xs
xsm
sm
md
lg

ปรากฏการณ์ครั้งสำคัญในสยาม! เจ้านายและขุนนางนับร้อยลุกจากหมอบขึ้นยืนเฝ้า ร.๕ พร้อมกัน!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จากปาฐกถาของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง “คติฝรั่งเช้ามาเมืองไทย” ทรงแสดงที่บางกอกยูไนเต็ดคลับ เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๘ ดังที่เล่าไปในวันก่อนเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับฝรั่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรีและขาดหายไปนั้น ความสัมพันธ์ได้กลับฟื้นคืนใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งฝรั่งแต่ละชาติได้นำวิทยาการตะวันตกแต่ละอย่างมาเผยแพร่ เป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยให้ก้าวมาสู่ความรุ่งเรืองในวันนี้
ชาวยุโรปได้กลับมามีความสัมพันธ์กับสยามอีกในรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเสวยราชย์ในปี พ.ศ.๒๓๕๒ ในสมัยนั้นไทยกำลังเตรียมการที่จะรับมือกับพม่าและญวน ต้องสะสมอาวุธเพื่อป้องกันบ้านเมือง จึงส่งเรือกำปั่นหลวง ๒ ลำบรรทุกสินค้าไปขายที่สิงคโปร์และมาเก๊า เพื่อหาอาวุธกลับมาใช้

เดิมนั้นเรือสินค้าไทยใช้ธงแดงทั้งผืนเป็นเครื่องหมายมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา พอออกไปสิงคโปร์และมาเก๊าในครั้งนี้ พวกฝรั่งว่าเรือมลายูก็ใช้ธงแดงเหมือนกัน เลยไม่รู้ว่าเป็นเรือชาติไหนกันแน่ ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงได้ช้างเผือกถึง ๓ ช้าง ตามประเพณีในประเทศพม่า ไทย และเขมรที่มีมาแต่โบราณ ถือกันว่ามีพระเกียรติยศเป็น “พระเจ้าช้างเผือก” จึงโปรดให้ทำรูปช้างเผือกอยู่ในวงจักรติดบนธงแดงใช้ในเรือกำปั่นหลวง หมายความว่าเป็นเรือของพระเจ้าช้างเผือก และส่วนเรือของราษฎรก็เอาจักรซึ่งเป็นของพระราชาออกเสีย จึงเกิดเป็นธงชาติไทยตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๖๑

ในปีเดียวกันนี้ โปรตุเกสเจ้าเมืองมาเก๊า ได้ส่งทูตนำเครื่องราชบรรณาการมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขอตั้งร้านค้าและอู่ต่อเรือในกรุงสยาม ก็พระราชทานอนุญาตตามประสงค์ เป็นการตอบแทนที่โปรตุเกสช่วยหาอาวุธให้ไทย เจ้าเมืองมาเก๊าจึงให้ คาร์ลอส เดอ มานูแอล ซิลเวียรา เป็นทูตมาประจำบางกอก ได้พระราชทานที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เคยให้พวกเจ้าญวนอยู่มาก่อน ให้เป็นที่อยู่ ซึ่งก็คือสถานทูตโปรตุเกสในปัจจุบัน แต่ไทยเราเข้าใจว่าคาร์ลอสเป็น “ผู้จัดการ” ของโปรตุเกสในบางกอก เลยแต่งตั้งให้เป็นขุนนางไทยด้วย มีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอภัยวานิช

ในตอนนั้นฝรั่งที่อยู่ในบางกอกมีแต่พวกบาทหลวงฝรั่งเศส ซึ่งกลับเข้ามาอยู่กับพวกคริสตังเชื้อสายโปรตุเกสที่กุฎีจีนตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี นานๆก็มีเรือสินค้าอังกฤษเข้ามาค้าขายบ้าง จนในปี พ.ศ.๒๓๖๕ บริษัทบริติชอินเดียต้องการจะขยายการค้ามาถึงบางกอก มาร์ควิส เฮสติงส์ ผู้สำเร็จราชการอังกฤษที่อินเดีย จึงส่ง จอห์น ครอเฟิร์ด ที่คนไทยเรียกว่า “จอน การะฟัด” นำเครื่องราชบรรณาการเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี แต่การเจรจากันลำบากมาก ตอนนั้นการเจรจากับโปรตุเกส คนไทยเชื้อสายโปรตุเกสบางคนพอเป็นล่ามได้ ส่วนภาษาฝรั่งเศสไม่มีใครพูดได้ พวกพวกบาทหลวงจึงหัดพูดภาษาไทยเอง แต่ภาษาอังกฤษไม่มีใครพูดได้เลย ครอเฟิร์ดบันทึกไว้ว่าต้องนำคนมลายูมาเป็นล่ามด้วย เมื่อจะสนทนากับเสนาบดี ก็ต้องพูดภาษาอังกฤษกับล่าม จากนั้นล่ามก็จะแปลเป็นภาษามลายูกับล่ามไทย ซึ่งจะแปลเป็นภาษาไทยเรียนเสนาบดี เมื่อเสนาบดีตอบครอเฟิร์ดก็ต้องแปลกลับไปอย่างเดียวกัน แต่ที่การเจรจาไม่สำเร็จนั้นเกิดจากเหตุสำคัญ ๒ ประการคือ ประการที่ ๑ ก่อนที่ครอเฟิร์ดจะเข้ามา เจ้าเมืองไทรบุรีเอาใจออกห่างจากไทยไปเข้าข้างพม่า ไทยจึงส่งกองทัพไปยึดเมืองไทรบุรี อังกฤษไม่อยากให้ไทยมีอำนาจลงไปใกล้เกาะหมากหรือปีนังมากนัก จึงให้ครอเฟิร์ดมาขอเมืองไทรคืนให้พระยาไทร ไทยไม่ยอม ประการที่ ๒ ไทยขอให้อังกฤษที่เกาะหมากและสิงคโปร์ช่วยหาอาวุธมาขายให้ไทย แต่อังกฤษอยากไปค้าที่เมืองพม่าด้วยเหมือนกัน เกรงพม่าจะว่ามาเข้าข้างไทย จึงตั้งเงื่อนไขว่า ไทยต้องสัญญาว่าจะไม่เอาอาวุธเหล่านั้นมารบกับเมืองที่เป็นไมตรีกับอังกฤษ จึงจะช่วยเป็นธุระในเรื่องอาวุธให้ ไทยไม่พอใจจึงไม่ยอมทำสัญญากับอังกฤษ แต่ก็ยอมให้อังกฤษเข้ามาค้าขายได้เหมือนชาติอื่นๆ จึงถือได้ว่าเริ่มมีสัมพันธไมตรีกัน

ใน พ.ศ.๒๓๖๗ ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ อังกฤษเกิดสงครามกับพม่าครั้งแรก และไทยได้เข้าช่วยอังกฤษตามคำขอ จึงเป็นเหตุให้การทำสัญญากับบริษัทบริติชอินเดียของอังกฤษลงตัว ใน พ.ศ.๒๓๖๘ อังกฤษได้ส่ง ร้อยเอกเฮนรี เบอร์นี ที่คนไทยเรียก “หันตรี บารนี” เป็นทูตเข้ามา ตอนนั้นก็ยังไม่มีคนไทยพูดอังกฤษได้ หนังสือสัญญาจึงต้องทำถึง ๔ ภาษา คือ ไทย อังกฤษ มลายู และโปรตุเกส มีพ่อค้าอังกฤษคนแรกเข้ามาตั้งห้างที่กุฎีจีน ชื่อ โรเบิรท ฮันเตอร์ ไทยเรียก “นายหันแตร” ซึ่งรัชกาลที่ ๓ ก็ทรงแต่งตั้งเป็นขุนนางไทยเช่นกัน เป็น หลวงวิเศษพานิช ส่วนพ่อค้าปอร์ตุเกสก็เริ่มเข้ามาตั้งห้างในบางกอกตอนนี้ด้วย

