xs
xsm
sm
md
lg

“ป้อมผีเสื้อสมุทร” มีเรื่องที่คนไม่รู้จะเล่า! ร.๕ เสด็จมาประทับแรม และสั่งอิฐจากอังกฤษมาสร้างป้อม!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ป้อมผีเสื้อสมุทรทางอากาศ เห็นศาลากลางสมุทรปราการอยู่ฝั่งตรงข้าม
ป้อมผีเสื้อสมุทร คือป้อมปากน้ำเจ้าพระยาที่ถูกปรับปรุงให้ทันสมัยรุ่นเดียวกับป้อมพระจุลจอมเกล้า ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยสั่งปืนเสือหมอบจากบริษัท เซอร์ ดับบลิว จี อาร์มสตรอง รุ่นทันสมัยที่สุดของอังกฤษเข้ามาติดตั้งแทนปืนโบราณที่ติดตั้งมาตั้งแต่สร้างป้อม หลังจากสร้างเสร็จไม่นาน ทั้งสองป้อมก็ได้ทำหน้าที่ปกป้องประเทศในคราวที่เรือรบฝรั่งเศส ๒ ลำลุแก่อำนาจฝ่าปากน้ำเข้ามา
จากซ้าย คุณชวลิต อาคมธน อาจารย์รักเกียรติ ผู้เขียน และ น.ท.ฉลองผู้นำชมป้อม
จากนั้นป้อมผีเสื้อสมุทรก็หมดความสำคัญเช่นเดียวกับป้อมพระจุลจอมเกล้า
ป้อมผีเสื้อสมุทรเป็นป้อมที่สร้างขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ ๒ คราวเดียวกับ ป้อมประโคนชัย ป้อมนารายณ์ปราบศึก ป้อมปราการ ป้อมกายสิทธิ์ ซึ่งสร้างขึ้นทางฝั่งตะวันออก ชักปีกกาถึงกัน ๔ ป้อม ส่วนบนฝั่งด้านตะวันตกตรงกัน ก็สร้างขึ้นอีกหนึ่งป้อม ชื่อ ป้อมนาคราช ส่วนป้อมผีเสื้อสมุทรสร้างขึ้นบนเกาะกลางน้ำ

เหนือป้อมผีเสื้อสมุทร มีหาดทรายเกิดขึ้นกลางน้ำ ทรงพระราชดำริจะสร้างพระเจดีย์ขึ้นที่หาดทรายนี้ แต่ยังไม่ทันได้สร้างในรัชกาลที่ ๒ มาสร้างพระเจดีย์กลางน้ำในรัชกาลที่ ๓ และทรงสร้างป้อมเพิ่มขึ้นอีก ๓ ป้อม คือ ป้อมตรีเพชร ป้อมคงกะพัน และป้อมเสือซ่อนเล็บ

ในรัชกาลที่ ๓ มีพระราชดำริให้ปรับปรุงป้อมบนเกาะกลางน้ำใหม่ สร้างกำแพงปีกกาขยายออกทั้งสองด้าน ลักษณะของป้อมจึงแลดูคล้ายผีเสื้อ อันเป็นที่มาของชื่อ ป้อมผีเสื้อสมุทร แต่อย่างไรก็ตาม หลังการก่อสร้างป้อมปราการต่างๆที่ปากน้ำแล้วเสร็จ ก็ไม่ปรากฏว่าไม่เคยมีศัตรูรุกรานเจ้ามาทาวลงปากแม่น้ำเจ้าพระยา
อิฐอัดแรงที่ส่งมาจากอังกฤษ
เกาะป้อมผีเสื้อสมุทรมาถูกกล่าวถึงอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคห่าครั้งใหญ่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเรือนพยาบาลชั่วคราวขึ้นหลายแห่งเพื่อดูแลโรคนี้ แต่การระบาดของโรคได้กระจายอย่างหนักจนไม่สามารถควบคุมได้ ชาวบ้านต่างก็ต้องอพยพออกจากกรุงเทพฯ กิจการทุกอย่างหยุดชะงัก มีการอพยพทหารส่วนหนึ่งมาไว้ที่ป้อมผีเสื้อสมุทร เพราะเชื่อว่าอยู่กลางน้ำเชื้อโรคจะไม่สามารถระบาดข้ามไปได้

