เจ้าพระยาราชศุภมิตร เริ่มชีวิตราชการโดยตั้งต้นมาจากพลทหาร สร้างความดีความชอบในแผ่นดินไว้มากมาย แต่ที่ทำให้ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังสุดๆ ก็ได้แก่การปราบอั้งยี่คะนองศึก บังอาจถึงขั้นปิดถนนเจริญกรุง ขุดสนามเพลาะรบกันเอง จนต่อมาท่านได้ขึ้นเป็นถึง พระตำรวจเอก สมุหพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ แต่กระนั้นท่านก็พบกับเรื่องเศร้าที่คนในตระกูล “บุนนาค” รังเกียจที่จะให้ท่านร่วมสกุล ทั้งๆที่ท่านมีสายเลือดจากต้นตระกูลทั้งพ่อและแม่ จนรัชกาลที่ ๖ ทรงเห็นใจพระราชทานนามสกุลใหม่ให้
เจ้าพระยาราชศุภมิตร เป็นคนเกิดในปี ๒๓๘๙ เดิมชื่อ “อ๊อด” เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในปีแรกที่รัชกาลที่ ๕ ขึ้นครองราชย์ ในตำแหน่งมหาดเล็กวิเศษเวรฤทธิ์ ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๑๓ มีการตั้งกรมทหารมหาดเล็กขึ้น ท่านจึงสมัครเข้าเป็นพลทหารมหาดเล็ก พร้อมกับเข้าศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงซึ่งตั้งขึ้นในพระบรมมหาราชวัง
พลทหารอ๊อดได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ.๒๔๑๗ ได้รับพระราชทานยศ นายร้อยตรี ตำแหน่งผู้บังคับหมวด ที่ ๖ กรมทหารมหาดเล็ก และเป็นนายร้อยโทในปี พ.ศ.๒๔๒๐ เมื่อกรมพระยาดำรงราชานุภาพมารับตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กในปี พ.ศ.๒๔๒๗ ได้ขอพระราชทานให้ ร.ท.อ๊อดเป็น หลวงศิลปสารสราวุธ รุ่งขึ้นอีกปีก็ได้เลื่อนขึ้นเป็น ร.อ.จมื่นวิชิตไชยศักดาวุธ เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสหัวเมืองต่างๆ ก็ได้เป็นผู้บังคับบัญชากองทหารม้าและทหารราบรักษาพระองค์ ล่วงหน้าไปคอยรับเสด็จ ในปี พ.ศ.๒๔๓๐ ได้เลื่อนยศเป็นนายพันตรี ตำแหน่งผู้ช่วยผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก จนในปี พ.ศ.๒๔๓๒ จึงมีโอกาสได้ทำงานที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังในการปราบอั้งยี่
ในสมัยนั้น ตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ ๔ มีการเริ่มทำเหมืองแร่กันในแหลมมลายูซึ่งยังเป็นของไทย พวกนายเหมืองได้ขนกุลีจากเมืองจีนหลายหมื่นคนมาเป็นกรรมกรขุดแร่ และมีการแย่งคนงานกัน ทั้งนายเหมืองบางคนยังโกงค่าแรงคนงาน พวกกุลีจึงรวมตัวกันปกป้องผลประโยชน์ของตัว จนเกิดเป็นคณะ “อั้งยี่” ต่อมาได้แตกออกเป็น ๒ ก๊ก คือ พวกอั้งยี่หิ้น และพวกตั้งกงสี แต่คนไทยมักเรียกพวกอั้งยี่รวมกันว่า “พวกยี่หิน”
อั้งยี่ได้ระบาดจากภาคใต้เข้ามากรุงเทพฯ โดยผู้รับเหมาเก็บภาษีอากรได้ใช้อั้งยี่ ซึ่งก็คืออันธพาล เป็นเครื่องมือในการเก็บภาษี และข่มขู่ไม่ให้ผู้อื่นเข้าประมูลแข่ง ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็ใช้อันธพาล จนในที่สุดก็รบกันเอง
