xs
xsm
sm
md
lg

โดนรุมหลายโรค แต่ไม่ยอมแพ้! “อีป่วย” ปลุกพลังคนท้อแท้ให้ฮึดสู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หากให้มองผู้หญิงคนนี้ด้วยสายตาแบบปกติแล้ว หลายคนอาจจะคิดว่าก็คงเหมือนเป็นผู้หญิงธรรมดาทั่วไปที่ดูแข็งแรงไม่มีอะไร แต่หากลงลึกไปในรายละเอียดแล้ว เธอคนนี้ต้องต่อสู้กับโรคต่างๆ มาตั้งแต่ชั้น ม.5 ซึ่ง อัณณ์ชญาน์ ตั้งสำเริงวงศ์ หรือ ปิ่น หญิงสาวเจ้าของแฟนเพจ ‘อีป่วย’ เพจที่บันทึกเรื่องราวประสบการณ์การรักษาหลายโรคคือเธอคนนั้น ซึ่งไม่ว่าคุณจะแข็งแรงหรือมีโรคต่างๆ ก็ควรได้อ่านเรื่องราวการต่อสู้ของเธอ เพื่อเป็นความรู้และการให้กำลังใจให้กับตัวคุณเองไม่มากก็น้อย

ชีวิตไม่ง่ายนัก
เมื่อ ‘แพ้ภูมิตัวเอง’ มาถามหา

หากให้ย้อนกลับไปเมื่อช่วงชีวิตได้เริ่มต้น ‘ปิ่น’ ของครอบครัวตั้งสำเริงวงศ์ ก็เหมือนกับเด็กสาวทั่วๆ ไป ของหลายครอบครัว ที่แม้ว่าจะซุกซนไปตามวัย มีบ้างเล็กน้อยที่ไม่สบาย แต่ก็มีชีวิตอย่างปกติสุขตามอัตภาพ ไม่มีเรื่องใดให้เธอและที่บ้านต้องกังวลใจ อาจจะเป็นเพราะทั้งพ่อแม่และบรรดาพี่น้องต่างอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ซึ่งชีวิตของเธอก็คงจะเหมือนจะเดินไปตามทางดังที่หวัง หากไม่เป็นเพราะในเช้าวันหนึ่งนี่เอง ที่ชีวิตของเธอจะมาเหมือนเดิมอีกต่อไป...

“คือช่วงชีวิตของเราก่อนที่จะป่วย เราก็ใช้ชีวิตของเราปกติ ก็เป็นเด็กที่ปกติทั่วไปเลย แต่ชีวิตช่วง ม.ต้น มันก็จะมีความเป็นเด็กซนคนหนึ่ง สนุกสนานกับเพื่อน การโดนครูว่าเป็นเรื่องปกติ แต่เราก็ยังใช้ชีวิตแบบมีความสุขแหละ คือเราก็ไม่ใช่แบบว่าเป็นหัวโจกของกลุ่มนะ แต่จะประมาณว่าครูก็มีการหมายหัวนิดนึง ห้าวๆ ซนๆ ปกติ ส่วนที่บ้านในตอนนั้น พ่อก็ทำรับเหมาก่อสร้าง แล้วก็เปิดร้านขายของ คือจะเรียกได้ว่าพื้นฐานครอบครัวก็โอเคประมาณหนึ่ง ทำให้เราก็ใช้ชีวิตได้เต็มที่ ไม่มีปัญหาอะไร แต่เราจะมีความเกเรของเราอย่างที่บอก มีโดดเรียนบ้าง ถึงขนาดที่ว่าครูโทรไปฟ้องแม่เลยนะ (หัวเราะ) แต่เราก็ยังอยู่ในความดูแลของผู้ปกครอง เป็นตัวที่สร้างความเฮฮาให้กับเพื่อน

“มันอาจจะเป็นเพราะว่า เราอยู่ในสังคมที่ดีด้วยมั้ง ที่ทำใหรู้สึกว่าไม่ต้องลำบากอะไร ก็มีเพื่อนที่ดี สนุกสนาน หรืออาจจะเป็นช่วงวัยรุ่นก็ได้ ที่หล่อหลอมให้เรามีความสุข เต็มที่กับชีวิตในตอนนั้น เราคิดว่าเป็นคนที่มีความสุขเลยนะ ส่วนพี่น้องก็รักใคร่กันดี อาจจะมีทะเลาะตามสไตล์พี่น้องบ้าง โดยเฉพาะพี่สาว เพราะว่าพี่น้องเรา มี 5 คน แต่จะมีความห่างแค่ปี 2 ปี แบบจะติดๆ กันหมดเลย

จริงๆ สัญญาณเตือนมันเริ่มมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ แล้วค่ะ คือเราอาจจะไม่รู้สึกว่าเป็นสัญญาณในตอนนั้น แต่ว่าเราอาจจะเป็นโรคภูมิแพ้ในตอนเด็กๆ แล้วพอช่วง ม.ต้น ก็เริ่มหาย แต่ว่าก็ยังมีอาการภูมิแพ้ และหอบหืดนิดหน่อย ซึ่งเราก็พ่นยา เราก็ยังไม่รู้สึกอะไร จนกระทั่งช่วง ม.5 เป็นจุดที่เริ่มต้น คือมีวันหนึ่ง อยู่ดีๆ เราก็มีอาการไม่มีแรงที่จะลุกจากที่นอนเฉยเลย ซึ่งถ้าเป็นคนปกติอาจจะแค่ปวดเมื่อย แต่นี่คูณร้อยเข้าไป เราจะเป็นแบบยกแขนไม่ได้ ซึ่งเราก็ไม่เข้าใจว่าทำไม แล้วอาการเป็นอย่างงี้เกือบอาทิตย์น่ะคะ เราต้องฝืนตัวเอง ที่จะก้าวขา ที่จะลุกขึ้นเดิน แล้วก็ฝืนตัวเองไปเรียน

