xs
xsm
sm
md
lg

ยอมรับเลยว่าเจ๋ง!! "พีช-นันท์นภัส" หนุ่มไทยผู้ได้ร่วมออกแบบรถให้ฮอนด้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เพราะความหลงใหลในการออกแบบองค์ประกอบของยานยนต์ผ่านทางของเล่นโมเดลมาตั้งแต่เด็ก บวกกับความชอบทางด้านยานยนต์ของเขาก็ต่อยอดมาอย่างต่อเนื่อง จากรถยนต์มาสู่รถมอเตอร์ไซค์ นั่นจึงทำให้เขามีความฝันที่จะเป็นนักออกแบบยานพาหนะให้ได้ แม้ว่าอาจจะมีอุปสรรคอยู่บ้าง ทั้งจากทางบ้านที่อยากจะให้เขาทำงานด้านเภสัชกร หรือ วิทยานิพนธ์ทางด้านการออกแบบยานยนต์ แม้ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยของเขาจะลงเอยด้วยเกรด D ก็ตามที

แต่ด้วยความมุ่งมั่นต่อความฝันของตัวเอง นั่นจึงทำให้ “พีช-นันท์นภัส จรรยาพาณิชย์” ต่อยอดความตั้งใจจนได้เข้าไปเป็นหนึ่งในผู้ออกแบบรถมอเตอร์ไซค์ให้กับทางฮอนด้า บริษัทยานยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ทันทีหลังจากสำเร็จการศึกษา และจากนั้นเขาก็กลายเป็นทีมงานในการรังสรรค์ผลงานการออกแบบรถมอเตอร์ไซค์มาหลายรุ่นที่วางจำหน่ายทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งก็รวมไปถึงรถรุ่น CB150R พาหนะรุ่นใหม่ล่าสุดของทางฮอนด้า ก็เป็นอีกชิ้นงานที่อาจเรียกได้ว่า เป็นอีกความภาคภูมิใจหนึ่งของการออกแบบโดยคนไทยเลยก็ว่าได้

 • ความสนใจแรกสุดกับการออกแบบของตัวคุณเอง มันเริ่มมาจากอะไร

ตอนเด็กๆ ผมชอบเล่นของเล่นจำพวกรถครับ ก็มีการสะสมโมเดลรถอยู่ ซึ่งคำว่าสะสมบางที เราก็หยิบมันออกมาดู แล้วก็ดูเส้นสายของมัน ดูผิวของมัน เพื่อศึกษาไปด้วย แล้วก็ในความคิดลึกๆ ในตอนนั้น ก็อยากเป็นคนที่ออกแบบรถด้วย ก็เลยเป็นจุดแรกเริ่มของตัวเองที่จะเรียนเกี่ยวกับรถ อีกอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะว่าเราชอบวาดรูปด้วยครับ แล้วพอถึงเวลาที่เราหยิบรถรุ่นนี้มาดู เราก็รู้สึกว่าอันนี้สวยดี แล้วเอามันมาเป็นแบบในการเขียน ก๊อบปี้ตามรถที่มีอยู่ มันก็เลยรู้สึกว่า ถ้าเราได้วาดรูปเกี่ยวกับรถยนต์เป็นอาชีพเนี่ยน่าจะดี ก็เลยอยากที่จะออกแบบครับ

 • แล้วจากที่คุณสะสมมาเรื่อยๆ องค์ประกอบรอบข้างมีมั้ย ที่ทำให้อยากจะเป็นนักออกแบบมากขึ้น

ตอนนั้นรู้สึกเลยว่า เราจะมุ่งตรงไปที่รถยนต์เลย เพราะต่อให้ไปต่างประเทศ ซึ่งต่อให้ข้ามน้ำข้ามทะเลไป ก็อยากไป แต่ว่าตอนนั้น มันก็เป็นแค่รถยนต์นะครับ จนกระทั่งเราเริ่มเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับมอเตอร์ไซค์ แต่ถามว่าองค์ประกอบอื่น มีส่วนที่จะทำให้เราชอบในเรื่องนี้ด้วยมั้ย คิดว่าไม่น่าเกี่ยวนะครับ เพราะอย่างเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องดนตรี ก็เป็นส่วนหนึ่ง ส่วนเรื่อง ภาพยนตร์ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เอามาจับมารวมกัน

