xs
xsm
sm
md
lg

กรมพระยาดำรงฯเผยเบื้องหลังโปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ มุ่งมาตะวันออก! เหตุพระเจ้าหลุยส์มีไมตรีกับพระนารายณ์!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒๗ เรื่อง “ไทยกับฝรั่งเศสเป็นไมตรีกัน ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์” ซึ่ง นายอรุณ อมาตยกุล ได้แปลจากภาษาฝรั่งเศส ของ มองซิเออร์ ลันเย ที่รวบรวมบันทึกและรายงานของบาทหลวงฝรั่งเศสในยุคนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเขียนบทนำอธิบายความเป็นมาและเบื้องหลังของประวัติศาสตร์ในยุคนั้นไว้ ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจประวัติศาสตร์ไทยในช่วงที่มีการติดต่อกับชาติตะวันตก จนถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้กระจ่างแจ้งยิ่งขึ้นอย่างมาก...ขอเน้นว่า “อย่างมาก” จึงนำมาเสนอในวันนี้ แฟนๆเรื่องประวัติศาสตร์ไม่ควรพลาด

อธิบายเรื่องเบื้องต้นที่ไทยจะเป็นไมตรีกับฝรั่งเศส

เดิมการไปมาค้าขายในระหว่างนานาประเทศที่อยู่ในยุโรปกับประเทศทั้งหลายทางตะวันออกนี้ ต้องเดินทางบก พวกฝรั่งโปรตุเกสพยายามหาทางแล่นเรือกำปั่นอ้อมทวีปอาฟริกามาถึงอินเดียได้ก่อนชาติอื่นเมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๑ ในสมัยนั้นพวกชาวประเทศทางตะวันออกยังไม่สันทัดใช้ปืนไฟเหมือนฝรั่ง พวกโปรตุเกสก็อาศัยใช้อาวุธปืนไฟเป็นกำลัง เที่ยวปราบปรามเมืองน้อยใหญ่ตามชายทะเล ได้เมืองขึ้นแต่อินเดียเป็นระยะมาถึงเมืองมะละกาในแหลมมลายู และตลอดไปจนเหล่าเกาะชวา และเมืองมาเก๊าแดนจีนเป็นที่สุด แต่พวกโปรตุเกสหามาเบียดเบียนได้ถึงเมืองไทยไม่ เป็นแต่ให้มาทำทางพระราชไมตรีในครั้งรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ณ กรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๐ แต่นั้นก็มีพวกโปตุเกสเข้ามาตั้งค้าขายอยู่ในเมืองไทย (สืบเชื้อสายมาจนถึง พวกที่อยู่ตำบลกุฎีจีนในบัดนี้) เมื่อพวกโปรตุเกสเข้ามาตั้งค้าขายอยู่ไม่ช้านัก มาอาสาเป็นทหารเข้ากองทัพหลวงสมเด็จพระไชยราชาธิราชไปรบพม่าที่เมืองเชียงกราน มีบำเหน็จความชอบ สมเด็จพระไชยราชาธิราชจึงพระราชทานที่ตำบลบ้านดิน ที่ริมแม่น้ำฝั่งตะวันตก เหนือปากคลองตะเคียน ให้พวกโปรตุเกสตั้งบ้านเรือนเป็นภูมิลำเนา และพระราชทานอนุญาตให้สร้างวัดศาสนาคริสตังในที่นั้น ก็มีตำบลบ้านฝรั่งโปรตุเกสที่กรุงศรีอยุธยาแต่นั้นมา

พวกโปรตุเกสใช้เรือไปมาค้าขายถึงประเทศทางตะวันออกได้กำไรร่ำรวยอยู่แต่ชาติเดียวเกือบร้อยปี จนราว พ.ศ. ๒๑๓๙ พวกฮอลันดากับพวกอังกฤษสืบรู้หนทางที่พวกโปรตุเกสเดินเรือ จึงพยายามแล่นเรืออ้อมทวีปอาฟริกาออกมาถึงประเทศตะวันออกได้บ้าง พวกฮอลันดามาถึงเมืองไทยตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเมื่อ พ.ศ. ๒๑๔๑ พวกอังกฤษมาถึงเมืองไทยในต้นรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถเมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๕ ต่างเชิญพระราชสาสน์ขอเป็นทางพระราชไมตรีมาจากเจ้านายของตน เพื่อจะได้ไปมาค้าขายยังเมืองไทย ก็โปรดฯพระราชทานอนุญาตให้ไปมาค้าขายได้เหมือนพวกโปรตุเกส