ในปี พ.ศ.๒๔๓๒ อั้งยี่ในกรุงเทพฯ ๒ ก๊ก คือ ตั้งกงสี และ ซิ่วลิ่วกือ ได้ปิดถนนเจริญกรุงแถวถนนตกรบกัน จนรถม้า รถราง และประชาชนไม่สามารถเดินทางผ่านไปมาได้ บริษัทห้างร้านซึ่งมีชาวต่างประเทศอยู่ย่านนั้นมาก ต้องปิดกิจการหมด เหลือกำลังที่ตำรวจนครบาลจะปราบปรามได้ กระทรวงนครบาลจึงได้ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงยุทธนาธิการ (กระทรวงกลาโหม) ให้ฝ่ายทหารช่วย
จอมพลเจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช เสนาบดีกระทรวงยุทธนาธิการ จึงเรียกประชุมทหารบกและทหารเรือในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ขณะที่อั้งยี่ปิดถนนมา ๓ วันแล้ว กางแผนที่พระนคร-ธนบุรี ออกวางแผน
รุ่งเช้าวันที่ ๒๑ รถรางที่หยุดเดินมา ๔ วันแล้ว ก็ออกจากต้นทางที่ศาลหลักเมืองเป็นขบวน ทุกคันเต็มไปด้วยทหารที่นำโดย พ.ต.จมื่นวิชิตไชยศักดาวุธ มุ่งสู่ยานนาวา โดยมีนัดหมายกับทหารเรือที่นำโดยพระยาชลยุทธโยธิน (เอ. ตูเปล ริเดธิเชอเลียว) ผู้บังคับการทหารเรือชาวเดนมาร์ค ที่นำกำลังมาทางน้ำ ไว้ในเวลา ๘ นาฬิกาตรง
ประชาชนสองข้างถนนเจริญกรุงเห็นทหารมาเต็มรถรางเป็นขบวน ก็รู้ว่าเป็นการยกทัพไปปราบอั้งยี่แน่
เมื่อได้เวลาตามยุทธการ พ.ต.จมื่นวิชิตไชยฯก็นำทหารเข้าตะลุย โดยมีทหารเรือตลบมาอีกทาง พวกอั้งยี่ต่อสู้ถูกยิงตายไป ๕ คน จนถึงเวลา ๑๒.๐๐ น.ก็เผด็จศึกได้ราบคาบ รื้อเครื่องกีดขวางการจราจรให้คืนสู่ปกติ จับอั้งยี่ได้ราว ๑,๐๐๐ คน
จมื่นวิชิตไชยฯได้ผูกผมเปียพวกอั้งยี่ที่จับได้มัดรวมกันเป็นพวงๆ นำขึ้นรถรางมาควบคุมไว้ที่กรมยุทธนาธิการ โดยท่านจมื่นต้องยืนหน้ารถคันแรกคู่กับคนขับรถรางมาตลอด คอยโบกมือให้ประชาชนที่เรียงรายสองข้างทางตั้งแต่ถนนตกจนถึงศาลหลักเมือง ปรบมือโห่ร้องกันด้วยความชื่นชม
ความดีความชอบในครั้งนี้ พ.ต.จมื่นวิชิตไชยฯได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น พระราชวัลภานุสิษฐ์ ตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก อันเป็นตำแหน่งสูงสุดของหน่วยงานที่ท่านเริ่มมาจากพลทหาร ทั้งยังได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็นราชองครักษ์พิเศษประจำพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ มกุฎราชกุมาร
ในวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ.๒๔๒๗ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ทายาทแห่งราชบัลลังก์สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ขึ้นเป็นพระบรมโอรสาธิราช มกุฎราชกุมาร ซึ่งขณะนั้นกำลังทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ โดยอัญเชิญพระบรมราชโองการสถาปนาและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปทำพิธีที่สถานทูตไทยในกรุงลอนดอน ซึ่งนับเป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ที่มีการสถาปนาองค์รัชทายาทราชบัลลังก์ในต่างประเทศ
ในคณะที่อัญเชิญพระบรมราชโองการออกไปนี้ ได้โปรดเกล้าฯเลื่อนยศและบรรดาศักดิ์ นายพันตรี พระราชวัลภานุสิษฐ์ ขึ้นเป็น นายพันโท พระยาราชวัลภานุสิษฐ์โดยให้พ้นจากตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ไปเป็นราชองครักษ์ประจำพระองค์สมเด็จพระยุพราชองค์ใหม่ที่กรุงลอนดอนด้วย