ถึง พ.ศ.๒๓๗๑ พวกมิชชันนารีอเมริกันที่สอนศาสนาอยู่ในเมืองจีน รู้ว่ามีคนจีนเข้ามาอยู่เมืองไทยมาก จึงให้มิชชันนารี ๒ คนซึ่งรู้ภาษาจีน เอาหนังสือสอนศาสนาที่พิมพ์เป็นภาษาจีนเข้ามา รัฐบาลไทยก็อนุญาตให้สอนศาสนาได้ตามประสงค์ จึงเช่าที่ข้างวัดเกาะ หรือวัดสัมพันธวงศ์ในปัจจุบัน ตั้งเป็นสำนักงาน เพราะอยู่ใกล้กับสำเพ็ง แต่ไม่มีหนังสือภาษาไทยหรือพูดภาษาไทยได้ จึงเป็นแต่ช่วยรักษาคนเจ็บไข้ คนไทยคิดว่ามิชชันนารีเป็นหมอ จึงเรียกกันว่า “หมอ” ตลอดมา ซึ่งมิชชันนารีก็ทำหน้าที่หมออยู่หลายปี พอรู้ภาษาไทยจึงเริ่มสอนศาสนา

มิชชันนารีอเมริกันได้นำความรู้ของชาวตะวันตกเข้ามาเป็นประโยชน์แก่ชาวสยามหลายอย่าง เช่น การพิมพ์หนังสือภาษาไทย แต่คนแรกที่คิดและทำตัวพิมพ์อักษรไทยขึ้นกลับเป็นคนอังกฤษ มีเรื่องปรากฏว่า เมื่อจอห์น ครอเฟิร์ดเป็นทูตเข้ามาเมืองไทยแล้ว อังกฤษผู้ปกครองอินเดียเห็นว่าอังกฤษต้องเกี่ยวข้องกับไทยต่อไป จึงส่ง นายร้อยเอกโลว์ มาเรียนภาษาไทยที่ปีนัง พออ่านเขียนพูดได้แล้ว ร้อยเอกโลว์จึงแต่งหนังสือไวยกรณ์ภาษาไทยขึ้นเล่มหนึ่ง สำหรับให้ชาวต่างประเทศศึกษา โดยไปคิดทำตัวพิมพ์ภาษาไทยที่เมืองกัลกัตตา พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ.๒๓๗๑ แล้วเอาตัวพิมพ์นี้มาไว้ที่สิงคโปร์ เมื่อมิชชันนารีอเมริกันรู้ภาษาไทยและแต่งหนังสือสอนศาสนาสำหรับคนไทย จึงนำไปพิมพ์ที่สิงคโปร์ เลยขอซื้อตัวพิมพ์นั้นพร้อมแท่นพิมพ์มาตั้งที่บางกอกใน พ.ศ.๒๓๗๙ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๘๐ มิชชันนารีอเมริกันก็นำวิชาปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษเข้ามาในเมืองไทยอีกอย่าง และในปี พ.ศ.๒๓๘๗ จึงเริ่มออกหนังสือพิมพ์ข่าวภาษาไทย

ในสมัยนั้นเรือที่ไปมาค้าชายระหว่างไทยกับจีน รวมทั้งเรือกำปั่นหลวง ก็ยังใช้เรือสำเภาจีน ครั้นมีเรือกำปั่นฝรั่งเข้ามาค้าขายเนืองๆ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงดำริว่าเรือกำปั่นฝรั่งดีกว่าสำเภาจีน จึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ขณะที่ยังเป็นขุนนางหนุ่ม คิดต่อกำปั่นอย่างฝรั่ง สมเด็จเจ้าพระยาจึงไปต่อกำปั่นที่จันทบุรี ได้นำลำแรกมาถวายใน พ.ศ.๒๓๗๘ รัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดมาก ไทยจึงเริ่มใช้เรือกำปั่นอย่างฝรั่งต่อมา ทรงพระราชดำริว่าต่อไปสำเภาจีนจะต้องเลิก เพราะสู้กำปั่นฝรั่งไม่ได้ ตอนนั้นกำลังปฏิสังขรณ์วัดคอกกระบือที่อยู่เหนืออู่บางกอกด็อก จึงโปรดฯให้สร้างรูปเรือสำเภาจีนเป็นฐานพระเจดีย์ขึ้นไว้ที่วัดนั้น ดำรัสว่าต่อไปถึงชั้นลูกหลานจะไม่รู้ว่าเรือสำเภาจีนเป็นอย่างไร จะได้ไปดูที่นั่น และให้เรียกชื่อวัดว่า วัดยานนาวา

ความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในเรื่องคติของชาวตะวันตกในสยาม เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๕ ด้วยอังกฤษเกิดรบกับจีนขึ้นครั้งแรก ตอนนั้นคนส่วนใหญ่ในเมืองไทยเชื่อว่าจีนไม่ได้แพ้ฝรั่ง เป็นแต่ยอมทำสัญญาเพื่อซื้อรำคาญ มีคนไทยในระดับสูงเพียง ๓ คนเท่านั้นที่เห็นว่าจีนแพ้ฝรั่ง และเชื่อว่าชาวยุโรปจะเข้ามามีอำนาจในตะวันออกในวันหน้า ๓ คนนั้นก็คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯซึ่งกำลังทรงผนวชอยู่ และพระปิ่นเกล้าฯ พระอนุชา กับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เห็นว่าคนไทยควรจะขวนขวายหาความรู้วิชาการของฝรั่ง เผื่อบ้านเมืองจะต้องเกี่ยวพันกับฝรั่งในวันหน้า พระจอมเกล้าเป็นปราชญ์ชำนาญภาษาบาลี ทรงเรียนภาษาลาตินกับสังฆราชปัลเลอกัวซ์ชาวฝรั่งเศสอยู่ก่อน แล้วจึงทรงเริ่มเรียนภาษาอังกฤษกับหมอคาสเวลล์ มิชชันนารีอเมริกัน พระปิ่นเกล้าก็ทรงเรียนภาษาอังกฤษจากมิชชันนารีอเมริกัน แต่พระองค์มีตำแหน่งนายทหารอยู่ขณะนั้น จึงสนใจตำราทางทหาร และทรงแปลตำราปืนใหญ่จากภาษาอังกฤษไว้เล่มหนึ่ง แต่ในด้านภาษานั้นสู้พระจอมเกล้าไม่ได้ ส่วนสมเด็จเจ้าพระยาชอบวิชาต่อเรือ จึงเป็นธุระเรื่องต่อเรือกำปั่นรบ ภาษาอังกฤษพอพูดได้บ้าง นอกจากนี้ยังมีอีก ๒ ท่าน คือ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงศึกษาวิชาแพทย์อยู่ก่อน จึงเริ่มศึกษาวิชาแพทย์ฝรั่งจากมิชชันนารี กับนายโหมด อมาตยกุล เรียนวิชาแยกธาตุ หรือเคมี และวิชาเครื่องจักร แต่เรียนด้วยภาษาไทย พูดฝรั่งไม่ได้ ทั้ง ๕ นี้เป็นผู้ที่สมาคมและนิยมความรู้ของฝรั่งมาแต่รัชกาลที่ ๓ การส่งคนไปเรียนที่ยุโรป ปรากฏว่าสมเด็จเจ้าพระยาได้ส่งไปคนแรก ให้ไปเรียนการเดินเรือ และได้ประกาศนียบัตรเดินเรือทะเล กลับมารับราชการในรัชกาลที่ ๔

ถึง พ.ศ.๒๕๙๓ รัฐบาลอังกฤษได้ส่งเซอร์เจมส์ บรู๊ค มาขอทำสัญญาใหม่ ครั้งนี้เป็นราชทูตมาจากกรุงลอนดอน ไม่ใช่จากอินเดียเหมือนครั้งก่อนๆ ปรากฏว่ามีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเพียงพระองค์เดียวที่ทรงเจรจาและทำหนังสือตอบโต้กับราชทูตอังกฤษโดยตรง แต่ขณะนั้นรัชกาลที่ ๓ ทรงประชวรอยู่ ไม่โปรดฯให้รับแก้สัญญากับอังกฤษ เซอร์เจมส์ บรู๊คจึงต้องกลับไป

