เมืองไทยมีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว ๒๙ คน ในจำนวนนี้เป็น “นายกฯทหาร” ราว ๑๐ คน แม้บางคนมียศเป็นทหารก็ไม่นับเข้าจำนวนนี้ อย่าง พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เพราะไม่ได้มาโดยบารมีทหาร แต่มาอย่างนักการเมือง แม้จะไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง แต่ก็มาตามรัฐธรรมนูญ และนายกรัฐมนตรีพลเรือนบางคนก็มาโดยอำนาจทางทหาร อย่างนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ใน “รัฐบาลหอย” ที่มาโดยการรัฐประหารของ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่
ผู้มีบารมีในกองทัพบางคน ใช้รถถังยึดอำนาจมา แต่ไม่กล้าขึ้นเป็นนายกฯ เกรงจะถูกต่อต้านจากนานาประเทศ จึงไปเชิญผู้มีเครดิตดีมาเป็นนายกฯขัดตาทัพ พอสถานการณ์ผ่อนคลายแล้วจึงดึงอำนาจคืน อย่างจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจจอมพล ป. แล้วยกให้นายพจน์ สารสิน เลขาธิการองค์การซีอาโต้ขึ้นเป็นนายกฯ
หรือนายกฯทหารบางคนก็ไม่ได้มาโดยรถถัง และไม่ได้มีความอยากจะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ถูกเชื้อเชิญและอ้อนวอนจากคนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เกิดแบ่งอำนาจกันไม่ได้เพราะไม่มีใครยอมใคร จึงไปเชิญผู้มีบารมี ซึ่งมักจะเป็นผู้มีบารมีในกองทัพเข้ามาเป็น “นายกฯคนนอก” อย่าง “ป๋าเปรม”
“นายกฯทหาร” คนแรก คือ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ซึ่งมีแบบฉบับที่ “นายกฯทหาร” รุ่นหลังน่าศึกษาอยู่ไม่น้อย
พ.อ.พระยาพหลฯ เป็นหัวหน้าคณะราษฎรที่ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเป็นที่ชื่นชมของราษฎรในยุคนั้น ซึ่งถ้าพระยาพหลฯจะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง คะแนนเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาที่ตั้งขึ้นเอง และความนิยมจากประชาชนก็คงท่วมท้น แต่พระยาพหลฯกลับไม่ยอมรับ ทั้งไม่ต้องการให้คนในคณะราษฎรขึ้นเป็นด้วย เกรงจะถูกหาว่ายึดอำนาจเพราะอยากมีอำนาจ ทั้งยังเกรงว่าจะเป็นการสร้างความขุ่นเคืองให้กลุ่มอำนาจเก่าขึ้นไปอีก อันจะเป็นการสร้างความแตกแยกในประเทศ จึงใช้วิธีปรองดองสมานฉันท์ สนับสนุนให้ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา อดีตขุนนางในกลุ่มอำนาจเก่าขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเห็นว่าน่าจะปรองดองสองฝ่ายให้เข้ากันได้
ในทันทีที่ประกาศชื่อพระยามโนฯขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี กลุ่มอำนาจเก่าที่กำลังท้อแท้สิ้นหวังก็กลับกระปรี้กระเปร่ากันขึ้นทันทีเมื่อได้ข่าวดีที่ไม่คาดฝัน เข้าล้อมหน้าล้อมหลังพระยามโนฯ ประกอบกับ ๓ ใน ๔ ทหารเสือของคณะราษฎรเองที่ไม่ได้ดังใจ แปรพักตร์ไปเข้าร่วมกับพระยามโนฯอีก อำนาจทางการเมืองเลยพลิกผัน คนของคณะราษฎรใน ครม.