xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ “เครื่องดื่มปีศาจ” มาสยาม! ร.๓ ทรงปลูกเป็นสวนหลวงในหัวแหวนกรุงรัตนโกสินทร์!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค

ต้น “เครื่องดื่มปีศาจ”
เครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกขณะนี้ คงหนีไม่พ้นกาแฟ ในเมืองไทยเราเองก็จะเห็นร้านกาแฟอยู่ทุกซอกทุกมุม ตั้งแต่กลางใจเมืองไปจนถึงชายขอบป่า แสดงว่าคนไทยเราเป็นคอกาแฟไม่น้อยกว่าคอเหล้า และพบว่าการค้าผลิตภัณฑ์กาแฟเป็นธุรกิจที่กว้างขวาง จะเป็นรองก็แต่ปิโตรเลียมเท่านั้น

ตำนานกาแฟเล่าไว้ว่า ในยุคสมัยที่ไกลโพ้น มีคนเลี้ยงแกะที่เอธิโอเปียสังเกตเห็นว่า เมื่อฝูงแกะของเขากินผลไม้ลูกแดงๆเหมือนเชอรีเข้าไป ก็จะมีอาการกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาทันที จึงลองไปเด็ดมาชิมบ้าง ก็มีอาการเหมือนแกะเช่นกัน เมื่อเรื่องนี้แพร่ออกไปก็มีคนเอาไปลองต่อ ล้วนติดใจจนเอาไปต่อยอดเป็นบด เป็นคั่ว เป็นชงน้ำ แพร่กระจายไปทั่ว

ในยุคแรกนั้น คนอีกฝ่ายให้ฉายากาแฟว่า “เครื่องดื่มของปีศาจ” และเป็นของต้องห้ามในบางประเทศ แต่ต่อมก็มีการพิสูจน์ว่ากาแฟไม่ได้เป็นอย่างที่ถูกกล่าวหา กลับเป็นประโยชน์และรักษาโรคได้ด้วย เลยมีการเร่งปลูกกาแฟกันทุกทวีป เพราะตลาดมีความต้องการสูง

สำหรับเมืองไทย มีบันทึกของชาวต่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า ในสมัยนั้นมีกาแฟเข้ามาถึงเมืองไทยแล้ว แต่ดื่มกันในหมู่ชาวต่างประเทศ ส่วนคนไทยนิยมดื่มแต่ชาจีน และไม่ได้พูดถึงการปลูกกาแฟไว้ เข้าใจว่าคงไม่มีการปลูก

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ร้อยเอก เจโรลาโม อีมิลิโอ เจรินี นายทหารอิตาเลียนที่เข้ามารับราชการเป็นครูฝึกทหารในสมัยรัชกาลที่ ๕ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระสารสาสน์พลขันธ์ ได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อ “Siam and it’s Productions, Art & Manufacture” เมื่อปี ๒๔๕๓ ว่า มีการปลูกกาแฟในเมืองไทยมาราว ๖๐ ปีแล้ว ซึ่งก็ตกราว พ.ศ. ๒๓๙๓ หรือราว ๑๗๐ ปีก่อน และอังรี มูโอต์ นักสำรวจฝรั่งเศส ซึ่งไปจันทบุรีเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๒ ก็กล่าวไว้ในหนังสือ “Travels in the Central Part of Indo-Chaina (Siam),Cambodia and Laos” ว่า กาแฟที่จันทบุรีปลูกนั้นมีรสชาติดี

แต่ก่อนหน้านั้น มีหลักฐานการปลูกกาแฟในไทยปรากฏอยู่ในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงมีหมายรับสั่งลงวันศุกร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล จัตวาศก ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ.๒๓๘๕ มีข้อความว่า

