lilo มาเกือบสองปีได้ ซึ่งมันมีอยู่ซีนหนึ่งที่ stitch จะตาย แอ๋มก็ร้องไห้จริงๆ มันเหมือนกับว่าเราผูกพันกับตัวละครไปแล้ว
หรือว่าเป็นจะเรื่อง ซูโทเปีย (ZOOTOPIA) แอ๋มพากย์เป็น จูดี้ ฮอบส์ เรื่องนี้แอ๋มก็ประทับใจนะคะ เพราะว่าตอนแรกที่แอ๋มไปแคสต์เราไม่คิดเลยว่าเราจะได้ พอแคสต์ได้ก็ดีใจมาก ตัวละครนี้ถือว่าท้าทายเหมือนกัน เป็นตัวละครลุยๆ จะมีเสียงหอบ เสียงนั่นเสียงนี่เราก็จะต้องเก็บให้หมดทุกแอกต์
ส่วนผลงานที่จดจำที่แอ๋มว่ายากที่สุดเลยที่เคยพากย์มาก็น่าจะเป็นตอนพากย์เป็นคนใบ้ เรื่อง รักไร้เสียง ที่เป็นการ์ตูนอนิเมะญี่ปุ่นค่ะ ซึ่งเราจะต้องทำเสียงอยู่ในลำคอ เป็นคนใบ้ที่พยายามจะพูด ยากมาก เราไม่รู้จะต้องทำยังไง แอ๋มเลยไปทำการบ้าน หาตัวละครคนใบ้ ซึ่งเราจะอาศัยการฟังซาวนด์และทำตามไปด้วย
ตรงนี้แต่ละเสียงมันมีความแตกต่างกันอยู่แล้ว เราต้องฉีกเสียง ต้องทำการบ้าน ต้องฟังเยอะๆ ดูหนังบ่อยๆ และอาศัยการถามจากนักพากย์ผู้ใหญ่ท่านอื่นๆ อย่างเวลาที่เราไม่เข้าใจตรงไหน หรือตรงไหนที่เรายังทำไม่ได้ ให้เขาช่วยสอน ช่วยดูให้ อ๋อมแอ๋มจะฝึกฝนตัวเองแบบนี้มาตลอดค่ะ
• ความยากง่ายของงานพากย์คืออะไรคะ เพราะการพากย์แต่ละอย่างดูเหมือนจะแตกต่างกัน
การพากย์แต่ละอย่างจริงๆ มันจะคนละแบบกันเลย อย่างการ์ตูนเราสามารถใส่ลูกเล่น ใส่ความเวอร์วังอลังการ ใส่ทุกอย่างได้ทั้งหมดเลย จะสนุกกว่าหน่อย แต่ถ้าพากย์เป็นคนจริงๆ เราจะต้องเน้นความเป็นธรรมชาติเพราะถ้าเราเอาเสียงการ์ตูนไปพูดในหนังที่คนแสดง มันก็ไม่ได้ มันจะไม่สมูท เราก็ต้องพากย์ให้เหมือนกับพูด และถึงแม้ว่าการพากย์อาจจะเป็นงานเบื้องหลังก็จริง แต่เราก็ต้องถ่ายทอดอารมณ์ตามตัวละครนั้นๆ ทั้งหมด อย่างนักแสดงเขาต้องถ่ายทอดทางแอกติ้ง สีหน้า ท่าทาง ก็เหมือนกัน การพากย์เราก็ต้องทำแบบนั้น เพียงแต่ว่าคนดูเขาไม่เห็นว่าเราออกอาการยังไง สีหน้าเป็นยังไงเวลาพากย์ ถ้าเราทำเสียงแบบโมโนโทนไป คนดูก็คงไม่สนุก ซึ่งส่วนตัวแอ๋มจะไม่สามารถทำหน้านิ่งเฉยตอนพากย์ได้เพราะเรากลัวว่าอารมณ์มันจะไม่ออกมา ดังนั้นเราต้องเหมือนมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครนั้นๆ ด้วย
อีกอย่างการพากย์จะมีทั้งพากย์ทีม พากย์เดี่ยว ถ้าพากย์ทีม ไดอะล็อกก็จะต่อกัน จะนั่งอยู่ในห้องพากย์ทั้งทีม ใครเป็นตัวอะไรก็พากย์ตัวนั้นค่ะ ส่วนการพากย์เดี่ยวจะมีรายละเอียดของตัวละครค่อนข้างเยอะ จะต้องเก็บแอคทุกแอคให้หมด ส่วนใหญ่จะเป็นหนังเข้าโรงค่ะ
• แล้วการจะเป็นนักพากย์ได้ต้องมีคุณสมบัติ หรือต้องฝึกฝนอะไรบ้าง
แอ๋มว่าการจะเป็นนักพากย์ได้ หนึ่งเลยก็คือ ต้องมีระเบียบวินัย เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ
สอง การอ่านหนังสือ เราต้องอ่านหนังสือให้ชัดเจน อ่านให้คล่อง เพราะต่อให้คุณพูดไม่ชัด แต่ถ้าเราฝึกฝนทุกวันอย่างน้อยต้องพูดชัดขึ้นมาบ้างแหละ หรือไม่ก็ต้องเก่งขึ้นมาบ้างแหละ ส่วนตัวแอ๋มจะได้ฝึกอ่านมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะคุณพ่อจะให้อ่านหนังสือพิมพ์ หรือถ้าไปเจอป้ายต่างๆ จะให้อ่านหมด แล้วจะต้องอ่านเสียงดังๆ ด้วย
สาม ต้องมีความกล้า แรกๆ เราอาจจะยังไม่กล้าออกเสียง แอ๋มอยากให้ลองฝึกไปทุกวัน เดี๋ยวความกลัว ความเขินอายมันก็จะหายไปเอง
ที่สำคัญทั้งหมดทั้งมวลที่แอ๋มพูดมาอีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ต้องมีความอดทนต่อแรงกดดัน เพราะการที่เราจะเข้ามาทำงานด้านนี้ แรกๆ เราอาจจะยังไม่ได้พากย์เป็นตัวเด่นๆ เลย อาจจะยังไม่ได้เป็นนางเอก มานั่งทั้งวันเราอาจจะได้เป็นแค่ตัวประกอบ พูดแค่ประโยคเดียว ดังนั้นเราต้องอดทน เพราะกว่าจะได้ก้าวไปถึงจุดที่ได้เป็นนางเอก ได้เป็นพระเอก ได้เป็นตัวร้าย มันต้องเป็นตัวไม่เด่นมาก่อน