“จากนั้นก็มีอาการอ่อนเพลีย คือมันต้องใช้แรงทั้งหมดที่มี เวลาที่จะทำอะไรต่างๆ หลังๆ ก็มีไข้ต่ำๆ ตลอดเวลา แบบกินยาพาราฯ เม็ดนึง พอหมดฤทธิ์ 4 ชั่วโมง ก็เป็นอีกแล้ว รู้สึกหนาวๆ ตลอด แล้วเราก็ไม่ได้ไปหาหมอ คุณแม่ก็รู้ ก็ให้กินยาตลอด จนมีวันนึง เรามีเสมหะเป็นเลือด เหมือนกับเราแปลงฟันแล้วเลือดไหล แบบแปรงทีไรก็เลือดไหลทุกที เราก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร เราก็ไปหาหมอ หมอก็วินิจฉัยไป 3 โรงพยาบาล กว่าจะรู้ว่าเป็น SLE (โรคแพ้ภูมิตนเอง) เพราะว่าอาการของแต่ละคนมันไม่เหมือนกันเลย อยู่ที่ว่าจะไปในระบบไหนของแต่ละคน

เปลี่ยนแปลงตนเอง
เพื่อรับมือกับโรค

เมื่อย่างก้าวของโรคร้ายได้มาเยือนในชีวิตของเธอ จนทำให้กิจกรรมต่างๆ ที่เธอได้เคยทำมาในก่อนหน้า จะต้องปรับเปลี่ยนแปลงไป เพื่อความเป็นไปของการรักษาตัวจากโรคภัยที่มาเยือน ซึ่งแน่นอนว่า ในช่วงแรกของการรับมือนั้น มันอาจจะทำใจได้ยากนักอย่างไม่ทันตั้งตัว แต่เพื่อรักษาชีวิต เธอจึงจำใจเปลี่ยนตัวเองใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้...

“ตอนแรกสุด เราก็ไม่ค่อยตกใจเท่าที่บ้าน เพราะที่บ้านเขาก็จะรู้ว่า คุณพุ่มพวง (ดวงจันทร์ : นักร้องลูกทุ่งหญิงชื่อดัง) เสียชีวิต แต่ด้วยความที่เรายังเด็ก ก็ไม่ได้อะไรมาก แล้วหมอก้จะบอกประมาณในเรื่องปฎิบัติตัว ว่าควบคุมอาหารยังไง เพื่อเลี่ยงการเสี่ยงในการติดเชื้อ ห้ามโดนแดดเพราะว่ามันจะกระตุ้นโรค แล้วด้วยที่เราเป็นเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง อยู่ดีๆ หมอก็มาบอกอย่างงี้ จากที่เราเคยเล่นกีฬากลางแจ้ง เราก็ต้องงดเลย ก็รู้สึกค่อนข้างขัดใจน่ะค่ะ ว่าชีวิตหลังจากนี้ เราจะอยู่ยังไงต่อนะ แต่คือยังไม่รู้ว่า อาการหนักโรคมันถึงขั้นไหน เราไม่รู้ไง เราก็รู้แค่ว่า ฉันเป็นอย่างงี้ แค่นั้นมากกว่า แต่ระหว่างที่เรารู้แล้ว เราก็ต้องรักษาตามโรค คือ กินยาแก้ภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ไปเรื่อยๆ คือถ้าเป็นช่วงแรกๆ ก็จะสูง

พอเรามีโรคปุ๊บ ก็มีความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เยอะมาก ซึ่งทางร่างกาย แน่นอนคือเป็นผลมาจากการกินยา ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นไปเป็น 10 กิโลกรัมเลยนะ แล้วก็ ผมร่วง สิวขึ้น หน้ากลม คือเปลี่ยนไปอีกคนเลย แล้วตอนนั้นเราก็วัยรุ่นเนอะ ห่วงสวย (หัวเราะ) จากนั้นก็เป็นทางกิจวัตรประจำวันของเรา ที่ต้องเลี่ยงไป ทั้งห้ามดูหนังที่โรงหนัง ห้ามกินส้มตำ คือหมอพูดขนาดนี้เลย แต่เรื่องจิตใจยังโอเคอยู่นะ ณ ตอนนั้น อีกอย่างที่ต้องเปลี่ยน คือต้องพักการเรียน เพราะว่าเราเข้าโรงพยาบาลเกือบ 3 เดือน พอกลับไปเรียน คุณครูที่โรงเรียนก็บอกว่าให้พักการเรียนดีกว่า เพราะว่ามันจะสอบเข้ามหาลัยอยู่แล้ว เหราะฉะนั้นก็คิดว่า ยังไงก็เรียนไม่ทันเพื่อน แล้วก็ไม่คุ้ม ก็เลยตัดสินใจที่จะดร็อป เลยพักไป 1 ปี ซึ่งในช่วงที่เราพักไป ความคิดความฝันบางอย่างก็ต้องทิ้งไปบ้างแหละ เพราะว่ามันทำไม่ได้แล้ว

“อย่างบางสิ่งบางอย่างที่เราคิดอยากจะเรียนต่อ มันก็ทำไม่ได้เหมือนกัน แต่ที่บ้านก็ค่อยๆ ให้กำลังใจเรา แต่เรื่องที่ใหญ่สำหรับเราในตอนนั้น น่าจะเป็นเรื่องทางร่างกายมากกว่า ตอนแรกสุดเลยคือ เรารับตัวเองไม่ได้ ไม่กล้าส่องกระจกเลย เพราะถ้าเราส่อง เราจะร้องไห้ ไม่กล้าออกจากบ้าน อย่างงั้นเลย คืออารมณ์เราดาวน์ลงกับเรื่องนั้นแบบสุดๆ คือถ้าถามว่าตอนรู้แรกๆ ไม่ได้รู้สึกอะไร แต่พอได้รับผลกระทบจากยามา นี่คือเริ่มแล้วจริงๆ คือมันก็คงประมาณโรคซึมเศร้าแหละ ซึ่งถ้าได้มองย้อนกลับไป เราว่าเราก็น่าจะเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มไปด้วย แต่เราไม่เคยรู้สึกอย่างงั้น เพราะว่าเรายังเป็นเด็กไง ว่าโรคนี้คืออะไร ประมาณนั้น

