xs
xsm
sm
md
lg

เปิดกำพืด "คอนสแตนติน ฟอลคอน" เจ้าพระยาฝรั่งหนึ่งเดียวของกรุงศรีอยุธยา! บาทหลวงว่าซื่อตรงฉลาด พ่อค้าทหารว่าโกงปลิ้นปล้อน!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

คอนสแตนติน ฟอลคอน รับบทโดย หลุยส์ สก็อต ละครบุพเพสันนิวาส ที่กำลังฮิตในขณะนี้
เรื่องราวที่เอามาเล่าครั้งนี้ ปรากฏอยู่ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๘ แปลจากหนังสือภาษาอังกฤษที่ไม่ปรากฏชื่อคนเขียน ซึ่งสันนิฐานกันว่าคือ ยอร์ช ไวท์ พ่อค้าชาวอังกฤษที่เป็นนายจ้างเก่าของ คอนสแตนติน ฟอลคอน และเป็นผู้นำฟอลคอนมาอยู่กรุงศรีอยุธยา จนมีวาสนาได้เป็น เจ้าพระยาวิชเยนทร์ อัครมหาเสนาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งได้เปิดเผยวาสนามีอันสูงส่งของลูกจ้างเก่าว่า พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ของฝรั่งเศส เรียกเขาว่า “สหายที่รัก” ในจดหมายโต้ตอบกันไปมา และยังส่งเครื่องบรรณาการไปถวายพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษถึง ๖๐๐ ชั่ง (๔๘,๐๐๐ บาท) “เป็นพยานให้เห็นว่า เป็นการที่ฝรั่งได้เป็นใหญ่กว่าเจ้าของเมือง”

คอนสแตนติน ฟอลคอน เกิดที่หมู่บ้านคัสโตด บนเกาะเชฟโลเนียร จากครอบครัวที่เป็นเจ้าของร้านขายข้าวแกงเล็กๆ พออายุ ๑๐ ขวบก็อาศัยเรือกำปั่นชาวอังกฤษไปอยู่ที่เกาะอังกฤษด้วย จนอายุ ๒๐ จึงมาทำงานกับยอร์ช ไวท์ ในตำแหน่งรับใช้ในเรือสำเภาที่ค้าขายแถวอ่าวเปอร์เซีย อีก ๕ ปีต่อมาจึงเข้ามาเป็นผู้จัดการห้างของยอร์ช ไวท์ในกรุงศรีอยุธยา

ในช่วงดูแลห้างให้ยอร์ช ไวท์ในกรุงศรีอยุธยานี้ ฟอลคอนก็มั่งคั่งขึ้นจนสามารถซื้อเรือสำเภาได้ลำหนึ่ง ชื่อ “แมรี” และเป็นนายเรือแล่นสำเภาไปค้าขายเอง แต่ก็เป็นทั้งโชคร้ายและโชคดีของฟอลคอน พอเรือออกไปปากอ่าวเจ้าพระยา เขาก็ถูกคลื่นลมตีกลับเข้ามาถึง ๒ ครั้ง แต่ฟอลคอนก็ยังมุมานะฝ่าคลื่นลมออกทะเลไปจนได้

การฝ่าคลื่นลมไปในทะเลด้วยตัวเองในครั้งนี้ ฟอลคอนได้ประสบเคราะห์กรรมอย่างหนัก โดยเรือไปอับปางแถวมะละกา แต่ฟอลคอนก็ยังโชตดีที่เอาชีวิตรอดตะเกียกตะกายไปขึ้นฝรั่งได้ และยังกอดเงินสด ๒,๐๐๐ เหรียญไว้ไม่ยอมปล่อย ขณะที่เขาหลับเพราะความอ่อนเพลียอยู่ที่ชายหาดนั้น ก็นิมิตเห็นคนผู้หนึ่งท่าทางคล้ายกษัตริย์ เสด็จมาประทับทอดพระเนตรเขาด้วยพระอาการยิ้มแย้ม และตรัสว่า “กลับไป..กลับไปยังที่ๆเจ้ามา” ฟอลคอนจำคำนี้ไว้มั่น และคิดจะนำเงิน ๒,๐๐๐ เหรียญซื้อเรือใหม่กลับไปกรุงศรีอยุธยาอีก

เช้าวันต่อมา ฟอลคอนก็เห็นคนๆหนึ่งเดินตรงมาหา ผ้าผ่อนเปียกและอยู่ในสภาพอิดโรย ดูก็รู้ว่าน่าจะเป็นคนเรือแตกเช่นเดียวกับเขา เครื่องแต่งตัวทำให้นึกถึงราชทูตสยามที่กำลังเดินทางไปเปอร์เซีย เมื่อไต่ถามก็ได้ความว่าเป็นจริงตามนั้น ฟอลคอนจึงชวนท่านราชทูตกลับไปด้วยกันโดยเขาจะหาซื้อเรือใหม่ ทำให้ท่านราชทูตดีใจเป็นล้นพ้น

เมื่อกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยา ท่านราชทูตก็พาฟอลคอนไปพบเจ้าพระยาพระคลัง และกล่าวสรรเสริญฟอลคอนมากมาย หลังจากนั้นฟอลตอนก็ฝากตัวรับใช้เจ้าพระยาพระคลังจนเป็นคนโปรดที่รักใคร่สนิทสนม และสนับสนุนให้เขาเข้าทำงานในกรมพระคลังสินค้า ซึ่งฟอลคอนก็ทำงานได้ดีจนเป็นที่พอพระราชหฤทัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นลำดับ จนเมื่อเจ้าพระยาพระคลังถึงแก่พิราไลย ฟอลคอนซึ่งเป็นพระวิชเยนทร์ ก็ได้รับโปรดเกล้าฯขึ้นเป็น เจ้าพระยาวิชเยนทร์ ว่าราชการพระคลัง และ อัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ รวมทั้งเมืองตะนาวศรี ฟอลคอนได้กีดกันบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษและฮอลันดาที่ผูกขาดการค้าในสยาม เปิดทางให้บริษัทของฝรั่งเศสเข้ามาจนเป็นตัวหลัก ขณะเดียวกันก็ทำการค้าของตัวเองแทรกอยู่ด้วย จนร่ำรวยมั่งคั่ง

