xs
xsm
sm
md
lg

ความดังของโกษาปาน น.ส.พ.ฝรั่งเศสลงข่าวกระหึ่ม! มารยาทไทยงดงาม วาจาอ่อนหวานประทับใจ!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ภาพเขียนราชทูตสยามเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส
เป็นที่ทราบกันดีว่า ในประวัติศาสตร์ไทยยังไม่มีราชทูตคนไหนเด่นดังเท่าโกษาปาน ไม่เฉพาะแต่ในสยาม ในฝรั่งเศสขณะที่โกษาปานปฏิบัติหน้าที่ในฐานะราชทูตสยามนั้น ก็กระหึ่มไปทั้งเมือง ไม่ว่าจะไปที่ใดก็มีผู้คนมาคอยต้อนรับและชื่นชมในกิริยามารยาทแบบไทยๆ โดยเฉพาะวาจาไม่ว่าจะกล่าวเรื่องใดก็ไพเราะหวานหูน่าฟัง หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสจดไปพิมพ์เผยแพร่ด้วยความประทับใจ
ไม่เพียงแต่ข้าราชสำนักฝรั่งเศสจะแปลกใจในความเฉลียวฉลาดของราชทูตสยามเท่านั้น ประชาชนทั่วไปตลอดจนหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส ยังชื่นชมในมารยาทและวาจาของราชทูตสยาม

บาทหลวงเดอชัวซีผู้นำราชทูตคณะโกษาปานไปฝรั่งเศส และคุ้นเคยกับโกษาปานมาก ได้ยืนยันว่า โกษาปานมีไหวพริบพูดจาว่องไว ใครยอมาก็ยอตอบอย่างน่าฟัง ดอนโน เดอ วีเซ บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์แมร์คูร์ ซึ่งติดตามคณะโกษาปานมาตลอดตั้งแต่ขึ้นฝั่งที่เมืองเบรสต์ ได้คัดเอาคำเฉียบแหลมของราชทูตไทยไปลงพิมพ์ไว้ในหนังสือพิมพ์แมร์คูร์ประจำเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๖๘๖ และมกราคม ๑๖๘๗

มหาวิทยาลัยเดซ์เบลเลตร์ ได้ทำเหรียญเพื่อเป็นเกียรติแก่ราชทูตสยาม ในเหรียญนั้นทำเป็นรูปพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ประทับอยู่บนพระโทรน ใต้พระโทรนบนคั่นล่างสุดมีราชทูตสยามสามคนแต่งตัวอย่างแบบตะวันออกหมอบเฝ้าอยู่ และเจ้าพนักงานราชสำนักฝรั่งเศสยังได้เขียนรูปราชทูตเป็นรูประบายสีติดไว้ในห้องพระราชวังแวร์ซายน์ อีกทั้งยังมีคนแต่งหนังสือหลายเล่ม กล่าวถึงการรับรองต่างๆที่ทางการฝรั่งเศสได้จัดรับราชทูตสยาม รวมทั้งได้เล่าเรื่องราชทูตไปเที่ยวที่ต่างๆ บรรยายถึงธรรมเนียมการแต่งกาย วิธีดื่มน้ำและรับประทานอาหารของราชทูต ตลอดจนราชทูตสยามทำท่าทางกิริยาอย่างไรก็บรรยายไว้หมด และไม่ว่าราชทูตจะกล่าวเรื่องใดก็เอามาลงในหนังสือด้วยความชื่นชม บางทีราชทูตไม่ได้พูด แต่พวกแต่งหนังสือได้เขียนเอาเองและอ้างว่าเป็นคำของราชทูตสยามก็มี

หนังสือพิมพ์ชื่อแมร์คูร์ซึ่งลงข่าวอย่างละเอียด ทั้งเล่มเต็มไปด้วยเรื่องของราชทูตสยาม ก็เพราะเป็นเรื่องที่คนทั่วไปอยากรู้กันมาก