ก่อนที่จะทรงมอบตำแหน่งที่ต้องจากบ้านจากเมืองไปนี้ พระพุทธเจ้าหลวงได้ตรัสถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัว ว่ามีสิ่งไรที่ต้องห่วงหรือไม่ ท่านเจ้าคุณมีมารดาที่ชราภาพอยู่ แต่ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงกราบทูลว่าไม่มี แต่เมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถ ทรงทราบในภายหลัง ก็ทรงรับอุปถัมภ์เป็นพระราชธุระ จนเจ้าคุณราชวัลภาฯหมดความกังวลทางครอบครัว
ขณะที่สมเด็จพระยุพราชทรงศึกษาอยู่ที่อังกฤษ พระยาราชวัลภานุสิษฐ์ได้รับราชการใกล้ชิดพระยุคลบาท เป็นพระอภิบาลผู้สนิทตลอดเวลา และเมื่อเสด็จคืนพระนคร ก็ยังรับราชการประจำอยู่ในราชสำนัก ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมวัง และได้รับพระราชทานเลื่อนยศทางทหารเป็นนายพันเอกและพลตรีตามลำดับ
ครั้นเมื่อเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ก็ยังรับตำแหน่งราชองครักษ์ โปรดเกล้าฯพระราชทานยศเป็นพระตำรวจโท และพระตำรวจเอก ตำแหน่งสมุหพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ และเป็นราชองครักษ์พิเศษ
ในปี ๒๔๕๖ มีประกาศใช้พระราชบัญญัตินามสกุล เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร) บุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าพระยาอัครมหาเสนา (บุนนาค) ได้ขอพระราชทานนามสกุล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯได้พระราชทานนามสกุลให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ว่า “บุนนาค”
ซึ่งเท่ากับเชื้อสายของเจ้าพระยาอัครมหาเสนาในรัชกาลที่ ๑ ได้นามสกุลว่า “บุนนาค”
พระยาราชวัลภานุสิษฐ์นั้น บิดาของท่านคือ พระมหาสงคราม (ศุข) เป็นบุตรของหลวงแก้วอายัด (จาด) ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าพระยาอัครมหาเสนา
ส่วนมารดาของท่านคือ ท่านเป้า เป็นธิดาของพระยาศรีอรรคราชนารถภักดี (เมือง) ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าพระยาอัครมหาเสนาเช่นกัน ท่านจึงมีเชื้อสายของเจ้าพระยาอัครมหาเสนาทั้งพ่อและแม่ แต่ฝ่ายเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ถือว่า บุตรของเจ้าพระยาอัครมหาเสนาซึ่งเกิดจากเจ้าคุณนวล น้องสาวของสมเด็จพระอมรินทรา พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งมีอยู่ ๑๐ คนเท่านั้น จึงจะถือว่าเป็น “บุนนาค สายเจ้าคุณนวล” และเป็นราชินีกุล ส่วนบุตรของเจ้าพระยาอัครมหาเสนาที่เกิดจากภรรยาคนอื่นๆนั้น ไม่ได้เป็นราชินีกุล จึงไม่ยอมให้ใช้สกุล “บุนนาค"
ฉะนั้นเพื่อไม่ให้พระอภิบาลของพระองค์เสียใจ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯจึงทรงพระราชทานนามสกุลใหม่ให้พระยาราชวัลภานุสิษฐ์ ดังนี้
(สำเนาพระราชหัตถเลขา)
วันที่ ๑๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๕๖
ถึงพระยาราชวัลภานุสิษฐ์ (อ๊อด)
