xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ “ใบเตย” นักเขียนนิยายช่องแช็ทสุดจี๊ดฮิตสนั่นทวีตเตอร์ “กุเชอร์รี่”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ใบเตย - ธนพร เพชรจรัส หรือเจ้าของนามปากกา Dollarosaka ผู้สร้างผลงาน “กุเชอร์รี่” จากแอปนิยายน้องใหม่ “จอยลดา” ที่กำลังได้รับความนิยมจากวัยรุ่นสายแชทและแฟนคลับขาเมาท์ ไวรัลปากต่อปาก ส่งผลให้แฮชแท็ก “กุเชอร์รี่” พุ่งติดเทรนทวีตอันดับ 1 ทุกสัปดาห์ ก่อนปล่อย Box Set ตามกระแสเรียกร้อง

ฉีกกรอบการอ่านนิยาย ด้วยแอปแชทน้องใหม่มาแรงอย่าง “จอยลดา” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “จอย” กับแพลตฟอร์มการอ่านซ้าย-ขวาที่แปลกตาจากเดิม นอกจากนั้นลูกเล่นที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือจอยลดามีรายได้ให้กับนักเขียน ทำให้หลังจากเปิดตัวได้เพียงไม่นานความนิยมของนิยายแชทก็พุ่งสูง นักเขียนมากหน้าหลายตาเข้าไปฝากผลงานไว้มากกว่า 300,000 เรื่อง

รวมทั้งเจ้าของผลงาน “กุเชอร์รี่” อย่าง ใบเตย - ธนพร เพชรจรัส นักเขียนบทภาพยนตร์วัย 25 ปี ผู้สร้างประโยคฮิตติดปากอย่าง “แซ่บไม่แซ่บ” และ “ชายผู้เป็นดั่งข้อยกเว้น” จากไวรัลปากต่อปากจนสู่กระแสเรียกร้อง Box Set จำนวนมาก ที่ชาวทวีตยกให้เป็นนิยายแชทแห่งปี

• สำหรับบางคนที่ไม่รู้จักนิยายช่องแชทของ “จอยลดา” อยากให้ช่วยอธิบายหน่อยค่ะว่าคืออะไร

นิยายจริงๆ มันก็จะเป็นตัวหนังสือบรรยาย แต่อันนี้คือเล่านิยายยังไงให้อยู่ในรูปแบบของแชท มันก็จะเป็นเหมือนเรานั่งอ่านแชทคนอื่นน่ะค่ะ เล่าเรื่องกันด้วยภาษาแชท เป็นคนนั่งคุยกันเลย แล้วเราก็นั่งกดทีละคลิก เพื่อดูว่าเค้าคุยกันยังไง มีห้องแชท มีแชทส่วนตัว เขาก็จะให้สร้างคาแรคเตอร์ได้ว่าคนนี้คุยกับใคร คนนี้เป็นใคร ใส่รูป ใส่ชื่อ สร้างบุคลิกได้ มันเป็นแพลตฟอร์มนิยายแปลกๆ พออ่านแล้วก็ลองแต่งดูน่าจะสนุก

• กลุ่มเป้าหมายในการอ่านของจอยลดาเป็นใครบ้างคะ

เราว่าน่าจะเป็นวัยรุ่นตอนต้นๆ คนที่เล่นโซเชียลบ่อยๆ น่าจะเจาะกลุ่มสายแชทที่เป็นวัยรุ่นนะ ไม่ใช่ฝั่งพ่อแม่ที่มะนาวโซดารักษาโรคมะเร็ง แล้วก็มีแฟนคลับเกาหลีด้วย อย่างแรกเลยเพราะเป็นแฟนคลับเกาหลี เราได้เล่นคาแรคเตอร์ เหมือนว่าเราเห็นศิลปินคนนี้แล้วเราอยากให้เขาเป็นคนจนๆ เราก็มาสร้างคาแรคเตอร์เขาให้ดูจนๆ มันจะสนุกตรงที่เราเหมือนได้แต่งตัวตุ๊กตา ก็เลยน่าจะเข้าถึงง่ายเพราะพวกแฟนคลับเกาหลีก็จะเยอะอยู่แล้ว