เมื่อวันที่ ๑ เดือนกันยายน ค.ศ. ๑๖๘๖ (พ.ศ. ๒๒๒๙) พระเจ้า หลุยส์ที่ ๑๔ ได้เสด็จออกให้ราชทูตสยามเข้าเฝ้าที่ท้องพระโรง ในครั้งนี้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ได้ทรงฉลองพระองค์พื้นทอง ประดับเพชรเมล็ดใหญ่ทั้งพระองค์ ในเวลาที่เสด็จออกนั้น ราชทูตสยามได้อยู่ใต้พระโทรน จนถึงเวลาที่ราชทูตจะถวายพระราชสาน์สของสมเด็จพระนารายน์ ราชทูตสยามจึงได้ขึ้นไปบนโทรนจนถึงคั่นที่สุด เพื่อถวายพระราชสาน์ส ราชทูตสยามได้แสดงกิริยาอย่างเคารพนบนอบ เมื่อถวายพระราชสาน์สเสร็จแล้ว ก็ได้เดินถอยหลังจนสุดท้องพระโรง เพราะการที่ราชทูตจะหันหลังให้แก่พระเจ้าแผ่นดินนั้นเป็นการมิบังควร แล้วราชทูตสยามจึงได้กราบทูลยกย่องยอพระเกียรติ์พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔

ตอนหนึ่งของคำกราบบังคมทูล โกษาปานได้กล่าวว่า

“ชีวิตของพวกข้าพเจ้าสั้นนัก และโลกนี้ก็เล็กนัก เพราะฉนั้นจะป่าวร้องถึงพระเกียรติยศเกียรติคุณ ตามที่พวกข้าพเจ้าได้แลเห็นนั้นไม่ได้ ของต่างๆที่พวกข้าพเจ้าได้มาพบเห็นนั้น ยากที่พวกข้าพเจ้าจะจดจำไว้ทั้งหมดได้ เพราะฉนั้นเมื่อได้พบได้เห็นสิ่งไร พวกข้าพเจ้าจึงต้องจดไว้เป็นตัวหนังสือให้เป็นหลักฐานต่อไป”

นอกจากการกล่าวยอพระเกียรติต่อพระพักตร์แล้ว โกษาปานยังได้ไปสปิชในที่อื่นๆอีกถึง ๑๖ ครั้งในวันเดียวกัน คือไปยอพระเกียรติเจ้านายในพระราชวงศ์ทั้งผู้หญิงและผู้ชายอีกหลายองค์ด้วย

คำกล่าวของราชทูตสยามในที่ต่างๆนี้ ได้มีการแปลพิมพ์เผยแพร่ให้คนทั้งหลายได้เห็นว่า เป็นคำกราบทูลที่ไพเราะน่าฟัง ซึ่งไม่ได้เหมือนกันหรือซ้ำคำจนครั้งเดียว ทำให้เห็นว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่หาคำใช้ได้ไม่สิ้นสุด ซึ่งชาวฝรั่งเศสได้ชมเชยวาจาอันไพเราะของราชทูตสยามเป็นเสียงเดียวกัน

จนกระทั่งถึงวันทูลลากลับ โกษาปานยังได้กราบบังคมทูลด้วยสุนทรพจน์อันเป็นที่จับจิตจับใจพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ และบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นสูงซึ่งเข้าเฝ้า จนถึงกับขอทำสำเนาออกแจกจ่ายกัน โกษาปานได้กล่าวอย่างยืดยาว โดยกราบทูลในเบื้องต้นว่า