“...มีหมายเวรนายรัตมา ว่าด้วยนายเสน่ห์มหาดเล็กรับพระราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสั่งว่า จะต้องพระราชประสงค์ต้นข้าวแฝ่เป็นอันมาก โปรดเกล้าฯให้ข้าราชการใหญ่น้อย เพาะต้นข้าวแฝ่เข้ามาถวายเป็นอันมาก และกระโปรงตุ้มลูกมะพร้าวที่จะใส่ต้นข้าวแฝ่นั้นหามีไม่ ให้เกณฑ์เอาเลกประจำการในหมู่ ทำลูกตุ้มมะพร้าวให้ได้ ๕,๐๐๐ ใบ นั้นเกณฑ์และให้ผู้ซึ่งต้องเกณฑ์ทั้งนี้ ไปเบิกเปลือกมะพร้าวต่อเจ้าภาษี มาร้อยหวายให้มั่นคง แล้วให้มาส่งต่อผู้รับสั่ง ณ คลังพิมานอากาศ แต่ ณ วันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ให้ครบตามเกณฑ์ อย่าให้ขาดได้ตามรับสั่ง”

ต่อมาในวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๘๖ ก็มีหมายรับสั่งอีกว่า “เม็ดข้าวแฝ่” ที่ให้ไปเพาะ และส่งไปปลูกในสวนหลวงสวนราชการนั้น ยังไม่เพียงพอ ให้ข้าราชการทหารและพลเรือน ทั้งวังหลวงวังหน้าเร่งทำบัญชีหางว่าวมา จะได้จ่ายเม็ดข้าวแฝ่ไปเพาะครบตามจำนวน อย่าให้ขาดได้ตามรับสั่ง

สวนหลวงที่ปลูกกาแฟอย่างเป็นล่ำเป็นสันครั้งนี้ ก็คือด้านตะวันออกนอกกำแพงพระราชวัง ปัจจุบันคือสนามไชย พระราชวังสราญรมย์ และวัดราชประดิษฐ์ ซึ่งเป็นหัวแหวนของกรุงรัตนโกสินทร์นั่นเอง

นอกจากสวนกาแฟหลวงนี้แล้ว บรรดาขุนนางหลายท่านก็ทำสวนกาแฟสนองประราชประสงค์ด้วย ตามประวัติของวัดพิชัยญาติ ที่สร้างโดย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ และวัดอนงคาราม ที่ท่านผู้หญิงของท่านสร้างในปี ๒๓๘๔ ก็สร้างขึ้นในบริเวณที่เป็นสวนกาแฟของท่านทั้งสองนั่นเอง แสดงว่ามีการปลูกในเมืองไทยมาก่อน พ.ศ.๒๓๘๔ แล้ว ก่อนที่จะมาเป็นพืชเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ทั้งนี้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงส่งเสริมการค้าขายเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญ ทำให้การคลังของประเทศอุ่นหนาฝาคั่ง มีเงินเก็บไว้ในถุงแดงจนใช้ไถ่ประเทศได้เมื่อมีเหตุการณ์วิกฤติ ทรงส่งสำเภาไปค้ากับต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงทรงทราบว่ากาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่ตลาดโลกมีความต้องการสูง น่าเสียดายที่โครงการนี้ขาดหายไปเมื่อสิ้นรัชกาล

ส่วนการดื่มกาแฟในเมืองไทยนั้น มีบันทึกไว้ว่า แหม่มโคล ผู้ให้กำเนิดโรงเรียนวังหลัง หรือโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยในปัจจุบัน ได้เปิดร้าน “Red Cross Tea Room” ขึ้นที่สี่กั๊กพระยาศรีในปี ๒๔๖๐ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ เพื่อหาเงินให้สภากาชาดช่วยฝ่ายสัมพันธมิตร ส่วนร้านของคนไทย เจ้าพระยารามราฆพ ได้เปิดร้าน “กาแฟนรสิงห์” ขึ้นที่สนามเสือป่า เฉพาะในเวลา ๑๕.๐๐-๑๘.๐๐ น. เพื่อบริการคนที่มาฝึกซ้อมเสือป่า

ในปัจจุบัน นอกจากกาแฟจะเป็นพืชเศรษฐกิจและเป็นสินค้าออกที่สำคัญอย่างหนึ่งของไทยตามที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคาดการณ์ไว้แล้ว ยังเป็นพืชที่มีความสำคัญในการปราบฝิ่นด้วย