• เราไปเขียนตรงนี้ ได้ผลตอบแทนอย่างไรบ้าง

ก็มีค่าขนมเล็กๆ น้อยๆ ค่ะ เขาไม่ได้จำกัดมาว่าต้องเขียนกี่ตอน เขียนกี่บับเบิ้ลจะได้เท่าไหร่ คำพูดหนึ่งบรรทัด มันจะนับเป็นบับเบิ้ลให้กด น่าจะนับตามจำนวนคนอ่าน ยิ่งคนอ่านเยอะ จำนวนจอย (การกดแต่ละคลิก) ในแต่ละวันมากน้อยแค่ไหน เขาก็จะเฉลี่ยเป็นรายเดือนให้ อย่าง “กุเชอร์รี่” ยอดจอยได้ประมาณเกือบๆ 400 ล้าน ก็ไม่ได้ค่าขนมเยอะมากนะคะ (หัวเราะ) บางคนคิดว่าได้เยอะ แต่จริงๆ แล้วจำนวนตอนเราน้อย จำนวนจอยเราก็น้อย เพราะฉะนั้น เงินที่ได้จะไม่เยอะเท่าคนที่เขียนจำนวนตอนเยอะๆ

• คนทั่วไปก็สามารถแต่งได้ใช่ไหมคะ

ใช่ค่ะ ใครก็ได้ก็สามารถเข้าไปแต่งได้แล้วเราก็สามารถแต่งเป็นใครก็ได้เหมือนกัน คือจริงๆ มันน่าลองมากกว่าสำหรับมือใหม่ คนที่ไม่เคยแต่งนิยาย ไม่เคยแต่งฟิค เพราะว่ามันง่ายกว่าตรงบรรยาย ตรงที่ไม่ต้องมาเริ่มที่กาลครั้งหนึ่ง มันคือการที่เราแชทกับเพื่อน มันใกล้ตัวมากค่ะ

• ถ้าคนอยากเข้ามาแต่งต้องทำยังไงบ้างคะ

ก็เหมือนเว็บไซต์ทั่วไป แต่อันนี้มันเป็นแอปพลิเคชัน เราก็ไปลงทะเบียนนักเขียนทั่วไปเหมือนกับสมัครเว็บ แล้วก็เริ่มเขียนได้เลย เขาก็จะมีแพลตฟอร์มมาให้ สร้างตัวละครขึ้นมา ตัวละครตัวไหนอยู่ขวาอยู่ซ้าย เรากำหนดตัวไหนให้เป็นตัวฝั่งเรา แล้วก็จะมีลูกเล่นของเขาว่าโพสต์รูปได้ด้วย มีโพสต์เหมือนไอจีได้ด้วย

• แล้วตัวเราเองเริ่มงานเขียนได้ยังไงคะ ได้แรงบันดาลใจมาจากไหน

เราเป็นคนชอบดูหนังตั้งแต่เด็ก เวลาที่ดูเราจะชอบจดว่าหนังเรื่องนี้สนุก ตรงนี้ดี บางครั้งเราก็วาดเป็นรูปเอาไว้เพราะตอนเด็กดูจากดีวีดีบ้าง ดูจากทีวีบ้าง คนนี้พูดอย่างนี้นะ คนนี้ไปที่บ้านตรงนี้นะ แล้วเราก็เลยกลับมาคิดว่านี่เราชอบดูหนังจริงๆ หรือว่าชอบการเล่าเรื่องของเขา ก็เลยลองเขียนดู ซึ่งตอนนั้นก็เด็กมากประมาณ ป.5-ป.6 เล่า 1 วันของเราแล้วก็มีคนอ่านด้วย เขาก็มาเม้นต์บอกสนุกเหมือนได้อ่านนิยายเลย เราก็คิดว่าลองแต่งเป็นนิยายเลยดีไหม ก็เริ่มจากอ่านนิยายแฮรี่พอตเตอร์ ตอนนั้นก็ยังเด็ก เรายังสร้างคาแรคเตอร์เองไม่ได้ ก็ยืมแฮรี่ ยืมรอน ยืมมัลฟอยเข้ามาเป็นตัวละครให้หน่อย ตอนแรกยังไม่มีใครคู่ใครนะคะ แค่ว่าวันหนึ่งแฮรี่ไปไหน กินอะไรแล้วเจอใคร กลับบ้าน พอลองเขียนแล้วมันก็สนุกดีค่ะ