• จะว่าไปแล้ววงการพากย์ให้อะไรกับอ๋อมแอ๋มบ้างคะ
แอ๋มว่าวงการนี้ให้อะไรกับแอ๋มทุกอย่างเลยนะคะ เพราะแอ๋มเป็นคนหนึ่งที่ต้องทำงานไปด้วย เรียนไปด้วยมาตั้งแต่เด็กๆ สิ่งนี้ทำให้แอ๋มได้มีความรับผิดชอบเหมือนว่าเราจะโตกว่าคนรุ่นเดียวกันหลายสเต็ปเหมือนกัน อย่างเพื่อนๆ ได้ไปวิ่งเล่นหลังเลิกเรียน แต่กับเราหลังเลิกเรียนจะต้องไปทำงานต่อ
นอกจากนี้ วงการนี้ยังให้อะไรกับแอ๋มอีกเยอะเลยค่ะ อย่างแอ๋มเคยมีความฝันว่าอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง ซึ่งเราก็ทำได้เพราะจากการทำอาชีพนี้ ที่สำคัญเลยก็คือแอ๋มได้เอาความภูมิใจทั้งหมดมอบให้คุณพ่อคุณแม่ เพราะเราอยากให้เขามีความสุขที่สุดกับสิ่งที่เราเป็นอยู่ค่ะ
• วางเป้าหมายเกี่ยวกับงานพากย์ไว้ยังไงอีกบ้าง
แอ๋มเคยมีความฝันว่าวันหนึ่งแอ๋มเปิดทีวีขึ้นมา ช่องนี้ก็มีเสียงเรา ช่องนั้นก็มีเสียงเรา แล้วมันดันมีวันนั้น เราก็เลยคิดว่า เรามาไกลถึงขั้นนี้แล้วเหรอ เราถอยหลังกลับไม่ได้แล้วใช่ไหม ดังนั้น แอ๋มจะทำจนกว่าแอ๋มจะทำไม่ไหวค่ะ เรียกว่าอุทิศให้แก่อาชีพนี้ทั้งชีวิตเลยดีกว่า เพราะมันคือชีวิตเราไปแล้ว เราคงไม่มีความสุขแล้วที่เราจะไปทำอย่างอื่น การที่เราได้พากย์ตัวละครนั้นตัวละครนี้ ได้ทำงานกับทุกๆ คนที่น่ารัก มันทำให้เรามีความสุขในการทำงาน ไม่มีวันไหนที่แอ๋มไม่อยากไปทำงาน แอ๋มอยากทำงานทุกวันเลยค่ะ (ยิ้ม)
ส่วนปัจจุบันแอ๋มเป็นนักพากย์ฟรีแลนซ์ ถ้ามีงานจ้างเข้ามาก็จะรับทั้งหมด แต่หลักๆ แอ๋มจะพากย์ประจำให้กับช่อง 3 และช่อง 9 ค่ะ
• ในฐานะที่เป็นนักพากย์มาตั้งแต่ยังเด็ก อยากให้แนะนำสำหรับน้องๆ หรือใครที่อยากจะเป็นนักพากย์หน่อยค่ะ
จริงๆ แล้ววงการนักพากษ์ไม่ได้ปิดรับหรือว่าเข้าถึงยากนะคะ แอ๋มว่าแค่มีความตั้งใจและมีความกล้า อาจจะเริ่มจากฝึกฝนโดยการอ่านและดูหนังเยอะๆ แอ๋มก็ใช้วิธีนี้เหมือนกัน ถ้ามั่นใจแล้วจริงๆ ให้ลองอัดเสียงตัวเองทำเดโมส่งให้ตามค่าย หรือตามทีมพากย์ให้เขาพิจารณาเสียงของเราดู หรือไม่ง่ายๆ เลยก็คือลองอัปโหลดเสียงตัวเองลงเฟซบุ๊ก ยูทูป หรือลงกลุ่มที่เป็นสื่อเกี่ยวกับการพากย์ไทย แอ๋มว่ามันก็เป็นช่องทางที่ทำให้เราได้ก้าวสู่วงการนี้ได้ เพราะบางคนที่เข้ามาทำอาชีพนี้ได้ก็เริ่มมาจากตรงนี้ก็มีหลายคนเลยเหมือนกัน
สุดท้าย แอ๋มย้ำเลยว่าต้องมีความอดทน เพราะกว่าที่แอ๋มและทุกคนในวงการพากย์จะมาถึงตรงนี้ได้ ไม่ง่ายเลย มันต้องผ่านความยากลำบากมาก่อน ไม่มีใครที่จะเก่งเลยหรือทำได้เลยหรอก บางคนแอ๋มเห็นเขามานั่งดูเป็นปี สองปีเลยนะคะกว่าเขาจะได้พากย์ 1 คำ เราต้องอดทนอย่าไปท้อ อย่าไปคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ ถ้ายังไม่ได้ลงมือทำ
Profile
ชื่อ สกุล : นพวรรณ เหมะบุตร
ชื่อเล่น : อ๋อมแอ๋ม
วันเกิด : 27 เมษายน 2535
อายุ : 26 ปี
การศึกษา : จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกการแสดงและกำกับการแสดง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
คติประจำใจในการใช้ชีวิตและการทำงาน : The best way to predict the future is to invent it. การทำนายอนาคตที่ดีที่สุด คือการสร้างมันขึ้นมา
3 สิ่งที่ขาดไม่ได้เด็ดขาดสำหรับอ๋อมแอ๋ม :
1. เสียง
2. ระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ
3. การฝึกฝนและหมั่นพัฒนาผลงาน
ผลงานที่ผ่านมา
ภาพยนตร์ อาทิ
-Alice in Wonderland พากย์เป็น อลิซ
-Peter Pan พากย์เป็น เวนดี้
-Harry Potter พากย์เป็น จินนี วีสลีย์, โช แชง, ปาราวตี
-Big Momma s House 2 พากย์เป็น เคลลี่
-Epic พากย์เป็น โรสแมรี โกลด์
-Star wars the last jedi พากย์เป็น เรย์
-The Avengers : Age Of Ultron พากย์เป็น วันด้า แม็กซิมอฟฟ์/สการ์เล็ท วิทช์
