ถ้าอ่านประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ก็จะพบคำว่า “อาสาจาม” อยู่ในหลายที่ รู้กันแต่ว่าเป็นกองทหารกองหนึ่ง แต่ไม่มีคำอธิบายให้ความกระจ่างว่า จาม เป็นใคร ทำไมจึงมาเป็นกองทหารอาสาของกรุงศรีอยุธยา
ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ก็มีความสงสัยในเรื่องนี้และต้องการความกระจ่าง จึงมีบันทึกไปถึงนายธนิต อยู่โพธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์คนหนึ่ง เมื่อปี ๒๔๘๖ มีข้อความว่า
คำถามเรื่องอาสาจาม
ต้องการทราบ (เรื่องอาสาจาม) ว่าประวัติเป็นมาอย่างไร โดยอยากทราบความกระจ่างแจ้งดังนี้
จามนี้ เป็นคนของประเทศจาม ซึ่งจะหมายถึงอาณาจักรจำปา หรืออาณาจักรจาม ซึ่งอยู่ระหว่างเขมรกับญวน หรือไม่
คนจามเป็นคนในท้องถิ่นนั้นเอง หรือเป็นผู้มาจากอินเดีย หรือจากชวา
พวกจาม ดูเหมือนถือศาสนาฮินดู หรือศาสนาพราหมณ์
พวกจาม เข้ามาอาสาเป็นทหารในประเทศไทยเมื่อราวสมัยไหนแน่
มาในชั้นหลังๆครั้งกรุงศรีอยุธยา ดูเหมือนอาสาจามจะได้แก่พวกมลายู หรือพวกแขก ซึ่งสมัครเข้าเป็นทหาร โดยมากพวกนี้ถ้าจะกล่าวก็คือ เป็นทหารที่ถือศาสนาอิสลาม
ในสมัยรัตนโกสินทร์ ทหารเรือในสมัยก่อนก็มักเป็นพวกอิสลาม ทั้งนี้จะสืบเนื่องมาจากอาสาจามครั้งอยุธยามีหน้าที่ทางทหารเรือ เพราะชาวมลายูสันทัดการเดินเรือ
จะสรุปรวมความหรือวินิจฉัยคำว่า “จาม” ที่เข้าใจกันในกรุงศรีอยุธยาจะหมายถึงชาวอิสลามโดยทั่วไปได้หรือไม่ (โดยคนสมัยนั้นในตอนหลังได้เลือนคำว่าจามจากความหมายเดิม)
ข้อความที่ควรรู้เกี่ยวกับอาสาจามมีประการใด เท่าที่จะค้นให้ได้ โปรดค้นให้ด้วย
ปรีดี พนมยงค์
นายธนิต อยู่โพธิ์ก็คงไม่ได้ค้นคว้าเรื่องอาสาจามอย่างกระจ่างแจ้งนัก จึงได้กราบทูลถามไปยังสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ที่ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น “พระบิดาประวัติศาสตร์ไทย” ซึ่งก็ทรงพระเมตตาประทานมาว่า
บันทึกรับสั่ง
คำตอบเรื่องอาสาจาม
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ประทานแก่ นายธนิต อยู่โพธิ์
เรื่องมนุษย์ พวกจาม ถ้าหาความรู้ทางฝรั่งเศสอาจจะได้ความรู้ที่ดีจริง เพราะฝรั่งเศสเขาค้นคว้ามากกว่าไทย ตัวฉันเองรู้แต่หัวข้อ ไม่ถ้วนถี่ บางทีจะผิดไปบ้างก็เป็นได้ จะบอกให้เป็นเลาความต่อไปนี้
พวกจาม เป็นมนุษย์อยู่จำพวกชาวเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่แยกย้ายกันไปตั้งชาติตั้งประเทศต่างๆ ตั้งแต่ประเทศญี่ปุ่นมาจนฟิลิปปินส์ ชวา มลายู เพราะฉะนั้นมนุษย์พวกนี้บ้านเมืองจึงอยู่ชายทะเลทั้งนั้น เป็นพวกชำนาญการใช้เรือทะเลไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนๆ นานมาจึงกลายเป็นต่างชาติกันไป
พวกจาม มาตั้งบ้านเมืองอยู่ชายทะเลตั้งแต่ต่อแดนจีนลงมาจนแหลมเขมร อาณาเขตเดิมแค่ไหนไม่รู้ แต่พวกอินเดียที่มาสอนศาสนาและวัฒนธรรมทางนี้ ขนานนามประเทศอย่างประเทศหนึ่งที่มีในอินเดียว่า “จัมปา” คำว่า “จาม” นั้นย่อมาจากจัมปา ประเทศกัมพูชาก็เป็นนามที่ชาวอินเดียมาตั้งเหมือนกัน