อาจจะมีโรคภัยถามหา
แต่ก็ยังมีความโชคดีเข้ามาทดแทน

แม้ว่าการมีโรคภัยที่ค่อนข้างหนักพอควร เมื่อเทียบกับช่วงวัยแห่งแห่งการเปลี่ยนผ่าน แต่ในความโชคร้ายนั้น ก็มีความโชคดีเข้ามาด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้เธอได้มีความคิดการอ่านที่เติบโตขึ้น อีกทั้งบวกกับการมีพระพุทธศาสนาเข้ามาในชีวิตช่วงนั้นด้วยแล้ว ก็ทำให้เธอสามารถเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ จนคนในครอบครัวก็ยังแปลกใจด้วยเช่นกัน

“ถ้าจะให้วิเคราะห์ว่าที่เป็น ถ้าจะให้มองย้อนกลับไป อย่างแรกเลย น่าจะเป็นเรื่องกรรมพันธุ์แน่ๆ เพราะว่ามันมีส่วนจากตรงนี้ด้วย แล้วพี่สาวของคุณพ่อ ก็คือคุณป้าของเราเขาก็เคยเป็น แล้วเขาก็เสียชีวิตไปในช่วงวัยรุ่น 18-19 ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีการรักษาเหมือนสมัยนี้ เราก็โอเค ก็รู้แล้ว ที่บ้านก็บอกว่า เหมือนมันเป็นโรคที่ป้าเคยเป็น แต่ถ้ามันเป็นกรรมพันธุ์ พี่น้องเราทุกคนก็น่าจะมีเชื้อนี้ในร่างกายทุกคน แต่สำหรับตัวเรา เราคงคิดว่ามันน่าจะมีอะไรซักอย่างไปกระตุ้นในร่างกาย ซึ่งข้อแรกน่าจะเป็นโรคภูมิแพ้อย่างที่บอก ที่เราพ่นยามาตั้งแต่เด็ก อาจจะเป็นสารเคมีที่ติดตัวเรามาตั้งแต่นั้นมาเรื่อยๆ หรืออีกสมมุติฐานหนึ่ง น่าจะเป็นช่วง ม.ปลาย เรามีเรื่องกับอีกกลุ่ม ก็มีการตบตีกัน แล้วเราก็โดนรุม กลับบ้านไปก็ระบม ไข้ขึ้นเลย ซึ่งเรารู้เลยว่าข้างในบอบช้ำ ถึงขนาดเส้นเลือดในตาแตก โดนขนาดนั้นเลย แล้วเราต้องแทรกคาเท้าทุกคนเลย เหมือนในละครเลย เราเลยคิดว่าเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่มันช้ำอยู่ข้างใน มันคงไปกระตุ้น เพราะโรคนี้มันมาจากการกระตุ้นในร่างกาย หลังจากนั้นไม่ถึงเดือน ก็เริ่มเป็นโรคที่เริ่มเป็นโรค

“สำหรับการป่วยครั้งแรกนี้ ค่อยข้างเปลี่ยนตัวเองพอสมควรเลยค่ะ อย่างแรกเลย เรารักแม่มากขึ้น เพราะว่า แม่ดูแลเรา คือก่อนหน้านั้น เราจะเป็นเด็กดื้อกับแม่ แบบแม่โทรมาให้เรียนหนังสือนะ เราก็ฟังหูซ้าย ทะลุหูขวาไปงั้น แต่พอเราป่วย เราก็รู้สึกว่าท่านดูแลเรา คือมันเหมือนเห็นความสำคัญของเขาขึ้นมาเลย ก็กลับมารักเขา จากนั้นเรื่องพี่สาว จากที่เมื่อก่อนที่ทะเลาะกันมาก ประมาณว่าเกลียดกันเลยแหละ ก็กลายเป็น เขาก็กลับมารักเรา มันรู้สึกว่าเปลี่ยนแปลงทางความคิดกับครอบครัวมากเลยนะ แล้วก็อีกเรื่องคือ เหมือนเราได้อยู่กับตัวเอง ยิ่งช่วงที่เราได้อยู่บ้าน เรามีเวลาที่อยู่กับตัวเองเยอะมาก เหมือนเราได้คิดเห็นอะไรบางอย่างในเรื่องที่เราป่วย

อีกอย่าง เราก็ได้มีโอกาสที่ศึกษาธรรมะ คือบ้านเราเป็นเชื้อสายจีน เพราะฉะนั้น เรื่องเข้าวัดนี่คือไม่เคยเลย ตั้งแต่เด็กจนโต แทบจะน้อยมาก อย่างมากก็ไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ แล้วพอเราป่วย ก็จะมีคนพาไปวัด เราก็เลยเข้าสู่หมวดที่ว่า มันมีเรื่องการสวดมนต์ นั่งสมาธิ เราก็เริ่มแล้ว เริ่มจากการอยู่บ้านเฉยๆ จริงๆ เราไม่ตั้งใจที่จะเริ่มนั่งสมาธินะ แต่เราก็เริ่มทำ ซึ่งเราก็แปลกใจว่า จากที่เราไปโฟกัสที่ว่าเราป่วย พอเรานั่งสมาธิ มันทำให้เราสงบขึ้น พอหลังจากนั้น เราก็นั่งมาตลอด อยู่ว่างๆ ก็นั่งอัตโนมัติ เพราะว่าได้นั่งแล้วทำให้เราไม่ต้องคิดอะไร

