“โดยทั่วไปแล้ว ไม่มีใครจะเป็นที่ทราบกันเท่าใดนัก ว่าครั้งหนึ่งเจ้าฟ้าพระองค์นี้เกือบจะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประมุขของสงฆ์ในพระพุทธศาสนา หากเป็นประสงค์ของพระองค์ พระองค์ได้รับการขอร้องจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ให้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุเพื่อรับทอดตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชต่อจากพระองค์ โดยสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกฯทรงถูกเรียกเข้าไปในห้องในตอนบ่ายของวันหนึ่ง เพื่อทูลถามความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ พระสงฆ์และสามเณรทั้ง ๒ รูปทรงผ้าไตรจีวรสีเหลือง ประทับนั่งขัดสมาธิกับพื้น ทรงปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิด”
นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งจากหนังสือ “ราชสำนักสยามในทรรศนะของหมอสมิธ” นายแพทย์ชาวอังกฤษในราชสำนักสยาม และได้เล่ารายละเอียดของเรื่องนี้ว่า
“สมเด็จฯกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ตรัสชี้ให้เจ้าฟ้าประชาธิปกฯทรงไตร่ตรองดูว่า ตำแหน่งสำคัญๆในราชอาณาจักรก็ล้วนแต่ตกอยู่ใต้บังคับบัญชาของพระเชษฐาของพระองค์ทั้งหมดแล้ว
แต่ยังมีตำแหน่งหนึ่งที่สามารถนำชื่อเสียงมาสู่ท่าน และสามารถทำประโยชน์ให้ประเทศชาติและชนในชาติได้เช่นเดียวกัน ซึ่งก็คือตำแหน่งที่ฉันกำลังดำรงอยู่ในขณะนี้ ตัวฉันเองตระหนักดีว่าคงจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน แต่ก็คงจะมีเวลาเหลือพอที่จะอบรมสั่งสอนให้ท่านเตรียมพร้อมที่จะสืบทอดตำแหน่งต่อจากฉันได้ ด้วยพระสติปัญญาอันชาญฉลาด กอปรกับคุณลักษณะอันเหมาะสม ฉันเชื่อว่าท่านคงจะเป็นผู้นำที่ชาญฉลาดของศาสนาของเราได้ ฉันจึงใคร่ขอให้ท่านไตร่ตรองดูให้ดีก่อน”
แต่ทว่าเจ้าฟ้าผู้เยาว์พระชันษามิได้สนพระทัย และทรงปฏิเสธในทันทีว่า พระองค์กำลังมีความรักและทรงปรารถนาการอภิเษกสมรสมากกว่า
การตัดสินพระทัยเช่นนี้น่าจะเป็นการดี เนื่องจากสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกฯไม่ใคร่จะทรงคุ้นเคยกับการดำเนินพระชนม์ชีพที่ยากลำบาก วิถีทางแห่งสมณเพศเป็นวิถีทางแห่งความเงียบสงบ พุทธบัญญัติเกี่ยวกับการฉันภัตตาหารมีผลให้ต้องทรงทรมานพระวรกาย ดังนั้นผู้ที่มีระบบการย่อยอาหารที่ดีเท่านั้นจึงสามารถทนได้”
สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกฯทรงผนวชเป็นสามเณรในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๐ ซึ่งหมอสมิธเล่าว่า ในสัปดาห์แรกสมเด็จพระพันปีหลวงเสด็จมาเยี่ยมพระราชโอรสที่วัดวันเว้นวัน ทรงผนวชอยู่ ๔ เดือน และทรงลาผนวชในขณะที่พระพลานามัยยังทรุดโทรม โดยไม่ฟื้นคืนดีอีกเลยนับตั้งแต่นั้นมา
หมอสมิธได้เล่าถึงการออกบิณฑบาตของสามเณรเจ้าฟ้าพระองค์นี้ว่า
“สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกฯทรงส่งเครื่องคาวหวานที่บิณฑบาตได้มาถวายพระราชมารดาเป็นประจำทุกวัน พระอิสริยยศของพระองค์มีผลให้เวลาที่เสด็จออกบิณฑบาต ภายในบาตรจะเต็มไปด้วยเครื่องคาวหวานมากมาย จนบางครั้งถึงกับต้องมีรถยนต์บรรทุกอ่างใบใหญ่ขับตามเพื่อคอยถ่ายอาหารเวลาที่บาตรเต็ม”