ถูกปรับออกเหลือแต่พระยาพหลฯที่ไม่มีใครกล้าแตะต้อง ปรีดีที่กลุ่มอำนาจเก่าเกลียดเข้ากระดูกถูกเนรเทศไปต่างประเทศ ทั้งปล่อยข่าวตามหลังว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วออกกฎหมายป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นการตอกฝาโลงไม่ให้กลับมาอีก พระยามโนฯมีอำนาจเต็มที่ถึงกับประกาศปิดรัฐสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ทั้ง ๓ ทหารเสือที่แปรพักตร์ยังวางแผนชวนให้พระยาพหลฯลาออกวางมือจากการเมืองด้วยกัน เพื่อล่อให้พระยาพหลฯที่ผู้คนยังศรัทธาหมดอำนาจ พระยาพหลฯคนซื่อหลงเชื่อ พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม นายทหารหนุ่มมือขวาของพระยาพหลฯจึงเตือนว่าถูกเขาหลอกแล้ว และชี้ให้เห็นสถานการณ์ต่อไปว่าคณะราษฎรจะพากันตายทั้งหมด และจะทำให้คนที่ไปชวนเขามาร่วมปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองต้องรับเคราะห์ไปด้วย เมื่อพระยาพหลฯตาสว่าง จึงชวนเข้ายึดอำนาจคืนในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ ซึ่งเป็นการทำรัฐประหารครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อเปิดรัฐสภาและประกาศใช้รัฐธรรมนูญให้ครบทุกมาตรา เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยสามารถเดินต่อไปได้ ตรงข้ามกับการทำรัฐประหารต่อๆมา ที่ยุบสภาและฉีกรัฐธรรมนูญ
เมื่อเปิดรัฐสภาอีกครั้งในวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๗๖ ก็มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
พระยาพหลฯได้กล่าวในวันเข้ารับตำแหน่งต่อรัฐสภา แสดงความเป็นนักประชาธิปไตยที่ไม่มัวเมาในอำนาจว่า
“...ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้วว่า ข้าพเจ้าเป็นนักรบ ก็เป็นธรรมดาย่อมจะไม่สันทัดในอันที่จะบริหารราชการแผ่นดินไปด้วยดี ให้บริบูรณ์ครบถ้วนทุกสถาน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ข้าพเจ้าท้อถอยที่จะหาญเข้ารับตำแหน่งอันสำคัญยอดเยี่ยมนี้ แต่โดยที่คณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน ซึ่งได้จัดการไปเพื่อความปลอดภัยของประเทศครั้งนี้ได้ขอร้อง และด้วยความแนะนำของประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งข้าพเจ้ามา เมื่อเป็นเช่นนี้จำต้องรับฉลองพระเดชพระคุณเพื่อประโยชน์แห่งประเทศชาติ แต่อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าขอรับฉลองพระเดชพระคุณไปเพียงชั่วคราวในเวลาที่อยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อเท่านั้น ข้าพเจ้าต้องรีบกราบบังคมทูลพระมหากรุณาเรียนพระราชปฏิบัติด้วยความไว้วางใจของท่านทั้งหลาย เพื่อทรงเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีที่เหมาะสมใหม่ต่อไป ข้าพเจ้าคิดจะฉลองพระเดชพระคุณได้เพียง ๑๐ วัน ๑๕ วันเท่านั้น ขอให้แน่ใจว่าข้าพเจ้าไม่ใช่บุคคลที่ไม่เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติเป็นใหญ่ แต่เพราะเหตุว่า ถ้าหากข้าพเจ้าจะดำรงตำแหน่งไปนานแล้ว จะทำให้เสียประโยชน์ของประเทศชาติไปด้วยความไม่สันทัดของข้าพเจ้า...”
