เมื่อกล่าวกันถึงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็มักจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์กับพระเจ้าหลุ่ยส์ ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส และการใช้อัครมหาเสนาบดีเป็นฝรั่ง แต่พระราชภาระสำคัญของกษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาทุกพระองค์ ก็คือการสร้างกองทัพให้เข้มแข็งเพื่อป้องกันพระนครจากการรุกรานของพม่ามาตลอด จะมีครั้งแรกก็แต่ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ทรงบุกเข้าไปตีเมืองพม่าบ้าง ส่วนในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ นอกจากทรงทำสงครามไม่แพ้ใครแล้ว ยังทรงส่ง โกษาเหล็ก ขุนพลคู่บัลลังก์เข้าไปตีเมืองของพม่าเช่นกัน
ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เป็นช่วงที่ไทยกับพม่าไม่ได้ทำสงครามกันเลย เนื่องด้วยพม่าในยามนั้นอ่อนแอลง ส่วนกองทัพกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระเจ้าปราสาททองเข้มแข็ง ขนาดเอาน้ำแกงราดหัวราชทูตพม่าที่เข้ามา กษัตริย์พม่ายังไม่กล้าหือ จนถึงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ไทยกับพม่าจึงเกิดรบกันขึ้นอีก
เหตุที่รบกันนั้น ก็ด้วยจีนยกกองทัพลงมาตีเมืองอังวะ สมัยนั้นพม่าตั้งเมืองหงสาวดีเป็นราชธานี เมืองเชียงใหม่ได้ข่าวว่าจีนจะลงมาตีเมืองเชียงใหม่ด้วย จึงแต่งทูตมามาขอสามิภักดิ์ต่อกรุงศรีอยุธยา ขอกองทัพไทยขึ้นไปช่วยป้องกันเมืองเชียงใหม่ ขณะนั้นสมเด็จพระนารายณ์เสวยราชย์ได้ ๔ ปี จึงโปรดให้จัดกองทัพพระยารามเดโชคุมพล ๑,๐๐๐ พระยาท้ายน้ำคุมพล ๔,๐๐๐ ยกล่วงหน้าขึ้นไปกับทูตเชียงใหม่ เดือนต่อมาจึงทรงยกกองทัพหลวงขึ้นไปตั้งที่เมืองพิษณุโลก และจัดกองทัพเพิ่มขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่อิก ๕ กอง
เมื่อกองทัพไทยยกขึ้นไปเกือบถึงเชียงใหม่ กองทัพจีนที่มาตีเมืองอังวะก็เลิกถอยกลับไป เจ้าเมืองเชียงใหม่เลยกลับใจ แอบให้คนมาบอกทูตที่นำทัพไทยมาให้หลบหนีไปเสีย สมเด็จพระนารายน์ทรงพิโรธ ดำรัสสั่งให้กองทัพไทยทั้งปวงนั้นยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าหงสาวดีจึงให้กองทัพพม่าเข้ามาช่วยเมืองเชียงใหม่ แต่มาถึงเมื่อไทยได้เมืองเชียงใหม่ไปแล้ว และถูกกองทัพไทยตีแตกไป
สงครามไทยกับพม่าครั้งที่ ๒ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ต่อเนื่องกับครั้งที่กล่าวมา เมื่อจีนยกกองทัพมาตีเมืองอังวะ พระเจ้าหงสาวดีให้มังนันทมิต ซึ่งเป็นพระเจ้าอา มาครองเมืองเมาะตะมะ ให้เกณฑ์กองทัพมอญขึ้นไปช่วยอังวะ พวกมอญเป็นขบถจับมังนันทมิตแล้วอพยพครอบครัวมอญหมื่นเศษเข้ามาสามิภักดิ์ สมเด็จพระนารายน์มีรับสั่งให้ส่งกองทัพออกไปรับครอบครัวมอญเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สามโคกบ้าง ที่คลองคูจาม และที่ข้างวัดตองปุ เมืองบางกอกบ้าง พระเจ้าหงสาวดีได้จัดกองทัพ ๓๐,๐๐๐ ยกเข้ามาติดตามครัวมอญ และมีหนังสือเข้ามาเมืองกาญจนบุรี บอกให้ส่งครัวมอญไปให้โดยดี ถ้าไม่ส่งจะยกเข้ามาชิงไปให้จงได้ สมเด็จพระนารายน์จึงส่งเจ้าพระยาโกษาเหล็กนำพล ๕๐,๐๐๐ ออกไปรับมือ และแจ้งกองทัพทางเชียงใหม่ให้ยกลงมากระหนาบพม่าด้วย กองทัพพม่ายกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ประทะทัพเจ้าพระยาโกษาเหล็กที่ท่าดินแดง แขวงเมืองไทรโยก พอกองทัพไทยฝ่ายเหนือยกลงมาถึงเข้าตีโอบ ทัพพม่าก็แตกพ่ายยับเยินกลับไป
สงครามไทยกับพม่าตั้งแต่ครั้งแรกในสมัยพระไชยราชาในปี พ.ศ.๒๐๘๑ จนถึงครั้งที่ ๒๔ ที่เสียกรุงในปี พ.ศ.๒๓๑๐ และต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์นั้น เกือบทั้งหมดพม่าเป็นฝ่ายรุกราน ไทยเป็นฝ่ายตั้งรับ มีเพียงในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่กองทัพไทยแก้แค้น ไปตีถึงเมืองหงสาวดี ตองอู อังวะ และในสงครามครั้งที่ ๓ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนี้ กองทัพไทยก็บุกเข้าไปในดินแดนพม่าอีกครั้ง
ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖ เรื่องไทยรบพม่าครั้งกรุงเก่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียง กล่าวว่า ครั้งนี้เจ้าพระยาโกษาเหล็กเป็นแม่ทัพเข้าไปตีได้เมืองย่างกุ้ง เมืองแปร เมืองตองอู เมืองหงสาวดี แล้วขึ้นไปล้อมเมืองอังวะ แต่ขาดเสบียงอาหารจึงต้องยกกลับมา แต่ฝ่ายข้างพงศาวดารพม่าว่าไทยยกไปตีเพียงเมืองเมาะตะมะกับเมืองทวายและเสียทีต้องเลิกทัพกลับมา สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯพิเคราะห์ดูแผนที่แล้วทรงเห็นว่า ความจริงคงจะไม่ได้ขึ้นไปถึงเมืองอังวะ ด้วยเวลานั้นหงสาวดีเป็นราชธานีของพม่า การที่ไทยจะเดินทัพทางลุ่มแม่น้ำอิระวดีขึ้นไปถึงเมืองอังวะนั้นไกลมาก และต้องผ่านแดนเมืองใหญ่ไปหลายเมือง เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรจะเสด็จไปตีเมืองอังวะ ยังเดินกองทัพหลวงจากเมืองเชียงใหม่ไปทางเมืองหางเพื่อจะเดินทัพในดินแดนข้าศึกให้ใกล้ กองทัพเจ้าพระยาโกษาเหล็กเป็นแค่ทัพขุนนาง จะเดินทางลุ่มแม่น้ำอิระวดีตั้งแต่เมืองเมาะตะมะขึ้นไปถึงเมืองอังวะ ไม่น่าจะได้ การบันทึกสงครามครั้งนี้จึงมีปัญหา
แต่อย่างไรก็ตาม นี่ก็เป็นสงคราม ๓ ครั้งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มิใช่มีแต่การเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสเท่านั้น ไทยรบกับพม่าในครั้งนี้แล้วก็เลิกรบกันเกือบร้อยปี ด้วยพม่าเสื่อมถอยกำลังลง จนถูกมอญจับพระเจ้าแผ่นดินพม่าได้ สิ้นเชื้อสายพระเจ้าบุเรงนอง ผู้ชนะสิบทิศ ต่อมามีนายบ้านชื่อ อองจัยยะ อาชีพล่าสัตว์ รวบรวมผู้คนรบชนะมอญ ฟื้นฟูอาณาจักรพม่าขึ้นได้อีก ตั้งตัวเป็น พระเจ้าอลองพญา ครองเมืองรัตนสิงห์ เป็นราชธานี และหันมารุกรานไทยอีก