ต่อมาหลังจากที่ฝรั่งเศสได้ครอบครองญวนแล้ว กลับเริ่มมีปัญหาการรุกล้ำเขตแดนต่อเนื่องเข้ามาทางลาวและเขมร ซึ่งเป็นอาณาเขตของไทยในขณะนั้น มีการประทะกับทหารไทยจนมีทหารเสียชีวิตทั้งสองฝ่าย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เตรียมการปรับปรุงระบบป้องกันประเทศครั้งใหญ่ โดยเฉพาะป้อมปราการที่ปากน้ำเจ้าพระยา ในปี พ.ศ.๒๔๓๖ โปรดให้สั่งซื้อปืนใหญ่ทันสมัยมาจากประเทศอังกฤษจำนวน ๑๐ กระบอก ให้ติดตั้งที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าที่สร้างขึ้นใหม่ ๗ กระบอก แล้วให้ถอดปืนใหญ่โบราณตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ ออกจากป้อมผีเสื้อสมุทร ติดตั้งปืนใหญ่ที่เหลือจำนวน ๓ กระบอก หลังจากนั้นเพียง ๓ เดือน ในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๓๖ ปืนเสือหมอบทั้ง ๑๐ กระบอกนี้ก็ได้ใช้ป้องกันประเทศในเหตุการณ์ที่เรียกว่า “วิกฤติการณ์ ร.ศ.๑๑๒”

ป้อมในสมัยรัชกาลที่ ๒ และที่ ๓ ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาเหล่านี้ได้ผุพังไปตามกาลเวลา ปัจจุบันคงเหลืออยู่ในสภาพดีเพียงป้อมเดียว คือ ป้อมผีเสื้อสมุทร ซึ่งอยู่ในการดูแลของกองทัพเรือ แต่ไม่ได้อยู่กลางน้ำเหมือนเมื่อตอนสร้างแล้ว เข้ามาชิดริมฝั่งด้านตะวันตก เพราะแผ่นดินจากฝั่งงอกออกไป ตอนนี้มีเพียงคลองเล็กๆที่เป็นท่าเรือจากพระสมุทรเจดีย์ข้ามไปสมุทรปราการคั่นอยู่เท่านั้น ส่วนพระสมุทรเจดีย์หรือพระเจดีย์กลางน้ำ ก็ได้กลายเป็นพระเจดีย์บนฝั่งมาหลายปีแล้ว
ประตูของป้อมปืน
เมื่อราว ๗๐ กว่าปีที่แล้ว ป้อมผีเสื้อสมุทรเป็นพื้นที่ซึ่งไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไป เพราะถูกสร้างตึกหลังใหญ่ขึ้นใหม่ใช้เป็นที่เก็บทุ่นระเบิดและดอกไม้ไฟของกรมสรรพาวุธทหารเรือ จนในปี ๒๕๔๘ ได้มีการสำรวจและปรับปรุงพื้นที่รอบบริเวณป้อมผีเสื้อสมุทร ปรากฏมีสิ่งก่อสร้างโบราณยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เช่น แนวป้อมปราการและกำแพงที่ยื่นออกสองข้างอันเป็นที่มาของชื่อผีเสื้อสมุทร อาคารคลังวัตถุระเบิด เรือนพัก ค่ายทหาร คลังกระสุนปืนเสือหมอบ และสะพานท่าเรือที่ตาดว่าเป็นที่ขนปืนและอิฐมาสร้างป้อมก็ยังอยู่ ปืนเสือหมอบทั้ง ๓ หลุม ปรากฏเหลืออยู่เพียง ๒ กระบอก อีก ๑ กระบอกถูกนำไปติดตั้งที่เกาะพระ บนฐานทัพเรือสัตหีบ ด้านท้ายของเกาะที่เกิดพื้นดินงอก มีสภาพป่าชายเลน เป็นที่อยู่ของฝูงค้างคาวแม่ไก่นับพันตัว สภาพแวดล้อมของป้อมผีเสื้อสมุทรจึงมีความเหมาะสมที่กองทัพเรือเห็นควรปรับปรุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เคียงคู่กับองค์พระสมุทรเจดีย์ สัญลักษณ์ของเมืองสมุทรปราการ
เมื่อสัปดาห์ก่อน ผู้เขียนและคณะได้รับความอนุเคราะห์จาก นาวาโท ฉลอง เกตุจินดา หัวหน้าฝ่ายบริการป้อมพระจุลจอมเกล้า และคุณสุธี ศรีสวัสดิ์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ป้อมผีเสื้อสมุทร พาไปชมป้อมผีเสื้อสมุทรที่ได้ปรับปรุงเป็นสถานที่ท่องเที่ยว โดยมี อาจารย์รักเกียรติ เลิศอุตสาหกูล ผู้ค้นคว้าประวัติศาสตร์ของเมืองสมุทรปราการมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม

อาจารย์รักเกียรติได้เล่าถึงการเปิดเดินรถไฟสายแรกของประเทศไทย คือรถไฟสายหัวลำโพง-ปากน้ำ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทรงมีพระเมตตาต่อชาวสมุทรปราการเป็นอย่างยิ่ง เสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำพิธีเปิดเดินรถไฟสายนี้ที่สถานีสมุทรปราการ แทนที่จะเป็นสถานีต้นทางที่หัวลำโพง โดยเสด็จมาล่วงหน้า ๑ วัน จอดเรือพระที่นั่งมหาจักรีซึ่งเพิ่งต่อมาจากสก็อตแลนด์ในปี พ.ศ.๒๔๓๕ ทอดสมอประทับแรมที่หน้าป้อมผีเสื้อสมุทร ก่อนที่จะทรงเรือกรรเชิงข้ามฟากไปเปิดเดินรถที่สถานีปากน้ำในเช้าวันรุ่งขึ้น

ทั้งนี้ในพระราชกรณีกิจรายวันได้บันทึกไว้ว่า ได้เสด็จแปรพระราชฐานไปพักผ่อนพระอิริยาบถที่เกาะสีชัง จนถึงวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๖ จึงได้เสด็จกลับมาเยี่ยมป้อมพระจุลจอมเกล้า และทรงทดลองยิงปืนเสือหมอบด้วยพระองค์เอง จากนั้นได้เสด็จมาเยี่ยมป้อมผีเสือสมุทรทรงสักการะพระสมุทรเจดีย์ แล้วจอดเรือพระที่นั่งประทับแรมที่หน้าป้อม ในวันรุ่งขึ้นจึงเสด็จโดยเรือกรรเชียงข้ามไปที่สถานีรถไฟปากน้ำ ซึ่งอยู่ตรงข้ามป้อมพอดี เมื่อทำพิธีเปิดเดินรถแล้ว ได้เสด็จขึ้นประทับรถไฟขบวนแรก กลับพระนครถึงสถานีหัวลำโพง
แผ่นกรองเสียงข้างประตูป้อม
ในคืนที่ประทับแรมในเรือพระที่นั่งมหาจักรีหน้าป้อมผีเสื้อสมุทรนั้น ยังทรงมีพระราชเลขาฉบับหนึ่งถึงเสนาบดีสภา ลงวันที่ ๑๐ เมษายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒ มีข้อความสำคัญว่า ในตอนเช้าวันนั้น ได้เสด็จขึ้นไปดูป้อมตำบลแหลมฟ้าผ่า และได้ลองยิงปืนกับได้ทั้งได้ตรวจภูมิฐาน เห็นเป็นที่มั่นคงยิ่งนัก แต่มีความเสียดายเป็นอันมากที่การสร้างแล้วเสร็จไปได้น้อยมาก ยังไม่สามารถใช้รักษาพระนครได้ อีกทั้งเสนาบดีสภาก็จัดงบประมาณไปให้ไม่เพียงพอ พระองค์มีเงินฝากอยู่ในธนาคารในพระนามของพระองค์ ๒๐,๐๐๐ ชั่ง (๑,๖๐๐,๐๐๐ บาท) ประสงค์จะเอาไว้ใช้ในการบูรณปฏิสังขรณ์พระอาราม กับสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล และโรงเลี้ยงเด็ก จึงขอนำเงินจำนวนนี้ ๑๐,๐๐๐ ชั่งมาสมทบสร้างป้อมป้องกันพระนครให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

