xs
xsm
sm
md
lg

ผลโพลสำรวจ ชี้ “พัทยากลาง” นักท่องเทียวแห่ชื่นชม ระบุน่าอยู่ที่สุด นักวิชาการแนะพัฒนาสินทรัพย์ 3 ประเภท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ซูเปอร์โพล สำรวจเชิงนโยบาย เรื่อง ย่านนวัตกรรม เมืองพัทยา พบกลุ่มตัวอย่างพอใจพัทยากลางมากที่สุด ขณะที่นักวิชาการ ระบุ การสร้าง “ย่านนวัตกรรมเมืองพัทยา” หวังเป็นภาพลักษณ์ใหม่ทางธุรกิจ แนะ ต้องทำเมืองพัทยาให้น่าอยู่สำหรับทุกคน หวังให้พัฒนาสินทรัพย์ 3 ประเภท ได้แก่ สินทรัพย์ทางเศรษฐกิจ สินทรัพย์ทางเครือข่าย และสินทรัพย์ทางกายภาพ

วันนี้ (14 ก.พ.) ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ ร่วมกับ ดร.สุธี อนันต์สุขสมศรี ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.นิจ ตันติศิรินทร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจและข้อเสนอเชิงนโยบาย เรื่อง ย่านนวัตกรรม เมืองพัทยา กรณีศึกษา ผู้ประกอบการ ผู้พักอาศัยในพื้นที่ และนักท่องเที่ยว พบว่า

เมื่อถามถึงว่า มาทำอะไรที่พัทยา ซึ่งคนตอบตอบได้มากกว่า 1 คำตอบ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.4 ระบุเป็นผู้ที่พักอาศัยในพื้นที่ รองลงมาคือ ร้อยละ 38.0 มาเรียน ร้อยละ 14.1 มาจับจ่ายใช้สอย และร้อยละ 13.7 มาท่องเที่ยวพักผ่อน โดย หน่วยงาน องค์กร สถานที่ ที่มาติดต่อเป็นประจำ พบว่า ร้อยละ 29.8 ระบุ ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้า แหล่งช้อปต่างๆ รองลงมาคือ ร้อยละ 21.7 ระบุ ธนาคาร สถาบันการเงิน ร้อยละ 16.8 ระบุ สถานที่ท่องเที่ยว ร้อยละ 10.5 ระบุ สถานที่ราชการ สภาเมืองพัทยา ศาลาว่าการเมืองพัทยา รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 5.2 ระบุ โรงแรม ร้อยละ 4.4 ระบุ โรงพยาบาล และที่เหลือระบุอื่นๆ

เมื่อประเมินความพึงพอใจต่อการติดต่อกับหน่วยงาน องค์กร สถานที่ต่างๆ ในเมืองพัทยา พบว่า กลุ่มผู้ท่องเที่ยว จับจ่ายซื้อสินค้า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.5 พอใจมากถึงมากที่สุด มากกว่ากลุ่มผู้พักอาศัยร้อยละ 56.9 และ กลุ่มผู้ทำงาน / เรียน ร้อยละ 56.4

ที่น่าพิจารณาคือ ในกลุ่มคนที่พอใจมาก ถึง มากที่สุดเป็นกลุ่มคนในพัทยากลางร้อยละ 38.5 พัทยาเหนือร้อยละ 35.7 และพัทยาใต้ร้อยละ 25.8 ในกลุ่มคนที่พอใจปานกลาง พบว่าเป็น คนในพัทยาใต้ร้อยละ 53.5 พัทยากลางร้อยละ 28.7 และพัทยาเหนือร้อยละ 17.8 ในขณะที่กลุ่มคนพอใจน้อยถึงไม่พอใจเลย เป็นคนพัทยาใต้ร้อยละ 73.4 พัทยากลางร้อยละ 19.0 และพัทยาเหนือร้อยละ 7.6

