xs
xsm
sm
md
lg

บาทหลวงคนดังทำพิลึก!ปัดฝุ่นพระราชสาสน์ถึงพระนารายณ์เมื่อ ๑๐ ปีก่อน มาถวายพระเพทราชา!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

บาทหลวงตาชาร์ด
ก่อนสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เจ้าพระยาวิชเยนทร์ได้ผลักดันให้บาทหลวงตาชาร์ด เป็นราชทูตสยามไปเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ จนสำเร็จ และพระเจ้าหลุยส์ได้มอบให้นำพระราชสาสน์มาถวายตอบสมเด็จพระนารายณ์ แต่ก่อนจะเดินทางออกจากฝรั่งเศสก็ทราบว่าสมเด็จพระนารายณ์สวรรคตแล้วและกำลังมีปัญหาภายใน จึงงดการเดินทาง บาทหลวงตาชาร์ดก็ยังคงเก็บพระราชสาสน์นั้นไว้ รวมทั้งเงินเหรียญ ๓๐ เหรียญที่พระเจ้าหลุยส์พระราชทานให้แก่คณะบาทหลวงเยซูอิตสำหรับติดตัวไปเมืองไทย แม้จะถูกทวงคืนบาทหลวงตาชาร์ดก็ไม่ยอมคืนให้ อ้างว่าจะต้องใช้ในภายหน้า

แสดงว่าบาทหลวงตาชาร์ดยังหวังว่าจะกลับมากรุงศรีอยุธยาอีก แม้ขณะนั้นบาทหลวงในกรุงศรีอยุธยาจะถูกจับขังคุกกันเป็นขบวน ต่อมาบาทหลวงตาชาร์ดได้อาศัยเรือรบฝรั่งเศสเดินทางมาที่เมืองปอนดิเชอรีในอินเดียเพื่อหาข่าวคราวทางกรุงศรีอยุธยา จนเมื่อฮอลันดายึดเมืองปอนดิเชอรีจากฝรั่งเศสได้ บาทหลวงตาชาร์ดก็หนีมาเมืองมะริด และมีจดหมายมาถึงพระยาพระคลังว่า

“บาทหลวงตาชาร์ดกลับมาอีกแล้ว เพื่อจะได้มาจัดการให้พระราชไมตรีในระหว่างสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองและประเทศทั้งสอง ได้สมานติดต่อกันอย่างเดิมต่อไป”

แต่ฝ่ายไทยก็ไม่ให้ความสนใจ ต่อมาอีก ๒ ปี คือเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๒๓๙ บาทหลวงตาชาร์ดได้ส่งจดหมายมาถึงพระยาพระคลังอีกฉบับ มีความว่า

“ศัตรูของประเทศสยามและประเทศฝรั่งเศสได้ขัดขวางต่อความคิดของข้าพเจ้า แต่ถึงไทยไม่ยอมรับรองข้าพเจ้า ก็หาเป็นการกระทำให้ข้าพเจ้าท้อถอยไม่ แต่กลับทำให้ความรักและความจงรักภักดีของข้าพเจ้าต่อพระเจ้ากรุงสยามผู้ทรงอานุภาพกลับมากเพิ่มพูนยิ่งกว่าเก่าเสียอีก”

จดหมายฉบับนี้ยังมีคำคล้ายข่มขู่ด้วยว่า

“ไม่ช้ากองทัพเรือของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสทั้งหมดจะได้มาถึงอยู่แล้ว
แต่ข้อความนี้กลับทำให้พระยาพระคลังเข้าใจว่า เรือรบฝรั่งเศสได้เชิญพระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ มาตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติกัน จึงมีจดหมายตอบกลับไปว่า