แต่พวกโปรตุเกสเป็นอริกับพวกฮอลันดาและอังกฤษที่ในยุโรป สาเหตุเกิดแต่ถือลัทธิศาสนาคริสตังต่างกัน พวกโปรตุเกสถือลัทธิโรมันคาทอลิก ซึ่งยอมอยู่ในโอวาทของโป๊ป ณ กรุงโรม ฝ่ายพวกฮอลันดาและอังกฤษนั้นถือลัทธิโปรเตสแตนต์ของพวกที่เอาใจออกหากจากโป๊ปไปตั้งเป็นลัทธิขึ้นใหม่ เลยวิวาทถึงรบพุ่งกัน เมื่อพวกฮอลันดากับพวกอังกฤษออกมาได้ถึงประเทศทางตะวันออก ก็มาร่วมมือกันรบรานแย่งชิงบ้านเมืองและสมบัติที่โปรตุเกสมาได้ไว้ทางตะวันออกนี้ พวกโปรตุเกสก็อ่อนกำลังลงเป็นอันดับมา อังกฤษตั้งหน้าหาอำนาจทางอินเดีย ส่วนฮอลันดามาตั้งหน้าหาอำนาจทางเหล่าเกาะชวา เกาะชวาอยู่ใกล้เมืองไทยกว่าอินเดีย จึงมีพวกฮอลันดาเข้ามาตั้งค้าขายอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยาก่อนพวกอังกฤษ พวกฮอลันดามาทำความชอบในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถด้วยอาสาสงครามเป็นต้น ก็ได้พระราชทานที่ให้ตั้งภูมิลำเนาทางริมฝั่งแม่น้ำฟากตะวันออกใกล้ปากน้ำแม่เบี้ย ตรงกับบ้านพวกโปรตุเกสข้าม ครั้นต่อมาถึงแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม พวกฮอลันดาทำความชอบยิ่งขึ้น จึงได้พระราชทานที่ที่ปากน้ำเจ้าพระยาทาง ฝั่งตะวันตก ตรงริมคลองบางปลากดข้างเหนือสมุทรปราการ ให้สร้างเป็นสถานีที่ไว้สินค้าอิกแห่งหนึ่ง พวกฮอลันดาก็ก่อสร้างสถานที่ต่างๆ ขึ้น ณ ที่นั้น เป็นทำนองเมืองของพวกฮอลันดา เรียกชื่อว่า เมืองอัมสเตอร์ดัมใหม่ (เดี๋ยวนี้น้ำเซาะพังลงน้ำไปหมดแล้ว) พวกฮอลันดาก็มีกำลังยิ่งขึ้นในประเทศนี้
ก็และลักษณะการค้าขายของพวกฮอลันดาในชั้นแรกที่มาตั้งในเมืองไทยนั้น ต้องอาศัยไทยเป็นกำลังอยู่หลายอย่าง เป็นต้นว่าเข้าปลาอาหารที่พวกออลันดาต้องการใช้เป็นเสบียง ณ เมืองบันตัม ซึ่งฮอลันดาตั้งเป็นที่มั่นที่เกาะชวา ก็ต้องมาหาซื้อไปจากเมืองไทย อิกประการ ๑ ที่จะค้าขายต่อไปทางเมืองจีน เมืองญี่ปุ่น พวกฮอลันดาจะไปค้าขายโดยลำพังไม่ได้ เพราะแต่ก่อนมาพวกโปรตุเกสได้เคยไปทำรุกรานไว้ทางนั้น จนจีนและญี่ปุ่นเกลียดชังคนผมแดง (คือฝรั่ง) ทั่วไปไม่ว่าชาติไหนๆ ไม่ยอมให้ไปค้าขายในเขตแดนทั้งนั้น และในสมัยนั้นมีเรือไทยไปมาค้าขายกับเมืองจีนเมืองญี่ปุ่นอยู่เป็นนิจ พวกฮอลันดาได้อาศัยฝากสินค้าของตนที่ซื้อขายทางเมืองจีนเมืองญี่ปุ่นไปมาด้วยเรือไทย จึงต้องพยายามเอาใจดีต่อไทยมาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ จนตลอดรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม ครั้นถึงรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง ฮอลันดาได้บ้านเมืองทางเกาะชวา มีอำนาจยิ่งกว่าแต่ก่อน และได้ไปคิดอ่านว่ากล่าวทางเมืองจีนเมืองญี่ปุ่น ขออนุญาตให้เรือของฮอลันดาไปค้าขายได้เอง ยังคงต้องอาศัยเมืองไทยแต่ในการซื้อหาเสบียงอาหารบ้างเล็กน้อย กับที่จะซื้อขายสินค้าหากำไรในเมืองไทย ไม่ต้องพึ่งไทยมากเหมือนแต่ก่อน

