xs
xsm
sm
md
lg

ทนายสาวคนเก่ง “ปรางทิพย์ อนันตวิภาต” ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายภาษีอากร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คงมีเพียงไม่กี่คนที่ดูจะมีความสุขกับงานที่ทำตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ยิ่งเป็นงานที่ต้องอาศัยความเข้าใจและการจดจำ ตอนนี้เรากำลังพูดถึง “ปรางทิพย์ อนันตวิภาต” ทนายความสาวสวยดีกรี ผู้อำนวยการ บริษัท ลอว์อัลลายแอนซ์ บริษัทกฎหมายด้านภาษีธุรกิจแถวหน้าของประเทศไทย
เด็กไทยคนแรกที่เคยได้รับทุนจาก Shell Centenary Scholarship เพื่อไปศึกษาปริญญาโทด้านกฎหมายที่ประเทศอังกฤษ จนกลับมาทำงานเป็นทนายความสาวด้านกฎหมายภาษีอากรซึ่งมีเพียงไม่กี่คนในประเทศไทย

จากการเป็นผู้รับ สู่วันนี้ที่ต้องการจะเป็นผู้ให้ ความตั้งใจที่ต้องการจะตอบแทนและส่งต่อโอกาสกลับสู่สังคม จนกลายมาเป็นมูลนิธิคุณเพื่อที่จะหาเงินทุนมาใช้ประโยชน์และช่วยเหลือทั้งทางด้านสุขภาพ การพัฒนาสังคม และช่วยเหลือสุนัขจรจัด

• จุดเริ่มต้นบนเส้นทางทนายความ

ตอนแรกตั้งใจเอ็นทรานซ์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ แต่บังเอิญติดนิติศาสตร์ คนละขั้วเลย กลายเป็นโชคดีด้วยซ้ำ พอเราติดนิติศาสตร์ นี่คือสิ่งที่เราเรียนแล้วเราเข้าใจ ตอนที่เรียนกฎหมายมันก็มีหลายแขนง หนึ่งในนั้นคือวิชากฎหมายภาษีอากร ซึ่งเป็นวิชาที่ทุกคนไม่ชอบ แต่เราเรียนแล้วเราชอบ เพื่อนร่วมชั้นก็จะขอให้เราเป็นติวเตอร์ให้ ขณะที่กฎหมายด้านอื่นเราก็ไม่ได้เก่งนะคะ แต่รู้สึกว่าพอเรียนกฎหมายภาษีแล้วมันเข้าทางเราเลย

พอเรียนจบก็เริ่มสมัครทำงานที่สำนักงานกฎหมาย Baker & McKenzie ซึ่งตอนนั้นเป็นสำนักงานกฎหมายที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตอนไปสมัครก็บอกกับทางเจ้าของสำนักงานเลยว่า เราขอทำเรื่องภาษี ถ้าไม่ได้ก็จะไม่ทำ (หัวเราะ) ปกติคนที่เรียนจบจะไม่ค่อยรู้ตัวว่าอยากทำกฎหมายด้านไหน แต่เรารู้ตั้งแต่แรกแล้วว่าอยากทำภาษี

หลังจากนั้น 4 ปี เราก็ได้ทุนไปเรียนต่อที่อังกฤษ ซึ่งเป็นจุดที่โชคดีของตัวเองด้วย เพราะตอนนั้นเราก็ไม่ได้มีเงินเพียงพอที่จะไปเรียน ซึ่งการทำงานถ้าเราไม่ได้ภาษา มันก็จะเป็นอุปสรรคเหมือนกัน พอกลับมาภาษาก็ช่วยเราได้มากในเรื่องการดีลงานกับลูกค้าต่างประเทศ ตอนนี้ก็ทำงานมาประมาณ 20 ปีแล้วค่ะ

• ทำงานร่วม 20 ปี ผ่านการทำคดีมามากน้อยแค่ไหนแล้ว

เราไม่ได้เป็นทนายที่ขึ้นศาลว่าความเองนะคะ เราเป็นทนายที่ให้คำปรึกษา ซึ่งต้องไปนั่งคู่กับทนายที่ว่าความอีกทีหรือเรียกว่า adviser ส่วนมากทนายที่ว่าความจะไม่ค่อยรู้กฎหมายภาษี เขาจะรู้แค่พิธีพิจารณาความในการว่าความ เราจึงต้องไปนั่งคู่กับเขา เพื่อกำหนดว่าควรจะต้องถามยังไง ควรจะใช้หลักกฎหมายภาษีมาปรับใช้กับคดีนั้นยังไง ถ้าเคสแบบนี้น่าจะทำมาประมาณ 30 คดีแล้ว