-Zootopia พากย์เป็น จูดี้
-Captain America Civil War พากย์เป็น วันดา แม็กซิมอฟฟ์/สการ์เล็ท วิทช์
-My Little Pony the Movie พากย์เป็น ทไวไลท์สปาร์กเคิล
-Star wars the last jedi พากย์เป็น เรย์
การ์ตูน อาทิ
-Barbie as Rapunzel พากย์เป็น เมโลดี้
-Lilo & Stitch พากย์เป็น ลีโล่
-Ninja Hattori-kun นินจาฮาโตริ (3 Family) พากย์เป็น เคนอิจิ
-No Game No Life โนเกม โนไลฟ์ (REC) พากย์เป็น ชิโระ
-Golden Time โกลเด้น ไทม์ (Rose) พากย์เป็น คากะ โคโกะ
ซีรีส์ อาทิ
-Supergirl (Mono29) พากย์เป็น คารา แดนเวอร์ส - ซูเปอร์เกิร์ล
- ริเวอร์เดล ปริศนาเมืองมรณะ พากษ์เป็น เบตตี คูเปอร์
ผลงานปี 2018
-Insidious : The last key พากย์เป็นเมลิสซา (Melissa Rainier)
-Riverdale season 2 พากย์เป็นเบ็ตตี
-Dynasty พากย์เป็น Fallon Carrington
-Black lightning พากย์เป็น Jennifer
-Pacific rim2 : Uprising พากย์เป็นหลี่เหวิน (Liwen Shao) และพลขับ เรเนตา (Cadet Renata)
-PETER RABBIT พากย์เป็น Cotton-Tail กระต่ายสุดห้าว สุดห่าม
-The Avengers : Infinity war พากย์เป็นสกาเล็ตวิช (Wanda Maximoff)
-Blumhouse's Truth or Dare พากย์เป็นเพเนโลเป (Penelope)
-Deadpool 2 พากย์เป็น เนกาโซนิก ทีนเอจ วอร์เฮด (Negasonic Teenage Warhead)
-The Incredibles 2 พากย์เป็น Evelyn
เรื่อง : วรัญญา งามขำ
ภาพ : วชิร สายจำปา และเพจ Facebook อ๋อมแอ๋ม :: ผู้ให้เสียงภาษาไทย voice-over character
คลุกคลีอยู่ในวงการพากย์มาตั้งแต่ 7 ขวบ จากการวิ่งตามคุณพ่อไปทำงาน จนมีโอกาสได้จับไมค์ส่งเสียงพากย์เพียงไม่กี่คำ กระทั่งทำให้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเธอมีผลงานเข้ามาอยู่เนืองๆ และถึงแม้ว่าจะเคยถูกครหาว่าเข้าวงการนี้มาได้ก็เพราะพ่อ จนถูกมองว่าเป็นเด็กเส้น แต่เธอก็ฝ่าฟันอุปสรรคโดยใช้ความสามารถลบคำสบประมาทจนได้รางวัลมาครอบครอง วันนี้ชื่อของนักพากย์รุ่นใหม่วัย 26 ปี อย่าง “อ๋อมแอ๋ม-นพวรรณ เหมะบุตร” ก็กลายเป็นที่ถูกพูดถึงไม่น้อย
• อยู่ในวงการพากย์มาตั้งแต่ 7 ขวบ จุดเริ่มต้นเส้นทางนี้เป็นมาอย่างไร
เริ่มมาจากตอนเด็กๆ เลยค่ะ ตอนนั้นแอ๋มอายุ 7 ขวบ อยู่ช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-2 แอ๋มจะชอบตามพ่อไปที่ทำงานทุกวันหยุด คุณพ่อแอ๋มทำงานเป็นนักพากย์ เวลาไปเราก็เลยได้วิ่งเล่นอยู่ในห้องพากย์ตามประสาเด็กคนหนึ่ง ไม่ได้มีสาระอะไรเลย แล้วบังเอิญว่าวันหนึ่ง ห้องพากย์ข้างๆ เขาเรียกเราไปลองแคสต์เสียงดู
ตอนนั้นเขาให้บทมาแผ่นหนึ่ง น่าจะเป็นบทเรื่อง เดอะ เพาเวอร์พัฟฟ์ เกิร์ลส์ (The Powerpuff Girls) เอามาให้ลองอ่าน เขาบอกว่าถ้าทำได้จะให้ไปพากย์อีกเรื่องหนึ่งแทน ด้วยความที่เด็กๆ แอ๋มเป็นคนกล้าแสดงออกอยู่แล้ว ใครให้ทำอะไรก็จะทำหมด เพราะชอบและสนุกด้วยที่จะได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ก็เลยลองดูค่ะ ปรากฏว่าทำได้ หลังจากนั้นเลยได้มาลองพากย์จริงๆ
เรื่องแรกที่แอ๋มได้พากย์ก็คือ เรื่อง “โจเซฟ คิง ออฟ ดรีม” (Joseph : King of Dreams) เป็นการ์ตูนอียิปต์ พากย์เป็นเด็กหญิงหนึ่ง ก็คือตัวประกอบมีซีนพูดไม่กี่คำ ตอนนั้นแอ๋มได้พูดแค่คำว่า “บ๊ายบาย ลาก่อน” แล้วก็หัวเราะฮิฮินิดหน่อยเองค่ะ จำได้ว่าตอนนั้นที่ให้หัวเราะเราทำไม่ได้ เราหัวเราะปกติ ไม่ได้หัวเราะแบบการ์ตูน จนผู้กำกับต้องมานั่งจี้เอวให้หัวเราะ ตรงนี้ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อ๋อมแอ๋มได้พากย์เรื่องแรกค่ะ
• หลังจากเรื่องแรก เรื่องที่ 2-3-4 และอื่นๆ ตามมาได้อย่างไร
