xs
xsm
sm
md
lg

“อาชญากรเงินแดง” ข่าวใหญ่โกงเงินหลวงสมัย ร.๕! แอบเอาเงินปลอมเปลี่ยนถุงเงินส่งคลังขณะขน!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ตราประทับครั่งที่วันนี้ก็ยังใช้กัน
ตอนนี้เรื่องโกงเงินคนจนกับเงินทอนวัด เป็นข่าวโด่งดังถึงวิธีโกงของคนที่อาศัยหน้าที่ราชการหาผลประโยชน์ใส่ตัว วิธีการก็ไม่ได้ยอกย้อนซ่อนกลอะไรนักหนา แต่กว่าจะจับได้ก็พุงกางไปตามกัน ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็มีข่าวสนั่นเมืองเรื่องการโกงเงินหลวงเหมือนกัน อุตส่าห์วางแผนและเตรียมการกันมานาน แต่ฝ่ายตรวจสอบใช้เวลาสั้นกว่าก็เอาเข้าคุกกันได้ทั้งขบวน

“เงินแดง” ก็คือเงินปลอม หรือเงินเก๊ ที่ทำขึ้นในสมัยที่ใช้เหรียญบาทกันแล้ว แต่เงินแดงใช้ทองแดงเป็นส่วนผสมมากกว่าเงินจริง และไม่เกี่ยวกับ “เงินถุงแดง” ที่เก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน อย่างเช่นที่รัชกาลที่ ๓ ท่านเก็บกำไรจากการค้าสำเภาไว้ จนได้ใช้เมื่อคราวที่เรือรบฝรั่งเศสบุกฝ่าป้อมพระจุลฯเข้ามา แล้วฝ่ายรุกรานกลับเรียกค่าเสียหายเอากับฝ่ายที่ต่อสู้ป้องกันอธิปไตยเสียอีก

คดี “อาชญากรเงินแดง” เกิดขึ้นที่กรุงเก่า หรือจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเมื่อต้นปี พ.ศ.๒๔๓๙ ซึ่งเป็นกำหนดเก็บเงินค่านาส่งมารวบรวมที่จวนผู้ว่าราชการ ก่อนจะส่งไปยังกระทรวงเกษตรพานิชการ เจ้าของเงิน ขั้นตอนนี้หน่วยเก็บเงินต่างๆจะนำเงินเหรียญบาทใส่ถุงละ ๘๐๐ อันหรือ ๑๐ ชั่ง มัดแน่นหนาแล้วประทับตราครั่งที่ปมเชือกเป็นหลักฐานว่าตรวจตราแล้ว จากนั้นจึงขนส่งไปยังจวนผู้ว่าราชการกรุงเก่า

ขั้นตอนนี้แหละที่มีคนหัวใส แต่อนาคตมืด วางแผนขึ้นอย่างแยบยล

คนต้นคิดเรื่องนี้ก็คือ นายอ่ำ คนสนิทของหลวงวิจารณ์ฯ ผู้เก็บค่านา และเป็นคนที่หลวงวิจารณ์ฯไว้เนื้อเชื่อใจอย่างมาก ขนาดนายอ่ำสามารถขโมยตราประจำตัวของหลวงวิจารณ์ฯซึ่งเป็นรูปกระต่าย นำไปถึงกรุงเทพฯได้ ให้ นายมาก ช่างแกะสลักฝีมือดีดูเป็นต้นแบบแกะปลอม

งานนี้แม้จะเป็นงานโจรกรรม เป็นอาชญากร ก็ต้องใช้เงินลงทุนเหมือนกัน ไปหาซื้อเงินปลอมมาแลกเงินดี นายอ่ำจึงเสนอโครงการนี้กับ นายจอน ซึ่งเป็นผู้มีฐานะดีแต่ยังรวยไม่พอ ให้มาเป็นนายทุน ซึ่งนายจอนก็ตาลุกรับโปรเจคทันที ออกเงินให้ไปซื้อเงินปลอมที่กรุงเทพฯ มาใส่ถุงประทับตรากระต่ายไว้เรียบร้อย

คนแบกถุงเงินจากบ้านหลวงวิจารณ์ฯไปจวนผู้ว่าราชการนั้น นายอ่ำอยู่ในขบวนคนแบกด้วยคนหนึ่ง ส่วนคนที่จะแบกถุงเงินแดงมาเปลี่ยนกับถุงเงินหลวงนั้น ยายอ่ำได้เลือกเอา นายปาน เพื่อนที่ไว้ใจให้เป็นคนเอาถุงเงินแดงมาแอบรอข้างทาง
ในวันแรกของการขน นายอ่ำก็ลงมือในวันนั้นเลย หลังจากหลวงวิจารณ์บรรจุเงินลงถุงต่อหน้าเสมียนหลายคนที่เป็นสักขีพยานแล้ว ก็ประทับตราครั่งเรียบร้อยในตอนเย็น แต่กว่าขบวนจะเริ่มออกเดินทางได้ก็ค่ำแล้ว นายทองดีผู้ควบคุมขบวนขนจึงต้องเดินนำหน้าฉายไฟนำทางไป ไม่ได้มองข้างหลัง

ทุกอย่างก็ดูจะราบรื่นด้วยดีตามแผน แต่ขบวนขนครั้งนี้มีถึง ๗ คน เป็นเงิน ๗๐ ชั่ง และนายอ่ำก็พลาดท่าไปอยู่กลางขนวน ครั้นไปถึงสะพานซึ่งเป็นสถานที่เปลี่ยวกำหนดจะเปลี่ยนถุงเงินกันตรงนั้น นายปานก็ไม่กล้าโผล่หัวหิ้วถุงเงินแดงออกมาจากที่ซ่อน เพราะมีคนเดินตามหลังนายอ่ำมาติดๆ นายอ่ำเองก็อึดอัดไม่รู้จะทำอย่างไร จึงต้องเดินผ่านไปเฉยๆ