แต่ช่วงเวลานั้น ทางบ้านก็มองว่า น่าจะหาอาชีพทำยาก เพราะมีทั้งอยากวาดรูป อยากออกแบบ ซึ่งสมัยก่อนมันจริงตรงที่ว่า คนที่ออกแบบส่วนใหญ่ก็เป็นคนต่างประเทศ น้อยคนที่จะเป็นคนไทยครับ เขาก็เลยมองว่า ชอบก็ส่วนชอบ แต่ถ้าให้เป็นอาชีพ ก็อาจจะไม่สนับสนุนนัก เพราะว่ามันหางานยาก เขาก็อยากให้เราเรียนทางด้านเภสัชกร หรือ ด้านอื่นๆ ที่มันหาเงินได้พอสมควร แต่ท้ายสุดแล้ว เราก็ทำให้เขาเห็นว่า เรทำได้ อีกอย่างตอนนั้น ก็ไม่คาดคิดเหมือนกันว่าจะได้ทำอาชีพนี้ คือพอรู้ว่ามีอาชีพนี้ เราก็มุ่งตรงไปที่บริษัทเลย

 • พอมาถึงช่วงเรียนมหา’ลัย เรียกได้ว่าเป็นการเพิ่มทักษะในการออกแบบให้กับตัวคุณเพิ่มยิ่งขึ้นมั้ย

ใช่ครับ ช่วงนี้เป็นช่วงที่กลั่นกรองให้เรารู้สึกว่า เราเริ่มมั่นใจมากขึ้นว่า เรามุ่งที่จะเน้นไปที่การออกแบบยานยนต์นี้ให้ได้ครับ ซึ่งสมัยนั้นก็มีอาจารย์ที่คอยแนะนำ และให้คำปรึกษาด้วย เพราะว่าทางตัวอาจารย์เองก็มีประสบการณ์ในการออกแบบยานยนต์เหมือนกัน อย่างตอนช่วงที่เราเรียนปี 3 เราไปปรึกษาอาจารย์ ว่าเรามีความตั้งใจแล้วว่า อยากจะออกแบบยานยนต์ อยากทำงานบริษัทชั้นนำของโลก ท่านก็ไม่ได้ห้ามอะไร ท่านก็ช่วยแนะนำครับ เพราะว่าตัวอาจารย์เอง ก็จบทางด้านการออกแบบยานยนต์มาจากต่างประเทศ ฉะนั้น ประสบการณ์ของท่านก็ค่อนข้างสูง เขาก็เลยให้คำแนะนำเรามากกว่าที่เราคิดไว้ ซึ่งตรงนั้น เราก็พยายามที่จะเก็บให้ได้มากที่สุด เพราะว่าอาจารย์ทั่วไปก็คงไม่สอนเราซ้ำอีกรอบแน่ครับ (หัวเราะ) แล้วเราก็คิดว่า ถ้าอาจารย์ปล่อยของให้เรา เราต้องตักตวงให้มากที่สุด มันก็ทำให้เราทำความเข้าใจกับมันได้เร็วขึ้น แล้วก็ทำได้ดีพอสมควร

 • พอเริ่มเรียนไปก็ค่อนข้างประมาณนึงแล้ว ทราบมาว่าวิทยานิพนธ์นี่คือ ไม่โอเคเท่าไหร่