“ภายใน 1 ปี เราคิดว่าโตขึ้นนะ เรื่องการเรียนนี่คือ มีการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือเลย จากที่เราเคยเรียนได้เกรดเฉลี่ย 2 กว่าๆ พอกลับไปเรียนใหม่ ได้ 4.00 ซึ่งทำให้เรารู้สึกแล้วว่า การนั่งสมาธิ มันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แล้วนะ คือมันเหมือนกับที่เราโฟกัสไปที่ครูสอนได้นานกว่าเดิม หรือการอ่านหนังสือในแต่ละครั้ง แค่ครั้งเดียวเราก็จำได้อัตโนมัติ แล้วอีกอย่าง จากที่เราเป็นเด็กที่ดื้อ เราสามารถเอนท์ติดเข้าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ได้ เป็นคนแรกของโรงเรียน จนทุกคนที่บ้านแปลกใจ แต่ก็ถือว่าเป็นความตลกร้ายเหมือนกันนะ ซึ่งถ้าเราไม่ป่วย เราอาจจะไม่ได้เข้าคณะนี้ก็ได้ คือถ้าได้ย้อนกลับไปนะ บางทีมันเหมือนกับโดนกำหนดมาแล้วหรือเปล่า คือมันแปลกมากเลย”

วิกฤตหนักของโรค
เป็นก้าวสำคัญของชีวิต

แม้ว่าเธอจะก้าวเข้าสู่การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยไปจนถึงจบการศึกษาแล้วก็ตาม แต่อาการของโรคที่เธอเป็นอยู่ก็กลับไม่ได้หายไปง่ายๆ ซ้ำร้ายยังคงเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ จนตามมาหลอกหลอนตัวเธออย่างไม่หยุดหย่อน ถึงขนาดที่ว่าทำให้เธอไม่รู้สึกตัวไปเป็นระยะเวลาพอสมควร จนทำให้คนใกล้ตัวของเธอนั้นต้องพลอยลุ้นไปกับเธอแบบใจจดจ่อไปด้วยกัน...

“แม้ว่าเราจะเข้ามหา’ลัย แล้ว แต่ก็ยังมีอาการป่วยอยู่ ยิ่งตอนรับน้อง เราก็โรคกำเริบเลย ตั้งแต่ ปี 1 ที่เข้าไป ตอนนี้อาการเริ่มมาแล้ว แต่คุณหมอเริ่มโอเค ช่วยขึ้นมาได้ ก็ถือว่าโชคดี แล้วหมอก็ว่าเหมือนกันค่ะ ว่าไม่ดูแลตัวเอง เราก็ร้องไห้เลยนะ ซึ่งเขาก็ห่วงแหละ ว่าอนาคตมันคืออะไร แต่เรายังไม่รู้ เราอาจจะคิดแค่ว่า เป็นโรคไตแล้วไง ยังไม่รู้ว่าอาการหนักมันคืออะไร เพราะอย่างมากของเราก็คือปวดข้อ เราก็ใช้ชีวิตของเรามาเรื่อยๆ ยังไม่รู้สึกว่ามันเป็นหนัก แต่ระหว่างเรียน มันก็กำเริบไป หมอก็ให้ยาไป อาการปวดข้อก็เป็นเรื่องปกติของเรา โดยลักษณะเราอย่างงี้ จะไม่ค่อยมีคนรู้เท่าไหร่ เว้นแต่เพื่อนในกลุ่มจะรู้ คือเวลาไปเรียนก็พยายามทำตัวปกติที่สุด

“แต่ช่วงปี 3 น่าจะเป็นช่วงที่คนอื่นเริ่มรู้แล้ว เพราะว่ามันกำเริบเยอะ คืออารมณ์เดิม กินยาเยอะ ผมร่วง บวม เราก็จะอายเหมือนเดิม ไปมหาลัยตอนเฉพาะมีคาบ หลังจากนั้น จะรีบกลับบ้าน เพราะเรารู้ว่า กิจกรรมคณะ น่าจะช่วยไม่ไหวแล้ว ก็ช่วยเท่าที่ช่วยได้ คงไปเอาดีด้านนั้นไม่ได้แล้ว เราเลยโฟกัสที่เรื่องเรียนมากขึ้น ปี 4 ก็ ทำไฟนอลโปรเจกต์ แล้วตอนนั้นเริ่มมีอาการ เริ่มเจ็บ เหมือนลงน้ำหนักไม่ได้ ก็เลยไปหาหมอ หมอก็บอกว่า หัวกระดูกสะโพกตาย เพราะว่าเป็นผลข้างเคียงจาก ยาสเตียรอยด์ที่เราทานมาหลายๆ ปี ตอนนั้นก็เดินแบบกระเผลกไปเรียน ถือไม้เท้าเหมือนคนขาหักไปเรียน ต้องขับรถไป เพราะว่านั่งรถสาธารณะไม่ได้แล้ว จนกระทั่งเรียนจบ เราก็เลยขอหมอว่า ขอสวยๆ หน่อย ก็เลยผ่าตัดเปลี่ยนสะโพก ก่อนรับปริญญา คือหมอดูเวลาแล้วมันทัน น่าจะพักฟื้นประมาณ 1-2 เดือน เองมั้ง คือวันไปรับ รู้สึกว่าใส่ส้นสูงแล้วยังไม่เข้าที่มาก แต่เราต้องไปแล้ว

