xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ ๕๗ ปีก่อน หนังไทยสร้างไปประกวดที่เบอร์ลินโดยเฉพาะ ได้รับคำชมมากมาย! แต่บอกว่าทีหลังอย่าทำแบบนี้อีก!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ชุติมณฑน์ จึงเจริยสุขยิ่ง (ชุดสีชมพู) บนเวทีที่เบอร์ลิน
เป็นข่าวที่น่ายินดีอีกอย่างในวันนี้ เมื่อนางเอกหนังไทยคนใหม่ที่เพิ่งแสดงเป็นเรื่องแรก ไปสร้างชื่อเสียงในงาน “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน” (Berlin International Film Festival) ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันนี ในส่วนที่ชื่อ “Asian Brilliant Stars” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อมอบรางวัลให้แก่ภาพยนตร์เอเซียแปซิฟิก ซึ่งรางวัลผู้แสดงนำหญิงยอดเยี่ยมปีนี้ ได้แก่ ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง จากภาพยนตร์ไทยเรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง” (Bad Genius)

เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่กรุงเบอร์ลิน ถือว่าเป็นงานประกวดภาพยนตร์ที่เด่นของยุโรป เช่นเดียวกับที่เวนิสและเมืองคานส์ เริ่มประกวดมาตั้งแต่ ค.ศ.๑๙๕๑ หรือ ๖๗ ปีมาแล้ว และผู้สร้างหนังไทยก็เคยส่งไปประกวดตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๔ หรือในปีที่ ๑๑ ด้วยภาพยนตร์เรื่อง “นางทาษ” ของละโว้ภาพยนตร์ โดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ และได้เข้ารอบชิงรางวัลด้วย โดย วิไลวรรณ วัฒนพานิช เป็นตัวเก็งรางวัลหมีทองด้วยผู้หนึ่งในฐานะผู้แสดงนำยอดเยี่ยมฝ่ายหญิง

แม้ “นางทาษ” จะไม่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ แต่ รัตน์ เปสตันยี ผู้สร้างหนังไทยอีกคนหนึ่งที่กล้าท้าทายกับความแปลกใหม่ ก็เห็นทางที่หนังไทยจะไปขึ้นเวทีโลกสร้างชื่อเสียงกับเขาได้ จึงมุ่งมั่นที่จะสร้างภาพยนตร์เรื่องใหม่ส่งไปเบอร์ลินในปีหน้า โดยไม่ห่วงกับตลาดในบ้าน

รัตน์สั่งเลนซ์ซีนีมาสโคปจอกว้าง ซึ่งเป็นระบบที่ฮอลลีวูดนิยมกันขณะนั้น เข้ามาใช้เป็นครั้งแรกกับภาพยนตร์ชื่อ “แพรดำ” ส่วนนางเอกนั้น เมื่อตอนสร้าง “สันติ-วีณา” รัตน์ เปสตันยีหานางเอกที่ไม่มีคิวไม่ได้ นางเอกดังๆล้วนแสดงหนังพร้อมๆกันหลายเรื่องทั้งนั้น ซึ่งรัตน์รับไม่ได้กับระบบนี้ เลยหันไปคว้าเอา เฉลิมศรี มัลลิแกน เลขานุการของตัวเองมาปั้นเป็นนางเอก ตั้งชื่อให้ใช้ในการแสดงว่า เรวดี ศิริวิไล และกลายเป็นนางเอกดังคนหนึ่งในยุคนั้น โดยเฉพาะเป็นนางเอกในหนังเรื่องแรกที่ มิตร ชัยบัญชา แสดง

ครั้นถึง “แพรดำ” รัตน์ต้องการนางเอกที่ยอมโกนหัวไปเข้าฉากถือศีลอยู่ในถ้ำ แน่นอนว่านางเอกที่ดังอยู่ไม่มีใครยอมโกนหัวแน่ เรวดี ศิริวิไลก็กลายเป็นนางเอกดังไปแล้วเหมือนกัน รัตน์เลยคว้าเอา พรรณี เปสตันยี ลูกสาวคนโตมารับบทเป็น “แพร” หญิงหม้ายลูกติดที่แต่งดำไว้ทุกข์ให้กับคนรัก และตั้งชื่อใหม่สำหรับใช้ในการแสดงว่า รัตนาวดี รัตนาพันธ์ แสดงคู่กับ ทม วิศวชาติ โดยให้โกนหัวบวชชีจริงๆในฉากด้วย

รัตนาวดี รัตนาพันธ์ เป็นนางเอกเฉพาะกิจให้กับพ่อเท่านั้น เธอแสดง “แพรดำ”เป็นเรื่องแรกและเรื่องเดียว จากนั้นไม่ได้แสดงเรื่องอื่นอีก