ครั้นพระเจ้าปราสาททองโปรด ฯให้ตั้งคลังสินค้าของหลวงขึ้น รับซื้อสินค้าที่เป็นสิ่งสำคัญจากราษฎรในพื้นเมืองขายให้ชาวต่างประเทศ และเลือกซื้อสินค้าจากชาวต่างประเทศไปจำหน่ายในพื้นเมืองเป็นการหลวง พวกฮอลันดาก็ไม่พอใจ ในชั้นแรกดูเหมือนจะตั้งหน้าฝ่าฝืน จนเป็นเหตุให้พระเจ้าปราสาททองทรงขัดเคืองพวกฮอลันดา ถึงทรงพระราชดำริจะให้กองทัพเรือยก ลงไปตีเมืองบันตัม ซึ่งเป็นที่มั่นของพวกฮอลันดาเกาะชวา มีความปรากฏในจดหมายเหตุของพวกฮอลันดา ว่าในครั้งนั้นพระเจ้าปราสาททองมีรับสั่งให้เรียกตัวพวกแขกและจีนที่ชำนาญการเดินเรือไปไต่ถาม เอาความรู้แผนที่ทะเลสำหรับจะให้กองทัพเรือยกไป ความที่กล่าวนี้ประหลาดที่มีหลักฐาน ด้วยแผนที่ทะเลอันแสดงเค้าเงื่อนว่าได้ทำขึ้นในราวสมัยนั้น ปรากฏอยู่ในท้ายหนังสือไตรภูมิฉบับที่มีอยู่ในหอพระสมุดฯบัดนี้ จึงเห็นว่าจะเป็นความจริงดังพวกฮอลันดากล่าว แต่เหตุที่ไทยเกิดเป็นอริกับพวกฮอลันดาครั้งแผ่นดินพระเจ้าปราสาททองนั้น ลงที่สุดระงับกลับดีกันไปได้ หาถึงต้องรบพุ่งกันไม่

มาถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อพวกอังกฤษตั้งมั่นได้ในอินเดียแล้ว ก็เริ่มเข้ามาตั้งค้าขายในเมืองไทย คอนสแตนติน ฟอลคอน ที่มาได้เป็นเจ้าพระยาวิชเยนทร์ เข้ามาเมืองไทยกับพวกอังกฤษในครั้งนั้น ด้วยเป็นลูกจ้างของพ่อค้าอังกฤษออกมาจากยุโรป แต่ส่วนตัวเป็นชาติกรีก มิได้เป็นอังกฤษ ครั้นมาเห็นประโยชน์ที่จะค้าขายอยู่ในเมืองไทยโดยลำพังตน จึงเลิกรับจ้างอังกฤษ แล้วสมัครเข้ามารับราชการเป็นที่สุด

การที่อังกฤษมาตั้งค้าขายในเมืองไทย ต้องไปมาติดต่อกับอินเดียซึ่งเป็นที่มั่น ทางที่จะไปมาได้ใกล้นั้น มาจอดเรือกำปั่นที่เมืองมะริดอันอยู่ปากน้ำเมืองตะนาวศรี ซึ่งในเวลานั้นอยู่ในอาณาเขตกรุงสยาม แล้วลงเรือถ่อพายขึ้นทางลำน้ำตะนาวศรีจนถึงปลายน้ำ แล้วขึ้นเดินบกข้ามเขาบรรทัดเข้ามาทางด่านสิงขร ลงชายทะเลอ่าวสยามที่ตรงเกาะหลัก (อันตั้งที่ว่าการจังหวัดประจวบคิรีขันธ์บัดนี้) แล้วเดินเลียบชายทะเลขึ้นมาจนถึงเมืองเพชรบุรี จึงลงเรือเข้ามาพระนครศรีอยุธยา