“ชีวิตในช่วงนี้ อาจจะมีหลายๆ อย่าง เช่น มีการเครียดเรื่องเรียน แต่ผลกระทบที่ตามมา เราก็ยังรับได้นะ แค่เรื่องปวดข้อ แล้วไง ฉันชินแล้ว อาจจะมีเรื่องที่ผลเลือดออกมาแย่ เช่น เลือดต่ำ เกร็ดเลือดน้อย ก็อาจจะมีอาการเพลีย แต่เรารู้สึกปกติ หรือแค่ตื่นมาแล้วปวดหัว ก็ยังปกติ จนกระทั่งช่วงที่เปลี่ยนสะโพก ที่เราเริ่มรู้สึกว่า เหมือนอาการมันไม่ดีขึ้น เราคิดว่า อาจจะเป็นมาจากผลกระทบจากการผ่าตัดใหญ่ เพราะมันเหมือนกับตัดกระดูกแล้วใส่ข้อเทียมขึ้นมา หลังจากนั้นคือ มันเหมือนกำเริบขึ้นเรื่อยๆ จนมันไปลงที่ไตจริงๆ ซึ่งมันตรงกับช่วงที่ไปสมัครงาน พอจะหางานทำที่ไรก็เอาแล้ว เริ่มแย่แล้ว มันเริ่มมีอาการบางอย่างที่เราไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งอาการที่ว่าก็คือ ตื่นมาแล้วตาบวม ทุกอย่างบวมหมด เริ่มมีการถ่ายปัสสาวะบ่อย เริ่มมีอาการคันตามตัว ในที่สุดเรามันก็ไปลงที่ไตจริงๆ เนื่องจากผลมันโชว์แล้วว่าคุณเป็นโรคนี้ ซึ่งหมอก็บอกว่าเป็นถึงระยะที่ 3 แล้ว หลังจากนั้นเหมือนกับว่า เราก็รักษาแบบทางเลือก คือเหมือนพยายามรักษามาตลอด แต่ผลก็ไม่ดีขึ้นเลย

“พออาการหนักขึ้น การใช้ชีวิตก็เปลี่ยนตามไป เพราะโรคไตนี่คือ คุมจนไม่รู้ว่าจะคุมยังไง คือคุมอาหารแบบเคร่งมาก (เน้นเสียง) โอเคเรื่องกินเค็มก็เป็นเรื่องปกตินะ แต่ในเรื่องแร่ธาตุอื่นๆ ก็มีรายละเอียดเยอะแยะอีก ผักบางอย่างก็ห้ามกิน พวกขนมเบเกอรี่ก็ห้ามกิน หรืออย่างโปรตีนกินเยอะก็ไม่ได้ มันเลยทำให้ขาดสารอาหารในช่วงก่อนสอบ จนเป็นแบบไม่หาย มีแต่จะแย่ลง แล้วที่บ้านก็เริ่มเครียดแล้ว ประมาณว่า ถ้าลูกมาฟอกไตตอนอายุเท่านี้มันจะเป็นยังไง จนสุดท้าย เราก็เอาไม่อยู่เหมือนกัน เพราะว่ามีวันหนึ่งเกิดอาการไตวายเฉียบพลัน เกิดจากตอนนั้นไปต่างจังหวัดกับแม่ ซึ่งวันนั้นน่าจะเป็นช่วงที่จิตตกด้วย อาการคือ ความดันขึ้นมาถึง 200 กว่า คือเอายังไงก็เอาไม่อยู่ แล้ววันนั้นเราปวดหัวมาก ร้องไห้ไม่หยุด แถมอาเจียนไม่หยุด มันเหมือนกับธาตุจะแตก แรงดันในร่างกายมันพร้อมที่จะระเบิดแล้ว เราคิดแบบนี้เลย จนเราคิดว่าเราจะไปในวันนั้นเลยนะ จนเราสลบไปเลย ไม่รู้สึกตัวไป 3-4 วัน คือตื่นมาก็คือไม่รู้เรื่องเลย”

การป่วยครั้งนี้
คือจุดเปลี่ยนของความคิด

นับว่าการป่วยในครั้งนั้น ที่เกือบจะพรากชีวิตของตัวอัณณ์ชญาน์ไปจากครอบครัวและคนรอบข้างอันเป็นที่รักไป แต่ในมุมหนึ่งที่ยังมีทั้งครอบครัวและคนที่รักที่พร้อมเคียงข้างอยู่ตลอดเวลา ก็ทำให้ตัวเธอได้ฉุกคิดและเปลี่ยนแปลงความคิดของตัวเองที่ว่า จงใช้ชีวิตอยู่กับมันให้ได้ ร่วมกันต่อสู้ไปด้วยกัน และไม่หวั่นจะมีอุปสรรคอะไรก็ตาม...

“การป่วยในครั้งนั้นก็ใช้เวลาประมาณ 2-3 อาทิตย์ได้ค่ะ ซึ่งครั้งนั้น หมอบอกว่า มันไม่ใช่แค่ที่ไต แต่บอกว่า มันขึ้นสมองพร้อมกัน เพราะฉะนั้น เราฟื้นขึ้นมา มันเหมือนเป็นแผลที่สมอง แล้วเหมือนกับไปโดนระบบการมองเห็น เราฟื้นขึ้นมา นอกจากที่จะฟอกไตแล้ว การมองเห็นของเรายังเกิดภาพซ้อน ประมาณว่า เห็นคนตรงหน้าเป็นสองคน เราต้องหลับตาข้างหนึ่งเพื่อที่จะเห็นแบบปกติ พอาการเป็นแบบนี้ หมอก็เลยกินยากันชัก แล้วตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่ามันเป็นยากันชัก ประมาณว่าเป็นยาตัวใหม่เข้ามา แต่หมอไม่ได้บอกเราไง เราก็เลยชะล่าใจว่าไม่กินเพราะเดี๋ยวกลัวว่าไตจะทำงานหนัก ก็หยุดไป โดยที่ไม่รู้ว่าอันนั้นมันคืออะไร น่าจะออกจากโรงพยาบาลได้ไม่ถึงอาทิตย์ค่ะจนเรามีอาการชัก จากที่อาการตามที่บอกเมื่อกี้ กลับกลายเป็นว่ามีสิทธิ์เป็นอัมพาต เรียกว่าเคราะห์ซ้ำกรรมซ้อนมาก หมอบอกแม่ว่ามีสิทธิ์เป็นอัมพาตแล้วนะ เพราะว่ามันไปกระทบสมองแล้ว แม่ก็เลยกังวล แต่ปรากฏว่า เราฟื้นขึ้นมาแล้วไม่เป็น เป็นแค่กล้ามเนื้ออ่อนแรง แต่ก็ต้องทำกายภาพอยู่หลายเดือนเหมือนกัน กว่าจะกลับมาเดินได้ปกติ

