xs
xsm
sm
md
lg

“เจ้าฟ้าพญาครุฑ” ได้เคียงคู่ “เจ้าฟ้ากากี” ในสุสานรักวัดไชยวัฒนาราม! ฐานเป็นชู้สนมเอกพระราชบิดา!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

วัดไชยวัฒนารามที่ฝังพระศพเจ้าฟ้ากุ้งและเจ้าฟ้าสังวาล
กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคแม้ในยุคนี้ เสียงเห่เรือที่ก้องกังวานไปทั่วคุ้งน้ำนั้น เป็นบทเห่เรือที่ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ หรือ “เจ้าฟ้ากุ้ง” ได้สร้างแบบฉบับไว้ตั้งแต่เมื่อราว ๓๐๐ ปีก่อน สมัยกรุงศรีอยุธยา แม้บทเห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้งจะเป็นอมตะ แต่พระชนม์ชีพของพระองค์กลับถึงจุดจบขณะที่ราชบัลลังก์อยู่แค่เอื้อม ก็เพราะความอ่อนไหวเฉกเช่นกวีทั่วไป โดยมีบทกวีของพระองค์เองเป็นหลักฐานในความผิด พระศพของพระองค์ถูกฝังไว้เคียงคู่กับพระศพของเจ้าฟ้าหญิงผู้มีความสัมพันธ์ทางใจ ณ วัดไชวัฒนาราม

เจ้าฟ้าธรรมธิเบศเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งเป็นพระอนุชาพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ในปี พ.ศ. ๒๒๗๕ พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระประชวรหนัก ตรัสมอบราชสมบัติให้เจ้าฟ้าอภัย ราชโอรสองค์หนึ่ง แต่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศซึ่งตอนนั้นทรงเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลไม่เห็นด้วย รับสั่งว่าถ้ามอบให้เจ้าฟ้านเรนทร์ พระราชโอรสองค์ใหญ่จึงจะยอมรับ แต่เจ้าฟ้านเรนทร์ทรงผนวชอยู่ ไม่ยินดียินร้ายในราชบัลลังก์ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระสวรรคตจึงเกิดการรบพุ่งชิงราชบัลลังก์กันขึ้น เจ้าฟ้าอภัยเป็นฝ่ายแพ้ กรมพระราชวังบวรจึงขึ้นครองราชย์ เป็น พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงสถาปนาเจ้าฟ้าธรรมธิเบศราชโอรสขึ้นเป็นรัชทายาท

พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในฐานะพระเจ้าอา ทรงรักใคร่เอ็นดูเจ้าฟ้านเรนทร์มาก พระราชทานโอกาสให้เข้าเฝ้าใกล้ชิดเป็นประจำ ทำให้เจ้าฟ้าธรรมธิเบศหวาดระแวงว่าเจ้าฟ้านเรนทร์อาจจะเปลี่ยนพระทัยลาผนวชมารับตำแหน่งรัชทายาทแทน

ในปี พ.ศ. ๒๒๗๘ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศประชวร เจ้าฟ้านเรนทร์จึงเสด็จจากวัดเกาะที่จำพรรษา มาประทับที่วัดโคกแสง เพื่อเข้าเยี่ยมได้สะดวก ทำให้เจ้าฟ้าธรรมธิเบศยิ่งวิตกหนัก จึงใช้ให้ ๒ พระธิดาของพระองค์เอง คือ พระองค์เจ้าชื่น และ พระองค์เจ้าเกิด ไปทูลลวงเจ้าฟ้านเรนทร์ว่าพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งนิมนต์ให้เข้าเฝ้า เจ้าฟ้านเรนทร์จึงรีบเสด็จเข้าพระราชวังทันทีโดยมิได้คิดระแวง