ในการทำธีสิสจบในตอนนั้น มันมีทั้งข้อเสีย และข้อดีบ้าง แต่ท้ายสุด ข้อมูลของการออกแบบอะไรพวกนี้ครับ มันค่อนข้างที่จะวัดผลกับกลุ่มผู้ใช้มากกว่า ที่จะเป็นหน้าตาของตัวรถเอง ซึ่งเราไปโฟกัสกับการออกแบบ การเขียนให้มันสวย แต่ท้ายที่สุดมันไม่ได้ตอบโจทย์กับกลุ่มผู้ใช้ ให้ตรงกับคอนเซ็ปต์ มันก็เลยทำให้คะแนนในการทำวิทยานิพนธ์ค่อนข้างแย่ ซึ่งตอนนั้นก็รู้สึกเสียใจที่ทำออกมาไม่ดี อาจารย์ก็ผิดหวังด้วย (หัวเราะเบาๆ) คือตอนนั้นเราก็ประมาณว่าทำตามใจเราเลย แต่มันก็เป็นมุมมองของเด็กในช่วงนั้น พอมาตอนนี้ ถ้าเรามองย้อนกลับไปครับ ถ้าผมเป็นอาจารย์ ผมก็ไม่ให้คะแนนที่ดีสำหรับเด็กคนนี้เหมือนกัน เพราะว่ามันก็ไม่ได้ตอบโจทย์อะไรเลย

 • หลังจากเรียนจบ คุณก็มุ่งมั่นมาทางสายนี้เลย

ใช่ครับ คือช่วงก่อนเรียนจบ ผมก็ได้ยินมาว่า จะมีการเปิดรับสมัครนักออกแบบมอเตอร์ไซค์ เราก็รู้สึกว่าเราอยากไป แล้วเราก็ได้ยินมาจากรุ่นพี่ที่มหาลัย ซึ่งพี่เขาก็คอยแนะนำว่า เดี๋ยวมันจะมีการสอบ การส่ง portforlio ไปนะ เราก็พยายามเตรียมไป ในช่วงที่เราทำวิทยานิพนธ์ด้วย แล้วก็เข้าไปทดสอบกับบริษัทฮอนด้าครับ ซึ่งตอนนั้นในความรู้สึกคือ เราอยากทำงานในประเทศไทย เนื่องจากช่วงนั้น เป็นช่วงที่ใกล้เรียนจบ แล้วพ่อแม่เราอยู่ต่างประเทศด้วย เขาอยากให้เราไปอยู่กับพวกท่านที่นั่น แต่เรามีความรู้สึกว่ายังไงก็ไม่ไป คือจะหาที่ทำงานในไทยให้ได้ครับ แล้วบังเอิญได้งานทำที่นี่พอดี ทำให้เราสามารถบอกพ่อแม่ได้เต็มปากว่า เราจะอยู่เมืองไทย

 • พอได้เข้าสู่การทำงานออกแบบจริงๆแล้ว คุณได้เรียนรู้เพิ่มเติมอะไรบ้างครับ

โดยตรงเลยคือ กลุ่มผู้ใช้ครับ เราไม่เคยรู้ความจริงมาก่อนว่า เราออกแบบของพวกนี้ไปแล้วคนใช้งานจะชอบหรือไม่ชอบ แต่อันนี้มันวัดผลได้จากยอดขายหรือผลตอบรับจากผู้ใช้งาน ที่เขาบอกเรามาจากโลกออนไลน์ เขาอาจจะมีบ่นบ้าง แต่โดยส่วนมากเขาจะชอบ แล้วเรารู้สึกว่า เราไปตามอ่านข้อความเหล่านั้น แล้วเรารู้สึกดีที่ผู้ใช้งานให้ความสนใจ และมั่นใจในผลิตภัณฑ์ของเรา ก็อันนี้เป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ชัดเจนว่ามันดีจริงๆ ซึ่งพอมาถึงยุคที่เราได้ออกแบบแล้ว ก็มีความกดดันครับ เพราะมีความรู้สึกว่า ในอนาคตอย่างที่รุ่นเราเกิดขึ้นมาได้ อีกไม่นานก็จะมีรุ่นใหม่เกิดขึ้นเหมือนกัน ซึ่งความกดดันนี้ ไม่ได้กลัวว่าเขาจะมาแทนที่เรา แต่กลัวว่าเราจะสอนงานเขาได้ดีเหมือนที่รุ่นพี่สอนเราหรือเปล่า ตรงนี้ยังไม่มั่นใจในตัวเองว่าเป็นพี่เลี้ยงที่ดีให้กับเด็กรุ่นใหม่ได้มั้ย (หัวเราะเบาๆ)