“แต่ในระหว่างนั้นเราก็แย่ คือตั้งแต่ป่วยมา เรารู้สึกว่าเป็นช่วงที่จิตใจแย่สุดในชีวิตแล้ว ด้วยความที่มันเกี่ยวกับสมอง มันเหมือนเราปวดหัวตลอดเวลา แล้วเราไม่สามารถที่จะลืมตาได้อย่างเต็มที่ แถมยังมีอาการตามที่ว่ามาอีก แล้วก็นอนหลับไม่สนิทอีก ซึ่งถ้าคนที่อดนอนมากๆ มันจะทำให้เสียสติ มันคุมอารมณ์ไม่ได้ เราเป็นอย่างงั้นเลยนะ ทำทุกวิถีทางก็ทำไม่ได้ คือเป็นการทรมานมาก ถ่ายปัสสาวะก็ถ่ายไม่ออก อีกทั้งในลำไส้ เหมือนกับว่าตรวจอุจจาระแล้วเจอเลือด หมอเลยตัดเนื้อไปตรวจ ตัดเสร็จไม่เป็นอะไร แต่พอกลับมาที่บ้าน ปรากฏว่าเป็นอุจจาระเป็นเลือดเต็มเลย จนหมอบอกว่า แผลที่เขาตัด มันไม่ปิดทั้ง 5 จุด แล้วเลือดที่เราเหลือ มันคือครึ่งหนึ่งของคนปกติ ตอนหมอตรวจ หมอยังแซวเลยว่า โชคยังดีที่ไม่หัวใจวายไปก่อน ตอนนั้นคืออะไรก็ไม่รู้ เข้ามาเต็มที่เลย ก็เลยต้องไปส่องกล้องใหม่ แล้วเย็บ 5 แผลในลำไส้นั้น ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สุดๆ แล้ว ในชีวิตเรา มันทรมานสุดๆ

การป่วยครั้งนี้ น่าจะเป็นการเปลี่ยนความคิดของเราไปเลย จากที่เน้นเรื่องสวย คือเป็นเรื่องเล็กไปเลยสำหรับเรา ซึ่งตอนที่เราป่วยมากๆ เราได้กลับมาคิดว่า เราทรมานแบบนี้ มันไม่โอเคเลยว่ะ มันเป็นความคิดของเราหมดเลย มันเหมือนกับว่า เราไปต้านกับมันอยู่ ว่าฉันทรมานอยู่ ทำไมเป็นแบบนี้ แต่พอเราเห็นแม่ เห็นทุกคนที่อยู่ข้างๆ เรา แล้วเขาสู้ไปพร้อมกับเรา เราเลยเปลี่ยนความคิดว่า เราต้องสู้ด้วย คือถ้าเราไม่สู้แล้วอ่อนแอยอมแพ้ไปกับมัน เราจะรู้สึกว่าเราเป็นภาระ คือไม่ใช่แค่เราคนเดียวนะ เชื่อว่าคนป่วยทุกคนก็เคยคิดอย่างงี้

อย่างเวลาที่เราป่วยนานๆ จะมีความรู้สึกว่าเราเป็นภาระ ซึ่งเราคิดและพูดกับตัวเองในวันนั้นเลยว่า สู้ได้แล้ว ต้องแข็งแรงให้ได้ ต้องยอมรับในสิ่งที่แกเป็น ไม่ว่าจะยังไง ต้องสู้ ซึ่งจากชุดความคิดนี้ อย่างบางคนถ้าข้ามตรงนี้ไม่ได้ มีสิทธิ์ฆ่าตัวตายเลยนะ เราเข้าใจคนที่ซึมเศร้า แล้วหาทางออกไม่ได้ มันคือจุดที่ตัดสินใจว่า จะดิ่งต่อไป หรือตะพลิกกลับมาสู้ มันเหมือนว่าเป็น 2 ทางที่ให้เราเลือกเลยนะ เราเลยเลือกที่จะสู้ต่อ เพื่อที่วันหนึ่ง เราจะตอบแทนทุกคนที่อยู่ข้างเราให้ได้

ป่วยก็ตาย ไม่ป่วยก็ตาย
แนวคิดง่ายๆ ที่ดำเนินชีวิตต่อ

แม้ว่าอาการป่วยในปัจจุบันของอัณณ์ชญาน์ อาจจะไม่หายดีได้อย่างที่ใจต้องการนัก แต่เมื่อเธอได้ประสบการณ์ของความเจ็บป่วยต่างๆ มาทั้งชีวิต มาประยุกต์ใช้ในชีวิตของเธอต่อไป ซึ่งแนวคิดคติประจำใจที่ว่า ‘ป่วยก็ตาย ไม่ป่วยก็ตาย’ ที่นำมาใช้เป็นเครื่องเตือนใจให้กับตนเองนั้น ก็ยังคงนำพาให้เธอใช้ชีวิตต่อไปตามปกติสุข ที่มนุษย์ทุกคนบนโลกควรพึงมีอย่างไม่ย่อท้อต่อไป...