ก่อนทรงผนวชนั้น เจ้าฟ้าประชาธิปกฯเสด็จไปศึกษาวิชาสามัญที่วิทยาลัยอีตัน ประเทศอังกฤษ ใน พ.ศ.๒๔๔๙ ขณะพระชนมายุ ๑๓ พรรษา จากนั้นได้ทรงศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อยทหารบก สาขาวิชาปืนใหญ่ม้า ในปี พ.ศ.๒๔๕๓ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระองค์ได้เสด็จกลับมาเพื่อร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบรมชนกนาถ ด้วยการประคองพระบรมโกศคู่กับสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก แล้วจึงเสด็จกลับไปศึกษาต่อ เมื่อสำเร็จการศึกษาทรงเข้าประจำการกรมทหารปืนใหญ่ม้าอังกฤษ เป็นนายทหารยศร้อยตรีกิตติมศักดิ์แห่งกองทัพอังกฤษ
ในปี พ.ศ.๒๔๕๗ ที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอสด็จกลับประเทศไทย แต่เจ้าฟ้าประชาธิปกฯมีพระประสงค์จะเข้าร่วมรบกับพระสหายชาวอังกฤษ แต่สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ ๕ ไม่สามารถทำตามพระราชประสงค์นี้ได้ เนื่องด้วยพระองค์เป็นคนไทยซึ่งเป็นประเทศเป็นกลางในสงคราม เจ้าฟ้าประชาธิปกฯจึงจำต้องเสด็จกลับประเทศไทยในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๕๘
ความรักครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตของสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปก เกิดขึ้นเมื่อเสด็จมาเยี่ยมสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระราชชนนี ที่วังพญาไทเป็นประจำ บางครั้งก็ประทับอยู่หลายวัน และทรงพบกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ณ ที่นั้น เกิดความสนิทสนมจนกลายเป็นความรักอย่างลึกซึ้งขึ้น
หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี หรือท่านหญิงนา เป็นธิดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ซึ่งพระบิดาได้นำเข้าไปถวายตัวแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ เมื่อทรงเจริญพระชันษาได้ ๒ ปี ซึ่งในระยะนั้นสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯประทับอยู่ที่พระตำหนักสวนสี่ฤดู พระราชวังดุสิต เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต และหลังเสร็จการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯได้ทรงย้ายไปประทับพระราชวังพญาไท ซึ่งทรงให้สร้างพระตำหนักขึ้นใหม่ และประทับ ณ พระราชวังแห่งนี้เป็นการถาวรตลอดพระชนม์ชีพ ซึ่งหม่อมเจ้ารำไพพรรณีได้ตามเสด็จมาด้วย
ในปี พ.ศ.๒๔๖๑ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ได้ทรงมีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต อภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพิธีอภิเษกสมรสพระราชทานขึ้น ณ วังศุโขทัย โดยพระราชพิธีสมรสในครั้งนี้ เป็นการแต่งงานแบบตะวันตก มีการถามความสมัครใจของคู่บ่าวสาว และทรงริเริ่มให้มีการจดทะเบียนสมรสในหมู่พระราชวงศ์เป็นครั้งแรก
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา พระราชโอรสพระองค์ที่ ๗๖ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๙ ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ และทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ที่ประเทศอังกฤษ รวมพระชนมพรรษา ๔๗ พรรษา
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการยกย่องจากยูเนสโก ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๖ เนื่องในวโรกาสฉลองวันพระราชสมภพครบ ๑๐๐ ปี