xs
xsm
sm
md
lg

ย่ำเหยียบหัวใจ! ม.รามฯ ซัด สกอ.ใช้ “ข้อมูลเก่า” กล่าวหา 40 หลักสูตรไม่ผ่านประเมิน ลั่นปรับปรุงหมดแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ม.รามคำแหง แถลงตอบโต้ สกอ. เผยแพร่หลักสูตรไม่ผ่านการประเมินคุณภาพ ชี้ ปัญหาเพียงแค่อาจารย์ประจำหลักสูตรไม่ครบ ระบุ 23 หลักสูตร ปิดแล้ว 17 หลักสูตร งดรับนักศึกษาตลอด อีก 11 หลักสูตร แก้ไขตามมาตรฐานแล้ว ซัดขาดความรอบคอบ ไม่เปิดโอกาสให้ผู้อื่น ไร้ความยุติธรรม ทำตัวเป็นศาลตัดสินผู้อื่น รู้สึกถูกย่ำเหยียบหัวใจ เผย ลูกศิษย์เป็นห่วงอยากแสดงพลัง แต่ได้เบรก ให้ฝ่ายบริหารชี้แจง

วันนี้ (17 ม.ค.) ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อเวลา 14.00 น. ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง แถลงข่าวกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ประกาศรายชื่อหลักสูตรที่ไม่ผ่านการประเมินคุณภาพของสถาบันการศึกษาต่างๆ จำนวน 182 หลักสูตร จากทั้งหมด 9,099 หลักสูตร ซึ่งระบุว่า เป็นหลักสูตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง 40 หลักสูตร ว่า เมื่อวานนี้ (16 ม.ค.) ช่วงบ่าย สกอ. ได้ประกาศรายชื่อสถาบันการศึกษา 41 แห่ง ที่มีหลักสูตรไม่เป็นไปตามมาตรฐานหลักสูตรขึ้นเว็บไซต์ ซึ่งไม่มีรายละเอียดอะไรเลยนอกจากชื่อของมหาวิทยาลัยและหลักสูตร โดยมหาวิทยาลัยรามคำแหงมีอยู่ 40 หลักสูตร ที่ถูกระบุว่า ไม่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ประกันคุณภาพ 2 ปีติดต่อกัน พอตกช่วงเย็น เลขาธิการ สกอ. ให้สัมภาษณ์ว่า ได้สั่งให้ถอดข้อมูลบนเว็บไซต์แล้ว และให้เจ้าหน้าที่ประสานงานกับสถาบันการศึกษาเพื่อตรวจสอบสถานะของหลักสูตรต่างๆ ว่า มีสถานะเช่นใด ต่อมา สกอ. ได้ประกาศรายชื่อสถาบันการศึกษาและหลักสูตรขึ้นเว็บไซต์อีกครั้ง โดยมีคอลัมน์ “สถานะปัจจุบัน“เพิ่มขึ้นมา โดยพบว่าในบรรดา 40 หลักสูตรที่ระบุว่าเป็นของมหาวิทยาลัยรามคำแหง สกอ. ใช้คำว่า “ปิดหลักสูตร” ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่า สกอ. เป็นผู้สั่งให้ปิดหลักสูตร เป็นการใช้ภาษาที่กำกวม ที่คนในแวดวงการศึกษาไม่ควรใช้

