เห็นบรรยากาศวงการบันเทิงไทยสมัยนี้ ต่างกับสมัยก่อนยังฟ้ากับเหว สมัยหนัง ๑๖ มม. แค่พระเอกชนปากกับนางเอก คนดูยังตื่นเต้นว่าใจกล้า วิจารณ์ว่าจูบกันจริงหรือเปล่า แต่สมัยนี้นอกฉากหนังฉากละครก็ยังมีให้ดูกัน ย้อนยุคไปกว่านั้น จะหาผู้หญิงใจกล้ามารับบทถูกเนื้อต้องตัวกับผู้ชายนั้นแสนยาก เลยต้องให้ผู้หญิงมาแสดงเป็นพระเอกเสียเลย จะได้เล้าโลมกันสมบทบาท แต่ก็ยังมีบางคู่เคลิ้มไปนอกเวที ใช้ชีวิตคู่กันในชีวิตจริงอีก
ละครสมัยก่อนทั้งละครร้องละครรำ แม้จะมีผู้หญิงผู้ชายแสดงร่วมกัน แต่ตัวพระตัวนางนั้นต้องใช้ผู้หญิงแสดงทั้งคู่ อย่าง แม่เลื่อน แม่บุญนาก แม่สงวน แม่ชม้อย ดาราละครดังๆในสมัยรัชกาลที่ ๗ ล้วนแต่แสดงในบท “พระเอก” กันทั้งนั้น แม้แต่ละครไทยที่ไปอเมริกาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ตัวพระก็ยังใช้ผู้หญิงรำ อาจจะเป็นเพราะประเพณีที่ผู้หญิงสมัยนั้นต้องรักนวลสงวนตัว การเข้าพระเข้านางในบทเลิฟซีนใช้ผู้หญิงด้วยกันแสดงจะดูแนบเนียนกว่า ละครที่ใช้ชายจริงหญิงแท้อย่างละครโทรทัศน์ทุกวันนี้ มาเริ่มตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี่เอง ผู้ที่ริเริ่มก็คือโชว์แมนคนสำคัญแห่งยุค ที่มีนามว่า บัณฑูรย์ องค์วิศิษฐ์ ซึ่งคนยุค ๕๐-๖๐ ปีก่อนรู้จักกันดี
บัณฑูรย์ หรือ “เซียวก๊ก” เป็นลูกเจ้าของโรงแรมตงเสียม ติดกับวัดไตรมิตรที่เยาวราช พอเรียนจบ ม.๔ ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ พ่อก็ส่งไปเรียนวิชาการค้าที่เซี่ยงไฮ้ แต่บัณฑูรย์ไม่ชอบทางนี้ เลยหันไปเรียนวิชาดนตรีตามใจปรารถนา พอกลับมาก็ชวนเพื่อนๆลูกเสี่ยแถวเยาวราช เช่นลูกชายห้างทองตั้งโต๊ะกัง ตั้งวงดนตรีเล็กๆขึ้น เล่นสลับการฉายหนังแถวโรงภาพยนตร์ศรีราชวงศ์ ศรีเยาวราช เทียนกัวเทียน เฉลิมบุรี และออกอากาศทางวิทยุ ได้ค่าตัวทั้งวงครั้งละ ๒๕ บาท
การตั้งวงดนตรีครั้งนี้ ทำให้บัณฑูรย์ได้รู้จักสนิทสนมกับ “แก้วฟ้า” แก้ว อัจฉริยกุล ซึ่งเป็นนักแต่งเพลงและนักเขียนบทละครวิทยุ ตอนนั้นบัณฑูรย์อายุ ๒๒ แก้วฟ้าแก่กว่า ๒ ปี ขณะเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ อายุของทั้งคู่ก็อยู่ราว ๒๔ กับ ๒๖ บัณฑูรย์เห็นว่าบรรยากาศด้านบันเทิงของกรุงเทพฯเงียบเหงา มีแต่หนังญี่ปุ่นที่คนดูเบื่อ จึงชวนแก้วฟ้าว่า
“ครู เรามาทำละครกันเถอะ ผมอยากทำละครชายจริงหญิงแท้ ครูต้องเป็นคนเขียนบทและกำกับการแสดงนะ”
“ทำไมต้องเป็นผมล่ะ” ครูแก้วถาม
