วัดราชบูรณะ เป็นวัดที่มีความน่าสนใจแห่งหนึ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสามพระยา ตรงบริเวนที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเชษฐาสองพระองค์ ซึ่งทรงทำยุทธหัตถีกันเมื่อพระราชบิดาสวรรคต พระเจ้าสามพระยาพระองค์นี้คือกษัตริย์ไทยผู้ที่ตีได้เมืองนครธม นครหลวง ปราบปรามขอมที่เคยมีอิทธิพลอยู่ในย่านนี้จนราบคาบสูญพันธุ์ กวาดต้อนผู้คนและข้าวของมามากมาย จนเมื่อ ๖๐ กว่าปีมานี่เอง ได้มีขโมยกลุ่มหนึ่งขุดลงไปพบห้องลับใต้ฐานพระปรางค์วัดราชบูรณะ ขนสมบัติล้ำค่าที่เก็บไว้ในนั้นไป มีเครื่องราชูปโภคที่ทำด้วยทองคำ น้ำหนักราว ๑๐๐ กิโลกรัม และพระพุทธรูปทองคำกับพระเครื่องจำนวนมาก ร้านทองในตลาดต้องเปิดเตาหลอมทั้งวันทั้งคืนก่อนตำรวจจะตามมาพบ
พระเจ้าสามพระยาเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ ๗ ของกรุงศรีอยุธยา เป็นพระราชโอรสของเจ้านครอินทร์ เมื่อพระราชบิดาขึ้นครองราชย์ได้ทรงส่งขึ้นไปปกครองเมืองชัยนาทบุรี ขณะที่พระเชษฐาสองพระองค์ คือเจ้าอ้ายพระยาไปปกครองเมืองสุพรรณบุรี เจ้ายี่พระยาปกครองเมืองแพรกศรีราชา ซึ่งอยู่ในอำเภอสรรค์บุรีในปัจจุบัน
ในปี พ.ศ.๑๙๖๗ เจ้านครอินทร์สวรรคต เจ้าอ้ายพระยาได้ยกพลโยธาเข้ามาหวังจะขึ้นครองราชย์ ขณะที่เจ้ายี่พระยาก็ยกเข้ามาด้วยหวังในราชบัลลังก์เช่นกัน เมื่อทั้งสองพระองค์ทรงช้างมาพบกันที่เชิงป่าถ่านจึงได้ทำยุทธหัตถี ต่างฟันพระแสงของ้าวต้องพระศอขาดพร้อมกัน เจ้าสามพระยาจึงได้รับการอัญเชิญจากชัยนาทให้ขึ้นครองราชย์
พงศาวดารกล่าวว่า เจ้าสามพระยาให้ขุดพระศพพระเชษฐาทั้งสองพระองค์ขึ้นถวายพระเพลิง จากนั้นโปรดให้สร้างพระอารามขึ้น ณ ที่นั้น พระราชทานนามว่า วัดราชบูรณะ และให้ก่อพระเจดีย์สององค์ไว้ที่เชิงสะพานป่าถ่าน ซึ่งน่าจะเป็นการถวายพระเพลิงทั้ง ๓ พระองค์รวมทั้งพระราชบิดาด้วย เพราะโปรดให้สร้างพระปรางค์องใหญ่ขึ้นอีกองค์หนึ่งใกล้กับพระเจดีย์ทั้งสอง ใต้ฐานพระปรางค์มีห้องใต้ดินลึกลงไป ๓ ชั้นเป็นกรุเก็บสมบัติ บรรจุพระพุทธรูปทองคำและพระเครื่องมากมาย ตามความเชื่อของคนโบราณว่าเป็นการสืบทอดพระศาสนาที่เชื่อว่าจะยืนยงอยู่แค่ ๕,๐๐๐ ปี แม้พระศาสนาจะล่มสลายลง แต่สิ่งเหล่านี้จะยังอยู่เป็นเครื่องยืนยันว่าเมื่ออดีตดินแดนแห่งนี้เคยมีพระพุทธศาสนา ในกรุนี้ยังมีเครื่องราชูปโภคอันเป็นของใช้ของพระมหากษัตริย์ซึ่งล้วนเป็นทองคำและอัญมณีมีค่าต่างๆมากมาย
เมื่อพระเจ้าสามพระยาตีได้เมืองนครหลวงนั้น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า
“...จึงให้พระราชกุมารท่าน พระนครอินทร์เจ้า เสวยราชสมบัติเมืองนครหลวง ท่านจึงให้เอาพระยาแก้ว พระยาเดโชและครอบครัว และทั้งรูปพระโค รูปสิงห์ สัตว์ทั้งปวงมาด้วย ครั้นถึงพระนครศรีอยุธยา จึ่งให้เอารูปสัตว์ทั้งปวงไปบูชาไว้ ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุบ้าง ไปไว้วัดพระศรีสรรเพชญ์บ้าง...”