 • ช่วงที่เข้ามาทำงานที่นี่ การออกแบบในตอนนั้นเรียกว่าต้องผ่านอะไรมาพอสมควรมั้ย เมื่อเทียบกับปัจจุบันนี้

ถ้าให้เปรียบเมื่อก่อนกับปัจจุบัน มีความเหมือนกันหมดเลยครับ แตกต่างกันแค่ช่วงวัยของผม ทางทีมดีไซน์ของผมค่อนข้างเปิดให้สื่อมวลชนเริ่มเข้าถึงดีไซเนอร์เอง เพราะว่าก่อนหน้านี้ ในช่วงที่ผมเรียนอยู่ รถที่วิ่งออกมาในช่วงนั้น เช่น ฮอนด้ารุ่น Nova Daz รวมไปถึง CPR150 คนไทยออกแบบหมดเลย แต่เพียงคนทั่วไปไม่ได้รับรู้ว่าคนไทยเป็นคนออกแบบ เพราะว่าข่าวก็ไม่ถึง ก็คิดว่า เราก็เพิ่งรู้เหมือนกันว่าคนไทยออกแบบ หลังจากที่เราได้เข้าไปอยู่ที่นี่แล้ว แล้วรู้สึกว่า คนไทยออกแบบมาตั้งนานแล้ว แต่เราไม่รู้เลย

 • ในวิธีคิดการออกแบบของแต่ละรุ่น ใช้หลักอะไรยังไงบ้างครับ

มันคือการลงสถานการณ์จริงครับ ศึกษาความต้องการในแต่ละประเทศ ยกตัวอย่าง สมมติว่า ประเทศไทยในสมัยก่อน คนจะซื้อมอเตอร์ไซต์ครั้งหนึ่ง จะต้องนึกถึงอะไรหลายๆ อย่าง คำนึงถึงการใช้งานที่เหมาะสม ขนญาติพี่น้องไปได้เยอะหรือเปล่า หรือว่า ขนของได้เยอะหรือเปล่า ซึ่งสมัยนี้มันไม่ใช่แล้ว หลังจากที่เราได้ศึกษาเรียนรู้ทำวิจัยในประเทศไทย เรารู้สึกว่า ความต้องการของกลุ่มผู้ใช้มอเตอร์ไซค์เนี่ยครับ เขามีความต้องการที่เป็นส่วนตัวขึ้น เริ่มคิดว่า มอเตอร์ไซค์กลายเป็นของเล่นสำหรับเขาไปแล้ว เพราะฉะนั้นผลิตภัณฑ์ที่ออกมามันจะต้องตอบโจทย์เขา ตัวอย่างเช่น ขี่สนุกมากขึ้น แล้วก็ใช้งานได้ในวันว่าง เสาร์-อาทิตย์ เพราะฉะนั้น มันจะออกมาในลักษณะนั้นมากกว่า เพราะว่าโดยส่วนมาก วัยรุ่นเริ่มที่จะนิยมใช้มอเตอร์ไซค์มากขึ้น โดยไม่คำนึงต่อการใช้งานของเราที่ว่า อยู่ทนกับเราไปนาน 30 ปี ต้องขนสัมภาระได้เยอะ เขาเริ่มไม่สนใจแล้วไงครับ

 • เพราะด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนด้วยมั้ย ที่ทำให้คนในยุคนี้เขาคิดอย่างที่ว่ามา

ด้วยครับ เพราะว่าอันนี้ไม่เกี่ยวกับสภาพดินฟ้าอากาศนะครับ แต่ว่าเป็นไปด้วยว่าปัญหาการจราจรติด ทำให้กลุ่มที่ใช้รถยนต์มาก่อน เขาหาคนที่มีทางเลือกใหม่ เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่ใช่อย่างเดิม ต่อให้เป็นขนาดเล็ก เพราะว่ามันก็ไปไม่ได้เหมือนกันไงครับ เขาก็เริ่มมองแล้วว่า มอเตอร์ไซค์ตอบโจทย์สำหรับเขา ซึ่งสมมติว่า ถ้าเขาจะซื้อมอเตอร์ไซค์ทั้งที เขาเป็นคนรุ่นใหม่ เขาคงไม่เลือกรถแม่บ้านมาใช้ เหมือนจักรยานน่ะครับ ถ้าจะซื้อทั้งที เขาคงไม่เลือกรุ่นปกติมาใช้ เขาต้องหาอะไรที่มันท็อปสำหรับเขา และสามารถโชว์ฐานะทางสังคมของเขาได้ด้วย คือทั้งโชว์และเน้นการใช้งานในสถานที่ ผมว่ามอเตอร์ไซค์น่าจะตอบโจทย์ให้กับผู้ใช้เหล่านี้