หลังจากพากย์เรื่องแรกได้ไม่นาน ก็จะมีทางบริษัทนั้นบริษัทนี้ติดต่อมาให้เราลองไปแคสติ้งค่ะ น่าจะไม่ถึงปีก็มีหนังใหญ่มาให้เราไปลองแคสต์ดู ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นเรื่อง “อีทีเพื่อนรัก” ที่นำกลับมาทำใหม่ ตอนนั้นมีคนไปแคสติ้งหลายคน เขาก็จะส่งเสียงไปให้ทางเมืองนอกเลือก คือแอ๋มจะอธิบายให้ฟังก่อนว่าทุกอย่างเขาจะต้องเริ่มจากการแคสต์ก่อน แล้วเขาจะส่งเสียงของเราไปให้ทางเมืองนอกเลือก ทางนั้นก็จะเลือกมาว่าเอาเสียงไหน หนังโรงส่วนใหญ่จะเป็นของต่างประเทศคัดเลือกทั้งหมดเลยนะคะ ไม่ใช่ทางคนไทยคัดเลือก แล้วครั้งนั้นบังเอิญว่าเขาจิ้มมาที่เสียงเรา วันที่ไปพากย์จริงๆ จะมีทีมงานจากต่างประเทศมานั่งดูด้วย กดดันมาก (ลากเสียงยาว) สุดท้ายแอ๋มก็ได้มาพากย์บทของ ดรูว์ แบรีมอร์ ตัวละครเกอร์ที น้องสาววัย 7 ขวบของเอลเลียต เรื่องนั้นถือว่าเป็นหนังเข้าโรงเรื่องแรกในชีวิตเลยค่ะ
• ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็ทำงานด้านนี้มาตลอดเลยใช่ไหมคะ
ใช่ค่ะ ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้พากย์มา เอาจริงๆ แอ๋มก็ได้ทำงานพากย์มาตลอดเลยนะคะ แอ๋มจะทำงานไปด้วย เรียนไปด้วยมาตั้งแต่เด็ก จนมาช่วงมหาวิทยาลัยแอ๋มก็ได้เลือกเรียนคณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกการแสดงและกำกับการแสดง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ที่เลือกเรียนคณะนี้เราก็ยังไม่ได้คิดว่าจะไปเป็นนักพากย์ด้วยซ้ำ แต่พอมาช่วงก่อนที่จะเรียนจบมหาวิทยาลัย แอ๋มก็ไม่รู้ว่ามีอะไรมาฉุดให้มาอยู่ตรงเส้นทางนี้ไปแบบเต็มตัวได้ยังไง
• เพราะคุณพ่อเป็นนักพากย์ด้วยหรือเปล่า เลยมีความฝันอยากจะเจริญรอยตาม
มีวันหนึ่งแอ๋มได้พากย์ประจำกับทีมหนึ่ง คุณพ่อก็เลยถามขึ้นมาประโยคหนึ่งว่า “ยังไง จะเอาเส้นทางนี้จริงๆ ใช่ไหม ถ้าเลือกแล้วก็ตามนั้นนะ ก็ทำให้มันดี ทำให้มันได้แล้วกัน” เราก็ได้คำตอบให้กับตัวเองแล้วว่า “โอเค เอาสิ เราจะทำจริงๆ” จนมาถึงตอนนี้เราก็ยังไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่าเรารักการพากย์ไปตั้งแต่ตอนไหน มารู้อีกที มันคือชีวิตของเรา เรารักอาชีพนี้ไปมากๆ แล้ว ตอนนี้ถ้าให้นับจริงๆ อ๋อมแอ๋มก็คลุกคลีอยู่ในวงการพากย์มาได้ 19 ปี และมีผลงานพากย์น่าจะมากกว่า 100 เรื่องแล้วค่ะ
• พอได้เข้ามาทำงานด้านนี้แบบเต็มตัว คุณพ่อสอนและแนะนำเทคนิคอะไร หรือเราได้ซึมซับอะไรมาบ้างจากการที่ได้เห็นคุณพ่อทำงานมาตั้งแต่ยังเด็ก
คุณพ่อแอ๋มจะค่อนข้างเป็นคนที่มีระเบียบวินัยมาก (ลากเสียงยาว) ทุกอย่างจะต้องเป๊ะ คงจะเป็นจุดนี้ที่แอ๋มได้ซึมซับมา เพราะคุณพ่อจะสอนตั้งแต่เด็กๆ เลยค่ะว่าเวลาไปทำงาน เราจะต้องไปก่อนเวลานะ ไปรอเขายังดีกว่าให้เขารอเรา แอ๋มก็จะทำแบบนั้นมาตลอด อย่างเวลาทำงานเราจะไปก่อน 40-60 นาที ไปเตรียมทำนั่นทำนี่ของเราไป ตรงนี้จะเป็นเรื่องที่คุณพ่อเน้นย้ำเอามากๆ
ส่วนเรื่องเทคนิคหรือเคล็ดลับเกี่ยวกับการพากย์ ถามว่าคุณพ่อสอนไหม ก็จะมีบ้างนะคะ แต่ว่าเราจะเป็นคนที่ค่อนข้างเกรงใจและเกร็งเวลาที่คุณพ่อสอน ก็เลยเหมือนกับว่าจะพยายามหลบเลี่ยงไม่ให้เขาสอน เขาไม่ได้ดุนะคะ คือต้องเท้าความก่อนว่าแอ๋มเคยหยิบบทพากย์ที่เขาใช้แล้วกลับบ้านมาพากย์ให้คุณพ่อฟัง พอเราเริ่มพากย์ประโยคแรกปุ๊บ พ่อจะบอกว่าไม่ได้ เอาใหม่ เราก็จะสติเตลิด กดดัน เพราะคุณพ่อเสียงดัง ทำให้ต้องเก็บบท ไม่พากย์แล้ว ไม่เอาแล้ว อย่างเวลาที่เปิดมาเจอหนังที่ตัวเองพากย์ถ้าพ่อนั่งอยู่ แอ๋มก็จะรีบเปลี่ยนทันที (หัวเราะ) เพราะเรากลัวเขาว่าว่าเราพากย์อะไรของเรา อะไรประมาณนี้ค่ะ