แต่ไม่ได้กล่าว่านำสิ่งใดมาไว้ที่วัดราชบูรณะ
ในปี พ.ศ.๒๔๙๙ ได้เกิดข่าวใหญ่ หนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับต่างรายงานข่าวที่มีคนกลุ่มหนึ่งได้ลอบขุดกรุวัดราชบูรณะแห่งนี้และขนสมบัติล้ำค่าออกไป ตามข่าวว่าเริ่มจากคน ๓ คนคิดจะเข้าไปขุดหาพระเครื่อง โดยลงมือขุดตอนสองทุ่มของคืนวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๔๙๙ แต่จู่ๆก็มีลมพัดกรรโชกและฝนตกอย่างแรง จึงขึ้นไปชั้นบนพระปรางค์และใช้ชะแลงงัดเข้าไป เมื่อไปห้องใต้พระปรางค์เหยียบหินแผ่นหนึ่งก็รู้สึกว่าปิดอยู่เฉยๆ จึงช่วยกันยกขึ้น ส่องไฟฉายลงไปก็ตะลึงกันแทบช็อก ทุกอย่างล้วนทำด้วยทองคำเหลืองอร่ามไปหมด จึงลงไปขนสมบัติ ๒ คน อีกคนชักรอกขึ้นมาทยอยไปเก็บไว้ที่บ้าน ในคืนที่ ๓ คน ๒ คนในกรุชักสงสัย ตามไปที่บ้านคนเอาสมบัติไปเก็บ ปรากฏว่ามีคนที่รู้เรื่องมาร่วมขอแบ่งด้วยราว ๓๐ คน เอาผ้าขาวม้าห่อไปคนละห่อสองห่อ
ตามข่าวว่าความแตกเมื่อตำรวจชั้นผู้น้อย ๒ คนที่เข้ามารับส่วนแบ่ง เมาแอ๋ไปคุยถึงความร่ำรวยให้นายฟังบนโรงพัก จนนายตำรวจสงสัยซักถามก็ได้เรื่องจึงสืบสาวเรื่องราวต่อ ส่วนหัวหน้าแก๊งขุดถึงกับเป็นบ้า เมื่อสมบัติที่เอาไปฝากไว้ตามบ้านญาติถูกอมหมด ใส่พระมาลาถือพระขรรค์ที่เก็บไว้เองไปรำที่หน้าตลาดหัวรอ ตำรวจเห็นเข้าก็นึกว่าเป็นของปลอม ที่ไหนได้เป็นของจริง เลยตามรวบมาได้ทั้งขบวน ๒๐ คน ร้านทองที่รับซื้อไว้ต้องเปิดเตาหลอมกันทั้งวันทั้งคืนก่อนตำรวจจะตามมาพบ
จากคำให้การของแก๊งขุดและคำบอกเล่าของผู้เห็นเหตุการณ์รวมทั้งนักค้าของเก่า ประมาณว่าเครื่องทองราชูปโภคจากกรุวัดราชบูรณะมีน้ำหนักราว ๑๐๐ กิโลกรัม ซึ่งตามกลับคืนมาได้ราว ๒๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น สมบัติส่วนนี้รวมกับที่กรมศิลปากรขุดได้ภายหลัง จัดแสดงไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
จากบันทึกคำให้การของแก๊งขุดทราบว่า ภายในกรุชั้นล่างนั้น มีโต๊ะสำริด ๓ ตัวตั้งอยู่ทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศเหนือ ตรงกลางของกรุ ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมกว้างราว ๑ วาเศษ บนแท่นศิลากลางกรุ มีถาดทองคำ ๓ ใบ บนถาดมีกระโถนทองคำ ๔ ใบ มีไข่มุกอยู่เต็มกระโถน และพบแหวนประมาณ ๒,๐๐๐ วง บนแท่นยังพบพระแสงทองคำปักไว้ข้างขอบ บนโต๊ะมีเสื้อทองคำ ๘ ตัว มหามงกุฎกว้าง ๑ ศอก สูง ๒ ศอกเศษ มีจอกทองคำประดับด้วยทับทิม และมงกุฎราชินี ๓ อัน ตลับทอง ๑๒ ใบ
ส่วนบนโต๊ะด้านทิศตะวันออก มีมหามงกุฎราชินี ๕ อัน วางไว้บนโต๊ะ เสื้อทองคำของพระมหากษัตริย์ เรือหงส์ทองคำ ๑ ลำ คนพายเรือทองคำ พระพุทธรูป ๒๐ องค์ กระบวยทองคำ ๘ อัน พร้อมม่านทองคำขึงท้องพระโรงก้อนใหญ่
โต๊ะทางทิศใต้ มีพระพุทธรูป ๒๕ องค์ ตลับพระแก้วมรกต ๔ องค์ พระพุทธทำด้วยทอง นาก เงิน มีผ้าพับ ไว้อย่างดี แต่เมื่อถูกผ้าก็เป็นผุยผง นอกจากนี้มีพระราชรถคันหนึ่งมีม้าเทียมคู่หนึ่งทำด้วยทองคำ มีขวด ๖ ลูก ทำด้วยสีขาว มีแหวนอยู่เต็มขวด และเศษทองอีก ๑๐ กระสอบ
สมบัติอันล้ำค่าของชาติที่ถูกนำไปหลอมและขายไปต่างประเทศเหล่านี้ มีค่าเป็นเงินมหาศาล แต่น่าประหลาดใจที่ทั้งแก๊งขุดรวมทั้งคนรับส่วนแบ่งและคนรับซื้อ ไม่มีมีใครร่ำรวยเลยสักคน บางคนก็หนีหัวซุกหัวซุนและใช้เงินที่ได้มาไปในการหนีจนหมด บางคนก็หายสาบสูญไปตั้งแต่บัดนั้น บางคนก็เวียนเข้าออกคุก บ้างก็กินเหล้าจนเมามายเสียสติ บ้างเจ็บป่วยทุกข์ทรมานด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ทุกคนเหมือนต้องคำสาปที่ชีวิตต้องย่อยยับอับปางไปทั้งครอบครัว