• อยากให้พูดถึงผลงานที่ถูกตีพิมพ์ อย่าง “กุเชอร์รี่” หน่อยค่ะ ชื่อมันแปลกๆ ดี

จริงๆ แล้วชื่อเต็มของมันคือ “มองอะไร กุเชอร์รี่ไง” เหมือนพวกสาย ม.ต้น ท้าตบนิดหน่อย เป็นนิยายแชทแก๊งเด็ก ม.3 เชอร์รี่ แนตตี้ แยม เราเรียกแก๊งนี้ว่าไม่เคยเสียน้ำตาให้ผู้ชาย เรื่องราวมันก็ประมาณว่าเชอร์รี่ชอบรุ่นพี่ ม.6 ชื่อพี่เป้ เชอร์รี่จะได้พี่เป้เป็นแฟนไหม สุดท้ายแล้วจะจบยังไง พี่เป้จะทำยังไง ใครคู่ใครประมาณนี้ค่ะ

• แนะนำตัวละครที่เขียนหน่อยได้ไหมคะ

จะมีเด่นๆตัวเอกเลย ไม่กล้าเรียกว่าเป็นนางเอกหรืออะไรทั้งนั้น มันก็คือตุ๊ดเด็กคนหนึ่งชื่อเชอร์รี่ อันนี้ก็คือเด็ก ม.3 ผมสีชมพูแต่อยู่โรงเรียนรัฐ เราก็อ้างเลยว่าพ่อสนิทกับอาจารย์ฝ่ายปกครอง คาแรคเตอร์ก็คือเพี้ยนเลย คิดเวอร์ คิดใหญ่ เพ้อเจ้อ โวยวายไว้ก่อน คิด dramatic ไว้ก่อน ซึ่งที่ทำให้มันเป็นขนาดนั้นได้ก็คือเพื่อนในกลุ่มอีกคนหนึ่งชื่อแยม ก็จะเป็นสายยุยง เป็นตัวตลก ส่วนคนหนึ่งจะเรียกว่าเป็นพระเอกหรือเปล่าไม่แน่ใจ ชื่อแน็ตตี้ เป็นเพื่อนอีกคนหนึ่งในกลุ่มที่เคยจำกัดความไปว่าเป็นตุ๊ดไม่ซื่อสัตย์ ปลอมตัวเป็นตุ๊ดมาเพราะชอบเชอร์รี่ ส่วนอีกตัวละครหนึ่งที่สำคัญก็คือพี่เป้ เราสร้างคำจำกัดความมาว่าเขาคือชายผู้เป็นดั่งข้อยกเว้น พี่เป้ก็จะเป็นรุ่นพี่ม.6 เพื่อนสนิทของพี่ชายเชอร์รี่ เป็นคนดีทุกอย่าง นิสัยดี เรียนเก่ง หน้าตาดี ศูนย์รวมความดีทั้งหมดที่เชอร์รี่ชอบ อยากได้เป็นแฟน ต้องทำทุกอย่างให้ได้พี่เป้ ส่วนสถานที่ในเรื่องนี่ก็คือบ้านเราเอง โรงเรียนเรา เส้นพลโยธินเป็นของเรา(หัวเราะ)

• ใช้ระยะเวลาในการเขียนนานไหม

เราเขียนตอนแรกคือตอนที่เราเข้าห้องน้ำตอนเช้าค่ะ เราถึงออฟฟิศ เราก็เข้าห้องน้ำตามปกติ คือจังหวะที่เราเข้าห้องน้ำนั่นแหละก็ได้ 1 ตอนแล้ว เหมือนกับมันคือแชททั่วไปเลยค่ะ ถ้าเรามีของในหัวแล้วนะมันก็จะเขียนได้ไว แต่พอตอนหลังๆคนรอเยอะ ตอน 10 เมื่อไหร่จะมาคะ 2-3 ตอนสุดท้ายคืออ่านทวน 4-5 ชั่วโมงเลย เพราะว่าคนจับตามอง เราก็อยากทำให้มันออกมาดีที่สุด