จริงๆ คุณพ่อก็ไม่เคยมาบอกนะคะว่าไปแอบฟังเรื่องนั้นเรื่องนี้ที่เราพากย์มา แต่ก็จะมีคอยแนะนำให้บ้าง อย่างตอนที่แอ๋มจะไปพากย์แล้วคุณพ่อต้องไปรับไปส่ง ตอนนั่งรถคุณพ่อก็จะพูดยาวตั้งแต่ห้องพากย์ยันบ้านเลยค่ะ ประมาณว่าถ้าตัวละครเป็นแบบนี้ ลูกต้องพากย์ให้อารมณ์ประมาณนี้นะ เขาก็จะแนะนำให้ค่ะ แอ๋มก็จะหยิบเทคนิคที่คุณพ่อสอนมาใช้ และก็จะใช้วิธีครูพักลักจำด้วย ซึ่งคุณพ่อเขาก็ชอบที่จะให้เราเรียนรู้ด้วยตัวเองด้วย
• แบบนี้ไอดอลในวงการพากย์คงหนีไม่พ้นคุณพ่อใช่ไหมคะ
ก็ต้องคงต้องเป็นคุณพ่อแหละเนอะ เพราะเราได้เห็นการดำเนินชีวิตของเขามาตั้งแต่เกิดมา เห็นว่าเขาทำอะไร ยังไงบ้าง แล้วทุกอย่างที่คุณพ่อทำมาจนถึงปัจจุบัน เราจะเก็บเอามาทำทั้งหมด แอ๋มทำตามเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์เลย เรียกได้ว่าเราเดินตามคุณพ่อเลยก็ว่าได้ค่ะ
แอ๋มยังมีอีกท่านหนึ่งที่แอ๋มนับถือมากๆ เลยเช่นกันนั่นก็คือ ลุงต๋อง กฤษณะ ศฤงคารนนท์ แต่ว่าท่านเพิ่งเสียชีวิตไปตอนที่แอ๋มรับรางวัลได้ไม่กี่วัน เราก็เสียใจที่เอารางวัลไปให้เขาดูไม่ทัน แต่เขาก็รับรู้ก่อนหน้านั้นแล้วว่าเราได้รับ คุณลุงต๋องมีส่วนในชีวิตแอ๋มเยอะมากเหมือนกันนะคะ ตั้งแต่แอ๋ม 7-8 ขวบ จนถึงปัจจุบันเลย เขาจะสอนพากย์มาโดยตลอด และหนังหรือตัวละครที่ดังๆ ที่แอ๋มได้ทำมาก็มีเขาที่อยู่เบื้องหลัง เวลาที่แอ๋มทำงานกับเขา แอ๋มไม่เคยเครียดเลยนะคะ ทั้งๆ ที่หนังมันดูยากมากแต่เขากลับทำให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่าย แล้วก็สนุกด้วย เรียกได้ว่าท่านเป็นครูผู้ยิ่งใหญ่ เป็นครูผู้ให้ ที่สอนทั้งเรื่องพากย์ สอนทั้งเรื่องการใช้ชีวิตทั้งหมดเลย ถือว่าเป็นพ่อของเราอีกคนหนึ่งเลยก็ว่าได้ค่ะ
• ด้วยความที่มีคุณพ่อเป็นนักพากย์รุ่นเก๋า คิดว่าตัวเองได้เปรียบในการทำงานไหม เพราะเหมือนเคยโดนครหาว่าเป็นเด็กเส้นอยู่เหมือนกัน
“เด็กเส้น เข้ามาวงการพากย์ได้ก็เพราะพ่อ” เอาจริงๆ คุณพ่อแทบไม่ได้พูดอะไรเลยนะคะ แอ๋มก็ไม่รู้เหมือนกันว่าหลังไมค์เขาได้ไปพูดหรือไปฝากอะไรเราหรือเปล่า มีอยู่ช่วงหนึ่งเหมือนกันที่ทำให้เราคิดขึ้นมาว่าเราไม่อยากทำแล้วเหมือนกัน เพราะเราอยากให้คนอื่นมองว่าไม่ได้พึ่งพ่อเลย เราเก่งด้วยตัวเอง แต่พอจะเลิกทำ คุณพ่อกับคุณแม่ก็จะให้กำลังใจ บอกให้เราสู้ ให้เราลองทำใหม่ หรือแม้แต่ญาติพี่น้อง เพื่อนๆ เพื่อนร่วมงาน คนรอบตัวก็จะคอยให้กำลังใจเรา จนมันทำให้เราไม่รู้สึกกดดันกับคำครหาของหลายๆ คน แอ๋มมองว่ายิ่งแอ๋มโดนครหาว่าเป็นเด็กเส้นมากเท่าไหร่ แอ๋มจะยิ่งฮึดว่าเราจะต้องลบคำสบประมาทเหล่านี้ออกไปให้ได้ โอเคเขาอาจจะมองว่าเราเป็นเด็กเส้นก็ได้ แต่เด็กเส้นทำงานเละเทะไม่ได้นะคะ เด็กเส้นเข้ามาจะไม่ทำอะไรเลยก็ไม่ได้นะคะ ซึ่งเราก็ต้องใช้ความสามารถของเราด้วย
ตอนนี้แอ๋มก็ไม่รู้ว่าลบสิ่งเหล่านั้นออกไปได้หมดหรือยังนะคะ แต่เราก็จะพยายามลบมันออกด้วยการสร้างผลงานของตัวเอง ทำออกมาให้ดีที่สุด และถูกตำหนิน้อยที่สุดค่ะ
• แต่เราก็พิสูจน์ความสามารถด้วยการคว้ารางวัลนักพากย์ดีเด่นจากเวทีโทรทัศน์ทองคำปีล่าสุดมา สิ่งนี้สามารถการันตีความสำเร็จได้แล้วหรือยัง
รางวัลนี้แอ๋มได้มาจากการพากย์เป็น ชินจังจอมแก่น ค่ะ ถือได้ว่าเป็นรางวัลแรกจริงๆ ที่เราได้รับ ซึ่งตรงนี้แอ๋มก็ต้องขอขอบคุณทุกคนมากๆ ที่ทำให้แอ๋มได้มายืนถึงจุดนี้ มันคือความภูมิใจที่สุดเลยนะคะ แอ๋มอยากจะมอบรางวัลนี้ให้แก่ทุกคนในวงการเพื่อเป็นเหมือนดั่งกำลังใจให้เขาได้พัฒนาผลงานต่อๆ ไป แอ๋มไม่อยากให้บอกว่ารางวัลนี้เป็นของแอ๋มคนเดียว เพราะว่าแอ๋มมีวันนี้ได้ ก็เพราะทุกคนรอบตัวที่คอยช่วยเหลือ คอยสอนแอ๋มมาตลอด
