ในที่สุด บริการเรียกรถ-ส่งอาหาร “อูเบอร์” ก็ตัดใจขายกิจการ 8 ประเทศในเอเชียให้ “แกร๊บ” โดยใช้วิธีขายธุรกิจ เพื่อแลกหุ้นของฝั่งตรงข้าม ซึ่ง UBER จะถือหุ้น 27.5% ใน GRAB ส่วนซีอีโออูเบอร์ “ดารา คาสโรว์ชาฮี” จะเป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารของ “แกร๊บ”
แม้ “อูเบอร์” จะไม่ได้ชี้แจงเหตุผลว่าขายทำไม แต่มีคนวิเคราะห์ว่า เพราะการตลาดเสียเปรียบ “แกร๊บ” อูเบอร์ เลยขอเน้นไปที่ตลาดยุโรป-อเมริกา ซึ่งทำได้ดี และมีข้อได้เปรียบมากกว่า
ปัจจุบัน “แกร๊บ” มีเครือข่ายรถส่วนตัว มอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ และรถเช่า คนขับ 2.3 ล้านคน ให้บริการรถรับจ้าง - ส่งอาหารใน 8 ประเทศ มีประชากรรวมกันมากกว่า 640 ล้านคน ผลกระทบที่ตามมาสำหรับเมืองไทย
1. ผู้ให้บริการเรียกรถรับจ้าง ที่ไม่ใช่แท็กซี่ จากที่เคยเป็นคู่แข่ง จะเหลือเพียงรายเดียว แอปฯ UBER จะให้บริการถึง 8 เมษายน 2561 หลังจากนั้นต้องเปลี่ยนไปใช้แอปฯ GRAB แทน
2. คนขับอูเบอร์ ต้องไปลงทะเบียนกับแกร๊บคาร์ แต่คนขับแกร๊บคาร์ รับงานได้ตามปกติ
3. บริการส่งอาหาร UBER EATS ใช้ได้ถึงพฤษภาคม หลังจากนั้นต้องใช้บริการ GRAB FOOD แทน
4. เมื่อผูกขาดเพียงรายเดียว ค่าโดยสารแกร๊บคาร์ เมื่อไม่มีอูเบอร์แล้ว อาจแพงขึ้น หรือส่วนลดมีน้อยลง
มาวันนี้ มีคู่แข่งสำคัญของแกร๊บ คือ “ไลน์” ที่มี “ไลน์แมน” บริการส่งของ สั่งอาหาร และล่าสุด บริการเรียกรถ “ไลน์ แท็กซี่” เริ่มให้บริการผ่านแอปฯ LINE MAN แล้ว
ต้องดูกันต่อไปว่า ระหว่าง “แกร๊บ” กับ “ไลน์” ใครจะชิงเจ้าตลาด รถแท็กซี่และส่งอาหาร น่าจับตายิ่ง