พอเรากลับมาแล้ว เราก็สามารถใช้ชีวิตได้โล่งขึ้น คือเราจะยังไม่หายซะทีเดียว แต่ว่าอะไรที่เข้ามา เราบอกตัวเองเลยว่า มาเลย มีอะไรเข้ามาอีกก็มา ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว แบบกึ่งรำคาญนิดๆ ซึ่งจากตอนแรกที่เรารู้สึกว่ากำลังเศร้า พอได้เปลี่ยนความคิดใหม่ นี่คือ จะเป็นอะไรอีกก็มาเลย ก็สู้กับมันไป คล้ายกับว่า ชุดความคิดที่เราแบกมันมามาหายไปเลย แล้วถ้าคนป่วยยังก้าวข้ามไม่ได้ ก็จะยังเป็นอาการอย่างที่บอก เมื่อไหร่ที่มันพลิกกลับมาแล้ว มันก็จะเป็นอีกเรื่องเลยนะ จากประสบการณ์ที่ป่วยหนักๆ มันกลายเป็นตัวที่สอนเราให้เราแบบปลง อยู่กับมันได้ ซึ่งถ้าอาการยังไม่หนัก ก็ยังจะมีแค่ห่วงสวย หลังจากนั้นมา เราก็ปรับตัวอยู่กับการฟอกไตมาเรื่อยๆ เป็นเวลา 4 ปีแล้ว อย่างคุณแม่ก็คือท่านยอมทิ้งทุกอย่าง เพื่อมาดูแลเรา อย่างเวลาที่ไปฟอกไตในแต่ละครั้ง จะใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง อาทิตย์ละ 3 ครั้ง คือแม่ยอมทิ้งงานมาดูแลเราเลย ทั้งทำกายภาพบำบัด อย่างเวลาที่เรามีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เขาพยุงเราเข้าห้องน้ำ อาบน้ำเช็ดตัวให้ เขาทำให้เราหมดเลย แล้วเราจะไม่สู้ได้ยังไง ไม่รักเขาได้ยังไง มันทำให้เราเห็นคุณค่าของเขาจริงๆ หลังจากนั้นก็ใช้ชีวิตในการฟอกไต ไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากทำเพจ

“ในเรื่องผลตอบรับ แม้ว่าในตอนนี้อาจจะไม่ค่อยมีคนกดไลค์เพจเราเยอะเท่าไหร่ แต่เรารู้สึกโอเคนะ ที่มีคนเข้ามาบอกว่าเราเป็นไอดอลของเขา หรือว่าเราเป็นกำลังใจให้เขา เป็นตัวอย่างที่สู้มาขนาดนี้ เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาเป็นมันน้อยไปเลย หรือบางคนก็จะเข้ามาแบบว่า มาถามถึงโรค SLE และ โรคไต ซึ่งเราถือว่ามีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้แล้ว ก็จะมีสองกลุ่มหลักๆ ที่เข้ามาตลอด ประมาณว่า ต้องปฎิบัติตัวยังไง กินอาหารยังไง ซึ่งเราก็บอกเท่าที่เราจะบอกได้ เพราะเราก็ดื้อมาเยอะอย่างที่บอก (หัวเราะเบาๆ) คือเราก็ไม่กล้าฟันธงเหมือนกัน แต่เราก็ให้ไปเท่าที่จากประสบการณ์ที่ตัวเองดื้อมา ว่าอย่าทำอย่างงี้นะ เดี๋ยวจะเป็นแบบนี้นะ ซึ่งสุดท้ายเราก็ลงท้ายไปว่า ยังไงก็ต้องปรึกษาคุณหมอก่อนอยู่ดี

ถ้าถามว่า การทำเพจนี้มันเหมือนกับการเยียวยาตัวเราเองด้วยมั้ย เรารู้สึกว่ามันได้แบบทางอ้อมนะ อย่างเช่น เวลาที่เราไปให้กำลังใจคนอื่น ทุกครั้งก็จะเห็นว่า เวลาที่เราจะโพสอะไร ทุกคนก็จะมาโพสพอกเราว่า สู้ๆ นะครับ นะคะ ซึ่งเราตั้งใจจะให้กำลังใจคนอื่นนะ แต่กลายเป็นว่า พวกเขาเหล่านั้น ตั้งใจมาให้กำลังใจเราแทน ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ดี และก็ขอบคุณทุกคนที่มาหาเราตรงนี้ ประมาณว่า ต่างฝ่ายต่างเยียวยาซึ่งกันและกัน ทั้งๆ ที่เราไม่ตั้งใจจะให้เป็นแบบนั้น แต่มันทำให้เราดีใจ ที่ทุกคนเข้ามาประมาณว่า ‘พี่ทำให้หนูสู้ขึ้นมาได้’ ประมาณนี้ ซึ่งทำให้เราดีใจมาก เหมือนประมาณว่าให้สู้ไปด้วยกัน ซึ่งเราถือว่าเป็นคำที่ปกติสำหรับเราเลย มันเป็นประโยคที่ว่า ไม่ได้เดินลำพังอยู่คนเดียว เขายังมีเรา รวมถึงทุกคนที่อยู่ในเพจ ซึ่งไม่ใช่มีแค่เขาคนเดียว ยังมีผู้ป่วยคนอื่นที่เป็นหนักกว่าเขาอีกเยอะเลยนะ เราจะบอกเขาเสมอ ซึ่งถึงแม้ว่าเราจะเบื่อคำว่าสู้ๆ นะ แต่สำหรับคนที่เขาต้องการก็ยังมี อย่างบางคนครอบครัวเขาไม่เข้าใจในโรคที่เขาเป็น จะโดนมองว่า เป็นภาระ ใช้เงินเยอะ ซึ่งเขาไม่รู้ว่าจะไปปรึกษาใคร เรารู้สึกว่าเพจของเรามันเป็นเพจทางใจนะ มันไม่ใช่เพจความรู้นะ เพราะเราตั้งใจให้เพจของเราเป็นเพจทางใจของทุกคน

