xs
xsm
sm
md
lg

อาจารย์ “นิด้า” ถามกลับอธิการบดี ทำไม “ยิ่งลักษณ์-สุขุมพันธุ์” ทำโพลได้ คสช.กลับแตะไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อาจารย์คณะพัฒนาสังคมฯ นิด้า ถามกลับอธิการบดี อ้างระงับผลโพล “นาฬิกาหรูบิ๊กป้อม” ระบุตัวบุคคลไม่ได้ แล้วทำไมตอน “ยิ่งลักษณ์” คดีจำนำข้าวยังไม่ถึงที่สุด และ “ชายหมู” ลงผู้ว่าฯ ยังแตะได้ เอือมบอกว่าชี้นำสังคม เพราะกลุ่มตัวอย่าง 2 พัน แนะศึกษาระบบทำโพลเสียก่อน ถามอีกจะลงหลังเสือเล่นการเมืองหรือไม่

วันนี้ (29 ม.ค.) เฟซบุ๊ก Siwatt Pongpiachan ของ นายศิวัช พงษ์เพียจันทร์ อาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้กล่าวถึงการชี้แจงของ นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีนิด้า กรณีระงับผลสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “นาฬิกาหรูที่ยืมเพื่อน แค่บิดเบือนหรือพูดความจริง” ของศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล ว่า สิ่งที่ควรตั้งคำถามต่อการตอบคำถามผู้สื่อข่าวของอธิการบดีนิด้านั้น ที่ผ่านมา นิด้าโพลไม่เคยตั้งคำถามที่จำเพาะเจาะจงเป็นตัวบุคคล ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่อธิการบดีได้ระงับมิให้มีการเผยแพร่ผลสำรวจนิด้าโพลเรื่องนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ว่ามีความแตกต่างอย่างไรกับผลการสำรวจโพลในอดีตของนิด้า

ยกตัวอย่างผลนิด้าโพลในอดีตที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองแบบระบุตัวบุคคลชัดเจน เช่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ ผู้ต้องหาหนีคดีอาญาแผ่นดิน การเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีการระบุชื่อบุคคลชัดเจน เช่น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หากในอดีตมีการระบุตัวบุคคลได้ เหตุใดปัจจุบันจึงไม่สามารถระบุได้ ถ้าจะอ้างกรณีการตัดสิน ป.ป.ช. ยังไม่ถึงที่สุดแล้ว เหตุใดคดีการฟ้องร้องทุจริตจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งคดีก็ยังไม่ถึงที่สุดเช่นเดียวกัน จึงสามารถกระทำได้

“ประเด็นคือ บรรทัดฐานในการเซ็นเซอร์ หรือไม่เซ็นเซอร์ผลโพลอยู่ตรงไหน หากเป็นกลางทางการเมืองจริง ทำไมกรณีพรรคเพื่อไทย กับ พรรคประชาธิปัตย์ แตะได้ แต่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ คสช. กลับแตะไม่ได้ และถ้าจะอ้างต่อไปอีกว่าการระบุชื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในนิด้าโพลนั้น เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะมารับตำแหน่งอธิการบดี คำถามที่ตามมา คือ เหตุใดจึงเข้ามาล้ำเส้นหน้าที่รับผิดชอบของ ผอ. นิด้าโพล เหตุใดจึงไม่รักษาแบบแผนที่เคยปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต” นายศิวัช กล่าว