ในปี พ.ศ.๒๓๙๔ ร.๓ สวรรคต ร.๔ ขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้ทรงรับประโยชน์จากการที่ทรงผนวชอยู่ถึง ๒๖ ปีหลายอย่าง ซึ่งมิได้มีแก่พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางในยามนั้น นอกจากจะทรงเล่าเรียนภาษาต่างประเทศแล้ว ยังได้เสด็จธุดงค์ไปตามหัวเมือง ได้ทอดพระเนตรเห็นความเป็นอยู่ของบ้านเมืองและราษฎร จึงทรงเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมซึ่งไม่เป็นประโยชน์พ้นสมัย เริ่มตั้งแต่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โปรดให้พ่อค้าชาวต่างประเทศเข้าเฝ้าได้ในมหาสมาคม และเลิกธรรมเนียมบังคับให้บ้านเรือนข้างทางเสด็จปิดประตูหน้าต่างอย่างเมืองจีน โปรดฯให้ราษฎรมาเฝ้าได้ทั่วหน้า ใครจะถวายฎีการ้องทุกข์ถึงพระหัตถ์ก็ได้ จึงเกิดความนิยมจากราษฎรโดยพลัน

ครั้งนั้นอังกฤษแต่งตั้งเซอร์จอห์น เบาริ่ง เป็นเจ้าเมืองฮ่องกง และให้เป็นผู้มาขอทำสัญญากับไทยใหม่ เซอร์จอห์น เบาริ่งทราบว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงศึกษาความรู้ของชาวตะวันตก จึงคิดอ่านทำความคุ้นเคย มีหนังสือไปมากันด้วยไมตรีก่อน เมื่อเซอร์จอห์น เบาริ่งเข้ามาใน พ.ศ.๒๓๙๗ การแก้ไขสัญญาไทยกับอังกฤษก็สะดวกราบรื่น ประเทศต่างๆในยุโรปก็เข้ามาขอทำตาม กรุงสยามก็ได้ส่งราชทูตไปด้วย เป็นการเปิดประเทศรับชาติตะวันตกมาตั้งแต่บัดนั้น

การทำตามแบบอย่างตะวันตกเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลายอย่าง การรับฝรั่งเข้าเป็นข้าราชการก็เกิดขึ้นในสมัยนั้น เป็นล่าม เป็นผู้แปลตำรา เป็นครูฝึกทหารและตำรวจตามแบบตะวันตก เป็นนายเรือและช่างเรือกลไฟหลวง และเกิดสิ่งใหม่ๆที่ใช้มาจนบัดนี้ก็คือ โรงกระสาปน์ การใช้เงินเหรียญแทนเงินพดด้วง ใช้อัฐทองแดงแทนเบี้ยหอย การศุลกากร ถนนสำหรับใช้รถม้า ตึกแบบฝรั่ง โรงสีไฟ โรงเลื่อยจักร เป็นต้น แต่เรื่องสำคัญที่มีพระราชประสงค์อย่างยิ่ง กลับเป็นการล่าช้า คือการเรียนรู้ภาษาของชาวยุโรป แม้จะมีฝรั่งเข้ามาอยู่ในบางกอกและมีกิจการเกี่ยวข้องกับรัฐบาล แต่คนไทยที่เรียนรู้ภาษาฝรั่งก็ยังมีน้อย ดูเหมือนจะเป็นเพราะเจ้านายและขุนนางไม่อยากส่งลูกหลานไปเรียนกับมิชชันนารีที่สอนภาษา เพราะสอนศาสนาด้วย เกรงจะสอนให้ทิ้งศาสนาพุทธ ส่วนพระเจ้าลูกเธอที่ทรงมีก่อนทรงผนวช ก็มีพระชนมพรรษาเกินกว่าเวลาเล่าเรียนแล้ว ส่วนพระเจ้าลูกเธอที่ประสูติหลังเสวยราชย์ ก็ยังทรงพระเยาว์ ต้องรอมานานจน พ.ศ.๒๔๐๕ พระเจ้าลูกเธอมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเป็นต้น มีพระชนมพรรษาถึงเวลาเล่าเรียนแล้ว จึงทรงโปรดให้หาครูอังกฤษ และได้นางแอนนา เลียวโนเวนมา แต่สอนอยู่ไม่กี่ปีก็กลับไป พระเจ้าลูกเธอที่เรียนภาษาอังกฤษต่อมาก็มีแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเพียงพระองค์เดียว