• การเป็นที่ปรึกษาแต่ละครั้งเตรียมตัวมากน้อยแค่ไหน

เตรียมตัวหนักมาก บางทีใช้เวลาในการค้นเป็นอาทิตย์ก่อนที่จะได้คำตอบ เช่น เสียภาษีแบบนี้ถูกหรือไม่ถูก อาจจะต้องค้นแนวคำพิพากษาฎีกา ค้นแนวคำวินิจฉัยของกรมสรรพากรต่างๆ เพื่อมาซัพพอร์ทว่าข้อเท็จจริงของสิ่งที่เรากำลังจะแนะนำให้ลูกความทำ ถูกหรือผิด

• ในฐานะที่เป็นทนายความด้านนี้ ช่วยอธิบายหน่อยค่ะว่าภาษีอากรสำคัญอย่างไร

สำคัญมากค่ะ ส่วนมากลูกความที่มาใช้บริการก็เป็นองค์กร เป็นบริษัท เป็นนิติบุคคล ทั้งต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย หรือบริษัทไทยนี่แหละ ซึ่งถ้าเป็นเจ้าของกิจการทั่วๆ ไป อย่างสมัยก่อนที่เป็นระบบกงสี เขาจะไม่รู้หรอกว่าการทำธุรกิจแล้วมีระบบการทำภาษีที่ถูกต้องเป็นยังไง เขาจะใช้ระบบเก่าซึ่งเป็นพวกสองบัญชี ดังนั้นสมัยปัจจุบันคนที่ทำภาษีระบบเก่า ส่วนมากอยากเข้ามาอยู่ในระบบภาษีอากรที่ถูกต้อง ดังนั้นพอเข้ามาแล้วก็จะทำให้บริษัทสามารถเสียภาษีได้ถูกต้อง ไม่มีปัญหาในแง่การตีความกับกรมสรรพากร ไม่มีปัญหาเรื่องการทำสองบัญชี และต้องมาถูกตรวจสอบย้อนหลัง นี่คือข้อดีข้อหนึ่ง

ส่วนข้อดีอีกข้อหนึ่งก็คือ ในแง่ของรัฐ หรือหน่วยงานที่จัดเก็บ จะได้ไม่ต้องไปตีความอะไรที่ให้โทษ หรือตีความที่เข้าข้างตัวเองเพื่อที่จะจัดเก็บภาษีอย่างเดียว ถ้าเราทำทั้งสองด้านให้ควบคู่กันไปได้ ก็จะเป็นระบบภาษีที่ดี อยากให้คนทั่วไปเข้าใจระบบภาษีตรงนี้ด้วย แล้วก็ยังมีอีกหลายส่วนที่ยังเข้าใจผิดและทำกันอยู่ เช่น หลายองค์กรไปซื้อใบเสร็จเพื่อที่จะนำมาหักรายจ่ายทางภาษี ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และตอนนี้กรมสรรพากรก็กำลังตรวจสอบหนักมากในเรื่องนี้

• คุณปรางทิพย์มีเกณฑ์ในการรับทำคดีอย่างไรบ้างคะ

ก่อนอื่นเลยเราก็จะถามดูว่าข้อเท็จจริงเขาเป็นยังไง และถ้าเป็นข้อเท็จจริงที่เราช่วยได้ เราก็จะรับทำ แต่ถ้าเป็นเคส ยกตัวอย่างนะคะ ถ้าคุณไปหนีภาษี และต้องการให้เราทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เช่น ไปเจรจา ไปขอยุติกับเจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบ อันนี้เรียกว่า ล็อบบี้ยิสต์ (lobbyist) เราจะไม่ทำเลย

• เนื่องจากเป็นงานที่ต้องอาศัยความเข้าใจค่อนข้างมาก คุณปรางทิพย์รู้สึกกดดัน หรือเครียดไหมคะ

