นอกจากผิวพรรณหน้าตาของคณะราชทูตสยามจากตะวันออกไกลจะเป็นที่สนใจของชาวฝรั่งเศส ว่าจะแตกต่างกับคนยุโรปเพียงใดแล้ว ธรรมเนียมต่างๆของคณะราชทูตยังทำให้คนฝรั่งเศสแปลกใจ โดยเฉพาะการขอให้ขบวนรถม้าที่พระเจ้าหลุยส์ ที่ ๑๔ ส่งไปรับ หยุดกลางทางขณะไปถึงถนนเลียบแม่น้ำ ขออาบน้ำให้สะใจซักหน่อย เพราะไม่ได้อาบมาหลายวันแล้ว แม้ขณะนั้นอากาศจะหนาวเย็นยะเยือกก็ไม่หวั่น ทำเอาชาวฝรั่งเศสมามุงดูกันเห็นเป็นของแปลก
คณะราชทูตที่ไปในครั้งนี้ ประกอบด้วยเจ้าพระยามหาโกษาธิบดี (ปาน) ซึ่งขณะนั้นยังเป็น ออกพระวิสูตรสุนทร เป็นราชทูต ส่วนอุปทูตได้แก่ ออกหลวงกัลยาราชไมตรี (ฉ่ำ) ซึ่งเคยเป็นราชทูตไปเมืองจีนมาแล้ว ตรีทูตคือ ออกขุนศรีวิสารวาจา บุตรของราชทูตสยามที่เคยไปกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส
หลังจากรอนแรมไปในทะเล ๒ เดือน จึงไปถึงเมืองเบรสต์ ทางภาคใต้ของฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๒๒๙ แต่ยังขึ้นบกไม่ได้ นายทหารและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่รีบลงมาพบในเรือ บอกว่าขอให้พักในเรือไปก่อน ๑ คืน เพราะยังเตรียมต้อนรับไม่ทันให้สมกับที่พระเจ้ากรุงสยามต้อนรับราชทูตฝรั่งเศส
วันรุ่งขึ้นพอรุ่งสว่าง ปืนที่ป้อมหน้าเมืองก็ยังสลุต ๕๐ นัด พร้อมกับทหารที่ประจำป้อมยิงปืนเล็กอีก ส่วนปืนใหญ่อีก ๒๐๐ กระบอกที่เรียงรายตามชายฝั่ง ก็ยิงสลุตเป็นระยะแบบไม่ยอมหยุด ทั้งเรือรบที่จอดอยู่ในอ่าวก็ยิงด้วย และยิงแบบไม่หยุดทั้งวัน
ราวบ่าย ๒ โมง ผู้บัญชาการทหารเรือพร้อมด้วยผู้ว่าราชการเมืองเบรสต์ ก็นำเรือประดับด้วยผ้าลายทอง ปักธงทิวเป็นแพรสีต่างๆปักทอง มีคนตีกรรเชียง ๕๐ คนพร้อมด้วยวงมโหรีมารับคณะราชทูตขึ้นฝั่ง โดยมีประชาชนที่หูดับตับไหม้จากเสียงปืนยิงสลุตออกมาตั้งแถวรอดูทั้งสองฟากถนน
พอถึงบ้านพักนายกเทศมนตรี บรรดาไฮโซของเมืองเบรสต์มาคอยต้อนรับคณะราชทูตสยามกันพร้อมหน้า ท่านราชทูตโกษาปานก็แสดงตามบทบาทตามที่บาทหลวงวาเซต์ ผู้เป็นล่ามและโค้ชของคณะราชทูตได้เลคเชอร์มาตลอด ๒ เดือนที่เดินทาง ด้วยการจูบแก้มแหม่มเป็นครั้งแรกในชีวิต ตามธรรมเนียมของฝรั่งเศส ซึ่งบาทหลวงวาเซต์บันทึกตอนนี้ไว้ว่า
“...สิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจนั้น ก็เมื่อได้เห็นท่านทูตไม่มีความสะท้านเลย และวางท่าทางสมเกียรติยศ ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าทำนายว่า การข้างหน้าคงจะเป็นผลดี...”