• แล้วตอนไหนที่เริ่มเป็นไวรัล มีคนพูดถึง

ตั้งแต่ตอนแรกเลย หนึ่งเพราะมันเป็นนักร้องเกาหลี มันเข้าถึงง่ายกว่านิยายทั่วไป สองคือมันเป็นความตั้งใจของเราด้วย ทำยังไงให้มันเป็นกระแสปากต่อปากได้เร็ว ก็คือหากิมมิกที่ไม่ซ้ำ อย่างของเราใช้เป็นภาษาวิบัติกับการพูดคุยแบบแยม ไม้ยมกเยอะๆ สปอยล์เพื่อนเยอะๆ ซึ่งตอนเขียนเราก็รู้เลยว่าถ้าใครอ่านก็ต้องเอาไปเล่นกับเพื่อน เหมือนจับจุดให้ได้ว่าทำยังไงคนถึงจะเข้าใจ ช่วงที่เริ่มกดดันคือมันเริ่มไม่ใช่กระแสปากต่อปากแล้ว เขาเริ่มซึมซับเนื้อหา จะจบยังไง สองคนนี้ใครจะเป็นพระเอก มีทั้งแน็ตตี้ มีทั้งพี่เป้ มันจะเกิดประมาณกลางเรื่องนิดๆ แบ่งทีมใครเป็นใคร มีหลายทีมมาก ซึ่งอันนั้นเรากดดันที่สุด คือเราจะจบยังไงให้ไม่มีคำว่าพระเอกนางเอก จบยังไงไม่ให้มีคำว่าพระรอง ถ้าคนนี้คู่กับคนนี้แล้วอีกคนหนึ่งจะต้องไม่แพ้ จบยังไงให้คนที่เขาอยู่กับตัวละครที่เขาเชียร์มาไม่ผิดหวัง อันนี้กดดันมาก เราก็คิดตั้งแต่ตอนนั้นว่าจากฟิคแชทที่เราแต่งในห้องน้ำ คือกลายเป็นกระดานใหญ่มาก ตัวละครตัวนี้เป็นอะไร เกิดจากอะไร นิสัยยังไง ช่วงหลังๆ คือช่วงที่ว่าจะจบยังไงให้มันดีที่สุด ก็ทำเหมือนเขียนบทภาพยนตร์เลย

• ผลตอบรับเป็นยังไงบ้าง

คนชอบเยอะกว่าคนเกลียด เราพูดถึงเรื่องแย่ๆ ก่อนแล้วกัน การเป็นกระแสมันก็เหมือนดาบสองคม มันก็จะมีคนไม่ชอบ ก็เกิดจากสาเหตุหลายอย่าง บางคนอคติ บางทีคนอ่านอินมาก เอาไปพูดกับคนที่ไม่ได้อ่าน เขาก็ไม่อิน บางคนเหมือนเอาชื่อในเรื่องไปเรียกเป็นชื่อศิลปินตัวจริง จนเกิดดราม่า เราก็คิดนะว่ามันไปขนาดนั้นได้ยังไง แน่นอนว่ามันก็มีคนที่ให้กำลังใจเยอะมากกว่า มันสนุกจริงๆ จึงเกิดเป็นกระแสขึ้นมา อย่างเช่น เชอร์รี่เรียน Enconcept Enconcept ก็ติดต่อมา เค้าจะมีงานติวภาษาอังกฤษเพื่อไปหาพี่เป้ เราก็บอกแม่ว่าหนูได้ทำบางอย่างเกี่ยวกับการศึกษาด้วยนะ คือผลตอบรับมันเกิดคาดมาก ไม่ใช่ว่าดีหรือไม่ดีนะแต่หมายถึงว่ามันไปไกล ติดเทรนในทวิตเตอร์วันที่มีละครรากนครา ซึ่งเราไม่คิดมาก่อนเลย

