ในคราวที่ ลาลูแบร์ กับ เซเนเรต์ เป็นราชทูตคณะที่ ๒ จากพระเจ้าหลุ่ยส์ที่ ๑๔ มากรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ.๒๒๓๑ พร้อมกับนำทหารฝรั่งเศสในบังคับบัญชาของรายพลเดฟาซ์จ มาด้วยนั้น ได้ให้นำอาวุธสำคัญเข้ามาด้วย คือปืนใหญ่กระสุนแตกที่มีประสิทธิภาพสูง ยิงถูกตรงไหนก็กระจุยไปรอบทิศ และมีทหารปืนใหญ่ประจำปืนมาด้วย ๑๐ นายในบังคับบัญชาของ มองซิเออร์ดูลาริก พร้อมกับรับสั่งมาด้วยว่า ถ้าเรือจะกลับไปเมื่อใดให้นำทหารหน่วยนี้กลับไปด้วย ไม่ต้องประจำอยู่ที่ป้อมบางกอกเหมือนทหารของนายพลเดอฟาซ์จ แต่คอนสแตนติน ฟอลคอนอยากได้ปืนนี้ไว้ใช้มาก จึงตีความรับสั่งว่า “ให้ทหาร ๑๐ คนกลับไป ไม่ได้รับสั่งถึงปืน” จนเกิดปะทพคารมกับราชทูตฝรั่งเศสอย่างรุนแรง
วิชเยนทร์มองเห็นการณ์ไกล ถ้าเขาเอาปืนนี้ไว้ให้อยู่กับกองทหารของนายพลเดฟาร์จซึ่งเกลี้ยกล่อมและปรนเปรอจนอยู่ในคาถาแล้ว แม้นายพลเดฟาร์จจะมีทหารอยู่ไม่มาก แต่ทหารไทยคงจะลำบากแน่ถ้าจะต้องสู้กับปืนใหญ่กระบอกนี้ และถ้าสิ้นสมเด็จพระนารายณ์แล้ว ฟอลคอลก็คงจะทำความฝันให้เป็นจริงได้ไม่ยาก ด้วยเหตุนี้ฟอลคอนโดยมีบาทหลางตาชาร์ด ซึ่งมีบทบาทสำคัญในตอนนั้นและร่วมแผนกับฟอลคอนอย่างเต็มตัว จึงดึงดันที่จะตีความรับสั่งว่าให้ถวายปืนใหญ่นี้แก่พระเจ้ากรุงสยาม แต่ราชทูตทั้งสองคัดค้านอย่างเต็มที่
สมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงสนพระทัยในปืนใหญ่กระบอกนี้เช่นกัน มีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรการยิง ฟอลคอนจึงขอให้นายพลเดฟาช์จนำปืนใหญ่จากป้อมบางกอกหนึ่งกระบอกพร้อมลูกแตก ๓ ลูก ไปยิงให้ทอดพระเนตรที่ลพบุรี นายพลเดฟาช์จก็ว่าง่ายแม้ปืนใหญ่นี้จะไม่ได้อยู่ในบังคับบัญชาของตัว
เมื่อราชทูตทั้งสองทราบเรื่องจึงคัดค้าน ไม่ยอมให้เอาปืนใหญ่และลูกแตกออกจากเรือ ครั้นฟอลคอนได้ทราบว่าปืนใหญ่ยังอยู่ในเรือก็โกรธมาก มีหนังสือถึงราชทูตว่า
“ขอให้ท่านราชทูตได้ตรึกตรองดูให้ดี ว่าการที่ราชทูตอันได้รับอำนาจมาจากพระเจ้าแผ่นดิน และมาสัญญากับพระเจ้าแผ่นดินอีกองค์หนึ่งซึ่งเป็นสัมพันธมิตรกัน และราชทูตนั้นจะมาทำเล่นเช่นนี้จะสมควรหรือไม่”
แต่ถึงฟอลคอนจะตัดพ้อต่อว่าสักเพียงไรและมีบาทหลวงตาชาร์ดช่วยสนับสนุน ก็มิได้ทำให้ราชทูตฝรั่งเศสยินยอม ฟอลคอนเห็นว่าการที่มีจดหมายไปนั้นไม่เป็นผล จึงไปหาด้วยตัวเองและต่อว่าด้วยปาก ราชทูตเซเบเรต์ก็บอกให้รู้ว่า