พระเจ้าหลุยส์ ที่ ๑๔ ได้ส่งข้าราชการกรมวังถือรับสั่งมารับไปเฝ้า ซึ่งต้องใช้รถม้าจากเมืองหนึ่งไปส่งอีกเมืองหนึ่งรับกันเป็นทอดๆ รอนแรมไปหลายวันกว่าจะถึงกรุงปารีส บางช่วงถนนก็ชำรุดทรุดโทรมจนคณะราชทูตต้องลงจากรถมาขึ้นแคร่คานหาม ในระหว่างรอนแรมมาในแดนทุรกันดารนั้น คณะราชทูตสยามได้สร้างความทึ่งให้คนฝรั่งเศสหลายอย่างเพราะธรรมเนียมไม่เหมือนกัน
อย่างแรกคือการอัญเชิญพระราชสาสน์ ตามธรรมเนียมตะวันตกทั่วไปถือว่าตัวทูตสำคัญกว่าพระราชสาสน์ แต่ธรรมเนียมไทยถือว่าพระราชสาสน์สำคัญกว่าตัวทูต และจะต้องแสดงความเคารพต่อพระราชสาสน์ ในการพักแรมกลางทาง ผู้ต้อนรับได้จัดบ้านที่โอ่อ่าที่สุดของเมืองให้เป็นที่พัก โดยให้ท่านราชทูตพักในห้องใหญ่สุดที่อยู่ชั้นล่าง เข้าออกได้สะดวก ส่วนอุปทูตและตรีทูตต้องขึ้นไปพักชั้นบน เรียกว่าใครมียศสูงอยู่ต่ำ ใครยศต่ำอยู่สูง แต่ท่านทูตโกษาปานกลับขอพักห้องบนสุด ซึ่งเป็นห้องเล็กๆ จัดไว้สำหรับผู้ติดตาม เพราะจะให้ใครอยู่สูงกว่าพระราชสาสน์ไม่ได้ อุปทูตและตรีทูตก็ไม่ยอมขึ้นไปอยู่เหนือพระราชสาสน์ ทั้งยังต้องจัดที่วางพระราชสาสน์เป็นพิเศษ ให้อยู่เหนือศีรษะของท่านราชทูตด้วย
อีกตอนหนึ่งของการเดินทางสมบุกสมบัน เมื่อมาถึงแม่น้ำลัวร์ซึ่งอยู่ข้างทาง คณะราชทูตสยามก็ขอให้จอดรถลงอาบน้ำให้สบายตัวสักครั้ง เพราะตั้งแต่ออกเดินทางมาจากสยามยังไม่มีโอกาสได้ลงคลองสักที ทำเอาคนฝรั่งเศสมามุงดูกันเป็นกลุ่มใหญ่ เพราะไม่เคยเห็นใครลงไปอาบน้ำในแม่น้ำขณะอากาศหนาวเย็นเช่นนั้น ทำให้คณะราชทูตสยามพากันเขิน เลยอาบกันไม่สะใจ
ในวันรุ่งขึ้นเมื่อมาถึงอีกเมือง ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำลัวร์เช่นกัน คณะราชทูตสยามก็ขอจอดรถอาบน้ำอีกที ครั้งนี้ก็มีคนมามุงดูเหมือนกัน คณะราชทูตเลยจ้างเรือให้ไปส่งฝั่งตรงข้ามที่ไม่มีคน แล้วอาบกันจนสะใจ
การรับประทานอาหารก็เช่นกัน ธรรมเนียมฝรั่งจะต้องล้างมือก่อนรับประทานอาหาร เมื่อรับประทานเสร็จแล้วไม่ต้องล้างมือ เพราะใช้ช้อนซ่อม แต่ธรรมเนียมไทยต้องล้างมือหลังรับประทานอาหาร เพราะเคยชินกับการใช้มือเปิบ ฝรั่งจึงเห็นเป็นเรื่องแปลกอีก
แรกๆชาวฝรั่งเศสอาจจะเห็นเป็นเรื่องตลกของผู้มาจากสยามอันไกลโพ้น แต่เมื่อได้เห็นบุคลิก ปฏิภาณไหวพริบและมารยาทอันงดงามแล้ว บรรดาข้าราชบริพาร พระบรมวงศานุวงศ์ จนถึงพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส ต่างก็ชื่นชมยกย่อง ในพระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ ที่ ๑๔ ถึงสมเด็จพระนารายณ์ มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“...ราชทูตของพระองค์นี้ รู้สึกว่า เป็นคนรอบคอบ รู้จักปฏิบัติราชกิจของพระองค์ถี่ถ้วนดีมาก หากเรามิฉวยโอกาสนี้เพื่อเผยแพร่ความชอบแห่งราชทูตของพระองค์บ้าง ก็จะเป็นการอยุติธรรมไป เพราะราชทูตได้ปฏิบัติล้วนถูกใจเราทุกอย่าง โดยแต่น้ำคำที่พูดออกมาทีไร แต่ละคำๆ ก็ดูน่าปลื้มใจ และน่าเชื่อถือทุกคำ...”
พระเจ้าหลุยส์ ที่ ๑๔ รับสั่งถึงสมเด็จพระนารายณ์ว่า “...พระเจ้ากรุงสยามน้องของข้า..” ส่วนสมเด็จพระนารายณ์ก็รับสั่งถึงพระเจ้าหลุยส์ ที่ ๑๔ ว่า
“...พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสพระสหายของข้า...” ทั้งๆที่ทั้งสองพระองค์ยังไม่ได้เห็นพระพักตร์กันเลย นับเป็นความสามารถของท่านราชทูตโกษาปานโดยแท้ โดยเฉพาะคำกราบบังคมทูลลาของโกษาปาน เป็นที่ประทับใจของผู้เข้าเฝ้าไปตามกัน ถึงกับขอทำสำเนาไว้อ่านกันอีก
ตลอดระยะเวลาที่คณะราชทูตสยามไปถึงเมืองเบรสต์ จนกลับออกจากฝรั่งเศส ทางฝรั่งเศสได้ส่ง มองซิเออร์ เดอ วีเซ ติดตามคณะราชทูตเพื่อจดบันทึกไว้ทุกระยะตลอดจนเกร็ดย่อยต่างๆ แล้วจัดพิมพ์ออกจำหน่ายในปี พ.ศ.๒๒๒๙ นั้น ซึ่ง เจษฏาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ แห่ง ร.ร.อัสสัมชัญ ได้แปลให้ห้องสมุดแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ มีเรื่องราวทีน่าอ่านมาก หาอ่านได้ที่หอสมุดแห่งชาติ