วัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลายวัดมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ เป็นสถานที่ห้ามพลาดในการท่องเที่ยว และมีอยู่ ๒ วัดที่เคยเป็นพระราชวัง เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสร้างที่ประทับใหม่แล้วก็ถวายวังเก่าเป็นพระอาราม ซึ่ง ๑ ใน ๒ วัดนี้ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ไม่ถูกพม่าเผาทำลายในสมัยเสียกรุง ส่วนอีกวัดหนึ่งเป็นต้นแบบของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว ของกรุงรัตนโกสินทร์
พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ พันจันทนุมาศ ( เจิม ) และพระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับของบริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน กล่าวเหมือนกันว่า
“ศักราช ๗๑๕ ปีมะเส็ง เบญจศก (พ.ศ.๑๘๙๖) วันพฤหัสบดี เดือน ๔ ขึ้น ๑ ค่ำ เพลา ๒ นาฬิกา ๕ บาท ทรงพระกรุณาตรัสว่า ที่พระตำหนักเวียงเหล็กนั้น ให้สถาปนาพระวิหารและพระมหาธาตุเป็นพระอาราม แล้วให้นามชื่อวัดพุทไธสวรรย์
ม้าขุนสุวรรณพินิจจัย ตกลูกศีรษะเดียว ตัวเป็น ๒ ตัว ๘ เท้า เดินชิงศีรษะกัน
ไก่พระศรีมโหสธ ฟักฟองตกลูกตัวเดียว ๒ ศีรษะ”
ไม่รู้ว่าความวิปริตของลูกม้าลูกไก่นี้เกี่ยวอะไรกับการสร้างวัด คงจะเห็นว่าเป็นความประหลาดที่เกิดขึ้นในระยะเวลาใกล้ๆกัน เลยบันทึกไว้ แล้วลอกต่อกันมา
เมื่อพระเจ้าอู่ทองได้ทรงย้ายราชธานีจาก กรุงอโยธยาศรีรามเทพนคร ซึ่งอยู่ฝั่งวัดพนัญเชิง ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาสร้างพระตำหนักใหม่ฝั่งตะวันตกที่ตำบลเวียงเหล็กเมื่อ พ.ศ.๑๘๙๐ ต่อมาอีก ๓ ปีเมื่อทรงสำรวจหาที่เหมาะสมได้แล้ว จึงทรงสร้างราชธานีขึ้นใหม่ที่ตำบลหนองโสน ซึ่งก็คือบริเวณวัดพระศรีสรรเพชญ์ในขณะนี้ ขนานนามว่า กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา จากนั้นอีก ๓ ปีจึงได้ถวายพระราชวังเก่าที่ตำบลเวียงเหล็กสถาปนาเป็นวัดพุทไธสวรรย์
เมื่อครั้งเสียกรุงในปี พ.ศ.๒๓๑๐ วัดพุทไธสวรรย์ไม่ถูกเผาทำลายไปเหมือนที่อื่นๆ เพราะอยู่นอกพระนครห่างพระราชวังออกไป จึงมีโบราณสถานอยู่สมบูรณ์ ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวตลอดมา และเพิ่มมากขึ้นจากกระแสฟีเวอร์ละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ในขณะนี้
จุดเด่นของวัดพุทไธสวรรย์ก็คือ