“ในบรรดา 40 หลักสูตรที่ทาง สกอ. ได้ประกาศ มหาวิทยาลัยรามคำแหงเราให้ความสนใจในเรื่องคุณภาพการศึกษามาตลอดทุกหลักสูตร และตั้งสำนักประกันคุณภาพการศึกษาก่อนใครในบรรดาสถาบันอุดมศึกษา เราไม่เคยกลัวในเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษา และเราไม่เคยกลัวว่าจะมีบุคคลภายนอกมาตรวจประกันคุณภาพการศึกษาเราอย่างไร เราต้อนรับและยินดีเสมอ ในบรรดา 40 หลักสูตรที่ประกาศ ข้อเท็จจริงก็คือ 23 หลักสูตร เราได้ปิดดำเนินการไปแล้วด้วยตัวเอง โดยสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้ปิดหลักสูตร สกอ. ขึ้นเว็บไซต์เช่นนั้นดูเหมือนจะสื่อให้เห็นว่า สกอ. เป็นผู้สั่งปิดซึ่งไม่ใช่ โดยในทางกฎหมายสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้เดียวเท่านั้นที่มีอำนาจสั่งปิดหลักสูตร อีก 17 หลักสูตร เรางดรับนักศึกษามาโดยตลอด 6 หลักสูตร มีสาเหตุที่หลากหลายซึ่งเป็นเกณฑ์ภายใน เช่น นักศึกษามาสมัครเรียนไม่ครบตามจำนวนที่จะให้เป็นไปตามเกณฑ์ เราก็ไม่ให้เปิด ซึ่งเป็นการดำเนินการของเราเองทั้งสิ้น ไม่ใช่ สกอ. สั่งให้เรางดรับนักศึกษา” ผศ.วุฒิศักดิ์ กล่าว

ผศ.วุฒิศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนอีก 11 หลักสูตรที่เหลือ มีบางหลักสูตรที่ไม่เคยดำเนินการเปิดรับเลย บางหลักสูตรเราได้ดำเนินการแล้วในเรื่องของเกณฑ์องค์ประกอบที่ 1 คือ เรื่องของเกณฑ์อาจารย์ประจำหลักสูตร เราได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงแล้วทำให้หลักสูตรได้เกณฑ์มาตรฐาน ด้วยเหตุนี้สถานะปัจจุบันที่ สกอ. ได้นำมาขึ้นเว็บไซต์ ก็ยังใช้คำว่า “รอการปรับปรุง” ทั้งที่การรอการปรับปรุง เป็นสิ่งที่เราทำโดยสมัครใจโดยตัวของเราเอง และเราตระหนักดีว่าเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานต่างๆ ซึ่งในบรรดา 11 หลักสูตรที่ สกอ. บอกว่าเราไร้มาตรฐาน อาจารย์ประจำหลักสูตรบางคนย้ายสังกัด บางคนลาไปเรียนต่อต่างประเทศ ในช่วงปี 2557-2559 ซึ่งเป็นช่วงท้ายของการใช้หลักสูตรปี 2555 ที่เราใช้มาโดยตลอด

“เมื่อเรามีอาจารย์ประจำหลักสูตรที่เปลี่ยนไปเพียง 1 คนในแต่ละหลักสูตร จากทั้งหมด 5 คน เราได้มีการติดต่อกับ สกอ. เช่น คณะรัฐศาสตร์ ได้ติดต่อขอส่งอาารย์ประจำหลักสูตรเพิ่ม สกอ. ก็แจ้งว่า ไม่อยากให้ส่งมา เพราะใกล้จะหมดวาระของการใช้หลักสูตรปี 2555 แล้ว ให้รอไปบรรจุใหม่ในหลักสูตรปี 2560 ให้เรียบร้อย แล้วจู่ๆ มาบอกว่าเราไม่ได้มาตรฐาน ผมคิดว่านี่คือการทำงานที่ขาดความรอบคอบของ สกอ. แม้เจ้าหน้าที่ สกอ. ประสานงานกับเราอย่างดียิ่ง หลายคนทุ่มเท ใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ แต่ผมไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับ สกอ. และคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.)” ผศ.วุฒิศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์เรื่องอาจารย์ประจำหลักสูตร เป็นสิ่งที่เป็นปัญหามาก ผมเชื่อว่าชาวมหาวิทยาลัยทุกแห่งก็ทราบดี ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ ต้องมีอาจารย์ประจำหลักสูตร 5 คน ตามคู่มือการประเมินการประกันคุณภาพการศึกษาภายในของ สกอ. ว่า ต้องมีไม่น้อยกว่า 5 คน เป็นอาจารย์ประจำเกินกว่า 1 หลักสูตรไม่ได้ ในระดับชั้นปริญญาตรี และประจำหลักสูตรตลอดระยะเวลาที่จัดการศึกษาตามหลักสูตรนั้น แปลว่า ท่านไปไหนไม่ได้ตลอด 5 ปีนี้ เข้าโรงพยาบาลไม่ได้ ลาไปศึกษาต่อไม่ได้ ไปพัฒนาตัวเองไม่ได้ ไม่สามารถที่จะมาเติมได้ เป็นอะไรที่ทางมหาวิทยาลัยรู้ดีว่านี่คือปัญหาของ สกอ. ที่จะต้องไปทบทวนและไปดูว่าอะไรบ้างที่เป็นไปได้ หรือไม่สามารถเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ

“สกอ. จะบอกว่าสิ่งที่ทำเป็นการตรวจประกันคุณภาพการศึกษาปี 2558-2559 แล้วมาบอกว่าหลักสูตรที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ก็คือ 40 หลักสูตรดังกล่าว ผมเรียนว่า สกอ. มักจะทำอะไรก็ตามโดยที่ไม่เปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาได้มีเวลาในการดำเนินการ เกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินปี 2558 - 2559 เป็นเกณฑ์ปี 2557 สกอ. จะบอกว่าเป็นหลักเกณฑ์ที่ประกาศมาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว หลายเรื่อง สกอ. ไม่เคยเข้มงวด มาเข้มงวดในปี 2557 ยกตัวอย่างเช่น สัดส่วนระหว่างนักศึกษากับอาจารย์ ในเรื่องของอาจารย์ประจำหลักสูตร อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร สิ่งนี้เราถือว่าเป็นความไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง และในเมื่อเราปรับปรุงแล้วในปี 2560 เราดำเนินการแล้ว สกอ. จะประกาศทำไมว่าหลักสูตรต่างๆ ไม่ได้มาตรฐาน เกณฑ์ก็ไม่ได้ให้ความยุติธรรมกับเราแล้ว จะประกาศอีกทำไม ยังต้องการอะไรอีก เพราะฉะนั้นในปี 2560 เราดำเนินการให้เรียบร้อยแล้ว หลายเรื่องเราส่งไปที่ สกอ. ถ้าจะปฏิรูปการศึกษา สกอ. ต้องปฏิรูปด้วย หลักสูตรต่างๆ ที่ส่งไปนั้นช้ามาก รอหลักสูตรค้างเป็นระยะเวลานาน ก็ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร” ผศ.วุฒิศักดิ์ กล่าว

ผศ.วุฒิศักดิ์ กล่าวอีกว่า อีกประเด็นหนึ่ง คือเรื่องภาษาที่ใช้ ที่กล่าวหามหาวิทยาลัยรามคำแหงและสถาบันการศึกษาอื่นๆ ว่าจัดการศึกษาไร้มาตรฐาน ไร้คุณภาพ เป็นภาษาที่สร้างความเสียหายอย่างยิ่งต่อวงการศึกษา โดยข้อเท็จจริงเป็นเรื่องของการตกเกณฑ์เรื่องของอาจารย์ประจำหลักสูตร องค์ประกอบที่ 1 ซึ่งเป็นเกณฑ์ของการกำกับมาตรฐานของสถาบันการศึกษาเรื่องเดียวเท่านั้น และเป็นเพราะว่าปัญหาในทางปฏิบัติเกิดขึ้นจริง อาจารย์ประจำหลักสูตรบางคนเกษียณในระหว่างที่หลักสูตรกำลังดำเนิการใช้อยู่ ซึ่งถ้าเป็นข้าราชการต้องรออีก 1 ปี กว่าสำนักงบประมาณจะจัดอัตราให้เรา เป็นปัญหาที่ สกอ. มองข้าม และทำตัวเป็นศาลที่คอยพิพากษาว่าผู้อื่นไม่มีคุณภาพ เราเป็นราชการ เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติ เรามีกฎหมายรองรับ เรามีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐไม่ต่างอะไรกับ สกอ. และทุกคนในรามคำแหงดำเนินการจัดการศึกษาอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราตระหนักอยู่เสมอว่ามีพระนามของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นชื่อของมหาวิทยาลัย