เรื่องนามสกุลของพระยาราช ฉันได้ไตร่ตรองดูเปนปัญหาอยู่บ้าง ถ้าจะว่าไปตามจริง พระยาราชก็นับว่าสืบสกุลจากเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) เพราะฉะนั้นถ้าแม้จะใช้นามว่า “บุนนาค” เปนนามสกุลก็ควรอยู่ แต่ยังมีพวกลูกหลานเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ซึ่งเกิดแต่เจ้าคุณนวลนั้นดูเขาหวง ๆ สกุลของเขาอยู่ ดูเขาปรารถนาอยู่ที่จะให้มีแสดงชัดว่าข้างเขาเปนลูกเมียหลวงและเปนราชินิกุล เจ้าพระยาภาสกรวงษ์จึงได้ออกความเห็นว่าควรให้ใช้นามสกุลว่า “บุนนาค-นวล” ส่วนผู้ที่สืบสกุลจากเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) นอกจากทางเจ้าคุณนวลนั้น เจ้าพระยาภาสจะให้ใช้นามสกุลว่า “บุนนาค” เฉย ๆ
แต่ส่วนฉันเองเห็นว่า เจ้าคุณนวลเปนข้างฝ่ายผู้หญิง ไม่ควรจะเอานามท่านเข้าไปปนเปนนามสกุล เพราะตามเกณฑ์ก็ว่าผู้ชายเปนผู้ตั้งสกุล เพราะฉะนั้นฉันจึงจะแนะนำเจ้าพระยาภาสว่า นามสกุลควรใช้แต่ “บุนนาค” เท่านั้น แต่ที่แนะนำเช่นนี้บางทีเจ้าพระยาภาสและพงษ์ญาติบางคนก็จะไม่พอใจนัก เพราะถ้าจะใช้ชื่อ “บุนนาค” เฉย ๆ ฉะนั้นแล้ว บรรดาผู้ที่สืบสกุลจากท่านเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ก็จะได้ใช้นามอย่างเดียวกันไปหมด ไม่มีอะไรจะแสดงให้เห็นได้เลยว่าใครเปนลูกหลานจากสายเจ้าคุณนวลซึ่งพวกลูกหลานเจ้าคุณนวลไม่ต้องการเลย ต้องการให้มีอะไรแสดงว่าเขาดีกว่าคนอื่น ๆ
เมื่อเปนเช่นนี้แล้ว ฉันจึงเห็นว่า ถ้าพระยาราชวัลภานุสิษฐ์จะใช้ “บุนนาค” เปนนามสกุล ก็คงถูกพวก “นวล” รำคาญว่าอีก ฉันเห็นว่าพระยาราชควรใช้นามสกุลเสียใหม่อย่าให้ต้องมีปัญหาให้รำคาญใจจะดีกว่า
เพราะฉะนั้นฉันขอให้นามสกุลพระยาราชวัลภานุสิษฐ์ว่า “ศุภมิตร” เขียนตัวโรมันว่า “Subhamitra” เพราะพระยาราชเปนมิตรที่ฉันรักใคร่คน ๑ โดยแท้ ขอให้สกุล ศุภมิตรเจริญรุ่งเรืองและมั่นคงอยู่ในกรุงสยามชั่วกัลปาวสาน
วชิราวุธ ป.ร.
นับแต่นั้นมา พระตำรวจเอก และ พลตรี พระยาราชวัลภานุสิษฐ์ เจ้ากรมพระตำรวจหลวง ก็ใส่ชื่อของท่านในสมุดประวัติรับราชการว่า “อ๊อด ศุภมิตร” เป็นต้นมา
ในปี พ.ศ.๒๔๖๓ ในขณะที่พระยาราชวัลภานุสิษฐ์มีอายุ ๖๕ ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็โปรดเกล้าฯพระอภิบาลและราชองครักษ์ ศุภมิตรที่สนิทของพระองค์ ขึ้นเป็นเจ้าพระยา มีสมญาจารึกในหิรัญบัฏว่า “เจ้าพระยาราชศุภมิตร”
เจ้าพระยาราชศุภมิตรรับราชการต่อมาจนเข้าวัยชรา จึงขอลาออกใน พ.ศ.๒๔๖๕ แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯไม่ทรงอนุญาต
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๗ เจ้าพระยาราชศุภมิตรก็ขอลาออกอีกครั้งใน พ.ศ.๒๔๖๙ กระนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้ท่านมีตำแหน่งเป็นผู้กำกับการในกรมพระตำรวจหลวง แต่งเครื่องแบบได้ตามเดิมเหมือนอยู่ในประจำการ และรับเงินเดือนๆละ ๘๐๐ บาท
เจ้าพระยาราชศุภมิตรถึงอสัญกรรมในปี ๒๔๗๒ ขณะมีอายุได้ ๗๕ ปี มีผู้สืบสกุล “ศุภมิตร” ยั่งยืนตลอดมา