 • เหมือนกับว่า สถานการณ์ในแต่ละช่วงก็ค่อนข้างที่จะเปลี่ยนด้วย คนก็เลยเห็นความสำคัญในการใช้ประโยชน์

ใช่ครับ ซึ่งจริงๆ แล้วผมค่อนข้างที่จะศึกษาเกี่ยวกับมอเตอร์ไซต์เยอะจนรู้สึกว่า ไม่ใช่เรื่องการจราจรอย่างเดียว อาจจะเป็นเพราะว่า เราเริ่มรับสารจากต่างประเทศมาเยอะ ผ่านทางโลกออนไลน์ เราก็เห็นไลฟ์สไตล์จากคนต่างชาติที่ใช้มอเตอร์ไซค์เป็นกิจวัตรเหมือนกัน เพราะฉะนั้น มอเตอร์ไซค์ที่เขาใช้ส่วนมาก จะเป็นแบบ big bike หรือ มอเตอร์ไซค์แบบผู้ชายเลย มันก็ให้ความรู้สึกว่า เฮ้ย มันเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ผู้ชายต้องมี มันเลยทำให้เขารู้สึกว่า พวกนั้นน่าจะมีความสนุกในการใช้งานของมัน เราอยากทำบ้าง เขาก็เลยหาซื้อบ้าง เพราะฉะนั้น เทรนด์จากต่างประเทศก็จะเป็นอีกมุมหนึ่งที่ว่าเราได้รับมา

 • เมื่อเทียบกับการใช้งานของแต่ละประเทศ เรามาประยุกต์กับบ้านเรายังไง

ส่วนมากในโซนเอเชียจะมีปัญหาใกล้เคียงกัน คือเรื่องการจราจรแออัด เพราะฉะนั้น โดยส่วนมากแล้ว กลุ่มคนที่ใช้มอเตอร์ไซค์โดยส่วนมาก เขาใช้เพื่อชีวิตประจำวัน คือถ้าเทียบกันแล้ว เขาไม่ได้ใช้เพื่อสิ่งนี้ เขาจะใช้ในช่วงเวลาที่พักผ่อน ซึ่งอันนี้มันคือความแตกต่างระหว่างยุโรปกับเอเชีย ซึ่งพอมาดูในโซนเอเชียเนี่ยครับ มันก็มีบางกลุ่มที่ว่าใช้ของพวกนี้เพื่อสันทนาการ ซึ่งเราก็ไม่ได้โฟกัสแค่กลุ่มใหม่ คือเราก็ยังทำกับกลุ่มผู้ใช้งานในชีวิตประจำวันเหมือนกัน เพราะว่าทุกวันนี้เราออกแบบมอเตอร์ไซค์ รุ่น Wave รุ่น Scoopie-I ออกแบบ airblade นอกจากมอเตอร์ไซค์รุ่นที่ใช้เพื่อสันทนาการ ก็เหมือนกับว่า มอเตอร์ไซค์ในปัจจุบันมันเปลี่ยนไปแล้ว