พวกจาม รับอารยะธรรมและศาสนาของชาวอินเดีย ประพฤติเหมือนเขมร ถือศาสนาพราหมณ์เป็นพื้น ยังมีซากเทวสถานของโบราณอยู่มาก ครั้นพวกอาหรับออกมาสอนศาสนาอิสลาม พวกจามเหมือนกับพวกมลายูและชวา ด้วยบ้านเมืองอยู่ริมทะเล ได้ค้าขายสมาคมกับพวกอาหรับ จึงตามกันไปเข้ารีตถือศาสนาอิสลาม
เรื่องราวพงศาวดารของพวกจามนั้น เคยเจริญถึงได้เป็นคู่รบกับพวกขอม มีรูปภาพจารึกอยู่ที่ปราสาทบายนเมืองนครธม ทีหลังถูกขอมแผ่อาณาเขตรุกลงมาทางข้างเหนือ พวกจามจึงเสื่อมกำลัง บ้านเมืองแบ่งเป็นอาณาเขตญวนบ้าง เขมรบ้าง ส่วนพวกจามเองโดยมากอาศัยอยู่ในเมืองเขมร ประวัติศาสตร์ก็มารวมกับเขมร บางคราววิวาทกับเขมรหนีมาพึ่งไทยบ้าง บางทีอพยพมาอยู่เมืองไทยด้วยกันกับเขมรบ้าง จึงมีพวกจามมาอยู่เมืองไทยแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา
ก็ธรรมเนียมไทยในครั้งกรุงศรีอยุธยานั้น ชาวต่างประเทศต่างชาติที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองไทย รัฐบาลมักจัดให้เป็นกรมอาสา เช่น อาสาญี่ปุ่น อาสาจาม ฝรั่งแม่ปืน เป็นต้น ถือว่าเวลามีศึกสงครามต้องช่วยรบพุ่งตอบแทนที่ให้ตั้งทำมาหากินอยู่เป็นสุข ก็พึงสันนิษฐานว่าพวกจามถนัดในการใช้เรือทะเลมาแต่เดิม จึงให้มีหน้าที่เป็นพนักงานเดินเรือกำปั่นของหลวง มาตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระนารายณ์จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ กำปั่นหลวงเดิมเป็นเรือค้าขายมีมาแต่รัชกาลที่ ๑ ให้พวกอาสาจามเป็นพนักงานเดินเรือ กำปั่นคือเรือทะเลทั้งนั้น มาจนสมัยต่อเรือไฟในรัชกาลที่ ๔ และที่ ๕ ก็ยังใช้พวกอาสาจามเป็นพนักงานเดินเรือ ทหารเรือไทยเพิ่งตั้งขึ้นในรัชกาลที่ ๕ การเดินเรือก็ยังใช้ฝรั่งกับพวกอาสาจามเป็นนาย จนมาถึงสมัยกรมหลวงชุมพรฯ จึงได้หัดนายทหารเรือไทยให้เดินเรือได้เองมาจนบัดนี้
มีข้อประหลาดในโบราณคดีอยู่เรื่องหนึ่ง ที่ชนชาติเหล่านี้ คือพม่า มอญ ไทย เขมร นิสัยเป็นชาวดอน ไม่ชอบออกทะเลด้วยกันทุกชาติมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ใช้เรือก็ถนัดใช้แต่ในแม่น้ำเหมือนกันทุกชาติ จะเป็นเพราะถิ่นเดิมมาแต่เมืองดอนด้วยกัน หรืออย่างไร ยังคิดไม่เห็น
นึกเค้าเงื่อนเรื่องจามขึ้นมาได้อีก ในหนังสือพระราชพงศาวดารมีว่า เมื่อสมเด็จพระรามราชา ราชโอรสสมเด็จพระราเมศวร ครองกรุงศรีอยุธยาเกิดวิวาทกับเจ้าเสนาบดี เจ้าเสนาบดีไปเชิญพระนครินทราชา ราชนัดดาของสมเด็จพระบรมราชาธิราชพะงั่ว เข้ามาตีได้พระนครศรีอยุธยา แล้วให้สมเด็จพระรามราชาไปครองเมือง “ปท่าคูจาม” เมืองปท่าคูจามไม่มีที่อื่น แต่ที่แม่น้ำริมฝั่งตะวันตกข้างใต้พระนครศรีอยุธยาลงมา เหนือคลองตะเคียน ยังมีคลองเก่าปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ เรียกว่า “คลองคูจาม” ที่ว่าให้สมเด็จพระรามราชาไปครองนั้น ที่จริงอาจจะเป็นให้เอาไปคุมขังหรือที่สุดปลงพระชนม์ที่ตำบลคูจาม นอกพระนคร ตำบลคูจามนั้นชื่อส่อว่าเป็นที่พวกจามที่มาค้าขายมาใช้เป็นท่าจอดเรือทะเล หรือเป็นที่ต่อเรือของพวกจามที่นั่น เพราะในแขวงเมืองสงขลาก็มีตำบลหนึ่งอยู่ชายทะเล เรียกว่า “ปละท่า” เป็นที่เรือไปมาค้าขาย เห็นได้ว่าเป็นคำเดียวกับ ปท่าคูจาม โดยความที่กล่าวมานี้พึงเห็นได้ว่า พวกจามเคยเข้ามาอยู่เมืองไทยใกล้ๆกับรัชกาลพระเจ้าอู่ทอง ยิ่งกว่านั้นอีก ยังมีเค้าซึ่งเป็นแต่ความสงสัยว่า พวกจามจะได้ไปมาค้าขายในอ่าวสยามแต่ดึกดำบรรพ์ แลมาให้ชื่อตำบลต่างๆไว้ ที่ยังเรียกกันอยู่จนทุกวันนี้ก็หลายแห่ง ไม่มีใครแปลออก และไม่รู้ว่าภาษาอะไร ยกตัวอย่างเช่น เกาะสมุย เกาะพงัน เกาะสีชัง สัตหีบ เหล่านี้เป็นต้น
ยังมีเค้าสำคัญต่อไปอีกว่า พวกจามได้มาร่วมสมพงศ์กับเจ้าขอมที่เมืองละโว้ คือที่เรียกว่า “นางจามเทวี” ปรากฏอยู่
บันทึกนี้เขียนให้นายธนิต อยู่โพธิ์ โดยมีข้อไขว่า ถ้านายธนิตจะเอาไปแสดงแก่ผู้ใด อย่าให้
บอกว่าได้ไปจากสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ
เดช คงสายสินธุ์
จดบันทึก
๑๐ กันยายน ๒๔๘๖
นายเดช คงสายสินธุ์เป็นมหาดเล็กอยู่ในวังวรดิศ และเคยรับราชการในกรมศิลปากร ในตอนท้ายของยันทึกที่ว่า “...ถ้านายธนิตจะเอาไปแสดงแก่ผู้ใด อย่าให้บอว่าได้ไปจากสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ...” สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯก็คงทราบว่าแท้ที่จริงแล้วปัญหานี้เป็นปัญหาของใคร ไม่ใช่ปัญหาของนายธนิตเอง พระองค์ท่านต้องลี้ภัยไปประทับอยู่ที่ปีนังหลังการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ นั้น ก็มีปรีดี พนมยงค์เป็นต้นคิด และท่านเพิ่งเสด็จกลับมาประทับที่วังวรดิศตามเดิม ก็คงยังแสลงพระทัยกับเจ้าของปัญหาอยู่ ซึ่งนายธนิตก็มีหนังสือกราบทูลขอประทานอภัยโทษที่จะขัดพระกระแสรับสั่งเปิดเผยที่มา
พร้อมกันนี้ นายธนิต อยู่โพธิ์ก็ได้ค้นคว้าเรียบเรียงคำตอบปัญหาเรื่องอาสาจามด้วยตนเองอีก และได้กราบเรียนเสนอไปยังนายปรีดี พนมยงค์ ตามข้อถามอย่างกระจ่างแจ้ง ซึ่งสรุปความว่า
จาม หมายถึงคนของประเทศจาม หรืออาณาจักรจัมปา มีเมืองหลวงชื่อจัมปานคร ซึ่งยังคงมีซากโบราณอยู่หลายแห่งในประเทศญวนขณะนี้
พบศิลาจารึกหลักหนึ่งเป็นภาษสันสกฤต อยู่ในคริสต์ศตวรรษที่ ๒ หรือที่ ๓ ระบุว่าผู้ตั้งประเทศจัมปา เป็นชาวอินเดีย ปกครองดินแดนที่เรียกว่า แคว้นเกาฐาระ พระนามของกษัตริย์จะลงท้ายว่า วารมัน หรือ วรมัน ทุกองค์ ซึ่งตรงกับพระนามของกษัตริย์อินเดียตอนใต้ ประเทศจามติดต่อกับชวาและมลายูสะดวก ไปมาด้วยลมมรสุม ไม่อับลมเหมือนในอ่าวไทย พลเมืองจัมปาจึงปะปนกันหลายชาติ ทั้งขอมที่อยู่เดิม อินเดียที่มาอยู่กับขอม และพวกมลายูที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมา เมื่อศาสนาอิสลามแพร่มาถึง ชาวจัมปาก็พากันถือศาสนาอิสลาม ได้พบจดหมายเหตุว่าในสมัยพระเจ้าทรงธรรม ได้มีราชทูตจัมปาเข้ามากรุงศรีอยุธยา