ไม่เครียดค่ะ อย่างที่บอกว่าเป็นงานที่ชอบ ทำแล้วมีความสุข อาจจะโชคดีที่ว่าเรามีทีมที่ดีด้วย ทำกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ถ้าเทียบกับทีมอื่น เขามีกันเป็น 10 - 20 คน แต่ของเรามีแค่ 5 คนซึ่งมีคุณภาพจริงๆ และก็มีความผูกพันกันมาก เลยทำงานด้วยความสุข แถมมีความรู้สึกว่าถ้าตอนนั้นสอบติดอักษรศาสตร์ ชีวิตก็อาจจะไม่ได้เป็นแบบนี้ การทำกฎหมายเป็นสิ่งที่เรารัก นั่นคือความสุขของตัวเองตั้งแต่เรียนจบ ทุกวันนี้บอกได้เลยว่าเป็นชีวิตการทำงานที่มีความสุขมาก

• แล้วสิ่งที่คุณปรางทิพย์คิดว่านี่แหละคือความท้าทายในการทำงาน มีไหมคะ

ถ้าทำเคสหรือให้คำปรึกษาลูกความ แล้วเขาสามารถดำเนินตามที่เราให้คำปรึกษา และประสบความสำเร็จ อย่างช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็ทำคดีใหญ่อยู่คดีหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องภาษีเลยนะคะ แต่เป็นเรื่องข้อพิพาทระหว่างผู้ถือหุ้น ซึ่งเราก็รู้แล้วว่า ฝั่งที่เราทำให้เสียเปรียบเยอะมาก เราก็พยายามทำมาตลอดเวลา ซึ่งเราสามารถทำให้ฝ่ายที่เสียเปรียบ ชนะคดี และได้ในสิ่งที่เขาต้องการ นั่นก็คือความท้าทายความสำเร็จของเราแล้ว เราจะมีความสุขมาก ถ้าทุกอย่างประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ ถึงแม้ในแง่เม็ดเงิน ในแง่รายได้จะไม่คุ้มเลย

• คุณปรางทิพย์มีหลักในการทำงานและการดำเนินชีวิตอย่างไรบ้างคะ

อาจจะดูแรงนะคะ แต่ว่ามันเป็นคติที่อยู่กับตัวมาตลอด ก็คือ no pain no gain การทำงานเราก็ต้องเต็มที่ ต้องมีความ pain ต้องมีความลำบากในการทำงาน อย่างที่บอก ต้องนั่งค้นนั่งทำ บางทีถ้าเป็นคดีใหญ่หรือด่วนๆ เราต้องนั่งทำทั้งคืนก็มี เรารู้สึกว่าเราต้องทำให้เต็มที่ จะเหนื่อยแค่ไหนก็ต้องทำ ไม่อย่างนั้นจะไม่มีความสำเร็จ ดังนั้น gain ที่เราจะได้ต้องขึ้นอยู่กับความพยายาม ความตั้งใจ และอาจจะต้องมีความลำบากเข้ามาแฝง นี่คือหลักในการทำงาน ส่วนแบบอย่างในการทำงานของเราก็มีนะ เป็นหัวหน้าเรานี่แหละค่ะ ก็คือ ศาสตราจารย์พิเศษ พิภพ วีระพงษ์ เรารู้เลยว่าท่านทำงานด้วยใจของท่านจริงๆ เราก็พยายามมองท่าน พยายามเลียนแบบท่านในหลายๆ ด้าน

ส่วนหลักในการใช้ชีวิตจะเป็นอีกแนวหนึ่งเลยค่ะ คือเราจะไม่เอาเปรียบใคร ถ้าเราอยากให้เขารักเรา ดีกับเรา เราก็จำเป็นที่จะต้องรักเขา ดีกับเขาด้วย ไม่ใช่ take อย่างเดียว ต้อง give ด้วย บางทีถ้า give แล้วไม่ได้รับจากเขา ก็อย่าไปคิดมาก

• ช่วยพูดถึงโครงการที่เคยทำและกำลังจะทำหน่อยค่ะ

ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายภาษี เคยรับทำวิจัยภาษีทางด้านตลาดทุนให้กับ Asian Development Bank (ADB) คือมีปัญหาเรื่องระบบภาษีที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนของไทย เราก็เลยไปรับทำวิจัย และวิเคราะห์เปรียบเทียบกับกฎหมายภาษีต่างประเทศ จากนั้น ADB ก็เอารายงานนี้ไปเสนอให้กระทรวงการคลัง จนมีการแก้ไขกฎหมายหลายๆ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในตลาดทุน

แต่ถ้าเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับสังคม ตอนนี้เรากำลังจัดตั้งมูลนิธิขึ้นมา ชื่อ “มูลนิธิคุณ” ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักๆ อยู่ 2 อย่าง อย่างแรกเกี่ยวกับการลดประชากรสุนัขจรจัด เราจะทำในแง่ของต้นทาง จะติดต่อกับหน่วยงานราชการ อย่างเช่น กทม. สำนักงานเขต และหาสถานที่พักพิง ซึ่งเป็นโครงการที่คิดว่าต้องใช้ทั้งพลังแรง และพลังเงินเยอะมาก แต่คิดว่าน่าจะทำได้เพราะมีทีมน้องๆ ช่วยสนับสนุน

ส่วนอีกอันหนึ่งเป็นเรื่องทุนการศึกษา เพราะเราก็เคยได้รับทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ ดังนั้นจึงมีความตั้งใจว่าอยากจะให้ทุนการศึกษากับแพทย์ และพยาบาล ส่วนในเรื่องของสิ่งแวดล้อม เนื่องจากตัวเองมีลูกความหลายคนที่ทำเกี่ยวกับพลังงานทดแทน เราก็คิดว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจและต้องการจะทำ แต่เรื่องสิ่งแวดล้อมอาจจะเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น หลักๆ ของมูลนิธิ จะเน้นไปที่เรื่องสุนัขจรจัด ส่วนทางสังคมจะเน้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับทุนการศึกษา

• อนาคตมีแผนอย่างไรบ้างคะ

มีอีกเยอะค่ะ ถ้าเป็นด้านสุขภาพตอนนี้ที่คิดคร่าวๆ โครงการแรกคือเรื่องโรคซึมเศร้า ต่อไปก็มีเรื่องเกี่ยวกับโรคมะเร็งด้วย ส่วนโปรเจกต์ที่เกี่ยวกับสุนัข ความฝันของเราคือจะไม่ให้มีหมาจรจัดอยู่เลย แบ่งเป็นขั้นก่อน ถ้ามีแรงและการสนับสนุนที่ดี จัดกิจกรรมที่สามารถหาเงินได้ เราอาจจะไปทำทั่วประเทศเลยก็ได้ อันนี้คือมองใหญ่นะคะ (หัวเราะ) เราคิดว่าเป็นโปรเจกต์ที่น่าจะได้สปอนเซอร์เยอะ เพราะทุกวันนี้คนจะรู้อยู่แล้วว่า เราเป็นคนรักหมามาก ลูกความที่รู้จักกันก็บอกว่าพร้อมสนับสนุนตลอด เราก็อยากจะทำให้มันประสบความสำเร็จ อยากให้มาร่วมมือกัน

อย่างคำว่า “คุณ” ที่ตั้งขึ้น มันมีความหมายหลายอย่างนะคะ แต่ที่เราคิดก็คือ อยากจะให้ทุกคนที่ต้องการให้โอกาส มาให้โอกาส ซึ่ง “มูลนิธิคุณ” ก็จะได้รับจากคุณ แล้ว “มูลนิธิคุณ” ก็จะเอาโอกาสที่ได้รับไปให้คุณคนอื่นๆ ต่อไป นี่เป็นคอนเซ็ปต์ที่อยากจะฝากไว้ค่ะ ว่าเราตั้งใจกันจริงๆ

• สุดท้ายแล้วฝากอะไรถึงคนที่กำลังตัดสินใจที่จะเรียนทนายหน่อยค่ะ

ถ้าเป็นเรื่องด้านภาษีอากร อาจจะต้องเป็นคนที่ขยันอ่าน และต้องคอยสังเกตคน อย่างเวลาเรานั่งประชุมกับลูกความ เราไม่เคยรู้จักลูกความ แต่เราสังเกตจากสีหน้าเขาได้ว่า เขาโอเคหรือไม่โอเคยังไง ถ้าเขาเริ่มไม่โอเค เราก็ต้องรู้แล้วว่า เราต้องเปลี่ยนแนวในการคุย นี่ก็เป็นอีกเทคนิคหนึ่งในการทำงาน ต้องยอมรับว่าความสามารถอันหนึ่งของตัวเองเป็นคนที่ช่างสังเกต อยู่ในศาลเราจะคอยมองว่าแต่ละคนมีรีแอคชั่น หน้าตาเป็นยังไง เราจะรู้เลยว่าสถานการณ์ตอนนั้นเป็นยังไง เราควรจะเปลี่ยนแนวในการทำงานเป็นยังไง การสังเกตก็ถือเป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งสำหรับคนที่อยากเป็นทนายที่ดีควรจะมี

เรื่อง : พุทธิตา ลามคำ
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช


กำลังโหลดความคิดเห็น