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสังคม การใช้ประโยชน์ที่ดิน และความหนาแน่นของอาคาร โดยคนในพัทยากลาง และพัทยาใต้ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เน้นไปในธุรกิจท่องเที่ยวมากกว่าเรื่องอื่นๆ ทั้งๆ ที่พื้นที่เมืองพัทยามีศักยภาพรองรับการพัฒนาได้หลากหลายรูปแบบ โดยกลุ่มที่พอใจปานกลางและพอใจน้อยถึงไม่พอใจเลย ให้เหตุผลว่าต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ของ การท่องเที่ยว พักอาศัย ทำงาน การศึกษา การกีฬาและสุขภาพ มากกว่าเรื่องการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว เนื่องจากมีความวุ่นวายของคนในพื้นที่ที่เน้นแต่เรื่องการท่องเที่ยวอย่างเดียว

ในขณะเดียวกัน ดร.สุธี อนันต์สุขสมศรี ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทั้งรัฐบาลและเมืองพัทยารวมถึงภาคธุรกิจและภาคประชาชนต่างเห็นพ้องต้องกันในการพัฒนาเมืองพัทยาโดยมีเป้าหมายสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ใหม่จากเมืองธุรกิจสีเทาให้กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่ดีในระดับภูมิภาคและระดับโลก เป็นที่ตั้งของการลงทุนและธุรกิจที่หลากหลายโดยเฉพาะการสร้าง “ย่านนวัตกรรมเมืองพัทยา” ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรดึงดูดนวัตกรรมและนักลงทุน สร้างงานเพื่อปรับระดับรายได้ให้สูงขึ้นให้ประชากรมีอาชีพที่มั่นคง มีการกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมในหมู่ประชาชนทุกกลุ่มครอบคลุมพื้นที่เมืองพัทยาอย่างยั่งยืน ถือเป็นเรื่องที่ท้ายทายอย่างยิ่ง

ในขณะที่ ผศ.ดร.นิจ ตันติศิรินทร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ องค์การมหาชน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ศึกษาแนวทางการพัฒนาย่านนวัตกรรมเมืองพัทยา ค้นหาและนำเสนอศักยภาพและปัญหาทางกายภาพ เศรษฐกิจและสังคม การพัฒนาเมือง สร้างแนวทาง การพัฒนาเมืองร่วมกันจากภาครัฐและเอกชนให้มีความสามารถดึงดูดนักลงทุน นวัตกร และทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถเข้ามาลงทุน ทำงาน และอยู่อาศัยในเมืองพัทยา ทำเมืองพัทยาให้น่าอยู่สำหรับทุกคน ด้วยการสร้างสรรค์ย่านนวัตกรรมเมืองพัทยาให้สร้างสรรค์เมืองพัทยาตอบโจทย์ความต้องการของคนในพื้นที่

“ย่านนวัตกรรมเมืองพัทยา อาจเปรียบได้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใจกลางเมือง ที่มุ่งสนับสนุนและดึงดูดทรัพยากร ธุรกิจ กลุ่มเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจ และกลุ่ม สตาร์ทอัพ ธุรกิจหน้าใหม่เพื่อสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม โดยการพัฒนาสินทรัพย์ 3 ประเภท ได้แก่ สินทรัพย์ทางเศรษฐกิจ สินทรัพย์ทางเครือข่าย และสินทรัพย์ทางกายภาพ โดย สินทรัพย์ทางเศรษฐกิจ จะสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยว การโรงแรมและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เช่น กีฬา สุขภาพ อาหาร และบันเทิง ส่วนสินทรัพย์เครือข่าย จะมีการสร้างเครือข่ายเข้มแข็งด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และประชาชนทั้งชาวไทยและต่างชาติ ในขณะที่สินทรัพย์ทางกายภาพ คือ การพัฒนาเมืองและสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับการพักอาศัยและสถานประกอบการ องค์กรสุขภาวะ ทำให้ย่านนวัตกรรมเมืองพัทยาน่าอยู่อย่างยั่งยืน
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล
ดร.สุธี อนันต์สุขสมศรี
ผศ.ดร.นิจ ตันติศิรินทร์


กำลังโหลดความคิดเห็น