แอ๋มว่ามันเป็นบันไดแห่งความสำเร็จขั้นหนึ่งที่ทำให้เรามีกำลังใจที่จะก้าวต่อไปเรื่อยๆ หลายคนอาจจะมองว่าเรายังอายุไม่เท่าไหร่แต่ทำไมประสบความสำเร็จเร็วกว่าคนอื่นๆ ถามว่ามันใช่ไหม มันก็อาจจะใช่นะคะ แต่ว่าสุดท้ายแล้ว แอ๋มคงไม่เอาสิ่งนี้มาเป็นตัวสิ้นสุดความคิดของตัวเองว่า ฉันจะหยุดอยู่แค่ตรงนี้นะ เพราะถ้าให้เทียบความสำเร็จเต็มร้อย ตอนนี้แอ๋มยังอยู่แค่ 50 เปอร์เซ็นต์เองค่ะ 50 เปอร์เซ็นต์แรกเป็นสิ่งที่เราทำได้ทั้งหมด ส่วน 50 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ เป็นสิ่งที่เรายังไม่ได้ทำและยังทำไม่ได้ รางวัลที่แอ๋มได้มา กำลังใจจากทุกคนที่แอ๋มได้รับ คำสอนของคุณครูทุกคน แอ๋มจำได้หมด แอ๋มจะเก็บมาพัฒนาผลงานของแอ๋มต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด จะหมั่นเติมให้มันเต็มและทำให้ดีต่อไปเรื่อยๆ แน่นอนค่ะ
• ถามถึงงานพากย์บ้าง ผ่านมามากกว่า 100 เรื่องแล้ว เอกลักษณ์และสไตล์การพากย์ของอ๋อมแอ๋มเป็นอย่างไร
ทุกวันนี้ที่แอ๋มไปพากย์ เราจะได้ตัวละครที่ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว วันหนึ่งเราอาจจะได้เป็นตัวหนึ่ง สักพักพอตอนนี้จบเราก็ได้เป็นเพิ่มอีกตัวหนึ่ง มันสนุกนะ เราได้เรียนรู้ตัวละครนั้นๆ บางตัวละครก็สะท้อนชีวิตเรา บางตัวละครก็สะท้อนถึงชีวิตคนรอบข้างเยอะแยะเลยค่ะ การได้พากย์หลายๆ คาแรกเตอร์มันทำให้แอ๋มได้พัฒนามากขึ้น
ส่วนเอกลักษณ์หรือสไตล์การพากย์ของแอ๋มจะเน้นความเป็นธรรมชาติค่ะ เราจะไม่ได้ดัดเสียงจนคนฟังฟังแล้วอึดอัด เราจะพูดเป็นเสียงเรา เพื่อนหรือคนที่สนิทก็จะฟังแล้วรู้ว่าอันนี้เสียงแอ๋มนะ ส่วนใหญ่แอ๋มจะได้พากย์การ์ตูน ภาพยนตร์ แต่จะมีสารคดี บรรยายรายการวาไรตี้บ้าง รวมๆ แล้วจะมีทุกแนวเลยเหมือนกัน ที่ผ่านๆ มา แอ๋มก็จะได้พากย์เป็นเสียงคนแก่ เสียงเด็กผู้ชาย เด็กผู้หญิง วัยรุ่นมีแทบทุกอย่างเลย
ผลงานที่ภูมิใจส่วนใหญ่จะแทบทุกเรื่องที่เราแคสต์ติดเลยนะคะ เพราะมันทำให้รู้ว่าเราทำได้ อย่างเรื่อง prirate of carribien แอ๋มดูมานานมาก แล้วเราก็ชอบหนังเรื่องนี้มากๆ จนไม่คิดไม่ฝันว่าภาคใหม่มาเราจะได้แคสต์ ซึ่งเราก็แคสต์ติดได้พากย์บท คารินา สมิธ ค่ะ ตรงนี้มันก็เป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งเหมือนกัน
หรืออย่างเรื่อง lilo and stitch แอ๋มก็ประทับใจค่ะ เพราะว่าแอ๋มอยู่กับตัวละคร lilo มาเกือบสองปีได้ ซึ่งมันมีอยู่ซีนหนึ่งที่ stitch จะตาย แอ๋มก็ร้องไห้จริงๆ มันเหมือนกับว่าเราผูกพันกับตัวละครไปแล้ว
หรือว่าเป็นจะเรื่อง ซูโทเปีย (ZOOTOPIA) แอ๋มพากย์เป็น จูดี้ ฮอบส์ เรื่องนี้แอ๋มก็ประทับใจนะคะ เพราะว่าตอนแรกที่แอ๋มไปแคสต์เราไม่คิดเลยว่าเราจะได้ พอแคสต์ได้ก็ดีใจมาก ตัวละครนี้ถือว่าท้าทายเหมือนกัน เป็นตัวละครลุยๆ จะมีเสียงหอบ เสียงนั่นเสียงนี่เราก็จะต้องเก็บให้หมดทุกแอกต์
ส่วนผลงานที่จดจำที่แอ๋มว่ายากที่สุดเลยที่เคยพากย์มาก็น่าจะเป็นตอนพากย์เป็นคนใบ้ เรื่อง รักไร้เสียง ที่เป็นการ์ตูนอนิเมะญี่ปุ่นค่ะ ซึ่งเราจะต้องทำเสียงอยู่ในลำคอ เป็นคนใบ้ที่พยายามจะพูด ยากมาก เราไม่รู้จะต้องทำยังไง แอ๋มเลยไปทำการบ้าน หาตัวละครคนใบ้ ซึ่งเราจะอาศัยการฟังซาวนด์และทำตามไปด้วย
ตรงนี้แต่ละเสียงมันมีความแตกต่างกันอยู่แล้ว เราต้องฉีกเสียง ต้องทำการบ้าน ต้องฟังเยอะๆ ดูหนังบ่อยๆ และอาศัยการถามจากนักพากย์ผู้ใหญ่ท่านอื่นๆ อย่างเวลาที่เราไม่เข้าใจตรงไหน หรือตรงไหนที่เรายังทำไม่ได้ ให้เขาช่วยสอน ช่วยดูให้ อ๋อมแอ๋มจะฝึกฝนตัวเองแบบนี้มาตลอดค่ะ
• ความยากง่ายของงานพากย์คืออะไรคะ เพราะการพากย์แต่ละอย่างดูเหมือนจะแตกต่างกัน