• เห็นว่าเรื่องนี้ทำให้เราเครียดพอสมควร

ก็มีเรื่องของกระแสผลตอบรับที่เล่าไปว่ามันมีทั้งคนที่ชอบและคนที่ไม่ชอบ คือคนชอบร้อยคน คนไม่ชอบหนึ่งคน กับเราที่เป็นคนธรรมดา พอไปอ่านยังไงมันก็ต้องคิดมากอยู่แล้ว เราไม่ได้เกิดมามีชื่อเสียงที่ชินกับการถูกวิพากษ์วิจารณ์ขนาดนั้น เราก็เป็นคนๆหนึ่งที่ไม่เคยทำอะไรให้มันบูมขนาดนี้ พอมาอ่านก็เห็นมีคนไม่ชอบด้วย ตอนแรกก็ตกใจ ก็คือเครียด ทำไงดี เขียนต่อไหม กลายเป็นว่าในตอนนั้นคือการจะตัดสินใจแต่ละอย่างมันยากมาก จะตัดสินใจลบดีไหม จะตัดสินใจอัพวันนี้หรืออัพพรุ่งนี้ กลายเป็นความเครียดเลย แต่ละอย่างมันต้องไม่ใช่แค่การตัดสินใจแค่สเต็ปเดียวแล้ว มันต้องคิดไปหลายๆ สเต็ปเลยว่าเราใส่คำนี้ไป เดี๋ยวคนจะอิน เอาไปใช้อีกหรือเปล่า หรือเราต้องบอกคนยังไงนะให้คนเข้าใจว่าอย่าไปเรียกน้องตัวจริงด้วยชื่อนี้เลย

• จัดการกับความคิดเห็นด้านลบยังไงบ้าง

ตอนแรกๆ ก็คือเครียดนั่นแหละ ถึงขั้นแบบว่าจะไม่แต่งต่อแล้วก็ได้นะคะ เคยทวีตคำนี้ไปด้วยซ้ำ เราก็ยังเด็กมากถ้ามีคนไม่พอใจเราก็แค่ลบ แต่พอมาเรื่อยๆ เข้าโดยที่ไม่มีใครบอกเลยนะ คนไม่ตำหนิผลงานเราวันนี้ พรุ่งนี้ก็จะมี ไม่ว่ายังไงมันผ่านสายตาคนแล้วมันจะต้องมีคนที่ชอบและไม่ชอบ มันไม่มีหนังดีเรื่องไหนที่ไม่เคยมีคนด่ามาก่อน ไม่ได้เทียบว่าตัวเองเป็นงานที่ดีอะไรนะ แต่เราแค่ต้องรับให้ได้กับกระแสทุกๆ ด้าน

• อย่างการทำ Box Set เป็นความคิดของเราเองหรือว่าทางจอยลดาคะ

อันนี้จริงๆ คือเป็นความคิดของทางจอยลดา วันที่ลงตอนจบมันค่อนข้างจะเป็นกระแสคนอ่านเยอะ พอลงตอนจบคือจอยลดาก็ทักมาขอเบอร์ทันที คือเราก็คิดเหมือนกันว่าถ้ารวมไปจะมีคนอยากได้จริงๆหรอ เขาอาจจะสนุกแค่คืนนี้ พรุ่งนี้ตื่นเช้ามาเขาก็ไปสนุกเรื่องอื่นแล้ว แต่เราอ่านฟีดแบคเรื่อยๆ เรามองออกว่ามันมีคนประทับใจและอยากเก็บจริงๆ ก็ตกลงกับจอยลดาว่าจะทำ โดยที่รู้ตั้งแต่แรกเลยว่าแทบไม่ได้เงินเลยเพราะต้นทุนมันสูงมาก

• จากที่เขียนมา คิดว่าการเขียนให้อะไรกับคุณเตยบ้างคะ

มันได้เรียงลำดับความคิด การเขียนนิยายเหมือนเราได้เอาชีวิตคน หนึ่งวัน หนึ่งช่วง หนึ่งชีวิตมาทำ เราทำความรู้จักเหมือนเราเล่นเดอะซิม เราปั้นคนคนนี้ขึ้นมาตั้งแต่ต้น เขาเป็นคนยังไง นิสัยยังไง เขาจะไปเจอแบบนี้ เขาจะได้เรียนรู้อะไร การที่เขาเจอแบบนี้มันจะทำให้เกิดอะไร สิ่งที่เขาจะได้เรียนรู้ทั้งหมด เราต้องผ่านให้ก่อนแล้ว ไม่ได้หมายถึงว่าเราต้องไปเจอจริงๆ ไม่ใช่เราแต่งคนคุก เราต้องไปเข้าคุกนะคะ คือเราต้องเข้าใจความรู้สึกตรงนั้นให้ได้ก่อนที่จะเอาไปเขียน ซึ่งนั่นมันทำให้เราได้ขยันอินพุทตัวเองมากขึ้น ว่าเราต้องเสพหนังให้มากขึ้น อ่านหนังสือให้มากขึ้น ทำให้เข้าใจอะไรหลายๆอย่างมากขึ้น