ทางเส้นนี้เป็นทางสำคัญในการไปมาค้าขายในระหว่างกรุงสยามกับประเทศต่างๆทางทิศตะวันตก เช่น อินเดีย ประเทศเปอร์เซีย ประเทศอาหรับ ตลอดจนชาวยุโรปมาแต่โบราณ เพราะการที่จะแล่นเรืออ้อมแหลมมลายูมาเข้าอ่าวสยามมาได้แต่บางฤดู ตั้งแต่อังกฤษเข้ามาตั้งค้าขายในกรุงศรีอยุธยา การไปมาค้าขายทางเมืองตะนาวศรีมีมากขึ้น เมืองตะนาวศรีและเมืองมะริดซึ่งเป็นเมืองท่าปลายทางนี้ก็ยิ่งสำคัญขึ้น

ทางพระราชไมตรีที่ไทยเคยมีกับฮอลันดาและอังกฤษ มาเกิดปัจจัยให้แปลกแปลงเมื่อในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์หลายอย่าง ว่าเฉพาะส่วนพวกอังกฤษ การที่อังกฤษออกมาค้าขายทางประเทศตะวันออกแต่เดิม เป็นการที่พวกพ่อค้าเข้าทุนกันเป็นบริษัทมาค้าขาย รัฐบาลอังกฤษเป็นแต่อุดหนุน อำนาจอังกฤษที่มาเจริญขึ้นทางตะวันออกตกอยู่ในมือบริษัทนั้น บริษัทไม่ยอมให้คนอังกฤษนอกจากที่ทำการให้บริษัทค้าขายโดยลำพังเพื่อประโยชน์ของตนเอง

พวกอังกฤษที่มารับจ้างบริษัทมาเห็นช่องทางที่จะค้าขายหาผลประโยชน์ได้มากกว่าที่บริษัทให้ค่าจ้าง ก็เกิดไม่พอใจที่จะอยู่กับบริษัท แต่จะออกไปค้าขายโดยลำพังตนกลัวจะถูกบริษัทรังแกกดขี่ต่างๆ เมื่อวิชเยนทร์เข้ามารับราชการของไทย ได้มีตำแหน่งอยู่ในกรมพระคลังสินค้าซึ่งมีหน้าที่อำนวยการค้าขายของหลวง วิชเยนทร์รู้วิธีการค้าขายของพวกชาวต่างประเทศ คิดเห็นว่าถ้าได้ฝรั่งมาเดินเรือและทำการค้าขายของหลวง การค้าขายก็จะเจริญได้กำไรเข้าพระคลังยิ่งขึ้นอิกเป็นอันมาก จึงเกลี้ยกล่อมพวกอังกฤษที่เอาใจออกหากจากบริษัทมารับราชการในการเดินเรือค้าขายของหลวง สัญญายอมอนุญาตให้พวกอังกฤษเหล่านั้นฝากสินค้าของตนเองไปมาในเรือหลวงได้ ก็มีคนอังกฤษสมัครเข้ามารับราชการตั้งร้อย การอันนี้ย่อมไม่เป็นที่พอใจของบริษัทอังกฤษ ส่วนทางพวกฮอลันดานั้น มาในตอนนี้พวกฮอลันดามีทั้งกำลังเรือรบและเรือค้าขายเจริญยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน ก็คิดจะรวบเอาการค้าขายในระหว่างเมืองไทย เมืองจีน กับเมืองญี่ปุ่นที่ไปมาทางทะเลไว้ในมือของพวกฮอลันดาให้หมด เมื่อเห็นไทยจัดการค้าขายของหลวงแข็งแรงขึ้นก็ไม่พอใจ อังกฤษกับฮอลันดาเคยเข้ามือกันมาแต่ก่อน ครั้นมาผิดใจขึ้นกับไทยด้วยกัน ต่างก็คิดตั้งขึงแข็งเอาแก่ไทย พอไทยเกิดรบกับพม่าขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๗ ฮอลันดาเห็นไทยติดทำสงครามอยู่ทางอื่น ก็หาเหตุเอากองทัพเรือปิดปากน้ำ