พวกจามในระยะแรกๆนับถือศาสนาพราหมณ์เป็นส่วนใหญ่ ศาสนาพุธก็มี กษัตริย์บางองค์นับถือทั้งพราหมณ์ทั้งพุทธ อย่างพระเจ้าชัยอินทรวรมัน ที่ ๖ ขณะนี้มีพวกจามอยู่ในญวน เขมร และไทย แบ่งเป็นจามที่นับถือศาสนาพราหมณ์และอิสลาม จามที่อยู่ในเขมรและไทยถืออิสลามทั้งหมด เรียกว่า บานีจาม ซึ่งบานีเป็นภาษาอาหรับ แต่เรียกกันว่า แขกจาม ส่วนพวกจามในไทยเรียกกันว่า แขกครัว
พวกจามเข้ามาเป็นทหารอาสาในประเทศไทยเมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฏชัด แต่สมัยต้นกรุงศรีอยุธยาก็มีกล่าวถึงพวกจามแล้ว ที่กรุงศรีอยุธยาตอนใต้วัดพุทไธสวรรค์ลงมาก็มีคลองคูจาม และมีแขกจามอยู่จนถึงวันนี้ ในพงศาวดารตอนที่สมเด็จพระนเรศวรยาตรทัพไปทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา มีกล่าวไว้ว่า
“พระราชวังสันขี่ช้างพลายมาเมือง ถือพลอาสาจามห้าร้อย” แสดงว่าอาสาจามมีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรแล้ว กฎหมายศักดินาซึ่งมีมาก่อนหน้านั้น ก็มักกล่าวถึงตำแหน่งในกรมอาสาจามไว้หลายตำแหน่ง ทั้งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็มี เจ้าจาม พร้อมด้วยข้าราชบริพารอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
ในบรรดาศักดิ์ของกรมอาสาจามที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายศักดินา มีหลายชื่อที่สำเนียงเป็นภาษามลายู เช่น วิสุทรายา ศรีมหาราชา ที่เป็นชื่อมลายูโดยตรงก็มี เช่น ราชวังสัน แปลงมาจาก บังสวัน ตำแหน่งแม่ทัพเรือของมลายู พวกจามกับพวกมลายูจะรวมอยู่ในกรมเดียวกัน
ในสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวถึงการส่งสมณทูตไปลังกาในปี พ.ศ.๒๓๕๒ ว่า “ลงเรืออาสาจามไปจากกรุงเทพฯ” ก็อาจตีความได้ว่า พวกจามกับมลายูอยู่ร่วมกัน เพราะชาวมลายูสันทัดในการเดินเรือ เนื่องจากมีดินแดนยื่นลงไปในทะเล
ปัญหาข้อที่ถามว่า จะสรุปหรือวินิจฉัยคำว่า จาม ที่เข้าใจกันในสมัยกรุงศรีอยุธยา จะหมายถึงชาวอิสลามโดยทั่วไปได้หรือไม่นั้น ขอประทานเสนอว่าน่าจะสรุปความวินิจฉัยเช่นนั้นได้ เพราะปรากฏคำประกาศ “เรื่องชำระโต๊ะต่วนหะยีเป็นทหาร” ลงวันที่ ๓ ธันวาคม ร.ศ.๑๐๘ (พ.ศ.๒๔๓๒) มีกล่าวถึงแขกกรมอาสาจาม ย่อมเป็นคนถือศาสนามะหะหมัดแทบทั้งสิ้น และเมื่อแขกไพร่หลวงในกรมอาสาจามคนใดปรารถนาออกไปยังเมืองเมกกะ จึงได้โปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้าพนักงานทำใบอนุญาตยอมให้ไปตามประสงค์ แต่เมื่อกลับมาถึงจะมีชื่อสมมติว่าเป็นโต๊ะต่วนหะยีประการใด ก็คงให้สังกัดขึ้นกับกรมอาสาจามตามเดิมต่อไป
นายธนิตแจ้งว่า ขณะที่กำลังบันทึกเสนอนี้ได้ถวายปัญหาไปกราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระองค์ท่านโปรดประทานบันทึกมา จึงเสนอมาพร้อมกันนี้ หากข้อความตอนใดไม่ตรงกับบันทึกรับสั่ง โปรดถือตามบันทึกรับสั่งเป็นหลัก
การตั้งปัญหาเรื่อง “อาสาจาม” ของรัฐบุรุษอาวุโสในครั้งนี้ ได้มีปราชญ์ทางประวัติศาสตร์ถึง ๒ ท่านเป็นผู้เฉลย ก็คงจะเป็นคำตอบเรื่องอาสาจามได้อย่างกระจ่างแจ้ง เป็นความรู้ความเข้าใจในเรื่ออาสาจามในประวัติศาสตร์ต่อไป