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯสวรรคตใน พ.ศ.๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯขึ้นครองราชย์ขณะพรระชันษา ๑๖ ปี ยังต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่ทรงเกินกว่าจะเรียนอย่างเด็ก จึงจัดการให้เสด็จไปทอดพระเนตรเมืองต่างประเทศใน พ.ศ.๒๔๑๔ เช่นสิงคโปร์ของอังกฤษ และชวาของฮอลันดา ในปลายปีนั้นก็ได้เสด็จไปอินเดียอีก พอกลับจากอินเดียก็ทรงเริ่มเปลี่ยนแปลงภายในราชสำนักเป็นอย่างฝรั่งหลายอย่าง ที่สำคัญคือให้ตั้งโรงเรียนขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ๒ โรง โรงหนึ่งมีครูอังกฤษเป็นคนสอน อีกโรงสอนภาษาไทย แล้วรับสั่งให้ส่งบรรดาพระเจ้าน้องยาเธอกับทั้งบุตรของข้าราชการเข้าเรียนในโรงเรียนทั้งสอง ซึ่งต่อมานักเรียนเหล่านี้ได้เข้ารับราชการ อย่างเช่น สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศวโรปการ ซึ่งถูกจารึกไว้ว่าเป็นเสนาบดีคนแรกที่รู้ภาษาฝรั่ง

ถึง พ.ศ.๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชันษาบริบูรณ์ ถึงเวลาที่จะว่าราชการเอง จึงมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้ง ในพิธีนั้นได้มีความเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้นอีกอย่าง ด้วยประเพณีโบราณการเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินต้องหมอบกับพื้น ในตอนต้นพระราชพิธีครั้งนี้ เจ้านายและขุนนางก็ยังหมอบเฝ้าตามธรรมเนียมนิยม จนถึงเวลาเสด็จประทับพระราชบัลลังก์ ทรงพระมหามงกุฎแล้ว จึงโปรดให้ประกาศเลิกกิริยาหมอบเฝ้า ในบรรดาผู้อยู่ในมหาสมาคมนับร้อยจึงลุกขึ้นยืนเข้าเฝ้าพร้อมกัน ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ธรรมเนียมหมอบเฝ้าก็หมดไปจากราชสำนักสยาม จากนั้นทรงประกาศเลิกทาสและเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมอีกหลายอย่าง ทำนุบำรุงประเทศตามทางที่สมเด็จพระบรมชนกนาถได้ทรงเริ่มไว้ให้มีผลไพบูลย์สืบมา

อาจเห็นง่ายๆเพียงเทียบจำนวนเงินแผ่นดิน ซึ่งเก็บได้ราวปีละ ๘ ล้านบาทใน พ.ศ.๒๔๑๑ สูงขึ้นถึง ๑๕ ล้านบาทใน พ.ศ.๒๔๓๕ และสูงถึง ๖๓ ล้านบาทใน พ.ศ.๒๔๕๓ อันเป็นปีที่สุดแห่งรัชกาล

นี่ก็เป็นปาฐกถาของ “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย” ที่ทรงบรรยายถึงความเปลี่ยนแปลงของประเทศในการก้าวสู่ความเป็นอารยะในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ในฐานะที่ทรงใกล้ชิดกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ช่วงนี้มากกว่าทุกท่านที่เล่ากันไว้
สถานทูตโปรตุเกสในอดีต
แท่นพิมพ์ที่หมอบรัดเลย์นำเข้ามา ในสภาพปัจจุบัน


กำลังโหลดความคิดเห็น