xs
xsm
sm
md
lg

เหตุที่เปลี่ยนศาสนาพระนารายณ์ไม่สำเร็จ! ถ้าใครมาชวนพระเจ้าหลุยส์เปลี่ยนศาสนาบ้าง ก็บ้าแล้ว!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔
ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒๗ เรื่อง ไทยกับฝรั่งเศสเป็นไมตรีกัน ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ แปลจากภาษาฝรั่งเศสซึ่งมองซิเออร์ ลันเย รวบรวมบันทึกของบรรดาบาทหลวงฝรั่งเศสมารวบรวมไว้ แปลโดย อรุณ อมาตยกุล ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในคำนำตอนหนึ่งว่า “ข้อที่เขาสรุปลงเป็นใจความว่า ที่ฝรั่งเศสมาเสียการครั้งนั้นเพราะพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ ไม่ทรงทราบความที่เป็นจริงอยู่ในเมืองไทยอย่างไร ไม่รู้กำลังและความคิดของไทย หลงเชื่อพวกบาทหลวงว่าสมเด็จพระนารายณ์จะเข้ารีต ทรงถือศาสนาคริสตัง และเสียการเพราะพวกฝรั่งเศสมาเกิดแตกร้าวกันขึ้นเองเป็นที่สุด”

ในวันรุ่งขึ้นที่ราชทูต เชอวาเลีย เดอ โชมอง มาถึง เจ้าพระยาวิชเยนทร์ได้ถามสังฆราชเดอเมเตโลโปลิศว่าราชทูตฝรั่งเศสมาประเทศสยามคราวนี้จะมาด้วยกิจเรื่องอันใด สังฆราชตอบว่า ทราบแต่ว่าได้รับรับสั่งจากพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ มาโดยเฉพาะ ให้ถวายศาสนาคริสเตียนต่อสมเด็จพระนารายณ์ ฟอลคอนได้ฟังก็ตกใจ จึงพูดว่า

“เอ๊ะ ใครเป็นผู้ไปกราบทูลหลอกพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสเช่นนี้”

สังฆราชจึงยกหัวไหล่ตอบว่าไม่ทราบ ฟอลคอนจึงได้บอกกับสังฆราชว่า เรื่องนี้ต้องระวังให้มาก อย่าให้สังฆราชรับธุระเรื่องนี้ด้วย และถามอีกว่า ตั้งแต่สังฆราชมาอยู่ในเมืองไทย ได้เห็นวี่แววบ้างไหมว่าพระเจ้ากรุงสยามจะเข้ารีต หรือมีเหตุผลอย่างใดที่สังฆราชเชื่อว่าจะทรงเข้ารีต

สังฆราชจึงตอบว่า

“ข้าพเจ้าไม่เห็นมีเหตุผลอย่างใดเลย และข้าพเจ้าก็ประหลาดใจมากที่ได้มีบุคคลบางจำพวกไปกราบทูลพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสได้เช่นนี้”

สังฆราชยังบอกด้วยว่า ได้เตือนราชทูตให้ระวังในเรื่องนี้แล้ว และประหลาดใจที่มีคนเข้าใจว่าพระเจ้ากรุงสยามจะทรงเข้ารีตได้ง่ายๆเช่นนี้ ทั้งคำที่จะกราบทูลซึ่งราชทูตอ่านให้ฟังนั้น ใช้คำแรงนัก และไม่ได้พูดเรื่องอื่นเลยนอกจากเรื่องศาสนา จนเกือบจะเป็นหนังสือเทศน์ หาใช่คำกราบทูลยอพระเกียรติไม่

ฉะนั้นเมื่อฟอลคอนมาปรึกษากับราชทูตถึงหมายกำหนดการเข้าเฝ้า จึงได้ทักว่าคำกราบทูลของราชทูตแรงไปสักหน่อย ขอตัดเนื้อความออกเสียบ้าง แต่โชมองไม่ยอม ฟอลคอนก็จะขอเป็นล่ามเอง โชมองก็ไม่เต็มใจ แต่ก็ไม่มีทางปฏิเสธ ต่อมาราชทูตก็สังเกตว่าฟอลคอนไม่ได้แปลตามที่ตนกล่าว

ในพระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ก็ยังไม่ใช้คำกล้าหาญเหมือนกับคำกราบทูลของเชอวาเลีย เดอ โช มอง ที่พูดแต่จะให้พระเจ้ากรุงสยามเปลี่ยนศาสนา แต่ในพระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ยังมีเรื่องการค้าขายแทรกอยู่บ้าง

สมเด็จพระนารายณ์ได้โปรดให้เชอวาเลีย เดอ โชมองได้เฝ้าเป็นพิเศษอีกหลายคราว และมักรับสั่งแต่เรื่องฮอลันดาเป็นส่วนใหญ่ เพราะทรงถือว่าพวกฮอลันดาเป็นศัตรูอันน่ากลัว ส่วนฟอลคอนก็พยายามจะพูดถึงสัญญาร่วมรบกับฝรั่งเศส แต่เชอวาเลียก็ตัดบทว่าที่เป็นทูตมาในครั้งนี้ ก็คือขอให้ระเจ้ากรุงสยามทรงนับถือศาสนาคริสเตียนเท่านั้น และไม่ว่าจะพูดอะไรก็จะลงท้ายที่จะให้สมเด็จพระนารายณ์เข้ารีต แต่ทุกครั้งที่ราชทูตฝรั่งเศสพูดเรื่องนี้ สมเด็จพระนารายณ์ก็จะทรงนิ่งไม่รับสั่งอย่างไร