 • อยากให้เล่าถึงภาพรวมทั้งหมดของรุ่น CB150R นี้หน่อยครับ

จุดเริ่มต้นคือว่า เรารู้สึกว่ามอเตอร์ไซค์ที่ใช้เพื่อสันทนาการมันเริ่มโตในบ้านเรา รวมไปถึงต่างประเทศด้วย โดยที่ว่าจากการวิจัยแล้วครับ ประเทศเราเป็นประเทศที่ผู้ใช้ค่อนข้างร่างเล็ก เพราะฉะนั้นรูปแบบที่เราสร้างมา จะต้องออกแบบรถมาเพื่อเหมาะสมกับคนในประเทศ รวมไปถึงสไตล์ที่คนในประเทศเริ่มอินกับมัน มันก็เลยเป็นรถในสไตล์ 150 ซีซี ที่มีสไตล์ในอารมณ์ Café แต่ว่าสิ่งนี้ มันเป็นรถสมัยโบราณ ถ้าสมมติว่า ถ้าเราดึงคอนเซ็ปต์มาตรงๆ เลย ผู้ใช้งานก็คงจะเข้าใจยาก เพราะฉะนั้น เราจะใส่เรื่องเทคโนโลยี ใส่ความทันสมัย ใส่ความใหม่เข้าไปผสมกับธีมคาเฟ่ มันก็เลยออกมาเป็นรถรุ่นนี้ครับ

จากนั้นก็เป็นการคุยระดมความคิดกันกับทีมว่าเราจะทำรถแบบนี้ เพราะฉะนั้นองค์ประกอบเนี่ย สิ่งที่เราทำ เราควรสร้างใหม่ หรือใช้ของเดิมที่มีอยู่หรือเปล่า ซึ่งทีมวิศวกรก็บอกเราว่า ถ้าคิดจะสร้างเพื่อตอบโจทย์ให้กับคนใช้ในบ้านเรา เราควรที่จะออกแบบใหม่ทั้งหมด เพราะฉะนั้น เราก็ทำการออกแบบทั้งเฟรม เครื่องยนต์ และทดลองใช้ เพื่อที่ว่ารูปแบบที่เราวางไว้ เพื่อทำยังไงก็ได้ให้ได้ขับขี่สนุกที่สุด แล้วก็เหมาะสมกับทั้งประเทศไทยและโซนเอเชียกับสภาพจราจร เพราะฉะนั้น แน่นอนการขับขี่ก็ต้องสนุกและสามารถควบคุมง่าย ซิกแซ็กได้ นี่คือสิ่งที่เราตั้งเป้าหมายเอาไว้

ส่วนเรื่องอุปสรรคก็จะเป็นเรื่องของสเปกของ เพราะว่า ปกติรถไซส์เล็ก ของที่ใช้ก็ต้องเหมาะสมกับมัน แต่หลังจากที่เราศึกษาหาข้อมูลจากกลุ่มผู้ใช้งาน พบว่าคำว่าบิ๊กไบค์ มันค่อนข้างมีอิทธิพลสำหรับเขา ซึ่งแน่นอนว่า เราจะทำยังไงก็ได้ที่ใส่ของแบบบิ๊กไบค์เข้าไปในตัวรถคันนี้ ซึ่งบางสิ่งบางอย่างมันแพง แต่เราก็ต้องขอร้องกับทางวิศวกรเลยว่า เราต้องใส่ของลักษณะนี้เข้าไป เพราะว่าผู้ใช้เขาต้องการ และถ้าทำมามันก็ต้องดีที่สุดน่ะครับ เราก็เลยได้ของสเปกพิเศษที่ค่อนข้างดีกว่ารถรุ่นเดียวกัน ประมาณนี้ครับ