“จะต้องรู้จักเลือกว่าของสิ่งใดที่ได้ส่งมาถวายพระเจ้ากรุงสยามชั่วคราว แลของสิ่งใดที่ส่งมาถวายสำหรับประจำอยู่ในเมืองนี้ เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่า เรือ ทหารปืนใหญ่ และปืนใหญ่ เป็นของที่ส่งมาถวายชั่วคราวเท่านั้น”
ฟอลคอนได้ฟังก็ถึงจุดเดือด หันไปสั่งนายทหารซึ่งอยู่ในที่นั้นให้ทำตามพระราชโองการของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ราชทูตเซเบเรต์จึงพูดขึ้นว่า
“ไม่มีแบบอย่างไรเลยที่นายทหารจะออกคำสั่งโดยพลการตนเอง แต่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับการ เพราะผู้บังคับการได้รับคำสั่งมาจากพระเจ้าแผ่นดินแล้ว”
ฟอลคอนก็โกรธจนสติแตก ร้องตะโกนด้วยเสียงอันดังว่า ไม่ต้องการเอาพวกฝรั่งเศสที่ไม่ทำตามคำสั่งไว้ในเมืองไทย ในเรื่องนี้ราชทูตเซเบเรต์ได้เขียนเล่าไว้ในจดหมายเหตุว่า
“เมื่อเวลาฟอลคอนพูดดังนี้ ฟอลคอนก็หันหน้าไปพูดกับพวกนายทหาร เผอิญเวลานั้นข้าพเจ้ากำลังพูดอยู่กับบาทหลวงตาชาร์ด ข้าพเจ้าจึงแกล้งทำเป็นไม่ได้ยินเสีย เพราะถ้าข้าพเจ้าได้ยินแล้วก็จำเป็นจะต้องตอบฟอลคอนอย่างแรงๆ ซึ่งจะไม่เป็นเหตุทำให้การปรองดองได้ดีขึ้นเลย”
การที่ฟอลคอนแสดงอำนาจในครั้งนี้ ราชทูตได้เขียนจดหมายบอกนายพลเดฟาช์จให้ทราบ มีความว่า
“ในเรื่องทหารปืนใหญ่ ปืนใหญ่และลูกแตก ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสนายของเราได้โปรดให้เอาลงเรือมาด้วยโดยอยู่ในบังคับบัญชาของมองซิเออร์ดูลาริกนั้น มีพระราชดำริไว้ว่าเมื่อเรือหลวงเหล่านี้จะกลับไปประเทศฝรั่งเศสเมื่อใด ก็ให้มองซิเออร์ดูลาริกคุมทหารปืนใหญ่ ปืนใหญ่และลูกแตกเหล่านี้กลับไปประเทศฝรั่งเศสเสียด้วย เพราะฉะนั้นให้มองซิเออร์เดฟาช์จส่งทหารปืนใหญ่เหล่านี้กลับไปตามพระราชโองการของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ถ้าแม้ว่ามองซิเออร์เดฟาช์จมิได้กระทำตามคำสั่งฉบับนี้ แต่ยังคงกักทหารปืนใหญ่ ปืนใหญ่ลูกแตก และเครื่องใช้ทั้งปวงสำหรับใช้กับปืนใหญ่เหล่านี้แล้ว ก็ให้มองซิเออร์เดฟาช์จเป็นผู้รับผิดชอบเฉพาะตัวต่อพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสทีเดียว”