“จากอาการป่วยที่เราเผชิญมาทั้งชีวิต มันได้ให้แง่ยังไงบ้าง (นิ่งคิด) จริงๆ มันมีหลายอย่างนะ อย่างแรก เราอยากจะบอกคนที่มีสุขภาพที่ดีก่อนว่า อยากให้เขาเห็นความสำคัญจากตรงนี้ อยากให้เขารักษาไปนานๆให้ได้มากที่สุด และอย่าให้เขาชะล่าใจ เพราะว่า พอเราป่วยปุ๊บ ทุกอย่างที่เราคิดและฝันไว้ คุณจะทำไม่ได้เลยนะ ถ้าคุณป่วย อยากให้เห็นตรงนี้มากๆ เนื่องจากถ้าร่างกายแข็งแรง ก็ใช้ชีวิตไปเลย แล้วลืมฉุกคิดไป แล้วถ้าวันหนึ่งหมอมาบอกว่าเป็นมะเร็งจะอยู่ได้แค่อีก 2 เดือน หรือ ถ้าวันพรุ่งนี้คุณเกิดประสบอุบัติเหตุ เดินไม่ได้ขึ้นมา คุณจะรู้สึกยังไง หรือเรื่องเวลาก็สำคัญ เราว่าต้องเห็นคุณค่าของเวลาด้วย ในทุกนาทีที่เราใช้ชีวิตอยู่ แล้วก็อีกเรื่อง คือเรื่องครอบครัว เราคิดว่า เราเป็นอีกคนหนึ่งที่เคยชะล่าใจมาก่อน เพราะว่าตอนเด็กๆ เราไม่เคยให้ความสำคัญในเรื่องนี้เลย ซึ่งถ้าเราไม่ป่วย เราก็คงไม่รักแม่และคนรอบข้างขนาดนี้ คือเวลาที่เราป่วย เราจะเห็นจริงๆ ว่า คนที่อยู่ข้างๆ เราจริงๆ ก็คือครอบครัว และคนที่เรารักจริงๆ ซึ่งถ้าเขาไม่รักเราจริงๆ เขาคงทิ้งเราไปแล้ว ก็คืออยากให้เห็นความสำคัญตรงนี้ด้วย

“หรือแล้วเรื่องคนป่วย ที่บอกว่าให้สู้ เราอยากให้มองในแง่ดี ซึ่งเรารู้แหละว่าความป่วยมันทุกข์ทรมานมากๆ แต่การที่เราจะอยู่กับมันได้ เราคิดว่าต้องหาข้อดีของมันให้เจอ โอเค เราอาจจะจมปลักว่าฉันทุกข์ ซึ่งมันก็มีการคิดแบบนี้ทุกคน แต่การที่เราจะอยู่กับมันได้ เราต้องหาข้อดีของมันให้เจอ จากประสบการณ์ที่เราป่วยมานะ เรารู้เลยว่า ความป่วยมันสอนอะไรให้เราได้เยอะกว่าความสุขอีก เพราะความสุขมันอยู่กับเราได้ทุกวัน แถมความสุขมันทำให้เราหลงด้วยนะ แล้วความทุกข์ล่ะมันสอนเรานะ อย่างแรก ง่ายๆ เลย ในเรื่องความอดทน ลองสังเกตคนป่วยสิว่าจะอึดมาก อดจนด้านแล้ว อย่างที่สองคือ ทำให้เราคิดบวก คือเหมือนมองว่าให้เราคิดบวกให้ได้ ว่าเราจะใช้ชีวิต เราต้องคิดบวกให้ได้ ซึ่งบางครั้ง เราจะรู้สึกว่า เราโชคร้ายที่มาป่วย แต่พอมองมุมกลับ เราอยากให้ทุกคนที่กำลังคิดอย่างงี้อยู่ อยากให้ทุกคนมองว่า ให้มองที่เขาเป็นหนักกว่าเรา คนที่เขาป่วยกว่าเรา คนที่เขาไม่มีโอกาสในการรักษาเท่าเรา เราอยากให้มองตรงนั้น ง่ายๆ เลย อยากให้มองคนที่ป่วยแบบสูญเสียอวัยวะไป คือให้มองคนที่เขาเป็นหนักกว่าเรา แล้วเราจะรู้สึกว่าเราโชคดีแล้วที่อยู่ได้ทุกวันนี้ ให้มองตรงนี้ แล้วเราจะมีกำลังใจในการสู้ขึ้นมา

“แล้วอย่างสุดท้ายก็คือ เราจะมีคติประจำใจของเราคือ ป่วยก็ตาย ไม่ป่วยก็ตาย ซึ่งประโยคนี้เราไม่แน่ใจว่าได้มาได้ยังไง แต่เรารู้สึกว่า คำนี้มันเป็นคำที่กระตุกเรา ในเวลาที่เราท้อเลยนะ ซึ่งบางช่วงเวลาเราก็เคยท้อเหมือนกัน แต่พอเวลาที่เรานึกถึงคำนี้ออกมา เราก็มีความรู้สึกปลงตลอด แล้วประโยคนี้มันทำให้เรายอมรับกับความป่วยที่ตัวเองเป็นอยู่ทุกวันนี้ ว่าเราอยู่กับมันอย่างมีความสุขเลย แล้วคำถามที่เราหรือทุกคนที่เคยมีมาว่า ทำไมถึงต้องเป็นตัวเรา มันตัดไปเลยนะ เพราะคำพวกนี้มันทำให้เราเป็นทุกข์มากขึ้น อย่างก่อนหน้านี้ เราถามในสิ่งนี้ทุกวัน แล้วเราก็ร้องไห้ทุกวัน มันหาคำตอบไม่ได้ แต่สุดท้าย ถ้าเรายอมรับมันได้ คำถามนี้มันลบไปเลย แล้วเราก็จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขถึงแม้ว่าจะป่วยก็ตาม (ยิ้ม)”
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช



กำลังโหลดความคิดเห็น