บางอย่างเราเคยมองผ่าน อย่างเช่น เมื่อก่อนเราก็จะเลือกดูสิ่งที่เราชอบ เราชอบดูหนังบู๊ เราก็จะดูแต่หนังบู๊ เราจะไม่ได้ดูหนังจีน ไม่ดูหนังโรแมนติค แต่พอเราเขียนนิยายเราก็ต้องเสพทุกอย่างเพื่อให้ได้ตัวอย่างที่เราทั้งชอบและไม่ชอบ ดีและไม่ดี ละคร ซีรีย์ เอ็มวี หนังอินเดีย คือเราลองหมดเลย มันเป็นการเก็บของใส่ตัวเอง บางทีเราไม่ได้เอาการเต้นใส่ฝนของหนังอินเดียไปใช้หรอก แต่เราได้ไอเดียนี้ว่าคนตอนที่อยู่กลางฝน ตอนกลางคืนหรือตอนกลางวันมันให้ความรู้สึกเศร้ากว่ากัน คือพวกอย่างนี้มันก็เหมือนได้เก็บเอามาคิด เหมือนย้อนกับไปตอนที่เราเคยดูหนังตอนเด็กๆ เราก็นั่งจดเลยว่าอะไรเป็นยังไง ใครไปไหน ใครเจอกับใคร ตอนนี้ใครหายไป ทำความเข้าใจทั้งหมดในนั้น ตอนนี้ก็เหมือนกันแค่มันน่าจะเร็วขึ้นและเราโตพอที่ไม่ต้องมานั่งเขียนเป็นกราฟแบบนั้นแล้ว

• ฝากถึงคนที่มีความฝันอยากเป็นนักเขียน อยากเริ่มต้นการเขียนหน่อยค่ะ

กุเชอร์รี่มันก็ไม่ใช่งานที่ดีพอที่จะเป็น reference อะไรขนาดนั้น ถ้ามันทำให้คนอ่านแล้วเกิดไฟที่มันเอะใจได้ว่าจริงๆ เราก็เขียนได้ เราก็ลองเขียนได้ หรือว่าจริงๆ เราก็อยากลองเขียนดู อย่ารอช้าที่จะลงมือทำ มันไม่มีอะไรยากเกินความพยายาม จริงๆ เรื่องคอมเมนต์มันก็สำคัญ ลงนิยายไป 1 ตอนแล้วรอ 5 วันถึงจะมี 1 คอมเมนต์ เราก็เคยผ่านมาเหมือนกัน มันทำให้ตอนนี้หนึ่งวันเรามี 5,000 คอมเมนต์ คือเพราะว่าเราเริ่มมานานแล้วต่างหาก ไม่ใช่ว่าเรามาถึงแล้วมันฟู่ขนาดนี้

อย่าคิดว่าเราด้อยไปกว่าใคร ทุกอย่างมันเป็นไปได้หมดเลย อย่างเช่น การเขียนนิยาย ยิ่งถ้าเราได้ลอง มันมีหลายทางมาก แค่เรายังไม่ได้ลองพยายามดู ตอนที่เราเขียนเชอร์รี่ครั้งแรก เราก็ไม่เคยคิดว่าจะมีคนมานั่งสัมภาษณ์แบบนี้ ทุกคนมีโอกาสเป็นไปได้หมด ซึ่งมันจะนำมาซึ่งชื่อเสียง รายได้ โอกาสที่ไม่เคยได้เจอ ซึ่งมันอาจจะไม่ได้มากนัก ไม่ใช่เขียนงานหนึ่งแล้วเราจะเป็นดาราขึ้นมาหรอก แต่ว่ามันทำให้ชีวิตหนึ่งเราได้เจอเรื่องพวกนี้เลยนะ ได้นั่งคุยกับตัวเอง ได้ทบทวนตัวเอง การจะพูดคำนี้ดีไหม ไม่พูดคำนี้ดีไหม เหมือนโตขึ้นอีกสเต็ปหนึ่งเลย ลองดูมันจะมีหลายๆ อย่างรออยู่
เรื่อง / ภาพ : พุทธิตา ลามคำ


กำลังโหลดความคิดเห็น