บัณฑูรย์ให้เหตุผลว่า ครูแก้วเป็นคนทำอะไรได้หลายอย่าง ทั้งแต่งเรื่อง แต่งเพลง และกำกับละครวิทยุอยู่แล้ว ที่สำคัญเป็นคนทำงานด้านนี้เพียงคนเดียวที่เขารู้จัก
บัณฑูรย์เห็นว่าควรจะนำวรรณกรรมจีนมาสร้าง เพราะมีเรื่องสนุกอยู่มาก ทั้งตอนนั้นคนในกรุงเทพฯอพยพหนีลูกระเบิดออกไปอยู่ชนบทกัน แต่คนจีนที่สำเพ็งไม่ได้อพยพ ห่วงการค้าและเห็นว่าสำเพ็งไม่ได้อยู่ใกล้จุดยุทธศาสตร์ ไม่เคยโดนระเบิด แค่เล่นเก็บเงินคนจีนในสำเพ็งก็พอแล้ว และอยากเริ่มด้วยเรื่อง “บู๊สง” นักผจญภัยผู้แข็งแรง สามารถตีเสือตายด้วยมือเปล่า ส่วนผู้แสดงก็หานักแสดงหลายสาขามาร่วม แก้วฟ้าเห็นดีด้วยเพราะชอบอ่านเรื่องจีนอยู่แล้ว แต่ติดขัดที่ไม่รู้ขนบธรรมเนียมจีนเลย การให้ท่าทางตัวละครคงลำบาก บัณฑูรย์ว่าเรื่องนี้ไม่ยาก ว่าแล้วก็จูงมือแก้วฟ้าไปดูงิ้วที่โรงตงเจ้กกีเฮียง เยาวราช แก้วฟ้าไม่เคยดูงิ้วมาก่อน เข้าไปก็แสบแก้วหูแล้ว ไหนจะเสียงผ่างๆและเสียงแหลมเล็กของผู้แสดงหญิง ในหูกังวานแต่เสียงตุ้งๆว้ากๆ บัณฑูรย์เห็นแก้วฟ้ากำลังมึนเลยหันมาบอกว่า
“ครูไม่ต้องไปดูเรื่องราวอะไรหรอก ของเราก็ไม่ต้องว้ากแบบนี้ ผมอยากให้ดูแค่ท่าเดิน วิธีทำความเคารพ คนชั้นไหนทำความเคารพแบบไหน พร้อมกิริยาท่าทางและเครื่องแต่งกายซึ่งแสดงถึงชั้นของคน”
ไม่เพียงแค่พาไปดูงิ้ว บัณฑูรย์ยังไปดึงเอาครูงิ้วมาเล็คเชอร์อีก สอนทั้งกิริยาท่าทาง ท่วงท่าการพูด จนแก้วฟ้าแสดงให้ดูได้ ครูงิ้วจึงให้คะแนนสอบผ่าน
จากนั้นบัณฑูรย์ก็พาครูแก้วไปเก็บตัวที่โรงแรมตงเสียม ซึ่งเป็นที่อยู่ของเขาและครอบครัว ตอนนั้นเขามีภรรยาคือ เฉลียว องค์วิศิษฐ์ และมีลูกแล้ว ให้ครูแก้วเขียนบท ออกแบบฉาก ตลอดจนซ้อมท่าทางตัวละคร โดยมีบัณฑูรย์มาขลุกอยู่ด้วยจนดึกดื่นทุกคืน บางคืนก็ถึงเช้า
พอบทเสร็จก็พากันหอบบทไปที่โรงภาพยนตร์แคปปิตอล ซึ่งฉายหนังอเมริกันมาก่อน แต่ตอนนั้นต้องหันมาฉายหนังญี่ปุ่น และถูกขึ้นบัญชีเป็น “ทรัพย์สินของชนชาติศัตรู” ถูกยึดให้อยู่ในความคุ้มครองทรัพย์โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ผู้จัดการโรงไม่มั่นใจเลยว่าละครชายจริงหญิงแท้ของบัณฑูรย์จะทำเงินได้มากกว่าหนังญี่ปุ่นที่ซบเซา จึงเรียกเงินการันตี ๘๐,๐๐๐ บาท ซึ่งบัณฑูรย์ก็ยอมตกลงตามเงื่อนไข
แต่พอบัณฑูรย์หอบเงิน ๘๐,๐๐๐ ไปวางโดยไม่มีครูแก้วไปด้วย ผู้จัดการก็ปฏิเสธที่จะให้โปรแกรม บอกตรงๆว่าแก้วฟ้าเขียนบทไม่เป็น กำกับก็ไม่เป็น ขืนแสดงไปก็ไม่มีคนดูแน่