นายศิวัช กล่าวต่อว่า การที่กล่าวว่าผลการสำรวจโพลในอดีตที่ผ่านมา ตนเองไม่เคยเข้าไปแทรกแซงเสรีภาพทางวิชาการและเปิดโอกาสให้อาจารย์สามารถทำโพลได้อย่างเต็มที่นั้น ขอให้นักข่าวลองไปสัมภาษณ์ อดีต ผอ. นิด้าโพล ทั้งสองคนก่อนหน้านี้ดูว่า สิ่งที่อธิการบดีได้พูดนั้นจริงหรือไม่ คาดว่าอาจจะได้รับข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย ส่วนตัวแล้วเคยถูกอธิการบดีโทรศัพท์มาขอร้องให้ลบโพสต์ในเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวและเป็นเสรีภาพส่วนบุคคลที่ควรได้รับการเคารพ เรื่องการคัดค้านการออกนอกระบบของนิด้ามาแล้ว เนื่องจากเห็นว่าการออกนอกระบบมีแต่ผู้บริหารสถาบันเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ นักศึกษา และการพัฒนาการศึกษาของประเทศโดยรวมไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย จึงไม่ค่อยมั่นใจในสิ่งที่พูดสักเท่าไหร่

ส่วนที่มีการระบุถึงจำนวนตัวอย่างที่มีเพียงแค่ 2,000 คน ซึ่งไม่ใช่ความคิดของคนไทยจำนวน 60 ล้านคน เท่ากับเป็นการชี้นำสังคมให้เห็นว่า ผลของนิด้าโพลอาจขาดความน่าเชื่อถือ เนื่องจากจำนวนตัวอย่างน้อยเกินไป การระบุเช่นนี้เป็นการสร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงให้กับตัวนิด้าโพลเอง ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าตัวอธิการบดีจะเป็นคนพูดเอง ซึ่งใช้เวลานานนับสิบปีกว่าจะเป็นที่ไว้วางใจและยอมรับในระดับหนึ่งของสังคม อีกทั้งยังกระทบต่อความน่าเชื่อถือโดยรวมของนักวิชาการในนิด้าเป็นอย่างยิ่ง จึงแนะอธิการบดีศึกษาระบบ Random Digit Dial (RDD) และ Master Sample ให้ถ่องแท้เสียก่อนที่จะมีการแสดงความเห็นใดๆ ต่อสาธารณะอีก

ประเด็นคำถามต่อมาของนักข่าวเกี่ยวกับเรื่องว่าได้รับใบสั่งมาจากใครหรือไม่ อธิการบดีได้ตอบอย่างชัดเจนว่า “ไม่มีใครมาสั่งผมได้” ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง สิ่งที่นักข่าวต้องเร่งค้นหาความจริงต่อ คือ หลังลงจากตำแหน่งอธิการบดี มีแผนที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อหรือไม่ หากคำตอบคือใช่ ลองถามต่อไปว่า แล้วยังสามารถธำรงไว้ซึ่งความสง่างามของการเป็นนักวิชาการได้อย่างไร ในเมื่อออกคำสั่งที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มคนที่อาจมีส่วนได้ส่วนเสียกับตำแหน่งทางการเมืองที่คาดหวังไว้ในอนาคต ในกรณีที่รัฐบาล คสช. ยังคงอยู่ หากคำตอบคือไม่ ก็จบ

แต่หากคำตอบคือไม่รู้ ไม่แน่ใจ หรือก็แล้วแต่สถานการณ์ แบบนี้ต้องถามต่อไปว่า แล้วจะให้ประชาชนมั่นใจได้อย่างไรว่า คำสั่งทางปกครองจะไม่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ทางการเมืองในอนาคตที่อาจจะได้รับ เนื่องจากตอนนี้ผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศ คือ คสช. ไม่ใช่ พรรคการเมือง เหนือสิ่งอื่นใด การคุกคามเสรีภาพของนักวิชาการในมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องที่สังคมวิชาการในนานาอารยประเทศรับไม่ได้ ขอให้เพื่อนอาจารย์ในมหาวิทยาลัยอื่นๆ อย่าได้นิ่งเฉยกับเรื่องนี้ เพราะมันเป็นเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งของระบอบบการศึกษาแบบไทยๆ ที่ผู้มีอำนาจยังสามารถเข้ามาแทรกแซงเสรีภาพในการแสดงความคิดของอาจารย์อยู่ได้ตลอดเวลา




กำลังโหลดความคิดเห็น