เมื่อเสด็จถึงพระทวารชัย ก้าวพระบาทยังไม่ทันพ้น เจ้าฟ้าธรรมธิเบศซึ่งแอบคอยทีอยู่ ก็จ้วงฟันด้วยพระแสงดาบ ถูกพระภิกษุเจ้าฟ้านเรนทร์อย่างถนัด แต่ก็ตัดได้แค่จีวรเท่านั้น พระวรกายไม่มีบาดแผลแต่อย่างใด คงเสด็จล่วงเข้าพระราชฐานอย่างสงบ เมื่อเข้าเฝ้า พระเจ้าอยู่หัวก็แปลกพระทัยเพราะไม่ได้รับสั่งให้นิมนต์ และเมื่อทอดพระเนตรเห็นจีวรขาดก็ยิ่งทรงสงสัย รับสั่งถาม เจ้าฟ้านเรนทร์ทูลว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศทรงหยอกล้อเล่นเท่านั้น พระเจ้าอยู่หัวทรงพิโรธเมื่อทรงซักถามเรื่องอย่างละเอียด รับสั่งให้ไปตาม ๓ ตัวการมาทันที แต่ได้แค่สองพระองค์เจ้าหญิงซึ่งยอมรับสารภาพโดยดี จึงให้เอาไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์

ฝ่ายเจ้าฟ้าธรรมธิเบศหวั่นในพระราชอาญา เสด็จหนีไปยังตำหนักพันวัสสาใหญ่ ซึ่งเป็นพระชนนี เล่าความเป็นมาทั้งหมดให้ทรงทราบ พระพันวัสสาตกพระทัยด้วยเกรงพระราชโอรสจะได้รับพระราชอาญา จึงรีบเสด็จไปวัดโคกแสง วิงวอนเจ้าฟ้านเรนทร์ขอให้ทรงยกโทษให้และขอให้หาทางช่วย เจ้าฟ้านเรนทร์จึงแนะให้รีบมาผนวชเสีย พระเจ้าอยู่หัวคงไม่ถึงกับเปลื้องผ้าเหลือง เจ้าฟ้าธรรมธิเบศจึงต้องมาผนวชที่วัดโคกแสง จำพรรษาอยู่กับเจ้าฟ้านเรนทร์

เจ้าฟ้าธรรมธิเบศต้องหลบภัยอยู่ในผ้ากาสาวพัสตร์ถึง ๒ ปี จนในปลายปี พ.ศ.๒๒๘๐ พระพันวัสสาประชวรหนัก ด้วยความห่วงใยในพระโอรส จึงกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวขอพระราชทานพระกรุณาเป็นครั้งสุดท้าย ขอให้อภัยโทษแก่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวก็โปรดตามที่ขอ พระพันวัสสาจึงสิ้นพระชนม์ด้วยอาการสงบ

เจ้าฟ้าธรรมธิเบศได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้กลับเข้ารับราชการอีก และต่อมาอีก ๔ ปีก็ได้ขึ้นเป็นมหาอุปราชตามเดิม ทั้งยังโปรดให้สถาปนา เจ้าฟ้าหญิงอินทสุดาวดี พระราชธิดา ซึ่งเป็นพระกนิษฐาร่วมพระชนนีเดียวกันกับเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ เป็น กรมขุนพิศาลเสนี พระราชทานให้เป็นอัครมเหสีของกรมพระราชวังบวรด้วย
นอกจากจะมีพระอัครมเหสีแล้ว เจ้าฟ้าธรรมธิเบศยังมีชายา มีเจ้าจอมหม่อมห้าม และมีพระสนม นางรัก อีกนับสิบคน

จนถึงปี พ.ศ. ๒๒๙๘ ชะตาชีวิตของเจ้าฟ้ากวีเอกก็ผกผันอีกครั้ง ในขณะที่พระองค์ประชวรหนักด้วยโรคบุรุษ ไม่ได้เข้าเฝ้าพระราชบิดาถึง ๓ ปี ประทับรักษาพระองค์อยู่แต่ในพระราชวังบวร ถูกกรมหมื่นสุนทรเทพ พระอนุชาต่างมารดาที่หมายปองราชบัลลังก์และมีความแค้นอยู่ในพระทัย นำความขึ้นกราบทูลพระราชบิดาว่าถูกเจ้าฟ้าธรรมธิเบศกลั่นแกล้งต่างๆนานา ส่งคนไปดักทำร้ายจนไม่กล้ากลับเข้านอนในพระตำหนัก ทั้งนี้ก็เนื่องจากตนล่วงรู้ความลับที่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศลอบเป็นชู้กับเจ้าฟ้าสังวาลพระสนมเอก