ปรากฏว่าสภาได้ลงมติรับรองนายกรัฐมนตรีคนใหม่เป็นเอกฉันท์ แต่ก็ยังพากันสงสัยในคำพูดของพระยาพหลฯ ที่กล่าวว่าจะขอเป็นนายกฯเพียงแค่ ๑๐ วัน ๑๕ วันเท่านั้น
ต่อมาในวันที่ ๒ กรกฎาคม ครบ ๑๐ วันของการเป็นนายกรัฐมนตรี พระยาพหลฯก็ทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด ยื่นหนังสือกราบบังคมทูลขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ให้มีผลในวันที่ ๕ กรกฎาคม ตามที่ได้พูดไว้กับรัฐสภา มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“ข้าพระพุทธเจ้ามีความตั้งใจโดยแน่วแน่ ในอันที่จะปฏิบัติราชการด้วยความจงรักภักดี และให้เกิดประโยชน์แก่ชาติโดยเต็มกำลังความสามารถ แต่เมื่อระลึกถึงความรู้ทางกฎหมายและการเมืองของข้าพเจ้าแล้ว รู้สึกด้วยเกล้าฯว่ายังอ่อนอยู่มาก ไม่สันทัดจัดเจนพอที่จะเป็นผู้นำประเทศให้บรรลุผลดี แม้จะได้หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรมาเป็นคู่คิดปรึกษาในฐานะผู้เชี่ยวชาญ ก็ยังคิดด้วยเกล้าฯว่า ถ้าได้ตัวนายกรัฐมนตรีผู้ทรงความรู้อันสมควรแล้ว ย่อมจะเป็นสองแรงควบ ก่อให้ผลการดำเนินเป็นที่มั่นคง และหวังความเจริญก้าวหน้าได้มากกว่า นี่เป็นประการหนึ่ง และในขณะนี้ข้าพเจ้าทำหน้าที่ผู้บัญชาการทหารบกอยู่ด้วย ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกตามวิธีจัดการกระทรวงกลาโหมปัจจุบัน มีภาระต้องปฏิบัติมากกว่าเป็นแม่ทัพสมัยเดิมมาก และในยุคนี้ข้าพเจ้าเห็นเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะได้มีเวลาทำการเกี่ยวแก่ทางปกครองและทางวิทยาการฝ่ายทหารให้เป็นล่ำเป็นสัน เมื่อต้องมีภาระสำคัญ ๒ อย่างในขณะเดียวกัน ย่อมห่วงหน้าพะวงหลัง เหลือที่จะจัดทำการอันใดให้บังเกิดผลสมบูรณ์ได้ นี่เป็นอีกประการหนึ่ง และเมื่อมาระลึกว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้บัญชาการทหารบกด้วยและเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยดังนี้ ดูยิ่งไม่เป็นการสมควร เป็นที่ครหาและกินใจสงสัยทั้งไทยและเทศ การจะกลายเป็นว่าสยามดำเนินการปกครองโดยอำนาจทหาร มีรัฐธรรมนูญไว้บังหน้า พลอยเป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วยอีกสถานหนึ่ง...”
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบมาในวันที่ ๓ กรกฎาคม มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“...ที่ว่าท่านหย่อนความรู้ในทางกฎหมายและการเมือง ไม่สันทัดจัดเจนพอที่จะเป็นผู้นำประเทศชาติให้บรรลุผลอันดีนั้น หาใช่เป็นตัวการสำคัญแท้นักไม่ เพราะท่านได้มีที่ปรึกษาและรัฐมนตรีผู้ทรงวิทยาคุณในทางนี้ช่วยเหลือแนะนำอยู่แล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่า คุณสมบัติอันสำคัญยิ่งของนายกรัฐมนตรีก็คือ เป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชนพลเมือง และเป็นผู้สามารถยึดเหนี่ยวน้ำใจของคนทั้งหลายประสานสามัคคี...”
และ... “ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ ข้าพเจ้าเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่ท่านจะต้องลาออก จึงมีความเสียใจที่จะอนุญาตไม่ได้ และเพื่อเห็นแก่ประโยชน์และความเรียบร้อยของชาติบ้านเมืองอันเป็นที่รักยิ่งของเรา ข้าพเจ้าขอร้องให้ท่านคงอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบไปก่อน”
รัฐบาลชุดพระยาพหลฯ ๑ นี้ ได้เริ่มวางรากฐานประชาธิปไตยโดยตรากฎหมายเลือกตั้งขึ้น และจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศไทยขึ้นในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๖ โดยถือเอาเกณฑ์ราษฎร ๒ แสนต่อผู้แทน ๑ คน และใช้วิธีเลือกตั้งทางอ้อม โดยเลือกผู้แทนตำบลก่อน แล้วให้ผู้แทนตำบลเลือกผู้แทนราษฎรขึ้นอีกขั้นหนึ่ง