บัณฑูรย์หอบบทย้ายวิกไปติดต่อ นาวาอากาศเอกสวัสดิ์ ทิฆัมพร กรรมการผู้จัดการบริษัทสหศินิมา และเป็นผู้บริหารศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งเป็นของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เหมือนกัน น.อ.สวัสดิ์หรือที่เรียกกันว่า“ขุนสวัสดิ์” ฟังโครงการแล้วก็อ่านทะลุ บรรจุละครชายจริงหญิงแท้ของบัณฑูรย์เข้าโปรแกรมของศาลาเฉลิมกรุงทันที โดยไม่ต้องมีเงินการันตีด้วย
“บู๊สง” ถูกเปลี่ยนชื่อให้เป็นไทยว่า “นางบุญใจบาป” โดยยกเอาเรื่องราวของเมียบู๊สงให้เด่นขึ้น ส่วนผู้แสดงนอกจากจะมี วสันต์ สุนทรปักษิณ มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา อบ บุญติด สนิท เกษธนัง สำราญ เหมือนประสิทธิเวช และ “เสี่ยล้อต๊อก” แล้ว ยังดึง ม.ล.รุจิรา อิศรางกูร ผู้กำลังโด่งดังในฉายา “มนุษย์ ๖ เสียง” มาร่วมด้วย และเป็นผู้ตั้งชื่อคณะให้ว่า “วิจิตรเกษม”
“แก้วฟ้า” ได้เล่าเรื่องวันเริ่ม “นางบุญใจบาป” ไว้ว่า
“พอถึงวันกำหนดการแสดง ผมยังจำได้ติดตาว่า คนเข้าคิวซื้อบัตรชมละครครั้งนี้ยาวเหยียดออกมานอกโรงจนถึงรางรถรางนอกบาทวิถี ซึ่งไม่ยักใช่เฉพาะแต่ชาวจีนในสำเพ็งเท่านั้น แต่ปรากฏว่าเป็นคนไทยเสียครึ่งต่อครึ่ง”
เมื่อประสบความสำเร็จจากละครชายจริงหญิงแท้นี้แล้ว คณะวิจิตรเกษมก็สร้างละครติดตามออกมาหลายเรื่อง ทั้งที่ศาลาเฉลิมกรุงและโอเดียน มีคณะละครประเภทเดียวกันเกิดตามมาอีกหลายคณะ น.อ.สวัสดิ์ ทิฆัมพรเอง ก็ตั้ง “คณะศิวารมณ์” ขึ้นมาด้วย มีดาราและผู้กำกับเกิดขึ้นมามาก ซึ่งบัณฑูรย์ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคณะ บางเรื่องก็ชวนคณะศิวารมณ์มาร่วมสร้างเพื่อความยิ่งใหญ่ อย่าง “หญิงผู้พลิกแผ่นดิน” (เตียวเสี้ยน) ใช้ผู้กำกับถึง ๓ คน คือ “แก้วฟ้า” “มารุต” และ “เนรมิต” ต่อมา เมื่อบัณฑูรย์มาเปิดศาลาเฉลิมไทย คณะละครทั้งหลายก็มาปักหลักกันที่ศาลาเฉลิมไทย ขณะที่โรงอื่นๆเปลี่ยนไปฉายหนังกันหมด จนศาลาเฉลิมไทยเองก็หันมาฉายหนังฝรั่งในปี ๒๔๙๖ จนถึงวันถูกทุบทิ้งใน พ.ศ. ๒๕๓๒
โปรแกรมสุดท้ายของศาลาเฉลิมไทย ดารารุ่นใหม่รุ่นเก่ายังมาจัดละครอำลาด้วยเรื่อง “พันท้ายนรสิงห์” กำกับการแสดงโดย ส.อาสนจินดา ผู้ที่เป็นเจ้าบทบาทบนเวทีศาลาเฉลิมไทยมาตลอด เป็นการปิดฉากให้ศาลาเฉลิมไทยด้วยตำนานที่ เปิดด้วยละคร ปิดด้วยละคร
นี่ก็เป็นตำนานของละครเวทีตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา ซึ่งเป็นยุคของละครชายจริงหญิงแท้