 • หลังจากที่ได้วางขายรถรุ่นนี้ไป ผลตอบรับเป็นยังไงบ้างครับ

ผลตอบรับค่อนข้างดี แต่ว่าตินิดหน่อยตรงที่ว่า ราคาที่ผู้ใช้เขาอาจจะไม่เคยใช้ แล้วอยากมีสักคันหนี่ง แต่ติดที่ราคาค่อนข้างแพง ส่วนกลุ่มคนที่รู้จักอยู่แล้ว เขาจะมองว่ามันไม่แพง เพราะว่าสเปกที่เราให้ไปมันค่อนข้างดี เทียบเคียงกับบิ๊กไบค์เลย คือวัสดุอุปกรณ์ที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน ผมมองว่าของพวกนี้มันต้องมี ซึ่งถ้าไม่มีก็ขายไม่ได้ กลุ่มผู้ใช้เขาคงไม่อยากได้ เพราะว่ามีคำว่าบิ๊กไบค์อยู่ ซึ่งผมว่ามันเป็นผลดี เพราะว่ามันจะไม่เกิดการแบ่งชั้นวรรณะน่ะครับ คือกลุ่มรถเล็กเขาก็อยากที่จะได้รถใหญ่เหมือนกัน แต่อาจจะเป็นเพราะว่า พ่อแม่ไม่ให้ หรือ เงินเดือนอาจจะยังไม่ถึง หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ผมมองว่า ไม่อยากให้เรียกว่าบิ๊กไบค์ แต่อยากให้เรียกว่ามอเตอร์ไซค์ดีกว่า แล้วก็คนที่ใช้มอเตอร์ไซค์ ก็เป็นกลุ่มที่มีความต้องการที่จะใช้งานเหมือนๆ กัน เพราะฉะนั้น เวลาที่เราออกแบบรถมาให้มีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกัน ผมมองว่า เราจะไม่แบ่งแยกแล้วว่าบิ๊กไบค์ต้องมีแบบนี้นะ แต่รถเล็กมีไม่ได้ เพราะมันก็เหมือนกันหมด

 • ในการทำงานของคุณ ศิลปะในการออกแบบ กับนวัตกรรมทางด้านยานยนต์ คุณควบคุม 2 สิ่งนี้ต่อการทำงานไปสู่ผลลัพธ์ในแต่ละชิ้นงานยังไง

คือจริงๆ แล้วผมมองว่า มันค่อนข้างที่จะเป็นเรื่องเดียวกันครับ เพราะว่า ศิลปะในการออกแบบ แน่นอนคือ มันจะถูกออกแบบไปในยุคนั้นๆ แล้วนวัตกรรมก็เช่นเดียวกัน นวัตกรรมมันคือเทคโนโลยี หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้นมันต้องเกิดไปคู่ๆ กัน ต่างกันแค่ว่า สิ่งหลังมันจะก้าวต่อไปเรื่อยๆ ในขณะที่ศิลปะมันจะมีการวนกลับมา ซึ่งเป็นวัฏจักรของมัน เช่นว่า เทรนด์ของมอเตอร์ไซค์ ในยุคนี้ จะเป็นแนวคลาสสิก มันก็ไม่คลาสสิกไปเรื่อยๆ ยุคต่อไปก็อาจจะเป็นสปอร์ต ยุคต่อไปคือ คลาสสิกเหมือนเดิม มันก็แล้วแต่ยุคสมัย ถ้าผมมองศิลปะ มันก็เหมือนการแต่งตัว อย่างสมัยก่อนเป็นกางเกงขาม้า สมัยนี้เริ่มเป็นขาเดฟ แล้วทุกวันนี้จะไปต่อยังไง จะไปในขาอื่นหรือเปล่า ให้เล็กลงไปเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่ อาจจะเป็นในแบบ กลับมาเป็นขากระบอกบ้าง แล้วก็อีกไม่นาน กางเกงทรงขาม้าก็อาจจะกลับมาอีก คือมันจะวนลูปไปเรื่อยๆ แล้วแต่แฟชั่นในยุคนั้น

 • ทราบมาว่าไปทำงานที่ญี่ปุ่นมา 1 ปีด้วย ได้อะไรจากการทำงานจากที่นั่นมาประยุกต์กับการทำงานในปัจจุบันบ้างครับ