หลังเลือกตั้ง พระยาพหลฯก็ต้องลาออกตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สภาเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ผู้แทนราษฎรชุดนี้ล้วนมาจากบุคคลหลายอาชีพทั่วประเทศ ไม่มีใครรู้จักพระยาพหลฯเป็นการส่วนตัวเลย และต่างฮึกเหิมถือตัวว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยที่มาจากการเลือกตั้ง ฉะนั้นจะต้องรักษาผลประโยชน์ของปวงชนไว้เหนือสิ่งอื่นใด
เมื่อมีการซาวเสียงสมาชิกและเสนอชื่อพระยาพหลพลพยุหเสนาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง นอกจากสภาจะลงคะแนนเสียงสนับสนุนกันเป็นเอกฉันท์แล้ว ยังไชโยโห่ร้องก้องพระที่นั่งอนันตสมาคมเมื่อประกาศผลอีกด้วย
ในขณะนั้น แม้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวแทนของฝ่ายอำนาจเก่าได้ลี้ภัยออกนอกประเทศไปแล้ว แต่ความขัดแย้งทางความคิดในสังคมไทยก็ยังไม่ยุติ พลเอกพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดชกฤดากรทำการกบฏ เกิดการสู้รบกันเลือดนองแผ่นดิน รัฐบาลต้องปราบปรามถึง ๑๐ วันจึงราบคาบ
เมื่อการใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกันไม่เป็นผล การต่อสู้จึงเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นลอบสังหาร สมาชิกคณะราษฎรหลายคนถูกยิง ถูกวางยาพิษ โดยเฉพาะ พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม มือขวาของพระยาพหลฯ และเป็นผู้บัญชาการปราบกบฏบวรเดช ถูกลอบยิงทั้งกลางสนามหลวงและในบ้าน ทั้งยังถูกแม่ครัววางยาพิษ แต่ไม่เคยมีใครแตะต้องพระยาพหลฯ ซึ่งทั้งมิตรและศัตรูยอมรับกันว่า “เป็นคนตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้”
แม้พระยาพหลฯจะได้รับความเชื่อถือว่าเป็นคนซื่อมือสะอาด แต่ก็ยังมีเรื่องมัวหมองจนต้องลาออก หลังจากมีข่าวอื้อฉาวเรื่องนำที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกขายให้ประชาชนในราคาถูก แต่คนซื้อกลับเป็นคนในรัฐบาลเอง สภาได้แต่งตั้งพระยาพหลฯกลับเข้ามาพร้อมกับ ครม.หน้าเก่าครบชุด
แม้พระยาพหลฯจะเป็นนายกฯที่มาด้วยรถถัง แต่พยายามทำให้การเมืองเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ จัดให้มีการเลือกตั้งโดยตรง แต่ก็ยังมี ส.ส.ประเภท ๒ จากการแต่งตั้ง ทำให้ ส.ส.ทั้ง ๒ ประเภทตีรวนกันจนเวียนหัว จนพระยาพหลฯท้อใจ ขอลาออกอีกตามถนัด แต่สถานการณ์โลกในขณะนั้นกำลังคุกกรุ่นทำท่าว่าจะเกิดสงคราม คณะผู้สำเร็จราชการจึงไม่ยอมให้ลาออก พระยาพหลฯเลยใช้วิธียุบสภา
หลังจากเป็นรัฐบาลรักษาการจัดการเลือกตั้งครั้งที่ ๓ เสร็จแล้ว พระยาพหลฯก็เรียกประชุมสภา แล้วประกาศขอวางมืออย่างเด็ดขาด หลังนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอย่างไม่เต็มใจมา ๕ ปี ๕ เดือนเศษ พร้อมทั้งฝากฝังให้ทุกคนไว้วางใจ พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม ทายาทซึ่งก็เป็นที่คาดหมายกันอยู่แล้ว
แม้ลงจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีไปแล้ว พระยาพหลฯก็ยังช่วยงานรัฐบาลเสมอมา และได้รับยกย่องเป็น “เชษฐ์บุรุษ” จนถึงอสัญกรรมด้วยอัมพาตในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๐ ที่วังปารุสกวัน ขณะมีอายุได้ ๖๐ ปี และรักษาความยากจนไว้ได้เสมอต้นเสมอปลาย แม้จะเป็นนักปฏิวัติผู้พลิกแผ่นดินสยาม และเป็นนายกรัฐมนตรีถึง ๕ สมัย แต่ในวันสุดท้ายของชีวิต มีเงินติดตัวอยู่เพียง ๘๐ บาท ขณะที่เพื่อนพ้องร่วมคณะและลูกน้องรอบด้าน รวยพุงกางไปตามกัน