เมื่อพูดไมได้ผล เชอวาเลียก็หันไปใช้เขียนบันทึกกราบทูลย้ำอีกว่า การที่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ได้แต่งตั้งให้เขาเข้ามาเป็นทูตนั้น ก็เฉพาะเรื่องศาสนาเท่านั้น ซึ่งวิธีที่จะทำให้พระราชไมตรีแนบแน่นสนิทสนมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตลอดถึงผู้ที่จะครองราชย์สมบัติต่อไปด้วย โดยไม่มีทางจะขาดไมตรีกันจนกว่าโลกจะดับสูญ ก็มีทางเดียวซึ่งพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสได้ทรงพระราชดำริให้พระเจ้าหรุงสยามต้องถือศาสนาร่วมกับพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส พระราชไมตรีนั้นจึงจะดับสูญไปไม่ได้

สมเด็จพระนารายณ์ทรงมีบันทึกตอบกลับราชทูตฝรั่งเศสว่า พระองค์มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ทรงทราบจากจดหมายบันทึกของราชทูตและจากทางอื่นว่า พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสมีความรักใคร่พระองค์มากถึงเพียงนี้ ซึ่งเป็นการกระทำให้ชนชาวตะวันออกทั่วไปแลเห็นในพระทัยกว้างขวางของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ และทรงยินดียิ่งนักจนจะหาถ้อยคำที่จะแสดงความยินดีนั้นไม่ได้แล้ว แต่ทรงเสียพระทัยว่า การที่จะเป็นพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส พระองค์จะต้องเข้ารีตถือศาสนาคริสเตียนนั้น เป็นการยากนักหนา เพราะการที่จะเปลี่ยนศาสนาอันได้นับถือและเชื่อถือกันมาถึง ๒๒๒๙ ปีมาแล้วนั้น เป็นการยากอย่างยิ่ง จึงขอให้พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสทรงวินิจฉัยดูว่า การที่จะเปลี่ยนศาสนาเช่นนี้เป็นการง่ายหรืออย่างไร และขอให้พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสทรงดำริด้วยว่า ถ้าพระเจ้าผู้สร้างฟ้าสร้างดินและสร้างสิงสาราสัตว์อันมีรูปพรรณสัณฐานและนิสัยต่างๆกัน จะประสงค์ให้มนุษย์ทั้งหลายได้นับถือศาสนาอย่างเดียวกันทุกคน และให้มนุษย์ทั้งหลายอยู่ในกฎหมายอันเดียวกันหมดแล้ว พระเจ้าก็คงจะทำให้เป็นเช่นนั้นได้ง่ายที่สุด แต่สิงสาราสัตว์ ต้นหมากรากไม้และของทั้งปวง พระเจ้าก็ได้สร้างให้มีรูปพรรณและลักษณะต่างกันทั้งสิ้น จึงเป็นพยานให้เห็นได้ว่า การที่เกี่ยวด้วยศาสนานั้นพระเจ้าก็คงต้องการให้ถือต่างกันเหมือนกัน เพราะเหตุฉะนั้น พระองค์จะทรงยอมให้พระเป็นเจ้าได้ตัดสินในเรื่องนี้ กล่าวคือทรงยอมพระองค์และพระราชอาณาจักรให้อยู่ในโอวาทของพระเป็นเจ้า แล้วแต่พระเป็นเจ้าจะเห็นควรอย่างไร

ในประชุมพงศาวดารภาค ๒๗ ยังมีข้อเขียนที่อ้างว่าคัดจากหนังสือของ ลาบูรแยร์ แต่ง กล่าวว่า

“ถ้าหากว่าจะมีใครมาบอกเราว่า การที่ไทยได้แต่งทูตมายังฝรั่งเศส ก็เพื่อประสงค์จะมาชักชวนพระเจ้าแผ่นดินผู้ถือศาสนาคริสเตียน ให้ละศาสนาของตัวเสีย และจะขออนุญาตพาพระสงฆ์เข้ามาในเมืองฝรั่งเศส และให้พระสงฆ์นั้นเข้าไปตามบ้านตามช่องของเรา เพื่อมาสอนพุทธศาสนาแก่บุตรภรรยาและตัวเรา แล้วพระสงฆ์พวกนี้จะมาก่อวัดวาอารามในเมืองของเรา และจะเอารูปหล่อด้วยโลหะมาตั้งตามวัดเหล่านั้นเพื่อให้คนบูชา ถ้าเป็นเช่นนี้จริงเราจะคิดว่าอย่างไร เราจะไม่นึกหัวเราะในใจ และเราจะไม่สงสัยคนจำพวกนั้นหรือ ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุใดเราจึงอุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเลตั้ง ๖,๐๐๐ ไมล์ สำหรับจะไปชักชวนประเทศอินเดีย ประเทศสยาม ประเทศจีน และญี่ปุ่นให้ถือศาสนาคริสเตียนเล่า การที่เราทำเช่นนี้ เราก็ได้ทำโดยสุจริตและตั้งใจจะให้เป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่พวกนั้นได้ฟังพวกเราไปพูดเช่นนี้จะไม่นึกว่าเราเป็นบ้าหรือ แต่ถึงดังนั้นพวกอินเดียและพวกไทยก็ยังอุตส่าห์รับเลี้ยงพวกถือศาสนาของเราและพวกบาทหลวงเรา บางทีพวกไทยก็ฟังคำสั่งสอนพวกบาทหลวงก็มีเป็นบางครั้งบางคราว และอนุญาตให้พวกบาทหลวงสร้างวัดและสอนศาสนาตามหน้าที่ของเขาได้ ความจริงจะว่าใครใจดี เขาหรือเรา”


กำลังโหลดความคิดเห็น