ทั้งนี้ในปี ๒๕๑๗ หลังจากก่อตั้งโครงการหลวงไม่นาน ม.จ.ภีศเดช รัศนี ผู้อำนายการโครงการหลวงได้นำเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ ๙ ไปที่บ้านหนองหล่ม บนดอยอินทนนท์ ซึ่งต้องพระราชดำเนินด้วยพระบาทไต่เขาขึ้นไปเป็นระยะทางกว่า ๗ กิโลเมตร เพื่อทอดพระเนตรต้นกาแฟที่ชาวกะเหรี่ยงปลูก แต่เมื่อไปถึงก็พบว่ามีกาแฟอยู่แค่ ๒-๓ ต้น

“ผมถูกพวกในวังที่เดินตามเสด็จฯนินทามากมาย ว่านำเสด็จฯด้วยพระบาทเป็นชั่วโมงๆ เพื่อทอดพระเนตรกาแฟ ๒-๓ ต้น ซึ่งก็จริง แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งเองว่า การที่เสด็จฯไปนั้นทำให้ชาวเขาเห็นว่ากาแฟนั้นสำคัญ จึงสนใจที่จะปลูก บัดนี้กาแฟบนดอยมีมากมาย แล้วก็เริ่มจาก ๒-๓ ต้นนั่นเอง”

ม.จ.ภีศเดช รัศนี เขียนเล่าไว้ในหนังสือ “โครงการหลวง”

นายพะโย่ ตาโร ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหนองหล่ม วัย ๓๐ ปี ได้ให้ข้อมูลว่า ต้นกาแฟนี้มีเศรษฐีคนหนึ่งในอำเภอจอมทองให้พ่อตาของเขามาปลูก

นายพะโย่ได้นำเมล็ดกาแฟที่ปลูกได้มาทูลเกล้าฯถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นเมล็ดกาแฟมีความสมบูรณ์ และสามารถปลูกได้ในย่านนั้น จึงได้พระราชทานเมล็ดกาแฟเหล่านั้นคืนให้ชาวบ้าน รับสั่งให้นำเมล็ดกาแฟไปปลูกแทนฝิ่นจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

นอกจากรับสั่งให้โครงการหลวงให้การสนับสนุนแล้ว ยังเสด็จฯไปที่บ้านหนองหล่มและละแวกใกล้เคียงอีกหลายครั้ง แต่ละครั้งก็ทรงนำพันธุ์สัตว์ เช่นหมู ไก่ วัว พร้อมหน่วยแพทย์ไปด้วย

มีพระราชดำรัสอธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า

“แต่ก่อนเขาปลูกฝิ่น เราไปพูดจาชี้แจง ชักชวนให้เขามาลองปลูกกาแฟแทน กระเหรี่ยงไม่เคยปลูกกาแฟมาก่อน ยังดีที่กาแฟไม่ตายเสียหมด แต่ยังเหลืออยู่หนึ่งต้นนั้น ต้องถือว่าเป็นความก้าวหน้าสำหรับกระเหรี่ยง จึงต้องเสด็จไปทอดพระเนตร จะได้แนะนำเขาต่อไปว่า ทำอย่างไรกาแฟจึงเหลือมากกว่าหนึ่งต้น”

หลังจากวันนั้น กระเหรี่ยงย่านบ้านหนองหล่ม ๑๐ หมู่บ้านได้เลิกปลูกฝิ่น หันไปปลูกกาแฟและไม้เมืองหนาวที่โครงการหลวงส่งเสริมและรับซื้อผลผลิต กาแฟต้นเดียวของ พะโย่ ตาโร จึงได้เป็นต้นกาแฟประวัติศาสตร์ที่แพร่พันธุ์ไปตามดอยต่างๆจนทั่ว

ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกล ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่จะช่วยให้ชาวเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเพื่อให้ฝิ่นหมดไปจากประเทศไทย บัดนี้ยอดเขาในภาคเหนือล้วนเต็มไปด้วยกาแฟพันธุ์อาราบิกา และชาวเขาหลายรายนอกจากปลูกแล้ว ยังพัฒนาเป็นผู้ผลิตกาแฟคุณภาพสูงเป็นที่รับรองในระดับโลก มีตราสัญลักษณ์ของตัวเองอย่างน่าภาคภูมิ
ร้านกาแฟของคนปลูกกาแฟ
กาแฟไทยลุยตลาดโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น