การพากย์แต่ละอย่างจริงๆ มันจะคนละแบบกันเลย อย่างการ์ตูนเราสามารถใส่ลูกเล่น ใส่ความเวอร์วังอลังการ ใส่ทุกอย่างได้ทั้งหมดเลย จะสนุกกว่าหน่อย แต่ถ้าพากย์เป็นคนจริงๆ เราจะต้องเน้นความเป็นธรรมชาติเพราะถ้าเราเอาเสียงการ์ตูนไปพูดในหนังที่คนแสดง มันก็ไม่ได้ มันจะไม่สมูท เราก็ต้องพากย์ให้เหมือนกับพูด และถึงแม้ว่าการพากย์อาจจะเป็นงานเบื้องหลังก็จริง แต่เราก็ต้องถ่ายทอดอารมณ์ตามตัวละครนั้นๆ ทั้งหมด อย่างนักแสดงเขาต้องถ่ายทอดทางแอกติ้ง สีหน้า ท่าทาง ก็เหมือนกัน การพากย์เราก็ต้องทำแบบนั้น เพียงแต่ว่าคนดูเขาไม่เห็นว่าเราออกอาการยังไง สีหน้าเป็นยังไงเวลาพากย์ ถ้าเราทำเสียงแบบโมโนโทนไป คนดูก็คงไม่สนุก ซึ่งส่วนตัวแอ๋มจะไม่สามารถทำหน้านิ่งเฉยตอนพากย์ได้เพราะเรากลัวว่าอารมณ์มันจะไม่ออกมา ดังนั้นเราต้องเหมือนมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครนั้นๆ ด้วย
อีกอย่างการพากย์จะมีทั้งพากย์ทีม พากย์เดี่ยว ถ้าพากย์ทีม ไดอะล็อกก็จะต่อกัน จะนั่งอยู่ในห้องพากย์ทั้งทีม ใครเป็นตัวอะไรก็พากย์ตัวนั้นค่ะ ส่วนการพากย์เดี่ยวจะมีรายละเอียดของตัวละครค่อนข้างเยอะ จะต้องเก็บแอคทุกแอคให้หมด ส่วนใหญ่จะเป็นหนังเข้าโรงค่ะ
• แล้วการจะเป็นนักพากย์ได้ต้องมีคุณสมบัติ หรือต้องฝึกฝนอะไรบ้าง
แอ๋มว่าการจะเป็นนักพากย์ได้ หนึ่งเลยก็คือ ต้องมีระเบียบวินัย เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ
สอง การอ่านหนังสือ เราต้องอ่านหนังสือให้ชัดเจน อ่านให้คล่อง เพราะต่อให้คุณพูดไม่ชัด แต่ถ้าเราฝึกฝนทุกวันอย่างน้อยต้องพูดชัดขึ้นมาบ้างแหละ หรือไม่ก็ต้องเก่งขึ้นมาบ้างแหละ ส่วนตัวแอ๋มจะได้ฝึกอ่านมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะคุณพ่อจะให้อ่านหนังสือพิมพ์ หรือถ้าไปเจอป้ายต่างๆ จะให้อ่านหมด แล้วจะต้องอ่านเสียงดังๆ ด้วย
สาม ต้องมีความกล้า แรกๆ เราอาจจะยังไม่กล้าออกเสียง แอ๋มอยากให้ลองฝึกไปทุกวัน เดี๋ยวความกลัว ความเขินอายมันก็จะหายไปเอง
ที่สำคัญทั้งหมดทั้งมวลที่แอ๋มพูดมาอีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ต้องมีความอดทนต่อแรงกดดัน เพราะการที่เราจะเข้ามาทำงานด้านนี้ แรกๆ เราอาจจะยังไม่ได้พากย์เป็นตัวเด่นๆ เลย อาจจะยังไม่ได้เป็นนางเอก มานั่งทั้งวันเราอาจจะได้เป็นแค่ตัวประกอบ พูดแค่ประโยคเดียว ดังนั้นเราต้องอดทน เพราะกว่าจะได้ก้าวไปถึงจุดที่ได้เป็นนางเอก ได้เป็นพระเอก ได้เป็นตัวร้าย มันต้องเป็นตัวไม่เด่นมาก่อน
• จะว่าไปแล้ววงการพากย์ให้อะไรกับอ๋อมแอ๋มบ้างคะ
แอ๋มว่าวงการนี้ให้อะไรกับแอ๋มทุกอย่างเลยนะคะ เพราะแอ๋มเป็นคนหนึ่งที่ต้องทำงานไปด้วย เรียนไปด้วยมาตั้งแต่เด็กๆ สิ่งนี้ทำให้แอ๋มได้มีความรับผิดชอบเหมือนว่าเราจะโตกว่าคนรุ่นเดียวกันหลายสเต็ปเหมือนกัน อย่างเพื่อนๆ ได้ไปวิ่งเล่นหลังเลิกเรียน แต่กับเราหลังเลิกเรียนจะต้องไปทำงานต่อ
นอกจากนี้ วงการนี้ยังให้อะไรกับแอ๋มอีกเยอะเลยค่ะ อย่างแอ๋มเคยมีความฝันว่าอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง ซึ่งเราก็ทำได้เพราะจากการทำอาชีพนี้ ที่สำคัญเลยก็คือแอ๋มได้เอาความภูมิใจทั้งหมดมอบให้คุณพ่อคุณแม่ เพราะเราอยากให้เขามีความสุขที่สุดกับสิ่งที่เราเป็นอยู่ค่ะ
• วางเป้าหมายเกี่ยวกับงานพากย์ไว้ยังไงอีกบ้าง
แอ๋มเคยมีความฝันว่าวันหนึ่งแอ๋มเปิดทีวีขึ้นมา ช่องนี้ก็มีเสียงเรา ช่องนั้นก็มีเสียงเรา แล้วมันดันมีวันนั้น เราก็เลยคิดว่า เรามาไกลถึงขั้นนี้แล้วเหรอ เราถอยหลังกลับไม่ได้แล้วใช่ไหม ดังนั้น แอ๋มจะทำจนกว่าแอ๋มจะทำไม่ไหวค่ะ เรียกว่าอุทิศให้แก่อาชีพนี้ทั้งชีวิตเลยดีกว่า เพราะมันคือชีวิตเราไปแล้ว เราคงไม่มีความสุขแล้วที่เราจะไปทำอย่างอื่น การที่เราได้พากย์ตัวละครนั้นตัวละครนี้ ได้ทำงานกับทุกๆ คนที่น่ารัก มันทำให้เรามีความสุขในการทำงาน ไม่มีวันไหนที่แอ๋มไม่อยากไปทำงาน แอ๋มอยากทำงานทุกวันเลยค่ะ (ยิ้ม)
ส่วนปัจจุบันแอ๋มเป็นนักพากย์ฟรีแลนซ์ ถ้ามีงานจ้างเข้ามาก็จะรับทั้งหมด แต่หลักๆ แอ๋มจะพากย์ประจำให้กับช่อง 3 และช่อง 9 ค่ะ