“การที่ สกอ. ดำเนินการเช่นนี้ เรามีความรู้สึกว่า เราถูกย่ำเหยียบหัวใจ ลูกศิษย์ที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วโทรศัพท์เข้ามาเป็นจำนวนมาก วันนี้มีศิษย์จำนวนมาก ทั้งที่เรียนอยู่ในปัจจุบัน ทั้งศิษย์เก่า บอกว่าอยากจะมาที่มหาวิทยาลัย มาให้กำลังใจผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ผมก็ได้บอกไว้ว่าอย่ามาเลย ขอให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยได้มีโอกาสแถลงข่าวให้สาธารณชนให้ทราบ อาจจะถามว่าทำไมไม่ประสานไปที่ สกอ. เราไม่ประสาน เพราะ สกอ. ทำอะไรก็ตามก็ไม่ประสานเราเลย เมื่อวานประกาศตอนช่วงบ่าย ประกาศเสร็จให้เจ้าหน้าที่ประสานงานกับทางสำนักงานประกันคุณภาพการศึกษาของเรา บอกช่วยแจ้งสถานะหลักสูตรอีก 17 หลักสูตร นี่คือการทำงานที่ขาดความรอบคอบของ สกอ.” ผศ.วุฒิศักดิ์ กล่าว

ผศ.วุฒิศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมสภามหาวิทยาลัยเมื่อเช้าที่ผ่านมา ซึ่งได้นัดมาล่วงหน้าแล้ว กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมาจากภายนอกไม่สบายใจ ตนได้ชี้แจงให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยได้รับทราบ และที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยได้มีมติว่าให้ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยไปพิจารณาดำเนินการทางกฎหมายว่าจะทำอะไรได้บ้าง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาสร้างความเสียหาย เช่น สำนักข่าวแห่งหนึ่งบอกว่า สกอ. เปิดหลักสูตรไร้มาตรฐาน ม.รามคำแหงมากที่สุด 40 หลักสูตร เรารับไม่ได้ สิ่งนี้ถ้าหาก สกอ. คิดว่าทำถูกต้องก็ไม่เป็นไร เราในฐานะสถาบันการศึกษาก็จะทำหน้าที่ต่อไป นอกจากนี้ ตนตั้งข้อสังเกตว่า สกอ. ใช้คำอยู่ 3 คำที่ประกาศสถานะของหลักสูตร อาทิ “ปิดหลักสูตร” “งดรับนักศึกษา” “รอปรับปรุง” ซึ่งคำดังกล่าวสื่อทำนองว่า สกอ. สั่งให้ดำเนินการ ซึ่งไม่ใช่ ทุกครั้งที่คณะกรรมการตรวจประกันคุณภาพการศึกษามาตรวจหลักสูตรต่างๆ ถ้ามีข้อบกพร่องตรงไหนก็ไปชี้แนะ และเราก็ดำเนินการไปตามนั้น

ด้าน ผศ.ดร.บุญชาล ทองประยูร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและประกันคุณภาพ กล่าวว่า ข้อความที่ระบุว่า “รอการปรับปรุง” เราไม่ได้รอ เพราะหลักสูตรนั้น มหาวิทยาลัยรามคำแหงส่วนใหญ่เราใช้และหมดในปี 2559 ซึ่งในช่วงปี 2557 - 2558 สกอ. มาตรวจหลักสูตรก็บอกว่าไม่ต้องส่งไปปรับปรุงแล้ว ก็รอปรับปรุงใหญ่ในปี 2559 เพื่อใช้หลักสูตรปัจจุบันในปี 2560 ทุกหลักสูตร เป็นไปตามมาตรฐาน ตอนนี้ส่งไปที่ สกอ. และกลับไปแก้ไขเพียงจุดเล็กจุดน้อย ซึ่งทั้ง 11 หลักสูตรได้ปรับปรุงเพื่อใช้ในปีการศึกษานี้เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ขอย้ำว่าหลักสูตรทั้งหมดเราได้มาตรฐานแล้ว ส่งอยู่ในมือ สกอ. ซึ่งเราก็ติดต่อประสานงานกันอยู่ ที่ว่าเหลือ 11 หลักสูตร ตอนนี้ก็ไม่มีปัญหาแล้ว เพราะฉะนั้น สกอ. ก็ควรมาถามเราก่อนว่าสภาพเป็นอย่างไร ข้อมูลก็ข้อมูลเก่า ขอเน้นย้ำไว้ตรงนี้






กำลังโหลดความคิดเห็น