“ข้าพเจ้าได้นำความกราบทูลให้พระเจ้าแผ่นดินนายของข้าพเจ้าทรงทราบว่า ท่านได้มาถึงแล้ว พระเจ้ากรุงสยามนายของข้าพเจ้าทรงนับถือและรักใคร่สมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสมาก จึงได้มีพระราชดำรัสสั่งให้ข้าพเจ้าเตรียมการรับพระราชสาสน์ตามแบบแผนราชประเพณีโบราณทุกประการ เพราะฉะนั้น การที่จะให้พระราชไมตรีในระหว่างพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองได้คงมีและเพิ่มพูนขึ้นนั้น ก็ต้องยึดเอาความไหวพริบและความรอบคอบของท่านเป็นหลักต่อไป”

บาทหลวงตาชาร์ดจึงไปงัดเอาพระราชสาสน์ที่เขียนไว้เมื่อ พ.ศ.๒๒๓๐ เพื่อถวายสมเด็จพระนารายณ์นั้นมาปัดฝุ่น และดูข้อความในพระราชสาสน์แล้วก็ไม่ปรากฏข้อความเฉพาะพระองค์ใด คำยอพระเกียรติก็ไม่ได้ระบุพระนามสมเด็จพระนารายณ์ บาทหลวงตาชาร์ดจึงติดต่อ เชอวาเลีย เดอ โซเยีย ผู้บังคับการกองเรือรบฝรั่งเศสในอ่าวเบงกอล และอ้อนวอนอยู่หลายหน โซเยียจึงยอมให้เรือรบลำ ๑ มีปืนใหญ่ ๕๒ กระบอก พาบาทหลวงตาชาร์ดไปเมืองไทย โดยเชิญพระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ไปด้วย แต่ไม่มีเครื่องราชบรรณาการแต่อย่างใด
ทางฝ่ายไทยก็คงสงสัยการมาของบาทหลวงตาชาร์ดครั้งนี้เหมือนกัน การต้อนรับจึงไม่สมศักดิ์ศรีราชทูตผู้ถือพระราชสาสน์ เช่นเมื่อเรือมาถึงปากน้ำก็ไม่ได้จัดขบวนเรือไปต้อนรับอย่างครั้งก่อนๆ แต่การถวายพระราชสาสน์ก็ยังพิธีเช่นเดิม
พระเพทราชาได้มีพระราชสาสน์ตอบพระราชสาสน์ค้าง ๑๐ ปีของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ลงวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๒๔๑ แต่ถ้อยคำที่ใช้เป็นถ้อยคำสามัญหาแก่นสารไม่ได้ และไม่มีเครื่องราชบรรณาการไปเหมือนกัน

บาทหลวงตาชาร์ดอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ๓ สัปดาห์อย่างเหงาๆก็กลับออกไป โดยไม่มีผลใดๆเกิดขึ้น แม้แต่บาทหลวงฝรั่งเศสที่ถูกพระเพทราชาจับขังก็ยังคงต้องทนทุกข์ทรมานต่อไป ไม่ได้ทำความสัมพันธ์ของไทยกับฝรั่งเศสดีขึ้นเลย มองซิเออร์โบรด์ ซึ่งเป็นผู้จัดการคณะบาทหลวงในเมืองไทยแทนสังฆราชเดอเมเตโลโปลิศที่ถึงแก่กรรมเพราะถูกจับขัง ได้บันทึกความเห็นไว้ว่า ถ้าฝรั่งเศสต้องการจะทำความตกลงกับไทยเพื่อประโยชน์แก่ศาสนาแล้ว ก็ต้องมอบให้ผู้อำนวยการของบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสจัดการจึงจะเป็นผลสำเร็จ เพราะฝ่ายไทยต้องการแต่บุคคลซึ่งจะมาเจรจาด้วยการค้าขายอย่างเดียวเท่านั้น ไม่สนใจเรื่องศาสนาเลย

นี่ก็เป็นบทบาทของบาทหลวงฝรั่งเศสคนสำคัญ คู่คบคิดกับคอนสแตนติน ฟอลคอนที่จะยึดเมืองไทยให้ได้ และมีบทบาททางการเมืองอย่างมากในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ จนได้เป็นราชทูตคนสุดท้ายของสมเด็จพระนารายณ์ที่ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔


กำลังโหลดความคิดเห็น