นี่คือพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระปิยมหาราช

ในการไปชมป้อมผีเสื้อสมุทรของผู้เขียนในครั้งนี้ หัวหน้าฝ่ายบริการป้อมยังนำสิ่งที่น่าแปลกใจมาให้ดู คืออิฐอัดแรงที่นำมาสร้างเป็นกำแพงป้อมปืน ทุกก้อนมีประทับด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษ ซึ่งแสดงว่าเป็นอิฐสั่งนอก ไม่ได้ทำในประเทศไทย ซึ่งสมัยนั้นยังใช้วิธีปั้นดินแล้วเผาเป็นอิฐ แต่อิฐแบบนี้ใช้วิธีบีบอัดด้วยเครื่องจักรให้เป็นก้อน เพื่อให้แน่นและแข็งแกร่งมากกว่า แสดงว่าเมื่อทรงสั่งปืนเสือหมอบเข้ามานั้น ได้สั่งมาเป็นชุดรวมทั้งอิฐที่มีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษ มาสร้างเป็นกำแพงป้อมกันกระสุนที่ยิงมาจากฝ่ายตรงข้ามด้วย

ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่าง ก็คือที่กำแพงป้อมจะมีช่องสี่เหลี่ยมขนาด ๑ ฟุตเศษเจาะไว้ มีแผ่นทองเหลืองเจาะเป็นรูๆตะแกรงปิดไว้ ทีแรกเข้าใจกันว่าเป็นช่องระบายอากาศ แต่เมื่อไปยืนพูดที่ช่องนี้ เสียงพูดจะดังก้องเข้าไปในป้อมได้ยินชัดเจน จึงรู้ว่าเป็นช่องที่ติดต่อของคนนอกป้อมกับคนในป้อมนั่นเอง เรียกกันว่า “แผ่นกรองเสียง”
ตึกเก็บทุ่นระเบิด
ตึกชั้นเดียวอีก ๒ หลังที่มีกำแพงทึบ แต่มีท่อเหมือนลำโพงโผล่หลังคาขึ้นเป็นแถว ปรากฏว่าเป็นตึกเก็บกระสุนปืน ส่วนปล่องเหล่านั้นก็คือปล่องระบายอากาศ ซึ่งเป็นระบบระบายความร้อนของห้องเก็บดินระเบิดในยุคนั้น

อาคารชั้นเดียวอีกแห่งที่กรมสรรพาวุธเคยใช้เป็นที่เก็บทุ่นระเบิด ซึ่งยังอยู่ในสภาพเดิม แต่ปูนฉาบผุกร่อนไปตามกาลเวลา ได้กลายเป็นศิลปะอันแปลกตา ถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายภาพยนตร์และละคร มีคู่สมรสมาใช้เป็นฉากถ่ายภาพที่ระลึกกันหลายคู่

ส่วนค้างคาวแม่ไก่ฝูงใหญ่ที่ป่าชายเลนท้ายเกาะ ก็เป็นสัญลักษณ์อีกอย่างของป้อมผีเสื้อสมุทร แสดงถึงการรักษาระบบนิเวศไว้ได้โดยสมบูรณ์ ในอาคาร “พิพิธภัณฑ์ป้อมผีเสื้อสมุทร” ถึงกับออกแบบโคมไฟเพดานเป็นภาพฝูงค้างคาวแม่ไก่อย่างสวยงาม

การเดินทางไปป้อมผีเสื้อสมุทรนั้น แต่ก่อนต้องใช้เรือ ปัจจุบันมีการสร้างสะพานจากพระสมุทรเจดีย์เดินข้ามไป แล้วต่อด้วยทางเดินคอนกรีตลัดเลาะไปตามป่าชายเลนจนถึงบริเวณป้อม หรืออาจจะใช้เรือข้ามมาจากท่าเรือสมุทรปราการ ที่มีอนุสรณ์สถานีรถไฟสายปากน้ำมาก็ได้ กับอีกทางที่สะดวกและประหยัดกว่าทางอื่น คือใช้รถเมล์ปรับอากาศสาย ๒๐ ซึ่งต้นทางอยู่ที่ท่าน้ำท่าดินแดงที่ข้ามมาจากท่าน้ำราชวงศ์ ไปถึงทั้งป้อมผีเสื้อสมุทรและป้อมพระจุลจอมเกล้า

ป้อมผีเสื้อสมุทรเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา ๘.๐๐ น. ถึง ๒๐.๐๐ น. ไม่มีค่าเข้าชม
โคมไฟของพิพิธภัณฑ์ป้อมผีเสื้อสมุทร
สะพานจากพระสมุทรเจดีย์ข้ามไปป้อม
ทางเดินผ่านป่าชายเลนไปตัวป้อม


กำลังโหลดความคิดเห็น