กรมการขนส่งทางบก บังคับใช้ “ใบรับรองแพทย์” แบบ 2 ท่อน ให้ผู้ขอลงนามร่วมกับแพทย์ เวลาขอทำใบขับขี่ เริ่ม 1 มี.ค. นี้ พร้อมกำหนด 5 โรคต้องห้าม โรคเท้าช้าง วัณโรค โรคเรื้อน พิษสุราเรื้อรัง และโรคติดยาเสพติดให้โทษ ด้านรองเลขาธิการแพทยสภา ระบุ ออกแบบและบังคับใช้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพื่อความเป็นธรรม แต่บางแห่งยังไม่มีผู้ป่วยรับรองตนเอง
วันนี้ (13 ก.พ.) นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า แพทยสภาได้กำหนดแบบมาตรฐานของใบรับรองแพทย์ สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ออกให้กับผู้ขอรับบริการตรวจสุขภาพ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. นี้ เนื่องจากแต่เดิมไม่มีมาตรฐานเดียวกัน แต่ได้กำหนด 5 โรคต้องห้าม ได้แก่ โรคเท้าช้าง วัณโรค โรคเรื้อน พิษสุราเรื้อรัง และโรคติดยาเสพติดให้โทษ โดยรายละเอียดใบรับรองแพทย์แบบมาตรฐานใหม่แบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 ของผู้ขอรับใบรับรองสุขภาพกรอกประวัติโรคประจำตัว ประวัติอุบัติเหตุและการเข้ารับการผ่าตัด ประวัติเคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามความจริง
ส่วนที่ 2 ของแพทย์รับรองผู้ขอรับบริการตรวจสุขภาพ ว่า ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไม่ปรากฏอาการของโรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน หรือปัญญาอ่อน ไม่ปรากฏอาการของการติดยาเสพติดให้โทษ และอาการของโรคพิษสุราเรื้อรัง และไม่ปรากฏอาการและอาการแสดงของโรคเรื้อนในระยะติดต่อหรือในระยะปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้างในระยะปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
ส่วนกรณีผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถหรือใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถใช้ใบรับรองแพทย์ไม่เป็นไปตามแบบมาตรฐานดังกล่าว ให้นายทะเบียนแจ้งผู้ยื่นคำขอไปดำเนินการขอใบรับรองแพทย์ใหม่ให้ถูกต้องก่อนรับดำเนินการ รวมทั้งให้สำนักงานขนส่งจังหวัดประสานสถานพยาบาลในพื้นที่ให้ออกใบรับรองแพทย์ตามแบบที่ถูกต้องเพื่อการคัดกรองผู้ขับรถที่มีความรู้และทักษะการขับรถได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และไม่เป็นภัยอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนรายอื่น
สำหรับโรคประจำตัวบางกลุ่ม แม้ตามกฎหมายจะยังไม่กำหนดให้เป็นโรคต้องห้ามที่เป็นอุปสรรคต่อการขับรถ เช่น โรคลมชัก โรคความดันโลหิตสูง แต่กรณีผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถไปแล้วอาการของโรคกำเริบขณะขับรถจนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุ ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง นายทะเบียนอาจพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตขับรถได้เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนส่วนรวม
ส่วนความคืบหน้าการปรับปรุงร่างกฎกระทรวงขณะนี้อยู่ในระหว่างหารือร่วมกับแพทยสภาเพื่อกำหนดรายละเอียดของใบรับรองแพทย์ให้สามารถกลั่นกรองผู้ที่มีโรคในกลุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายต่อการขับรถเพิ่มเติม เช่น โรคเบาหวานระยะที่ต้องฉีดอินซูลิน โรคความดันโลหิตสูง โรคลมบ้าหมูหรือลมชัก ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดทางสมอง ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายที่ผ่านการผ่าตัดหัวใจ หรือขยายเส้นเลือดหัวใจ ซึ่งแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นอุปสรรคต่อการขับรถ และอาจพิจารณาให้มีการตรวจรับรองโรคเป็นระยะ สำหรับผู้ที่ได้รับใบอนุญาตขับรถตลอดชีพ ก่อนที่กรมการขนส่งทางบกจะประกาศยกเลิกการออกใบอนุญาตขับรถตลอดชีพเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2546 เพื่อคุ้มครองผู้ใช้รถใช้ถนนให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ด้าน พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา ชี้แจงว่า แพทยสภาได้รับรองใบรับรองแพทย์ ชนิดที่มี 2 ท่อน เพื่อแก้ปัญหาข้อกฎหมาย โดยให้คนไข้รับรองตนเอง ในโรคที่แพทย์ไม่มีทางทราบได้จากการตรวจปกติ ในท่อนแรก คู่ขนานกับการที่แพทย์รับรองเฉพาะโรคที่ตรวจได้และระบุตามกฎหมาย ในท่อนที่ 2 เพื่อไม่ต้องรับผิดชอบ ในส่วนที่ตนเองไม่สามารถทราบได้จากการตรวจปกติมานานแล้ว โดยเพิ่มข้อมูลสัญญานชีพ เลขที่บัตรประชาชน ประวัติต่างๆ ที่แพทย์อาจพลาดถ้าคนไข้ไม่บอก และให้คนไข้รับรองประวัติตนเอง ไม่ใช่แพทย์รับรอง เพราะไม่มีทางรู้ แพทย์รับรองเฉพาะที่ตรวจที่เห็นเท่านั้น เพื่อความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย
ทั้งนี้ ใบรับรองแพทย์รูปแบบดังกล่าว ออกประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. 2551 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตามมติการประชุมกรรมการแพทยสภา ครั้งที่ 8/2551 วันที่ 14 ส.ค. 2551 โดยได้แจ้งให้มีการปรับใหม่ ลงจดหมายข่าวแพทยสภา และประกาศทางเว็บไซต์ เพื่อให้ สถานพยาบาลทุกแห่งนำมาใช้ให้เข้าเกณฑ์ตามข้อกฎหมาย และ ให้ดาวน์โหลดได้ที่ เว็บไซต์แพทยสภา เพื่อเป็นต้นแบบ
“สถานพยาบาลส่วนใหญ่ได้นำไปใช้แล้ว แต่ยังพบว่าบางสถานพยาบาลยังคงใช้แบบท่อนเดียว โดยไม่มีผู้ป่วยรับรองตนเอง ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงในการรับรองสุขภาพ จึงขอแจ้งมาอีกครั้งให้พิจารณาปรับปรุงเป็นใบรับรองแพทย์ 2 ท่อน ที่แพทยสภารับรองแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงของสถานพยาบาล และให้สอดคล้องกฎหมายต่อไป โดยทางกรมขนส่งทางบกจะใช้ฟอร์มนี้ตั้งแต่ 1 มี.ค. 2561 เป็นต้นไป” พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าว