สมเด็จพระนารายณ์จำต้องยอมสัญญาว่าจะไม่ค้าขายแข่งขันพวกฮอลันดาทางตะวันออก ฝ่ายข้างอังกฤษเห็นพวกฮอลันดาแข็งขึงขึ้นแก่ไทยทางนี้ ก็แข็งขึงขึ้นแก่ไทยทางตะวันตกบ้าง ได้ความปรากฏมาว่าอังกฤษจะคิดยึดเอาเมืองตะนาวศรีและเมืองมะริดซึ่งเป็นเมืองท่าค้าขายของไทยทางตะวันตกเป็นของอังกฤษเสีย มิให้ไทยมีช่องทางที่จะค้าขายแข่งอังกฤษด้วยเหมือนกัน ในขณะนั้นทางยุโรป พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ มีอานุภาพขึ้น พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เป็นผู้อุปถัมภ์บำรุงศาสนาลัทธิโรมันคาธอลิก เป็นข้าศึกกับพวกอังกฤษและฮอลันดาซึ่งถือลัทธิโปรเตสแตนต์ ให้มาขอเป็นทางพระราชไมตรี สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงรับทางไมตรีของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ หวังจะเอาเป็นสัมพันธมิตรมิให้พวกฮอลันดาและอังกฤษมารุกรานเมืองไทย

ส่วนความมุ่งหมายของฝรั่งเศสที่สมัครมาเป็นไมตรีกับไทยครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์นั้น ที่จริงทีเดียวจะเป็นอย่างไรก็ทราบไม่ได้แน่ในเวลานี้ แต่สังเกตตามความที่ปรากฏอยู่ในเรื่องราวที่พิมพ์ไว้ ในสมุดเล่มนี้ ดูเหมือนส่วนพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เองกับพวกบาทหลวง จะมุ่งหมายเพียงจะเกลี้ยกล่อมไทย ตั้งแต่สมเด็จพระนารายณ์เป็นต้น ให้เข้ารีตถือศาสนาคริสตังตามลัทธิโรมันคาทอลิก ให้เป็นเกียรติยศในการศาสนูปถัมภกอย่างหนึ่ง กับจะอาศัยเมืองไทยหาผลประโยชน์ในการค้าขายของฝรั่งเศสแข่งอังกฤษและฮอลันดาอย่างหนึ่ง หาได้คิดมุ่งหมายที่จะทำลายอิสรภาพของเมืองไทยเอาไปเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสไม่ แต่มีฝรั่งเศสอิกพวกหนึ่งคิดมุ่งหมายถึงจะเอาเมืองไทยไปเป็นเมืองขึ้น บางทีความข้อที่ว่ามานี้เองจะเป็นมูลเหตุให้พวกฝรั่งเศสมาเดินอุบายแตกกันในประเทศนี้
มีความประหลาดอยู่ในสมุดเล่มนี้แห่งหนึ่ง ซึ่งยังมิได้เคยปรากฏเค้าเงื่อนในที่อื่น คือที่เจ้าพระยาวิชเยนทร์รู้สึกตัวมาช้านานว่า ทางที่ตัวปฏิบัติราชการอาจจะเกิดเป็นภัยอันตรายแก่ตนได้ในเวลาหนึ่ง ถึงได้ซื้อบ้านช่องและส่งทรัพย์สมบัติไปเตรียมไว้ในประเทศฝรั่งเศส และยังมีความข้ออื่นอยู่ในสมุดเล่มนี้อิกหลายแห่ง ที่ชวนให้คิดเห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งตอนปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยังจะคิดค้นหาความจริงให้พิสดารยิ่งกว่าที่เรารู้จักกันอยู่ในบัดนี้ได้อิก เพราะฉะนั้นขอเชิญท่านทั้งหลายผู้เอาใจใส่ในความรู้เรื่องโบราณคดี จงอ่านเรื่องราวซึ่งปรากฏอยู่ในสมุดเล่มนี้ โดยเอาใจใส่พิจารณาให้รู้เหตุการณ์ในพงศาวดารที่จริงให้ยิ่งขึ้นไปเทอญ

ด.ร.

นี่ก็เป็นข้อเขียนของ “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย” แม้เพียงสั้นๆแค่นี้ ก็ทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ได้ชัดเจนขึ้นมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น