พระปรางค์ประธาน ตั้งอยู่กึ่งกลางเขตพุทธาวาส เป็นศิลปะอยุธยาตอนต้นผสมศิลปะแบบขอม ภายในประดิษฐานพระปูนปั้นนับร้อยองค์ มีระเบียงล้อมรอบ ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นตลอดแนว มีมณฑป ๒ หลังซ้ายและขวา ภายในประดิษฐานพระพุธรูปปูนปั้น มีบันไดทางขึ้น ๒ แห่ง บันไดด้านหน้าขึ้นสู่มุขเด็จ ซุ้มคูหาข้างมุขเด็จประดิษฐานพระรูปพระเจ้าอู่ทอง ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระวิหารหลวง เป็นพระวิหารขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ด้านหน้าปรางค์ประธาน ส่วนท้ายพระวิหารเชื่อมต่อเนื่องกับระเบียงคดที่ล้อมรอบปรางค์ประธาน
พระตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระเถระชั้นผู้ใหญ่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในผนังตำหนัก มีภาพสีเกี่ยวกับเรื่องหมู่เทวดา นักพรต นมัสการพระพุทธบาท และเรือสำเภาตอนพระพุทธโฆสะไปลังกา ภาพเหล่านี้อยู่ในสภาพไม่ชัดเจนนักเพราะตำหนักค่อนข้างทรุดโทรม
พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ตั้งอยู่ด้านข้างปรางค์ประธาน ผนังบางส่วนและหลังคาชำรุดไป พระพุทธไสยาสน์ซึ่งมีพุทธลักษณะที่งดงามจึงอยู่กลางแจ้ง
พระวิหารโถง ตั้งอยู่ด้านข้างพระวิหารหลวง เป็นพระวิหารที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ภายในประดิษฐานพระประธานและพระอันดับ
พระอุโบสถ มีการบูรณะภายนอกล้อมรอบด้วยเสมาหินชนวนคู่ขนาดใหญ่ประดับกระจก ตั้งอยู่บนฐานปูนปั้นรูปบัวกลุ่ม ส่วนล่างเป็นฐานสิงห์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะอยุธยาสามองค์
นอกจากโบราณสถานแล้ว วัดพุทไธศวรรย์ยังมีพระราชานุสาวรีย์ ๕ พระมหากษัตริย์ คือ พระเจ้าอู่ทอง) พระนเรศวรมหาราช พระเอกาทศรถ พระเจ้าตากสินมหาราช และพระปิยมหาราช ซึ่งทางวัดได้จัดสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เดิมนั้นมีเพียง ๓ พระองค์ ในปี ๒๕๕๒ จึงมีการสร้างเพิ่มอีก ๒ พระองค์ คือพระเจ้าตากสินและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
นอกจากนี้ยังมีเรื่องสนุกยังกับนิทาน เกิดขึ้นในสถานที่นี้เมื่อครั้งยังเป็นพระราชวัง แต่ปรากฏอยู่ในพงศาวดาร โดยพงศาวดารเหนือ ฉบับพระวิเชียรปรีชา (น้อย) บันทึกไว้ว่า
“...ฝ่ายพระเจ้าอู่ทองมีพระราชบุตรีอีกองค์ ๑ เมื่อจะประสูตินั้น ท้าวอู่ทองฝันเห็นว่าดอกบัวลอยมา เธอจึงตรัสให้พราหมณ์มาทาย พราหมณ์จึงทายว่า พระองค์เจ้าจะได้บุตรเขยมาต่างเมืองข้างเหนือ”
และพงศาวดารเหนือฉบับเดียวกันได้กล่าวถึงพระเจ้าเชียงใหม่ว่า
“สมเด็จพระสุคนธคีรี เจ้าเมืองพิชัยเชียงใหม่ มีพระราชบุตร ๒ พระองค์ ๆ ๑ ชื่อเจ้าชัยทัตกุมาร องค์ ๑ ชื่อเจ้าชัยเสนกุมาร ๒ องค์เป็นภิกษุขึ้นไปเรียนพระไตรปิฎกถึงเมืองภุกาม ๓ พรรษาก็จบพระธรรม แล้วเจ้าจึงเรียนไตรเพทข้างไสยศาสตร์ได้จบบริบูรณ์...”