มักมีคำถามจากคนในยุคนี้ว่า เจ้าพระยาฝรั่งหนึ่งเดียวของกรุงศรีอยุธยาผู้นี้ เป็นคนดีหรือคนเลวกันแน่ ซึ่งนักการเมืองยุคนี้ก็มักถูกมองสองด้านเช่นนี้ ฟอลคอนก็เช่นกัน

มีหนังสือของชาวตะวันตกที่เขียนถึงฟอลคอนไว้หลายเล่ม เล่มหนึ่งได้พรรณนาถึงเขาไว้ว่า เป็นคนเจ้าเล่ห์ปลิ้นปล้อน ทำอะไรก็ชุ่ยๆใจง่าย ยอมทำทุกอย่างที่เป็นประโยชน์แก่ตัว ไม่เลือกดีชั่ว แต่ก็ยอมรับว่าเป็นคนมีสติปัญญา สามารถจะทำในสิ่งที่ปรารถนาให้สำเร็จได้ บางเล่มก็ว่าเขาเป็นคนมีสติปัญญาและความเพียรพยายามมุมานะอย่างยิ่ง สามารถแหวกว่ายผ่านกระแสกีดกันของข้าราชการสยามจนก้าวขึ้นตำแหน่งสูงสุดของข้าราชการได้ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ได้กล่าวไว้ในคำนำของหนังสือฉบับที่แปลข้อเขียนของยอร์ช ไวท์นี้ไว้ว่า

“...อันประวัติของวิชเยนทรมีปรากฏหลายความ ถ้าพวกบาทหลวงแต่งมักจะสรรเสริญว่าวิชเยนทร์เป็นคนซื่อตรงฉลาดเฉลียว ถ้าพวกพ่อค้านายทหารแต่ง มักจะติเตียนว่าเป็นคนโกงปอกปลิ้น แต่สังเกตดูเข้าใจว่าจะกล่าวเกินไปด้วยกัน จะเชื่อฟังว่าจริงแท้ทีเดียวไม่ได้ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย...”

มีเอกสารหลายเล่มที่กล่าวถึงฟอลคอนต้องตรงกันว่า ขณะที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงใช้เจ้าพระยาวิชเยนทร์เปิดสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส เพื่อคานอำนาจการคุกคามของฮอลันดาและอังกฤษนั้น พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ก็ทรงใช้ฟอลคอนให้สนองพระราชประสงค์ของพระองค์ และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์ไมเคิล พร้อมตำแหน่งเคานต์แห่งฝรั่งเศสให้ฟอลคอน อีกทั้งใบแปลงสัญชาติจากกรีกเป็นฝรั่งเศส และโฉนดที่ดินในกรุงปารีสอีกแปลงหนึ่ง เป็นรางวัลในการทำตามแผนนี้ สมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงรู้ดีว่าฟอลคอนและบาทหลวงฝรั่งเศสกำลังคิดอะไร แต่พระองค์ก็จำต้องใช้เขา จึงทรงควบคุมไม่ให้เกินขอบเขตที่จะเป็นอันตรายต่อพระราชอาณาจักร

ฟอลคอนยังมีความทะเยอทะยานสูง และเชื่อมั่นในกำลังทหารฝรั่งเศสใต้บังคับบัญชาของนายพลเดฟาซ ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงส่งมาช่วยคุ้มครองสยาม แต่เมื่อสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์ ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านตะวันตกชิงยึดอำนาจได้ก่อน เจ้าพระยาวิชเยนทร์จึงต้องพบจุดจบที่หลักประหาร

หลังการตายของคอนสแตนติน ฟอลคอน อดีตคนรับใช้ในสำเภาสินค้า เป็นที่เปิดเผยว่า เขาถือหุ้นอยู่ในบริษัทอิสต์อินเดียของฝรั่งเศส ที่ผูกขาดการค้าในสยามแทนอังกฤษถึง ๔๐ เปอร์เซ็นต์ โดยใช้เงินสดเข้าหุ้น ๓ แสนฟรังก์ หลังจากที่เขาแก้ไขสัญญาให้บริษัทฝรั่งเศสค้าขายได้ทั่วราชอาณาจักร โดยไม่ต้องเสียภาษีทั้งขาเข้าขาออก และผูกขาดการซื้อดีบุกที่เมืองถลาง

ถ้าเขาพาลูกเมียหนีออกจากเมืองไทยตามคำเรียกร้องของเมียตอนสถานการณ์ไม่สู้ดีในปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เขาก็จะได้เสวยสุขอยู่ในฝรั่งเศสจากผลงานที่ทำมา แต่ฟอลคอนทะเยอทะยานสูงกว่านั้น และเชื่อในกำลังของนายพลเดฟาซที่ซ่อนเจตนาจะยึดครองสยาม เจ้าพระยาฝรั่งหนึ่งเดียวของกรุงศรีอยุธยา จึงต้องจบชีวิตที่หลักประหารหลังการเข้ายึดอำนาจของพระเพทราชาและพระเจ้าเสือ
เจ้าพระยาวิชเยนทร์ อัครมหาเสนาบดีสยามชาวกรีก


กำลังโหลดความคิดเห็น