“เกล้ากระหม่อมมาเฝ้าทีไรให้เบิกบานเป็นล้นพ้น อยากจะชมพระบารมีอยู่นานๆ มิใคร่จะออกเฝ้า แต่จำเป็นจำใจที่ต้องตัดอาลัย โดยนึกหักใจเสียว่าไม่กี่วันก็จะได้กลับเข้าเฝ้าอีก แต่เข้าเฝ้าถวายบังคมลาในครั้งนี้ให้รู้สึกใจหายมิรู้วายเลย เพราะแต่วันนี้เป็นต้นไป ใครอาจจะพยากรณ์ได้ว่าโชคลาภอันประเสริฐจะเวียนมาอีกเมื่อไร บางทีตลอดชีวิตก็จะมิประสบเสียเลย ในการที่จะต้องเหินห่างฝ่ายุคลบาทในครั้งนี้ เห็นมีอยู่ทางเดียวที่พอจะบรรเทาความโศกได้ คือให้นึกถึงความปิติยินดีที่มีต่อเกล้ากระหม่อมในเวลาที่กลับถึงเมืองไทยแล้ว และเข้าไปเฝ้าพระเจ้ากรุงสยามอธิบายให้ทราบว่า พระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสทรงประกอบด้วยฤทธิ์เดชศักดานุภาพมเหาฬาร และทรงกอรปด้วยพระเมตตากรุณาภาพและพระปรีชาญาณอันสุขุมคัมภีรภาพลึกซึ้งเท่าใด เมื่อทรงทราบในพระบุญฤทธิกฤษฎาภินิหารของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสแล้ว หากว่าพระเจ้ากรุงสยามจะมีรับสั่งใช้ให้เกล้ากระหม่อมมาเจริญพระราชไมตรีในเมืองฝรั่งเศสอีก เป็นความสัตย์จริงอย่าว่าแต่จะยินดีกลับมาแต่ลำพังเลย ยังยินดีพาบุตรภรรยามาอยู่ประจำแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรด ยิ่งนานปียิ่งดี ขอฝ่าพระบาททรงทราบด้วย”

เมื่อราชทูตสยามได้กล่าวทูลลาทั้งหมดจบแล้ว พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ได้มีพระราชดำรัสตอบตอนหนึ่งว่า

“...การที่พระเจ้ากรุงสยามทรงพระประสงค์ที่จะผูกไมตรีกับเราเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสนี้ ไม่มีสิ่งใดอาจช่วยให้สำเร็จได้สะดวกเท่ากับการที่พระองค์ทรงเลือกขุนนางไทยที่มีอัธยาศัยและความสามารถในราชการส่งมาปรึกษาการเมืองตรงต่อเราทีเดียว และราชกิจอันนี้พระองค์ก็ทรงกระทำสมใจเรานึกอยู่แล้ว

อนึ่ง ว่าแต่การที่พระองค์ทรงเลือกสรรราชทูตส่งมายังเราคราวนี้อย่างเดียว ก็เป็นพยานอ้างไปถึงพระปรีชาญาณอันสุขุมของพระองค์ดีกว่าคำกล่าวเล่าลือใดๆ เรามาสังเกตดูลักษณะมารยาทแห่งราชทูตของพระองค์นี้ รู้สึกว่าเป็นคนรอบคอบรู้จักปฏิบัติราชกิจของพระองค์ถ้วนถี่ดีมาก หากเราจะมิฉวยโอกาสนี้เพื่อเผยแพร่ความชอบแห่งราชทุตของพระองค์บ้าง ก็จะเป็นอยุติธรรมไป เพราะราชทูตได้ปฏิบัติถูกใจเราทุกอย่าง โดยแต่น้ำคำที่พูดออกมาทีไรแต่ละตำๆ ดูก็น่าปลื้มใจและน่าเชื่อทุกคำ ต่อเมื่อเรามาได้ยินได้ฟังคำกล่าวของราชทูต จึงได้หยั่งรู้ในน้ำพระทัยของพระองค์ชัดเจนว่าพระองค์ทรงไว้พระทัยเราสักเพียงใด เลยเป็นเหตุบันดาลให้เราเองนึกอยากตอบสนองพระราชไมตรีจิตของพระองค์นั้นโดยมิพักจะต้องระวังหน้าระวังหลังชั่งดูน้ำพระทัยของพระองค์เสียก่อน กลับเป็นที่ยินดีอยากผูกไมตรีกับพระองค์ยิ่งเร็วเป็นยิ่งดีสำหรับทั้งสองพระนคร...”

นี่คือความสำเร็จของการทูตไทยเมื่อ ๓๐๐ กว่าปีมาแล้ว และเป็นแบบฉบับของการทูตในวันนี้
เหรียญที่ระลึกที่มหาวิทยาลัยเดซ์เบลเลตร์ทำขึ้น
โกษาปานในภาพเขียนแต่ละจินตนาการของจิตรกร


กำลังโหลดความคิดเห็น