เมื่อโอรสทั้งสองสำเร็จวิชาจากเมืองพม่ากลับมา สมเด็จพระสุคนธคีรีและมเหสีก็ดีพระทัยนัก ใคร่จะให้เจ้าชัยทัตขึ้นครองราชย์แทน จึงให้ลาสิขาบทและจะหาคู่ครองให้ พอดีมีเสียงร่ำลือมาถึงเมืองเชียงใหม่ว่าพระราชธิดาของพระเจ้าอู่ทองนั้นงามดังนางฟ้า เจ้าชัยทัตก็เกิดอยากได้เป็นมเหสีทันที จึงบวชเป็นเณร แล้วชวนน้องชายผู้ยังเป็นพระภิกษุรอนแรมมาจนถึงกรุงศรีอยุธยา
พงศาวดารเหนือเล่าว่า
“...มาอยู่อาศัยในวัดใกล้พระราชวัง ฟังกิตติศัพท์คนทั้งหลายเล่าลือแก่กัน ครั้นรู้ตระหนักแล้ว เจ้าก็ลาเพศออกจากเณร แล้วซ่อนกำบังกายเข้าไปในพระราชวังมิได้ จึงเห็นต้นพิกุล ๑ ต้นอยู่ใกล้กำแพงวัง เจ้าจึงขึ้นข้ามเข้าไปได้ จึงให้นิทราไว้มิให้ผู้ใดรู้ และเจ้าจึงเข้าไปหานางได้ แล้วนางถามว่าท่านนี้เป็นบุตรผู้ใด จึงบอกว่าเรานี้เป็นบุตรเจ้าเชียงใหม่ หาภรรยาที่ชอบใจมิได้ พี่จึงมาหาเจ้าจะใคร่ได้เจ้าเป็นนางอัครมเหสี แต่เทียวไปหานางทุกวันจนนางทรงครรภ์แก่แล้ว สมเด็จพระเจ้าอู่ทองเห็นลูกดูหลากตา แต่มิออกปากกลัวลูกจะน้อยใจ แล้วคิดว่าพระทวารบานประตูได้ร้อยชั้นยังเข้ามาได้ จะมาในที่ใด ถ้าเว้นไว้แต่ท่อน้ำ ครั้นพระองค์เจ้ารำพึงแล้วจึงตรัสสั่งคนทั้งหลายให้ทำเป็นลอบเหล็กดักไว้ที่ท่อน้ำนั้น
ฝ่ายเจ้าชัยทัตเคยประดาน้ำเข้าไปทุกวันๆนั้น ก็เข้าลอบเหล็กติดอยู่ช้านานก็ตายในที่นั้น ต้องคำโบราณว่า ทำมิชอบเข้าลอบตายเอง พระเจ้าอู่ทองจึงให้คนไปดูเห็นคนตายอยู่ จึงเอารูปนั้นมาดูเห็นหลาก เป็นบัณฑิตรูปงาม และพระองค์จึงเสียดาย พระองค์คิดว่าจะมาแต่ผู้เดียวหรือว่ามีเพื่อน พระองค์จึงให้คนค้นหาจึงได้พบน้องชายอยู่อาราม ก็ให้คุมเอาตัวมาในพระราชวัง จึงให้ถามดูรู้ว่าบุตรพระเจ้าเชียงใหม่ และพระราชเทวีอันทรงพระครรภ์แก่ก็ทรงพระกรรแสงไห้รักสามี ว่ากูจะเป็นหม้ายและลูกจะหาพ่อมิได้ จะอายแก่ไพร่พลทั้งหลาย เขาจะทายประมาณครรภ์ เห็นหน้าพระเจ้าอาดุจดังเห็นหน้าผัวอันตาย พระเจ้าอู่ทองจึงให้เจ้าชัยเสนอันเป็นภิกษุนั้นลาผนวช แล้วจึงราชาภิเษกให้เป็นพระยา”
จบแบบแฮปปี้เอนดิ้งกันไป
ถ้าไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง ก็ถือว่าอ่านนิทานจักรๆวงศ์ๆก็แล้วกัน
ส่วนอีกวัดที่ว่าเป็นแบบฉบับของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม คือเป็นวัดที่อยู่ในวังและไม่มีพระภิกษุจำพรรษา ก็คือ วัดพระศรีสรรเพชญ์
ทั้งนี้เมื่อพระเจ้าสามพระยาเสด็จสวรรคต พระบรมไตรโลกนาถ ราชโอรสขึ้นครองราชย์ ทรงย้ายไปสร้างพระราชนิเวศน์ใหม่อยู่ริมน้ำ สร้างพระที่นั่งเบญจรัตนมหาปราสาทองค์หนึ่ง และพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาทอีกองค์หนึ่ง แล้วพระราชอุทิศพระราชวังเก่าเป็นวัดพระศรีสรรเพ็ชญ เพื่อประกอบพิธีสำคัญต่าง ๆ ของบ้านเมือง จึงเป็นวัดในเขตพระราชวังที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา
จุดเด่นของวัดพระศรีสรรเพชญ์ก็ตือ พระสถูปเจดีย์ใหญ่ ๓ องค์ทรงลังกา ตั้งเรียงกันอย่างสวยงาม เป็นภาพที่เห็นกันจนชินตา และเป็นสัญลักษณ์ของเมืองมรดกโลกแห่งนี้
พระสถูปเจดีย์องค์แรกทางด้านตะวันออก สร้างขึ้นโดย สมเด็จพระรามาธิบดี ที่ ๒ เพื่อประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระราชบิดา
องค์กลาง สร้างขึ้นโดย สมเด็จพระรามาธิบดี ที่ ๒ เช่นกัน เพื่อประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ พระเชษฐาที่ครองราชย์ก่อนพระองค์