เจ้าฟ้าสังวาลเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ มีศักดิ์เป็นพี่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ แต่อ่อนกว่า ๒ ปี มีความสัมพันธ์ทางใจกันมาก่อน เมื่อตอนที่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศต้องไปผนวชหลบภัย เจ้าฟ้าสังวาลก็ตกเป็นสนมของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และมีพระราชโอรสถึง ๔ พระองค์ แต่ในฐานะที่รักทางกวีด้วยกัน ทั้งสองพระองค์จึงได้นิพนธ์บทกลอนโต้ตอบกัน แต่อาจจะเป็นด้วยทั้งสองยังมีความผูกพันทางใจกันอยู่ กลอนที่โต้ตอบถึงกันจึงเหมือนบอกความในใจต่อกัน ซึ่งเป็นหลักฐานให้น่าเชื่อถือในคำฟ้องเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ กาพย์เห่เรือเรื่อง“กากี” ที่เจ้าฟ้ากุ้งทรงบรรยายตอนพญาครุฑลอบเข้าหานางกากีถึงในห้องบรรทมว่า

๐ สุบรรณสำแดงฤทธิให้มืดมิดปิดอัมพร
ร่อนลงตรงบัญชรจรสู่น้องแก้วกากี
๐ กล่าวรสพจนาทสายสุดสวาทเจริญศรี
ผินหน้ามาพาทีพี่คือชายชาญสกา
๐ ประสงค์จำนงรักจึงลอบลักเข้ามาหา
หวังเชิญแก้วกานดาไปสู่ฟ้าพิมานจันทร์
๐ เสวยรมย์สมบัติพี่ในฉิมพลีเกษมสันต์
แล้วจะพาเจ้าจรจรัลเที่ยวชมชั้นพระเมรุธร

บทกวีของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศนี้ ยิ่งทำให้พระราชบิดาทรงเชื่อในคำฟ้อง ทั้งๆที่ในความเป็นจริง เจ้าฟ้ากุ้งประชวรด้วยโรคบุรุษอย่างหนักมาหลายปีแล้ว การจะลอบเข้าหาเจ้าฟ้าสังวาลเหมือนพญาครุฑจึงเป็นไปไม่ได้ แต่การเขียนเพลงยาวถึงกันก็มีโทษประหารชีวิต เมื่อเจ้าฟ้าสังวาลถูกนำตัวมาชำระความหน้าพระที่นั่ง ทรงยอมรับว่าเป็นผู้นิพนธ์เพลงยาวนั้นจริง เจ้าฟ้าธรรมธิเบศจึงถูกคุมตัวมาทันที ซึ่งกรมพระราชบวรก็ทรงรับเป็นความสัตย์ตลอดข้อหา

แต่กระนั้นพระราชบิดาก็ไม่ได้เอาโทษถึงประหาร ลงพระราชอาญาเพียงเฆี่ยน และถอดจากความเป็นเจ้าทั้งสองพระองค์

เจ้าฟ้าธรรมธิเบศประชวรเรื้อรังมานาน ครั้นถูกเฆี่ยนสี่ยก ยกละสามสิบที ก็สิ้นพระชนม์ ขณะพระชนมายุเพียง ๔๐ พรรษา ส่วนเจ้าฟ้าสังวาลถูกเฆี่ยนหนึ่งยก อยู่ได้ ๓ วันก็สิ้นพระชนม์ตาม พระเจ้าอยู่หัวโปรดให้นำศพของ “เจ้าฟ้ากากี” และ “เจ้าฟ้าพระยาครุฑ” ไปฝังไว้ด้วยกันที่วัดไชยวัฒนาราม

หลังจากนั้นอีกเพียง ๓ ปี พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็สวรรคต ถ้าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศยังมีพระชนม์อยู่ ก็จะได้ขึ้นครองราชย์อย่างแน่นอน

แม้ดวงชะตาของเจ้าฟ้ากุ้งจะก้าวไปไม่ถึงราชบัลลังก์ แต่พระองค์ก็ทรงครองบัลลังก์รัตนกวีของกรุงสยามมาจนถึงทุกวันนี้ และจะตลอดไปอีกกาลนาน
กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่ก้องกังวานด้วยบทเห่เรือเจ้าฟ้ากุ้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น