จากนั้นความสัมพันธ์ของเจ้าพระยาวิชเยนทร์กับราชทูตก็ขาดสะบั้น การเจรจาเรื่องราวทั้งหลายก็ทำกันไม่ได้อีก มีแต่บาทหลวงตาชาร์ดคนเดียวที่ฟอลคอนไว้ใจ จึงคิดจะจัดให้บาทหลวงตาชาร์ดเป็นเอกอัครราชทูตสยามไปยังประเทศฝรั่งเศสเสียเอง
แต่กระนั้นฟอลคอนก็ยังพยายามอีกครั้ง เชิญราชทูตฝรั่งเศสไปเจรจาขอแก้ไขสัญญาทางการค้าที่ทำไว้ ลาลูแบร์ได้ตัดบทว่าตัวไม่มีอำนาจที่จะแก้ไขสัญญานี้ได้ ปิดทางเจรจาไป ฟอลคอนจึงนำเรื่องปืนใหญ่มาพูดอีกและใช้วาจาอย่างแรงยิ่งกว่าครั้งก่อน ลาลูแบร์ก็ตอบอย่างเด็ดขาดเหมือนเดิมว่าให้ไม่ได้ ฟอลคอนจึงบอกว่า การที่มองซิเออร์ดูลาริกจะกลับไปฝรั่งเศสนั้น เป็นเรื่องที่พระเจ้ากรุงสยามจะห้ามปรามขัดขวางไว้ไม่ได้ แต่ได้ตั้งพระทัยไว้เป็นอันแน่นอนว่า จะเอาทหารปืนใหญ่ไว้ให้จงได้ พอฟอลคอนพูดดังนี้ ลาลูแบร์ก็ลุกขึ้นจากเก้าอี้บอกสั้นๆว่าว่า “ฉันลาก่อน” แล้วเดินออกจากห้องไป
ในเรื่องนี้บาทหลวงตาชาร์ดได้บันทึกไว้ในจดหมายเหตุว่า บาทหลวงอีกสองคนซึ่งประจำตัวลาลูแบร์ ได้เตือนลาลูแบร์ที่แสดงกิริยาอันไม่สมควร เพราะในเวลานั้นมีขุนนางไทย มีชาวฝรั่งเศส โปรตุเกส อังกฤษ และฮอลันดาอยู่ในที่นั้นด้วย ทั้งยังมีทหารยามอยู่สองข้างทาง ลาลูแบร์จึงได้บอกว่าฟอลคอนได้ดูหมิ่นเขาโดยใช้วาจาหยาบช้ามาก และการที่เขาไม่ได้สั่งให้พวกฝรั่งเศสซึ่งอยู่ในที่นั้นช่วยกันทุบต่อยฟอลคอน ก็เพราะยังรักษาความเป็นผู้แทนของพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสเท่านั้นเอง
ในที่สุดปืนใหญ่กระสุนแตก ก็ต้องกลับไปฝรั่งเศสพร้อมกับเรือคณะราชทูต ดับฝันคอนสแตนติน ฟอลคอนที่จะเอาไว้เป็นเครื่องมือในการคว้าความมักใหญ่ใฝ่สูง แต่ก็ยังแสดงอำนาจที่มีอยู่อย่างล้นเหลือในตอนนั้น แต่งตั้งบาทหลวงตาชาร์ดเป็นราชทูตสยามไปเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ โดยฝากไปกับเรือคณะราชทูตฝรั่งเศสที่เคยนำราชทูตสยามไปมา ซึ่งลาลูแบร์ก็ระแวงว่าบาทหลวงตาชาร์ดจะต้องนำเรื่องเกี่ยวกับเขาไปฟ้องพระเจ้าหลุยส์แน่ จึงทะเลาะกันไปตลอดทางจนถึงฝรั่งเศส ถึงขนาดลาลูแบร์แอบเจาะฝาห้องในเรือที่อยู่ติดกัน แอบดูบาทหลวงตาชาร์ดเขียนบันทึก ซึ่งบาทหลวงตาชาร์ดจับได้จึงต่อว่าลาลูแบร์และบันทึกเรื่องนี้ไว้
ถ้าจะคิดแบบคนในยุคนี้ การที่ปืนใหญ่ลูกแตกกระบอกนี้ไม่ได้อยู่ในกำมือของคอนสแตนติน ฟอลคอน ก็คงจะเกี่ยวกับพระสยามเทวาธิราชนั่นเอง