ส่วนองค์ที่ ๓ สร้างขึ้นในโดย สมเด็จพระบรมราชาธิราช ที่ ๔ (หน่อพุทธางกูร) เพื่อประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ พระราชบิดา
ในปี พ.ศ. ๒๐๔๓ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงสร้างพระวิหาร ทรงหล่อพระพุทธรูปยืน สูง ๘ วา หุ้มทองคำหนัก ๒๘๖ ชั่ง ถวายพระนามว่า พระศรีสรรเพชญดาญาณ
เมื่อเสียกรุง พ.ศ. ๒๓๑๐ พม่าได้เผาลอกทองคำไปหมด และองค์พระพังยับเยิน ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระศรีสรรเพชญดาญาณมาประดิษฐานที่วัดพระเชตุพน โดยบรรจุชิ้นส่วนที่บูรณะไม่ได้ไว้ในเจดีย์องค์ใหญ่ที่สร้างขึ้น พระราชทานชื่อเจดีย์ว่า เจดีย์สรรเพชญดาญาณ
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ได้มีการขุดสมบัติจากกรุภายในเจดีย์ พบพระพุทธรูปและเครื่องทองคำมากมาย
ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๙๙ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้มีการบูรณะวัดพระศรีสรรเพชญ์จนมีสภาพปัจจุบัน
ด้านข้างของวัดพระศรีสรรเพชญ์ยังมีสิ่งสำคัญอีกอย่าง ก็คือ วิหารพระมงคลบพิตร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่ที่มีลักษณะงดงาม เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของกรุงศรีอยุธยา และเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่องค์เดียวในประเทศไทย มีขนาดหน้าตักกว้าง ๙.๕๕ เมตร ส่วนสูงเฉพาะองค์พระไม่รวมฐานบัว ๑๒.๔๕ เมตร ส่วนฐานบัวสูง ๔.๕๐ เมตร พระเศียรวัดโดยรอบตรงเหนือพระกรรณ ๗.๒๕ เมตร พระพักตร์กว้าง ๒.๓๒ เมตร พระกรรณยาวข้างละ ๑,๘๑ เมตร พระเนตรยาวข้างละ ๑.๐๕ เมตร พระนาสิกยาว ๑.๒๐ เมตร พระโอษฐ์ยาว ๑.๑๖ เมตร สันนิษฐานกันว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
พงศาวดารกล่าวว่า เดิมประดิษฐานอยู่ด้านทิศตะวันออกของพระราชวัง ในสมัยพระเจ้าทรงธรรมโปรดฯให้ชักลากมาไว้ทางด้านทิศตะวันตก แล้วสร้างมณฑปขึ้นครอบไว้ ต่อมาในสมัยพระเจ้าเสือ ยอดมณฑปถูกฟ้าผ่าไฟไหม้หักพังลงมาต้องพระเศียรหัก พระเจ้าเสือจึงโปรดฯให้แปลงมณฑปเป็นวิหารแต่ยังคงส่วนยอดของมณฑปไว้ แล้วซ่อมพระเศียรพระพุทธรูปใหม่ จนในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่หมด เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา พม่าคิดว่าพระพุทธรูปเป็นทองคำ จึงเผาทำลายจนชำรุดทรุดโทรม
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นเมื่อครั้งพระยาโบราณราชธานินทร์ ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า มีการซ่อมทั้งพระพุทธรูปและพระวิหารขึ้นใหม่
ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๙๙ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระมงคลบพิตร และพระวิหารขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยองค์พระมงคลบพิตรนั้นได้ทาสีดำตลอดทั้งองค์
พ.ศ. ๒๕๓๓ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เสด็จมาเป็นองค์ประธานเททองหล่อพระพุทธรูปพระมงคลบพิตรจำลอง ได้ประทานพระราชดำริว่าควรปิดทององค์พระมงคลบพิตรทั้งองค์ ทำให้องค์พระพุทธรูปมีพุทธลักษณะที่งดงามน่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งขึ้น
ในกฎมนเทียรบาลเรียกวิหารมงคลบพิตรว่า “ศาลามงคลบพิตร” ไม่ถือเป็นวัด เป็นแค่วิหาร