การลงมือครั้งแรกนี้จึงล้มเหลว แต่โอกาสก็ยังมีอีก

ในการขนเงินครั้งใหม่ ก็เป็นขบวนเก่า เมื่อขุนวิจารณ์ฯบรรจุเงินลงถุงเสร็จก็เรียกบ่าวไพร่ให้ขนเมื่อใกล้ต่ำเช่นกัน นายอ่ำแก้ไขความผิดพลาดครั้งที่แล้วด้วยการหาเหตุถ่วงเวลา จนคนอื่นแบกเงินหมดแล้วจึงวิ่งไปคว้าถุงสุดท้ายต่อขบวน
วันนี้ทุกอย่างเป็นไปตามแผน พอถึงสะพานที่นัดหมาย นายปานก็โผล่ออกมายื่นถุงเงินแดงให้นายอ่ำ เปลี่ยนเอาถุงเงินดีไปสำเร็จ นายมากเตรียมเรือมาจากกรุงเทพฯ รอรับนายอ่ำกับนายปานที่จุดนัดพบแล้วจ้ำเข้ากรุงเทพฯในคืนนั้น เพื่อเอาเงินที่ได้มาลงทุนต่อ จัดหาเงินแดงใส่ถุงใหม่เตรียมไว้เที่ยวหน้าอีก กะว่าจะเอากันให้รวยพุงกางไปเลย และครั้งที่ ๒ ก็ทำสำเร็จไปด้วยความชำนาญ

ก่อนที่จะส่งเงินค่านาเข้าคลังที่กรุงเทพฯ ฝ่ายตรวจสอบได้นำเงินออกจากถุงมาตรวจนับกันอีกครั้ง ต่อหน้าพระยาไชยวิชิค ผู้ว่าราชการกรุงเก่า คณะผู้ตรวจสอบก็ต้องตะลึงเมื่อพบว่าในจำนวนถุงเงินเหล่านั้น มีเงินแดงปลอมปนมา ๒ ถุง และประทับตรากระต่ายทั้งคู่

หลวงวิจารณ์ฯตกหนักในเรื่องนี้ จึงเรียกบ่าวไพร่ทุกคนมาคาดคั้น แม้จะไม่มีใครรับ แต่อาชญากรย่อมทิ้งรอยไว้เสมอ ทุกคนต่างเพ่งมองไปที่นายอ่ำเป็นตาเดียวกันโดยไม่ได้นัดหมาย เพราะเพิ่งไปกรุงเทพฯกลับมา และแต่งตัวโอ่อ่าผิดตา หลวงวิจารณ์ฯจึงซักไซ้อย่างหนักจนนายอ่ำหมดทางแก้ตัว ยอมรับสารภาพแต่โดยดี และถูกนำตัวไปค้นบ้าน ก็เจอเงินเหรียญบาทส่วนแบ่งเหลืออยู่อีกมาก เมื่อถูกส่งตัวต่อไปยังพระยาไชยวิชิค นายอ่ำถูกล่ามด้วยโซ่ตรวนจึงซัดทอดผู้ร่วมขบวนหมดทุกคน

พระยาไชยวิชิตแจ้งเรื่องไปยังกระทรวงเกษตรพานิชการ กระทรวงเกษตรฯจึงแจ้งต่อไปยังกระทรวงนครบาล ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในมณฑลกรุงเทพฯ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวง จึงให้ส่งอาชญากรเงินแดงทั้งหมดเข้ากรุงเทพฯ และทรงไต่สวนปากคำด้วยพระองค์เอง ถึงขั้นนี้ทุกคนก็จำนนต่อหลักฐาน ไม่มีใครกล้าปฏิเสธ มีแต่นายจอนผู้เป็นนายทุนคนเดียว แม้จะปฏิเสธไม่ออกแต่ก็ทำกร่าง อ้างว่าทางราชการไทยไม่มีสิทธิ์มาสอบสวนตน ต้องส่งขึ้นศาลกงสุลฝรั่งเศสเท่านั้น เพราะตัวเป็นคนในบังคับฝรั่งเศส พร้อมทั้งควักหนังสือรับรองออกมาแสดง

ตอนนั้นไทยเราต้องยอมรับสิทธิสภาพนอกอาณาเขต คือคนในบังคับอังกฤษและฝรั่งเศสแม้ทำผิดก็ไม่ต้องขึ้นศาลไทย ต้องส่งไปให้ศาลกงสุลพิจารณาตัดสิน มีการเดินแจกใบสมัครขออยู่ใต้บังคับฝรั่งเศสกันตามถนนยังกับใบปลิว คนไทยหัวใจเป็นทาสไปสมัครกับเขาด้วยก็มีบ้าง แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ความสนใจหนังสือรับรองของนายจอน ส่งตัวเข้าคุกไทยไปครบขบวน ก็ข้อตกลงเขาให้คนในบังคับฝรั่งเศสมีแต่ญวนลาวและเขมรเท่านั้น แต่ปู่ย่าตายายนายจอนก็เป็นคนไทย ไม่เอาอีกคดีก็บุญแล้ว จึงต้องรับโทษไปตามอาญาแผ่นดินร่วมกันทั้งหมด ที่หวังจะรวยจนพุงกาง ก็ไปพุงยุบกันในคุกพร้อมหน้า


กำลังโหลดความคิดเห็น