ส่วนมากถ้าเป็นมาตรฐานของฮอนด้า บริษัทที่เป็นฝ่ายวิจัยและพัฒนาในการออกแบบ ทุกประเทศค่อนข้างเหมือนกัน มีระดับที่เท่ากัน เพราะว่าเขาต้องการให้คุณภาพของสินค้าแต่ละประเทศมันไม่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ผมมองว่าถ้ามองด้วยองค์กรมันไม่ต่างกันเลย แต่ที่แตกต่างกันคือ รูปแบบการทำงานมากกว่า คือประเทศไทยจะเป็นลักษณะที่ว่า ถ้าเล่นก็เล่นเต็มที่ ทำงานก็เต็มที่ แต่ในทางญี่ปุ่นที่ผมไปทำงานมา เขาค่อนข้างที่จะจริงจังกับงานมาก ซึ่งส่วนตัวผมก็มองว่ามันเป็นข้อดี แต่บางทีก็รู้สึกเครียดที่เราก็ขลุกอยู่กับมันมากๆ จนเราเครียดและคิดงานไม่ออก ซึ่ง ณ ตรงนั้น เราก็ประยุกต์ด้วยตัวเอง คือ ถ้าคิดงานไม่ออก เราก็จะเดินดูรอบๆ ตึก เพราะว่าส่วนมาก ของที่มีให้ดูในตึกดีไซน์จะหลากหลายมากกว่าในเมืองไทย เพราฉะนั้นก็มีโมเดลรถที่ถูกดีไซน์มาแล้วไม่ได้โชว์ก็มี รวมถึงรถรุ่นที่คนญี่ปุ่นออกแบบมา แต่เราไม่เคยเห็นมาก่อนก็มี ซึ่งดูจากรูปภาพมันก็คงไม่พอ แล้วพอเรามาเห็นคันจริงแล้ว ที่มิติมันต่างจากในรูปภาพ เราก็นั่งดู และเราก็ใช้เวลา 1 ปีนี้ ศึกษาข้อมูลในตึกดีไซน์ให้ครบถ้วน ซึ่งมันมีข้อดีอย่างหนึ่งตรงที่ว่า คนญี่ปุ่นค่อนข้างใส่ใจกับชาวต่างชาติ เพราะฉะนั้น คนญี่ปุ่นที่เป็นดีไซเนอร์ของที่นั่น เขาจะให้คำแนะนำเราทุกๆ อย่าง เพราะเขารู้ว่า เราอยู่ที่นั่นแค่ปีเดียวมันสั้นมาก เพราะฉะนั้น เขาก็จะให้ข้อมูลกับเราให้มากที่สุด ซึ่งผมมองว่าเป็นข้อดี เราถูกเลี้ยงดูด้วยความใส่ใจ (หัวเราะ) คือเขาไม่ดูถูกเราเลย เขาจะพาเราไปในที่ต่างๆ พาเราไปศึกษา พาเราไปโรงงานต่างๆ ซึ่งอันนี้เป็นข้อดีที่ว่า เรากลับมาแล้วสามารถเอามาประยุกต์ใช้กับที่นี่

 • กล่าวโดยสรุปคือ การมองเทรนด์ในแต่ละอย่าง มันก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งของการสร้างสรรค์ผลงานด้วยเช่นกัน

ใช่ครับ ผมว่ามันต้องควบคู่กันไปครับ เพราะว่าถ้าเราไม่สนใจเทรนด์ ไม่สนใจโลกว่าเขาเปลี่ยนแปลงไปยังไง ว่าจะออกแบบในของแบบนี้ครับ มันก็คงไม่ตอบโจทย์กับอะไรเลยสักอย่าง เหมือนกันคือ สมมติว่าถ้าตัวผมเองไม่ได้ออกแบบมอเตอร์ไซค์ ผมก็คงโตไปตามยุคสมัย สมมติว่า ยุคนี้เขาชอบของสิ่งนี้ ผมก็คิดว่าตัวผมก็น่าจะชอบเหมือนกัน ซึ่งพอเราทำงานทางด้านนี้ มันทำให้เรามองข้ามช็อตไปว่า สมัยนี้ของนี้มันเกิดขึ้นมาแล้ว แล้วถ้าต่อไปภาคหน้าล่ะ หน้าตาของจะเป็นยังไง นี่คือสิ่งที่เราศึกษาไปเรื่อยๆ ซึ่งผมมองว่าเป็นข้อดีตรงที่ว่า มันจะเป็นการทำงานในการศึกษาเทรนด์ล่วงหน้าว่ามันไม่มีวันจบสิ้นน่ะครับ มันจะมีโอกาสทำไปเรื่อยๆ ควบคู่กับวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : ศิวกร เสนสอน และ นันท์นภัส จรรยาพาณิชย์



กำลังโหลดความคิดเห็น