• ในฐานะที่เป็นนักพากย์มาตั้งแต่ยังเด็ก อยากให้แนะนำสำหรับน้องๆ หรือใครที่อยากจะเป็นนักพากย์หน่อยค่ะ
จริงๆ แล้ววงการนักพากษ์ไม่ได้ปิดรับหรือว่าเข้าถึงยากนะคะ แอ๋มว่าแค่มีความตั้งใจและมีความกล้า อาจจะเริ่มจากฝึกฝนโดยการอ่านและดูหนังเยอะๆ แอ๋มก็ใช้วิธีนี้เหมือนกัน ถ้ามั่นใจแล้วจริงๆ ให้ลองอัดเสียงตัวเองทำเดโมส่งให้ตามค่าย หรือตามทีมพากย์ให้เขาพิจารณาเสียงของเราดู หรือไม่ง่ายๆ เลยก็คือลองอัปโหลดเสียงตัวเองลงเฟซบุ๊ก ยูทูป หรือลงกลุ่มที่เป็นสื่อเกี่ยวกับการพากย์ไทย แอ๋มว่ามันก็เป็นช่องทางที่ทำให้เราได้ก้าวสู่วงการนี้ได้ เพราะบางคนที่เข้ามาทำอาชีพนี้ได้ก็เริ่มมาจากตรงนี้ก็มีหลายคนเลยเหมือนกัน
สุดท้าย แอ๋มย้ำเลยว่าต้องมีความอดทน เพราะกว่าที่แอ๋มและทุกคนในวงการพากย์จะมาถึงตรงนี้ได้ ไม่ง่ายเลย มันต้องผ่านความยากลำบากมาก่อน ไม่มีใครที่จะเก่งเลยหรือทำได้เลยหรอก บางคนแอ๋มเห็นเขามานั่งดูเป็นปี สองปีเลยนะคะกว่าเขาจะได้พากย์ 1 คำ เราต้องอดทนอย่าไปท้อ อย่าไปคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ ถ้ายังไม่ได้ลงมือทำ
Profile
ชื่อ สกุล : นพวรรณ เหมะบุตร
ชื่อเล่น : อ๋อมแอ๋ม
วันเกิด : 27 เมษายน 2535
อายุ : 26 ปี
การศึกษา : จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกการแสดงและกำกับการแสดง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
คติประจำใจในการใช้ชีวิตและการทำงาน : The best way to predict the future is to invent it. การทำนายอนาคตที่ดีที่สุด คือการสร้างมันขึ้นมา
3 สิ่งที่ขาดไม่ได้เด็ดขาดสำหรับอ๋อมแอ๋ม :
1. เสียง
2. ระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ
3. การฝึกฝนและหมั่นพัฒนาผลงาน
ผลงานที่ผ่านมา
ภาพยนตร์ อาทิ
-Alice in Wonderland พากย์เป็น อลิซ
-Peter Pan พากย์เป็น เวนดี้
-Harry Potter พากย์เป็น จินนี วีสลีย์, โช แชง, ปาราวตี
-Big Momma s House 2 พากย์เป็น เคลลี่
-Epic พากย์เป็น โรสแมรี โกลด์
-Star wars the last jedi พากย์เป็น เรย์
-The Avengers : Age Of Ultron พากย์เป็น วันด้า แม็กซิมอฟฟ์/สการ์เล็ท วิทช์
-Zootopia พากย์เป็น จูดี้
-Captain America Civil War พากย์เป็น วันดา แม็กซิมอฟฟ์/สการ์เล็ท วิทช์
-My Little Pony the Movie พากย์เป็น ทไวไลท์สปาร์กเคิล
-Star wars the last jedi พากย์เป็น เรย์
การ์ตูน อาทิ
-Barbie as Rapunzel พากย์เป็น เมโลดี้
-Lilo & Stitch พากย์เป็น ลีโล่
-Ninja Hattori-kun นินจาฮาโตริ (3 Family) พากย์เป็น เคนอิจิ
-No Game No Life โนเกม โนไลฟ์ (REC) พากย์เป็น ชิโระ
-Golden Time โกลเด้น ไทม์ (Rose) พากย์เป็น คากะ โคโกะ
ซีรีส์ อาทิ
-Supergirl (Mono29) พากย์เป็น คารา แดนเวอร์ส - ซูเปอร์เกิร์ล
- ริเวอร์เดล ปริศนาเมืองมรณะ พากษ์เป็น เบตตี คูเปอร์
ผลงานปี 2018
-Insidious : The last key พากย์เป็นเมลิสซา (Melissa Rainier)
-Riverdale season 2 พากย์เป็นเบ็ตตี
-Dynasty พากย์เป็น Fallon Carrington
-Black lightning พากย์เป็น Jennifer
-Pacific rim2 : Uprising พากย์เป็นหลี่เหวิน (Liwen Shao) และพลขับ เรเนตา (Cadet Renata)
-PETER RABBIT พากย์เป็น Cotton-Tail กระต่ายสุดห้าว สุดห่าม
-The Avengers : Infinity war พากย์เป็นสกาเล็ตวิช (Wanda Maximoff)
-Blumhouse's Truth or Dare พากย์เป็นเพเนโลเป (Penelope)
-Deadpool 2 พากย์เป็น เนกาโซนิก ทีนเอจ วอร์เฮด (Negasonic Teenage Warhead)
-The Incredibles 2 พากย์เป็น Evelyn
เรื่อง : วรัญญา งามขำ
ภาพ : วชิร สายจำปา และเพจ Facebook อ๋อมแอ๋ม :: ผู้ให้เสียงภาษาไทย voice-over character