xs
xsm
sm
md
lg

เด็กสาธิต ม.ราม คว้าชนะเลิศ Jazz Big Band Competition สมัยที่ 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้จัดการแข่งขันดนตรีแจ๊ซประเภทวง โครงการ “Thailand Jazz Competition 2018” โดยมุ่งหวังให้วงการดนตรีแจ๊ซของคนไทยเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นการสร้างมาตรฐานดนตรีแจ๊ซในประเทศไทยให้ทัดเทียมระดับนานาชาติ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่พระอัจฉริยภาพทางดนตรีแจ๊ซของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ทั้งนี้ แบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 ประเภท คือ Jazz Ensemble Competition เป็นแข่งขันประเภทวงที่มีสมาชิกในวง 4-7 คน และ Jazz Big Band Competition คือการแข่งขันวงใหญ่ไม่เกิน 23 คน เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนระดับชั้นมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ได้แสดงความสามารถการเล่นดนตรีแจ๊ซในประเภทบิ๊กแบนด์ เพื่อยกระดับความสามารถเยาวชนคนดนตรีแจ๊ซให้ทัดเทียมระดับสากล ในขณะเดียวกันยังถือเป็นช่องทางหนึ่งให้เยาวชนไทยเข้าหาดนตรีมากขึ้นอีกด้วย

อ.ประทักษ์ ใฝ่ศุภการ กรรมการวิชาการด้านดนตรี ราชบัณฑิตยสภา กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ในฐานะคณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า เยาวชนที่เข้าร่วมแข่งขันในโครงการฯ โชว์ฝีมือได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งพัฒนาการทางด้านการแสดงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องทุกปี การจัดการแข่งขันครั้งนี้เพื่อเป็นเวทีให้แก่ผู้สนใจ และนักดนตรีแจ๊ซได้มีโอกาสแสดงความสามารถ เผยแพร่แนวดนตรีแจ๊ซให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

“ปัจจุบันดนตรีแจ๊ซเป็นวัฒนธรรมที่ทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้ และที่สำคัญถือเป็นช่องทางหนึ่งในการพัฒนาและส่งเสริมความสามารถในการเล่นดนตรีแจ๊ซได้เป็นอย่างดี ในปัจจุบันนี้เยาวชนไทยหันมาสนใจเรียนดนตรีเพิ่มมากขึ้น มีความกล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ได้ฝึกการใช้สมาธิในการคิด การตัดสินใจ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อีกทั้งดนตรีแจ๊ซมีส่วนช่วยในการพัฒนาอีคิวและไอคิว การฟังดนตรีแจ๊ซจะช่วยเพิ่มความจำและลดระดับความเครียดลง ทำให้สมองพร้อมที่จะเปิดรับการเรียนรู้มาก และเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์อีกด้วย”

สำหรับผลการแข่งขันประเภท Jazz Ensemble Competition รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ วงแรงแขน จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงเรียนดุริยางค์ทหารเรือ ได้รับเกียรติบัตรและเงินรางวัล 70,000 บาท, ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ วงสุดเสี่ยง จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเกียรติบัตรและเงินรางวัล 35,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 2 วง Untold จากคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับเกียรติบัตรและเงินรางวัล 20,000 บาท และรางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ วง Captain James II-V-I คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต Westlake Boys High School และวง Love You Like Blue จากคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้ง 2 วงได้รับเกียรติบัตรและเงินรางวัล 5,000 บาท

นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลพิเศษนักดนตรีที่มีความสามารถโดดเด่นจำนวน 5 รางวัล ได้แก่ Outstanding Musician (Guitar) นายนายเพชรภูมิ เพชรแก้ว จากวงแรงแขน Outstanding Musician (Drums) นายธนพงษ์ อนันตกุล จากวงแรงแขน และนายรฤกชนน์ ปิยโชติสกุลชัย จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายมัธยม) Outstanding Musician (Piano) นายรอยเขียน วังเลิศ Piano จากวง Captain James II-V-I และ Outstanding Musician ( Saxophone) : นายณัฐกิตติ์ ธนพูลสวัสดิ์ จากวงสุดเสี่ยง

ส่วนประเภทที่ 2 Jazz Big Band Competition เป็นการแข่งขันวงดนตรีแจ๊ซขนาดใหญ่ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา โดยจะต้องเลือกบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ 1 เพลง และ เพลงแจ๊ซ 1 เพลง โดยรางวัลชนะเลิศรับเงินรางวัล 100,000 บาท ได้แก่ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายมัธยม), ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ โรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยา กรุงเทพมหานคร ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท, ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่โรงเรียนหอวัง ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท

ด้าน นายกิตติภัทร ภูวะปัจฉิม และนายประพันธ์พงศ์ มณีวงษ์ อดีตนักศึกษาคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะอาจารย์ผู้ฝึกสอนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฝ่ายมัธยม) และเคยเข้าร่วมแข่งขันในโครงการดังกล่าว กล่าวว่า ทุกครั้งที่มีการแข่งขันเปรียบเสมือนการพัฒนาตัวเองไปด้วยพร้อมพร้อมกัน เพราะทุกคนจะต้องเตรียมตัว หมั่นฝึกซ้อมเพื่อทำให้ผลงานออกมาดีที่สุด สิ่งที่ดีที่สุดที่ได้รับกลับไปคือคอมเมนต์จากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันต่างๆ

ทั้งนี้ เป็นการพัฒนาปรับปรุงในครั้งต่อไป การทำหน้าที่ผู้ควบคุมวงจะต้องสอนให้ทุกคนรู้จักการวางแผนร่วมกัน คิดในรูปแบบเดียวกัน แม้จะอยู่ในวัยและมีประสบการณ์การเล่นที่ต่างกัน เปรียบเสมือนเป็นการกระตุ้นให้ทุกคนอยากเรียนรู้ มีการแชร์ประสบการณ์แก่กันและกัน เสริมสร้างศักยภาพ มุ่งมั่นและตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานให้ดีขึ้น เพื่อสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ เกิดการต่อยอดทางความคิด เพื่อความทัดเทียมในระดับสากล





กำลังโหลดความคิดเห็น