สำหรับทีมงาน รัตน์ก็เลือกเฉพาะคนที่ทุ่มเทกับงานได้เต็มที่ ไม่ใช่วิ่งไปเรื่องโน้นทีเรื่องนี้ที ในไตเติล “แพรดำ” จึงปรากฏชื่อทีมงานคือ อำนวยการสร้างโดย รัตน์ เปสตันยี กำกับการแสดงโดย รัตน์ เปสตันยี บทภาพยนตร์โดย รัตน์ เปสตันยี กำกับภาพโดย รัตน์ และ เอเดิ้ล เปสตันยี (ลูกชายคนเล็กของรัตน์ ขณะอายุ ๑๔ ปี) กำกับศิลป์โดย สวัสดิ์ แก่สำราญ ลำดับภาพโดย รัตน์ เปสตันยี บันทึกเสียงโดย ปง อัศวนิกุล ดนตรีประกอบโดย ปรีชา เมตไตรย์
ใบปิด “แพรดำ”
“แพรดำ” ในชื่อ “BLACK SILK” ส่งไปประกวดในงานประกวดภาพยนตร์ที่กรุงเบอร์ลิน ชิงรางวัลหมีทอง ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ ๒๓ มิถุนายน ถึง ๔ กรกฎาคม ๒๕๐๕ หลังจากส่งไปให้คณะกรรมการจัดงานพิจารณาแล้วก็ได้รับคำตอบมาว่า
“แม้จะมีภาพยนตร์ของชาติต่างๆเข้าประกวดในงานอย่างคับคั่ง แต่คณะกรรมการก็ได้เห็นสมควรที่จะรับภาพยนตร์ของท่านเข้าร่วมในการประกวดด้วย เราหวังว่าภาพยนตร์ของท่านจะได้รับความสำเร็จในการประกวดภาพยนตร์ระหว่างประเทศในครั้งนี้”

รัตน์ เปสตันยียินดีมากที่คณะกรรมการรับ“แพรดำ” เข้าร่วมประกวด และเผยถึงความมุ่งหวังในการส่งภาพยนตร์เข้าประกวดในงานนานาชาติครั้งนี้ว่า

“ผมไม่หวังจะไปสู้อะไรกับฝรั่งเขาหรอก หนังเราลงทุนเพียง ๒ ล้านบาท แต่อย่างเบนเฮอร์เขาลงทุนตั้ง ๒๐๐ ล้าน ผมบอกตรงๆที่ส่งไปก็เพื่อจะให้ฝรั่งเขาได้ดูแล้วซื้อไป ผมจะได้ทุนคืนเท่านั้น”

ในปีนั้นมีภาพยนตร์เข้าร่วมชิงรางวัลหมีทองถึง ๔๗ ประเทศ ซึ่งมากกว่าทุกปีที่เคยจัดมา โดยไม่มีประเทศคอมมิวนิสต์เข้าร่วม เพราะอยู่ในยุคที่โลกแบ่งฝ่ายทำสงครามเย็นกัน ผลการประกวด มีเพียง ๗ ประเทศเท่านั้นที่ได้รับรางวัล แต่ก็ไม่มีชื่อ “แพรดำ”ของไทยติดกลุ่มด้วยไม่ว่ารางวัลใดๆ

แต่กระนั้น “แพรดำ” ก็เป็นหนังเรื่องหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนของเยอรมันมาก หนังสือพิมพ์ เวลท์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีจำนวนจำหน่ายสูงฉบับหนึ่งได้วิจารณ์ว่า

สีของภาพยนตร์ไทยเรื่องนี้มีส่วนผสมกลมกลืนกันอย่างดีและงดงามยิ่ง รัตน์ เปสตันยีสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ควรได้รับการยกย่องว่าเป็นมือถ่ายภาพยนตร์สีชั้นหนึ่งทีเดียว

เรื่องที่ทำให้บรรดานักวิจารณ์รู้สึกแปลกใจอยู่บ้างก็คือ ภาพยนตร์เรื่องนี้แทบจะกล่าวได้ว่า ถูกผลิตออกมาด้วยฝีมือของคนๆเดียว เพราะรัตน์ เปสตันยีกำกับการแสดง เขียนบทเอง อำนวยการสร้างเอง ถ่ายภาพเอง และยังแสดงภาพยนตร์เรื่องนี้เองด้วย

หนังสือพิมพ์ของเยอรมันกล่าวว่า เรื่องต่อๆไป รัตน์ผู้มีความสามารถในการถ่ายภาพยนตร์ ไม่ควรจะมีความรับผิดชอบมากจนเกินไป ดังเช่นในการสร้างภาพยนตร์เรื่อง“แพรดำ” นี้

และว่า จากการที่ภาพยนตร์ไทยเรื่องนี้ส่งเข้าประกวด ทำให้คณะกรรมการตัดสิน ตลอดจนผู้ร่วมงานทั่วไปทราบความจริงว่า ศิลปะการถ่ายภาพยนตร์ของชาติเล็กๆได้รุดหน้าไปอย่างน่าสรรเสริญ

ผู้สร้างหนังไทยในยุคเริ่มต้น ได้พยายามที่จะก้าวออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ อาจจะเป็นเพราะยังด้อยประสบการณ์และการลงทุน ที่สำคัญคือในยุคนั้นเชื่อกันว่ารสนิยมของผู้ชมในต่างประเทศกับในประเทศต่างกันมาก ถ้าจะสร้างไปฉายต่างประเทศ ก็ต้องไม่หวังตลาดในบ้าน เสี่ยงกับการขาดทุนมากขึ้นอีก

จนในวันนี้ สิ่งที่ไม่มีใครเคยคิดก็ได้เกิดขึ้น เมื่อหนังไทยเรื่อง “องค์บาก” ได้ไปติดอันดับบ็อกซ์ออฟฟิชของอเมริกา ซึ่งไม่นานก่อนหน้านี้ ยังเป็นแค่โจ๊กที่คุยกันสนุกเท่านั้น อีกทั้งหนังไทยหลายเรื่องก็ออกไปรับรางวัลต่างประเทศทั่วไปหมด สิ่งที่นักสร้างหนังไทยในยุคบุกเบิกใฝ่ฝัน ก็ได้ประสบความสำเร็จจากนักสร้างในยุคนี้
หุ่นขี้ผึ้งรัตน์ เปสตันยี ที่พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น